การกินไข่
461

การกินไข่

การกินไข่
กินไข่วันละฟองมากเกินไปไหม
ไข่เป็นอาหารที่หาทานได้ง่าย สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง แต่เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ทางการแพทย์พบว่า ไข่ประกอบด้วยคลอเรสเตอรอล ที่ทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดสูง และทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด จึงมีคำแนะนำว่าในผู้ใหญ่ไม่ควรทานไข่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง แต่จากการวิจัยในระยะหลัง ๆ พบว่า คลอเรสเตอรอลที่มีในไข่มีผลต่อคลอเรสเตอรอลในเลือดน้อยมาก ดังนั้นจึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ทานไข่กันมากขึ้น และเพิ่มคำแนะนำให้ทานไข่วันละหนึ่งฟอง คำแนะนำใหม่นี้ใช้ได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หรือเป็นเพียงคำโฆษณา

คุณค่าทางโภชนาการ
ไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารหลายชนิดอยู่ภายในไข่ ในไข่ขาวจะมีโปรตีนสูงและเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงคือ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential aminoacid) ส่วนในไข่แดงจะมีสารอาหารหลายชนิดได้แก่ โปรตีน ไขมัน วิตามันและแร่ธาตุ

ไขมันในไข่แดงส่วนใหญ่จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว รวมถึง omega-3 ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมีคุณค่าเหมือนไขมันในปลาแซลมอนและปลาทะเล ส่วนคลอเรสเตอรอลจะมีเฉพาะในไข่แดง ไม่มีในไข่ขาว

สารอาหารอื่นได้แก่ ธาตุเหล็ก โฟลิก (Folic acid) ไรโบเฟลวิน (Riboflavin) โคลีน (choline) วิตามินเอ บี ดี และอี วิตามินที่ไม่พบในไข่คือ วิตามินซี

- ธาตุเหล็กในไข่ มีคุณค่าเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ แต่เคี้ยวง่ายไม่เหนียวเหมือนเนื้อสัตว์ จึงเหมาะสมกับเด็กทารก และคนสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟัน
- โฟลิก เป็นสารที่ป้องกันเลือดจาง และป้องกันความพิการแต่กำเนิด มีความจำเป็นในหญิงที่ตั้งครรภ์
- โคลีน (choline) เป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างความจำ (Cognitive function) ช่วยพัฒนาการในเด็กที่กำลังเติบโต

จะเห็นได้ว่าไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่ามาก ให้สารอาหารที่เกือบครบถ้วน ในขณะที่ราคาถูกกว่าอาหารอื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารเท่ากัน สามารถทำเป็นอาหารได้หลายชนิด

ไข่กับคลอเรสเตอรอลและโรคหัวใจขาดเลือด
ในวงการแพทย์มีความกังวลในคลอเรสเตอรอลที่มีอยู่ในไข่ที่อาจจะเป็นต้น เหตุของไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะก่อปัญหาให้กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด แต่ในงานวิจัยที่พบภายหลัง พบว่าคลอเรสเตอรอลในไข่มีผลทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย เท่านั้น ดังนั้นความกลัวคลอเรสเตอรอลในไข่เริ่มลดลง โดยสมาคมหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) ได้เปลี่ยนคำแนะนำในการทานไข่ ซึ่งจากเดิมไม่ควรเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ เป็นวันละไม่เกินหนึ่งฟอง
ไข่วันละฟองทานได้หรือไม่ ?

ในคนทั่วไป การทานไข่วันละฟองถือว่าไม่มากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถทานอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ทานไข่เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ ในคนสูงอายุถ้ามีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการทานไข่แดง ทานเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น คนที่ไม่ควรทานไข่มากเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์คือ คนที่มีไขมันในเลือดสูง และจำเป็นต้องควบคุมไขมันในเลือด ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ ก็คงต้องดทานเพื่อไม่ให้เกิดอาการแพ้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี มีการผลิตไข่ที่สามารถทานได้ตลอดปี และมีแหล่งผลิตที่ดีและสะอาดราคาไม่แพง ดังนั้นเราจึงควรเลือกทานอาหารโปรตีนที่มาจากไข่มากกว่าการเลือกทานโปรตีน จากเนื้อสัตว์ ซึ่งคุณค่าทางอาหารสู้ไข่ไม่ได้

กินไข่อย่างไร..ได้ประโยชน์สูงสุด
อาหาร ที่ทำจากไข่ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ลวก ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ ไข่ยัดไส้ และอีกสารพัดเมนูไข่ คงจะคุ้นปากคนไทยเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า หากเราปรุงไข่แบบ สุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ ไข่ดาว ไข่ลวก แทนที่จะได้ประโยชน์อาจเป็นโทษต่อร่างกายและอาจจะไม่ปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัด นก

การรับประทานไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หากไข่แดงเป็นยางมะตูมอาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับรับประทานไข่ขาวที่เป็นยาง ใส ๆ เนื่องจากไข่ขาวดิบทั้งหมดเป็น “อัลบูลมิน” ถ้าไม่สุกจะทำให้มีปัญหาลำไส้ ย่อยได้ยาก นอกจากนี้การรับประทานแต่ไข่ขาวเพียงอย่างเดียว เพียงเพราะกลัวไขมันคอเลสเตอรอลสูงจากไข่แดง จะทำให้โปรตีนในไข่ขาวตัวหนึ่ง ชื่อ “อะวิดิน” ไปจับกับ “ไบโอติน” ในร่างกาย ทำให้ร่างกายขาด “ไบโอติน” (ซึ่ง“ไบโอติน” เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อเส้นผม และสุขภาพผิวที่ทำให้แก่ก่อนวัย)

สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพร่างกายปกติ สามารถรับประทานไข่ได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง ในกรณีที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือมีภาวะโรคอ้วน ควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถรับประทานได้สัปดาห์ละ 1 ฟอง หรือรับประทานเฉพาะไข่ขาวได้ทุกวัน เพราะไข่ขาวจะไม่มีคอเลสเตอรอล

สำหรับ เด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบ วัยเรียนไปจนถึงวัยอุดมศึกษา สามารถรับประทานไข่ได้วันละ 1 ฟอง สัปดาห์ละ 7 ฟอง เพราะต้องใช้พลังงานสูง โดยไข่จะมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทั้ง ด้านร่างกายและ สติปัญญา
กินไข่อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยหลักง่ายๆ คือ

1. รับประทานไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น
2. รับประทานไข่ไปพร้อม ๆ กับอาหารหลัก 5 หมู่ โดยเฉพาะการทานไข่ร่วมกับผักจะมีเส้นใยอาหาร ที่ช่วยดูดซับคอเลสเตอรอลในไข่ได้ส่วนหนึ่ง
3. ควรรับประทานไข่ในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายเมนู คนที่มีภาวะไขมันในร่างกายสูง ควรหันมาทานไข่ต้ม ไข่ตุ๋น แทนไข่เจียวหรือไข่ดาว
4. เมื่อรับประทานไข่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ไขมันสูงในวันเดียวกัน เช่น ทานไข่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงข้าวขาหมู เครื่องในสัตว์ และเนื้อติดมัน
5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะลดภาวะ เสี่ยงต่อคอเลสเตอรอลสูงได้



INSURANCETHAI.NET
Line+