รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ
777

รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ

รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ

โดย นายไกรลาภ เนียวกุล

      ปัญหาในเรื่องการสูญหายของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ตามลานจอดรถยนต์หรืออาคารจอดรถยนต์ของสถานที่หรือสถานประกอบการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มีบางท่านกล่าวว่า เจ้าของสถานที่ รวมทั้ง บริษัทรักษาความปลอดภัย ต้องรับผิดชอบ บางท่านก็ว่าไม่ต้องรับผิดชอบ บางท่านก็ว่า ถ้าเสียค่าจอด และมีบัตรจอด เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ แต่หากไม่เสียค่าจอดไม่ว่าจะมีบัตรจอดหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ บางท่านไปไกลกว่านั้นอีก โดยเฉพาะกรณีห้างสรรพสินค้านั้น หากรถยนต์หายให้เข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้านั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราได้ใช้บริการ และเขาต้องรับผิดชอบ
      คำกล่าวเหล่านั้นดูจะสับสนและคลุมเครือกันอยู่ หาข้อสรุปไม่ได้ว่า ตกลงแล้วใครจะรับผิดชอบ หรือจะเป็นบาปเคราะห์ของเจ้าของรถยนต์นั้นเอง
      ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอเสนอความเห็นในเรื่องนี้ โดยการวิเคราะห์ ไปตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเท่าที่ค้นพบ  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้คงจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย.

    การที่เราจะพิจารณาว่า เจ้าของสถานที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมายหรือไม่ จะต้องดูกฎหมายอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

    1. กฎหมายสัญญา  ได้แก่ สัญญาฝากทรัพย์ และ สัญญาเช่าทรัพย์ ( เช่าที่จอดรถยนต์ ) 
    2. กฎหมายละเมิด

    1. สัญญา

        1.1  สัญญาเช่าทรัพย์
              มาตรา 537  อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น 
จะเห็นว่า สัญญาเช่าทรัพย์นี้ ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่า ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลทรัพย์ที่ตนเช่าเพราะผู้เช่าได้สิทธิครอบครองในทรัพย์ที่เช่า เช่น กรณีให้เช่าที่จอดรถยนต์ ผู้เช่าจึงต้องมีหน้าที่ดูแลที่จอดรถยนต์ของผู้ให้เช่า ในทางกลับกัน ผู้ให้เช่าไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ในที่นี้คือ รถยนต์ของผู้เช่าพื้นที่แต่อย่างใด เพราะผู้เช่าไม่ได้โอนสิทธิครอบครองในรถยนต์ ( ส่งมอบรถยนต์ )มาให้ผู้ให้เช่าดูแล หากโอนสิทธิครอบครองมา ก็ไม่ใช่สัญญาเช่า แต่จะเป็นสัญญาฝากทรัพย์
   
      1.2  สัญญาฝากทรัพย์
            มาตรา  657  อันฝากทรัพย์นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนและจะคืนให้

      ลักษณะสำคัญของสัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา 657  ดังกล่าวนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ 

      ก. ผู้ฝากจะต้อง “ โอนสิทธิครอบครอง ”  ในตัวทรัพย์ให้แก่ ผู้รับฝาก หากไม่มีการโอนสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์กันแล้ว สัญญาฝากทรัพย์เกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้รับฝากต้องมีสิทธิครอบครองในตัวทรัพย์ และ
    ข. หน้าที่ของผู้รับฝากก็คือต้องใช้ความระมัดระวังทรัพย์ที่รับฝากไม่ให้สูญหายหรือบุบสลาย หน้าที่ดังกล่าวนี้อยู่ในมาตรา  659  ซึ่งกฎหมายวางระดับความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากไว้ไม่เท่ากัน ขึ้นกับข้อเท็จจริงในขณะที่ฝากกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ขอกล่าวเนื่องจากมีรายละเอียดที่มากเกินไป และต้องใช้การอธิบายกันเป็นอย่างมาก
    เมื่อหน้าที่ของผู้รับฝากเป็นเรื่องของการใช้ความระมัดระวัง ( Obligation  of  care  or  of  prudent  หรือ Duty  of  care )  กรณีการจอดรถยนต์ในลานจอดรถยนต์ตามสถานที่ต่างๆ หรือ สถานประกอบการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เป็นต้น  (ยกเว้นกรณีของเจ้าสำนักโรงแรม)  นั้น  อย่างไร  หรือ  เมื่อไร  ที่จะเรียกได้ว่า  ผู้ขับขี่  หรือเจ้าของรถยนต์ได้ทำการส่งมอบรถยนต์ให้อยู่ในอารักขาของสถานประกอบการ หรือ เจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการ เช่น  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น กล่าวคือ อย่างไร หรือเมื่อไร จึงจะเรียกได้ว่ามีการโอนสิทธิครอบครองให้แก่กัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก และก่อให้เกิดความสับสนกันเป็นอย่างมาก
    จากการศึกษาตามหลักวิชาการทางกฎหมาย รวมทั้งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้เขียนขอตั้งประเด็นการวิเคราะห์ ดังนี้ คือ ถือเอาการส่งมอบกุญแจเป็นหลัก    ก.  ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาฝากทรัพย์
       
      คำพิพากษาฎีกา  932/2517
      คนของโจทก์นำรถยนต์ของโจทก์ไปฝากที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 4  ได้มอบกุญแจรถยนต์ให้ไว้  คนของจำเลยที่ 4  ได้นำรถยนต์ของโจทก์เข้าไปเก็บไว้ในที่เคยเก็บรถยนต์  ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานาน การกระทำดังกล่าวฟังได้ว่า  จำเลยได้ตกลงรับฝากรถยนต์ของโจทก์ไว้ในอารักขาของตนแล้วตลอดเวลาที่รถยนต์ของโจทก์อยู่ที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย อำนาจการครอบครองรถยนต์ของโจทก์ตกอยู่กับจำเลยที่จะจัดการเกี่ยวกับรถยนต์นั้นได้ทุกเมื่อ จนกว่าโจทก์จะมารับรถยนต์คืนไป  และเป็นสัญญารับฝากรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์เป็นเงินตอบแทนจึงเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่สัญญาเช่าที่จอดรถไม่  หมายเหต บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการ ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางสถาบันไม่รับผิดชอบใดใด

  แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการส่งมอบกุญแจมีดังนี้


      หมายเหตุ  ตามคำพิพากษานี้ จำเลยอ้างว่าเป็นการเช่าพื้นที่จอดรถยนต์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครอง แต่มีการฝากกุญแจกันด้วย รวมทั้งเสียค่าบริการ ศาลจึงฟังว่าเป็นฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก ไม่ใช่เช่าทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่  2004/2517
      ผู้จัดการจำเลยเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล อนุญาตให้โจทก์จอดรถที่ปั๊มน้ำมันของจำเลย. แม้จำเลยจะไม่ได้รับบำเหน็จตอบแทนก็หาพ้นจากความรับผิดในฐานเป็นผู้รับฝาก ไม่
      คนงานของจำเลยให้รถที่โจทก์ฝากแก่คนอื่นไปโดยมิได้ตรวจดูหนังสือที่มีผู้นำมาขอรับรถให้ดีเสียก่อนว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์หรือไม่ ทั้งๆ ที่คนขายน้ำมันของจำเลยจำลายมือโจทก์ได้ ดังนี้ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยต้องรับผิดใช้คืนแก่โจทก์

    หมายเหตุ  การฝากทรัพย์ ตามสัญญาฝากทรัพย์นั้นไม่จำเป็นต้องมีบำเหน็จค่าฝากก็ได้ ( โปรดดูมาตรา 659 วรรคแรก ประกอบ แต่ เช่าทรัพย์ต้องมีค่าเช่าเสมอ มิเช่นนั้นไม่เป็นเช่าทรัพย์ )

    คำพิพากษาฎีกาที่  365/2521 
    นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันโดยมอบกุญแจรถแก่ลูกจ้างเจ้าของปั๊มจอดไม่ประจำที่ แม้มีประกาศไว้ที่ปั๊ม และในใบเสร็จระบุว่าเป็นเรื่องให้เช่าสถานที่จอดรถก็ไม่หักล้างการปฏิบัติซึ่งเป็นการฝากทรัพย์

    หมายเหตุ  ศาสตราจารย์ จิตติ  ติงศภัทิย์  บันทึกหมายเหตุท้ายฎีกานี้ว่า  “  หลักวินิจฉัยของศาลคือมีการส่งมอบทรัพย์ที่ฝากแก่ผู้รับฝาก จึงเป็นฝากทรัพย์ตาม ม.657 มิใช่เช่าที่จอดรถ การส่งมอบทรัพย์คือมอบกุญแจสำหรับรถ ”

    คำพิพากษาฎีกาที่  925/2536   
    จำเลยที่  1  จัดบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารของจำเลยที่  1  โดยให้จำเลยที่  2  ลูกจ้างของจำเลยที่  1  ต้อนรับ  เอากุญแจรถยนต์ขับรถยนต์เข้าที่จอด  และเคลื่อนย้ายรถยนต์หากมีรถยนต์คันอื่นเข้าออกในบริเวณภัตตาคาร  ออกใบรับที่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรับกุญแจรถยนต์ของโจทก์เก็บไว้ ถือได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 657  ซึ่งจำเลยที่  1  ผู้รับฝากจะต้องดูแลระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตนเอง  เมื่อรถยนต์โจทก์ที่นำมาฝากเพื่อรับประทานอาหารในภัตตาคารของจำเลยที่  1  หายไป  โดยจำเลยที่ 1  มิได้ดูแลหรือใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตน  จำเลยที่  1  จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ข.  ไม่มีการส่งมอบกุญแจแต่เป็นสัญญาฝากทรัพย์

    คำพิพากษาฎีกาที่  949/2518 
    โจทก์นำรถยนต์บรรทุกเล็กไปจอดที่ปั๊มของจำเลยที่มีบริการคิดค่าจอดเดือนละ  80  บาท  ผู้นำรถมาจอดใส่กุญแจรถถือกลับไป แต่ปล่อยห้ามมือไว้เพื่อเข็นย้ายได้ รถของโจทก์หายไป โจทก์จึงฟ้องเรียกราคากับค่าเสียหายในการจ้างรถอื่นมาใช้แทน  พฤติการณ์เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าการบริการเช่นนี้ของจำเลยเป็นการรับฝากรถ  หาใช่ให้เช่าสถานที่จอดรถยนต์ไม่ จำเลยจึงต้องมีความระมัดระวังเท่าที่จะต้องใช้ในการประกอบการค้านั้น การที่ลูกจ้างของจำเลยไปทำธุระที่อื่นนั้นก็ควรจะจัดผู้อื่นดูแลแทน เมื่อรถยนต์หายไปในระหว่างนั้นเป็นการไม่ระมัดระวังดูแลรถยนต์เท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้  จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายคือราคารถที่ใช้มาแล้วเป็นเงิน  30,000.00  บาท  และยังมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ได้อีก  ตามมาตรา  222  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  การที่โจทก์ต้องจ้างรถยนต์คันอื่นบรรทุกผักแทน  เป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามปกติที่เคยใช้

    หมายเหตุ  ตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวน่าจะเป็นว่าศาลได้ฟังพยานหลายปาก และเชื่อในคำของพยานว่า  พฤติกรรมของจำเลยที่แสดงออกต่อผู้ใช้บริการเป็นเรื่องของการฝากทรัพย์ กล่าวคือ ฝากรถยนต์ ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาอีก  2  ฉบับ ที่อ้างถึง  พฤติกรรมของจำเลย ( ในเนื้อหาไม่ปรากฏว่ามีการส่งมอบกุญแจหรือไม่)  ได้แก่ คำพิพากษาฎีกาที่  475/2522 และ คำพิพากษาฎีกาที่  331/2524 

    คำพิพากษาฎีกาที่  475/2522
    ปั๊มของจำเลยปฏิบัติต่อลูกค้ามีพฤติการณ์แสดงว่า จำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มน้ำมันจึงเป็นลักษณะฝากทรัพย์  ตามมาตรา  657  ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถ

  คำพิพากษาฎีกาที่  331/2524 
  การที่จำเลยยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถเข้าไปจอดบริเวณปั๊มน้ำมันของจำเลยโดยปั๊มได้รับเงินค่าจอดเป็นประโยชน์ตอบแทน เมื่อปั๊มปิดจะมีรั้วเหล็กปิดกั้นหน้าปั๊มไว้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าทางปั๊มได้รับมอบทรัพย์สินไว้เพื่อดูแลเก็บรักษาไว้ในอารักขาของตนเป็นการรับฝากทรัพย์ตามป.พ.พ.  มาตรา  657  แม้ทางปั๊มจะมีประกาศว่าให้เช่าเป็นที่จอดรถรวมทั้งระบุข้อความในใบรับเงินและเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งไม่ต้องรับผิด  ก็เป็นการกระทำของจำเลยฝ่ายเดียว  บุคคลภายนอกมิได้มีข้อตกลงตามนั้น  อันจะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของจำเลยที่  1    ไปในรูปลักษณะของนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งมิใช่ลักษณะของการฝากทรัพย์

  หมายเหตุ  ศาลฎีกากล่าวไว้ตอนหนึ่งในคำพิพากษาว่า “ ....ทางปั๊มจะเป็นผู้ชี้บริเวณที่จะจอดและว่าเมื่อปั๊มปิดจะมีรั้วเหล็กปิดกั้นหน้าปั๊มใส่กุญแจมีคนประจำเฝ้าปั๊มไว้ด้วย ซึ่งแสดงว่าการนำรถเข้าจอดภายในอาณาบริเวณปั๊ม ทางปั๊มมิได้กำหนดสถานที่ที่จอดรถของแต่ละคันให้เป็นที่แน่นอนตายตัว แล้วแต่ทางปั๊มจะกำหนดสถานที่ให้จอดเป็นคราว ๆ และชอบที่จะเคลื่อนย้ายรถที่จอดได้ตามควรแก่กรณี ซึ่งตามทางปฎิบัติและพฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าทางปั๊มได้รับมอบทรัพย์สินไว้เพื่อดูแลเก็บรักษาไว้ในอารักขาแห่งตน อันเป็นการรับฝากทรัพย์ ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับตัวรถก็ดี ทางปั๊มมีป้ายประกาศว่าให้เช่าเป็นที่จอดรถก็ดีรวมทั้งได้ระบุข้อความในใบรับเงินและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งไม่ต้องรับผิดตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ดี เห็นว่าเป็นการกระทำของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวบริษัทขวัญใจภาพยนต์ จำกัด มิได้มีข้อตกลงตามนั้น อันจะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ไปในรูปลักษณะของนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการรับฝากทรัพย์ดังจำเลยอ้าง… ”

ค.  ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์

    คำพิพากษาฎีกาที่  657/2521 
    โจทก์จอดรถยนต์ที่สถานีบริการน้ำมันของจำเลย  มอบกุญแจรถแก่คนของจำเลย  โดยมีป้ายและใบเสร็จรับเงินข้อความว่า เช่าสถานที่  ไม่รับผิดในทรัพย์สูญหาย  เจตนาของคู่กรณีไม่ใช่เรื่องฝากทรัพย์  กุญแจที่มอบเพื่อเคลื่อนย้ายรถ  ไม่ใช่มอบให้ครอบครอง

  หมายเหตุ  คดีนี้แม้ส่งมอบกุญแจ แต่เป็น เช่าที่จอดรถเนื่องจาก โจทก์ ตกลงในเรื่องเช่าทรัพย์ ดังที่ศาลฎีกาอธิบายไว้ตอนหนึ่งดังนี้ “...ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ของโจทก์หายไปจากที่จอดรถภายในปั๊มน้ำมันของจำเลย ตามประเด็นเรื่องฝากทรัพย์มีปัญหาพิจารณาในเบื้องต้นว่าเมื่อโจทก์นำรถเข้ามาจอดในสถานที่จอดรถภายในปั๊มน้ำมันจำเลยนั้น โจทก์ได้รับทราบข้อตกลงจากจำเลยว่าเป็นการเช่าสถานที่ไว้จอดรถ และเรื่องที่จำเลยไม่รับผิดในความเสียหาย สูญหายของทรัพย์สินในที่เช่าดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ พิเคราะห์แล้วในเรื่องฝากรถไว้กับจำเลย คงมีแต่ตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าได้นำรถมาฝากไว้กับจำเลย เมื่อรถหายไปจำเลยต้องรับผิด แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพฤติการณ์ของโจทก์เองเช่น โจทก์นำรถมาจอดในปั๊มน้ำมันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนรถหาย โจทก์ได้เห็นมีป้ายขนาดใหญ่ตามภาพถ่ายที่จำเลยอ้างประกอบแสดงไว้ในปั๊ม โจทก์ได้รับใบเสร็จรับเงินจากจำเลยตามที่อ้างประกอบ และโจทก์ยังได้ลงชื่อไว้ในใบเสร็จรับเงินหมาย ล.5 ซึ่งเป็นคู่ฉบับกับใบเสร็จหมาย จ.8 ประจำเดือนสิงหาคม 2517 ในใบเสร็จดังกล่าวมีข้อความแสดงไว้ชัดแจ้งว่าเป็นเรื่องเช่าสถานที่จอดรถ และไม่รับผิดในทรัพย์สินสูญหายเสียหายของจำเลย จึงเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อโจทก์นำรถเข้ามาจอดในปั๊มน้ำมันจำเลยนั้น โจทก์ได้รับทราบเงื่อนไขและได้ตกลงกันให้เป็นการเช่าสถานที่ตามที่จำเลยได้แบ่งเป็นช่อง ๆ ไว้ ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ และจำเลยไม่รับผิดในการเสียหายสูญหายของทรัพย์สินในสถานที่เช่า เมื่อเจตนาของคู่กรณีประสงค์ให้เป็นเรื่องเช่าดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่ารถและค่าเสียหายตามฟ้อง เพราะรถยนต์หายไปไม่ได้เกิดจากความผิดของฝ่ายจำเลยที่โจทก์อ้างอีกประการหนึ่งว่าโจทก์ได้มอบลูกกุญแจรถดอกหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ประจำปั๊มน้ำมันจำเลยเก็บรักษาไว้จึงถือว่าเป็นการมอบรถให้อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่า โจทก์เป็นผู้ปิดประตูรถใส่กุญแจและเก็บรักษากุญแจรถอีกดอกหนึ่งไว้ การกลับมาเอารถไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอกุญแจจากเจ้าหน้าที่คืนหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ก่อน แสดงว่ารถยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ฉะนั้นการส่งมอบกุญแจรถให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลย น่าเชื่อว่าเพื่อใช้เคลื่อนย้ายหรือล้างรถเป็นครั้งคราว ยังไม่ถือว่าเป็นการมอบรถให้อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยซึ่งจะถือว่าเป็นการรับฝากทรัพย์..."

หมายเหตุ :  ข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของข้อเขียนชิ้นนี้

Re: รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ
777

Re: รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ

ง.  ไม่ส่งมอบกุญแจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่  286/2525 

    เช่าสถานที่สถานีบริการน้ำมันจอดรถ  โดยนำรถเข้าไปจอดเองแล้วนำกุญแจรถกลับไปด้วย ต้องดูแลรับผิดชอบรถเองโดยจำเลยจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการจอดรถ  ทั้งยังมีข้อตกลงกันว่าให้เช่าเฉพาะที่จอดรถไม่รับผิดชอบในการที่รถสูญหายหรือเสียหายด้วยใบเสร็จรับเงินที่ออกให้ก็เขียนไว้ทุกฉบับว่า  เป็นค่าเช่าที่จอดรถ  ดังนี้  ข้อตกลงและพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างจำเลยกับ ว. เป็นเรื่องให้เช่าที่จอดรถ  จำเลยมิได้รับมอบรถเพื่อเก็บรักษาไว้ในอารักขาแห่งตนจึงไม่เป็นการรับฝากทรัพย์ ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  657  ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายเกี่ยวกับรถที่สูญหาย

    หมายเหตุ  ศาลฎีกาให้เหตุผลดังนี้ “ …ส่วนในปัญหาที่ว่าเป็นการรับฝากรถหรือให้เช่าที่จอดรถนั้นฟังได้ว่านายวีระยุทธตกลงกับจำเลยที่ 1 เช่าสถานที่บริการน้ำมันจอดรถโดยนายวีระยุทธหรือลูกจ้างนำรถเข้าไปจอดเอง ปิดกระจก ใส่กุญแจ ประตูรถเองทุกครั้ง แล้วนำกุญแจกลับไปด้วย ต้องดูแลรับผิดชอบรถเอง ถ้าจอดเกะกะจำเลยที่ 1 จะให้คนโทรศัพท์ให้ไปจอดให้เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ไม่จัดการจอดรถให้ ไม่รับฝากกุญแจรถและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจอดรถ ทั้งยังมีข้อตกลงกันอีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เช่าเฉพาะที่จอดรถ จะไม่รับผิดชอบในการที่รถสูญหายหรือเสียหายด้วย ใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่นายวีระยุทธก็เขียนไว้ชัดเจนทุกฉบับว่าเป็นค่าเช่าที่จอดรถ ดังนั้นข้อตกลงและพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวีระยุทธ จึงเป็นเรื่องเช่าที่จอดรถ จำเลยที่ 1 มิได้รับมอบรถเพื่อเก็บรักษาไว้ในความอารักขาแห่งตนอันเป็นการรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเกี่ยวกับรถที่สูญหายนี้ต่อนายวีระยุทธหรือต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากนายวีระยุทธ… ”

      คำพิพากษาฎีกาที่  847/2525 

      เจ้าของนำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยใส่กุญแจประตูรถยนต์  แล้วนำกุญแจติดตัวไปตามข้อความในใบเสร็จรับเงินที่ลงชื่อรับทราบ  และยังมีข้อความต่อไปว่าทางร้านให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถไม่รับผิดชอบในการสูญหาย  เสียหายต่อรถ  และสิ่งของใดๆ  ที่มีอยู่ในรถ  ทั้งมิได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลย  และจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแล้วจะคืนให้  ดังนี้มิใช่สัญญาฝากทรัพย์  แต่เป็นเช่าที่จอดรถยนต์

      หมายเหตุ  ศาลฎีกาให้เหตุผลดังนี้ " ….ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายเสรี ปิยะธาราธิเบศร์ เช่าสถานที่ในปั๊มน้ำมันของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ ไม่ใช่ให้จำเลยดูแลรักษารถยนต์ นายเสรี ปิยะธาราธิเบศร์เจ้าของรถยนต์เป็นผู้นำรถยนต์ไปจอดที่ปั๊มน้ำมันของจำเลยได้ใส่กุญแจประตูรถยนต์ แล้วนำกุญแจติดตัวไปด้วย และได้ลงชื่อรับทราบข้อความในใบเสร็จรับเงินซึ่งมีว่า "โปรดทราบ รถที่ท่านนำมาจอดบริเวณปั๊มนี้ ต้องนำกุญแจรถกลับไปด้วย เพราะทางร้านให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถ ฉะนั้น ทางร้านไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถและสิ่งของใด ๆ ที่มีอยู่ในรถ" ไม่มีการกระทำใด ๆ แสดงให้เห็นว่า เจ้าของรถยนต์หรือผู้นำรถยนต์ไปจอดได้ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลย และจำเลยตกลงว่าจะเก็บรักษารถยนต์ที่นำไปจอดนั้นไว้ในอารักขาของจำเลย แล้วจำเลยจะคืนให้เจ้าของรถยนต์หรือผู้นำรถยนต์ไปจอดในปั๊มของจำเลย ก็ได้ทราบเจตนาของจำเลยอยู่แล้วตามข้อความในใบเสร็จรับเงินว่า จำเลยไม่รับผิดชอบในการสูญหาย เสียหายต่อรถยนต์และสิ่งของใด ๆ ที่อยู่ในรถ เพราะจำเลยให้เช่าที่จอดรถไม่ใช่รับฝากรถยนต์...”

      จ.  อื่นๆ

      คำพิพากษาฎีกาที่  1538/2526 

      ผู้นำรถยนต์เข้าไปจอดไว้ที่สวนสัตว์ดุสิตของจำเลยจะต้องขับรถผ่านประตูเข้าไปหาที่จอดเอาเองและเป็นผู้เก็บกุญแจรถไว้ จำเลยเพียงแต่จัดที่จอดรถไว้ มิได้จัดพนักงานเฝ้าดูแลรถยนต์ที่นำมาจอด พนักงานของจำเลยมิได้ขับรถยนต์ไปหาที่จอดให้และมิได้เก็บกุญแจรถไว้  เมื่อจะกลับผู้ครอบครองรถยนต์จะต้องขับรถออกไปจากที่จอดเอง และเงินที่พนักงานของจำเลยเรียกเก็บเมื่อนำรถยนต์เข้าไปในสวนสัตว์ก็เป็นค่าธรรมเนียมผ่านประตูไม่ใช่บำเหน็จค่าฝาก การที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยฉีกหรือตรวจบัตรจอดรถยนต์ตอนนำรถออกจากสวนสัตว์ เป็นเพียงมาตราการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น  ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับฝากรถยนต์ที่นำเข้ามาจอด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าว
      โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝากได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้รับฝาก โดยแสดงรายละเอียดในฟ้องว่า พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ที่รับฝากไว้ได้ละเลยหน้าที่ปล่อยให้คนร้ายลักรถยนต์ไปจากบริเวณที่จอดรถของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก ปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้รับฝากเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ไป ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องละเมิดไว้ ฟ้องโจทก์จึงมีแต่เรื่องผิดสัญญาฝากทรัพย์ เรื่อง พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยกระทำละเมิดจึงไม่เป็นประเด็นในคดี โจทก์จะขอให้จำเลยรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยได้กระทำไปหาได้ไม่

      หมายเหตุ  คดีนี้ไม่มีการฝากกุญแจไว้ จึงไม่เป็นฝากทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เช่าที่จอดรถยนต์ (ไม่มีการเก็บค่าบริการ การจอดรถยนต์ ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โจทก์กับจำเลย ไม่ได้ทำสัญญาต่อกัน  ศาลจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดสัญญานอกจากนั้นโจทก์ ไปฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ ศาลชั้นต้นเลยไม่กำหนดประเด็นเรื่องละเมิดไว้ ศาลฎีกาจึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในเรื่องละเมิดให้โจทก์

    คำพิพากษาฎีกาที่  1621/2534

    จำเลยยินยอมให้ลูกค้านำรถยนต์มาจอดในบริเวณที่ว่างในสถานีบริการน้ำมันทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต้ถ้านำรถยนต์ออกจากที่จอดหลังเวลา  6  นาฬิกา  จะต้องเสียเงินคันละ  10  บาท  การนำรถยนต์มาจอดหรือเอาออกไปไม่ต้องบอกใคร กรณีมีการเก็บเงินพนักงานของจำเลยจะมาเก็บ เมื่อ ส. นำรถยนต์มาจอด ล็อกประตูแล้วเก็บกุญแจไว้เองมิได้ส่งมอบให้พนักงานของจำเลย การครอบครองรถยนต์ระหว่างที่จอดยังอยู่ในความครอบครองของ ส. แม้จะมีการเก็บเงินค่าจอดหรือค่าบริการก็ไม่เป็นการฝากทรัพย์

    หมายเหตุ  ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “… แม้พนักงานของจำเลยทั้งสองจะมาดูขณะนาย ส. จะนำรถเข้ามาจอดก็เป็นเพียงดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น มิได้รับมอบการครอบครองรถยนต์ แม้จะเก็บเงินค่าจอดหรือค่าบริการก็ไม่เป็นการฝากทรัพย์จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ "
    อนึ่ง ตาม คำพิพากษาฎีกาที่  1538/2526  และ  คำพิพากษาฎีกาที่  1621/2534 มีประเด็นขึ้นศาลเพียงประเด็นเดียวคือ เรื่อง ฝากทรัพย์ นอกจากนั้น คำพิพากษาฎีกาที่  1621/2534 ในย่อคำพิพากษาฎีกา ไม่ปรากฏว่า จำเลยต่อสู้เรื่องเช่าทรัพย์แต่อย่างใด แม้จะมีการเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ด้วยก็ตาม

    สรุป

    แม้คำพิพากษาฎีกาที่ยกมานั้นไม่อาจสรุปเป็นเด็ดขาดว่า ศาลฎีกาถือเอาการส่งมอบกุญแจ จะทำให้เกิดสัญญาฝากทรัพย์ แต่หากสังเกตให้ดีแล้ว ศาลยึดเอาเรื่องส่งมอบกุญแจเป็นสำคัญ เว้นเสียแต่ว่า มีพฤติกรรมอย่างอื่นแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ( เช่าที่จอดรถยนต์ ) ดังนั้นจึงขอสรุปเป็นข้อดังนี้
    1. ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ ทั้งนี้จะเสียค่าบริการ ( บำเหน็จค่าฝาก )  หรือไม่ก็ตาม หากรถยนต์หาย เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วหรือ เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ( สุดวิสัยจะป้องกัน ) หรือเป็นเพราะรถยนต์นั้นเองหรือเป็นความผิดของผู้ฝากนั้นเอง
        อนึ่ง ในปัจจุบันทางห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักจะมีบริการที่เรียกว่า Valet Parking ซึ่งการบริการนี้ ลูกค้าของห้างดังกล่าวจะมอบกุญแจรถยนต์ของตนให้พนักงานของห้างสรรพสินค้า เพื่อนำรถยนต์ไปจอดตามจุดที่กำหนด เมื่อลูกค้าจะกลับ พนักงานก็จะขับรถยนต์นำมาให้ลูกค้าที่ทางออก เช่นนี้สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ หากสถานประกอบการอื่นทำเช่นนี้ ก็สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์เช่นเดียวกัน
    2. ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ แต่ต้องเสียค่าบริการด้วย มิเช่นนั้นไม่อาจเป็นเช่าทรัพย์ได้แต่อย่างใด กรณีนี้ เจ้าของสถานที่ที่เป็นผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดชอบ  เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ มีพฤติการณ์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น
        2.1 จำเลยซึ่งเป็น เจ้าของสถานที่ มีใบเสร็จรับเงิน มายืนยัน
        2.2 มีการตกลงทั้งวาจาหรือหนังสือว่าเป็นการเช่า ( ที่จอดรถยนต์ )
        2.3 มีป้ายแสดงอย่างเด่นชัดว่า เป็นการเช่าที่จอดรถยนต์ และ ผู้ให้เช่าไม่ต้องรับผิดความการสูญหายหรือบุบสลายต่อตัวรถยนต์
        2.4 นอกจากตัว โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ (หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ) เองแล้ว โจทก์ ไม่มีพยานคนอื่นมายืนยันว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องฝากทรัพย์ แต่หลักฐานฝ่ายจำเลยกลับแสดงได้ว่าเป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ตามนัย คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2521
    3. ไม่ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์
        ไม่ส่งมอบกุญแจ ตามปกติน่าจะเป็นเรื่องการเช่าที่จอดรถยนต์มากกว่า หากเสียค่าบริการ แต่หากมีพฤติการณ์เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ศาลมักจะตัดสินว่า เป็น สัญญาฝากทรัพย์ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่า ใบเสร็จรับเงิน หรือป้ายคำประกาศจะกล่าวว่า ให้เช่าที่จอดรถยนต์ ก็ตาม
        ตรงนี้สำคัญมาก ฝ่ายโจทก์ต้องหาผู้ใช้บริการคนอื่นมาเป็นพยานเพื่อเพิ่มน้ำหนักในเรื่องนี้ หากไม่มีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องเช่าทรัพย์
    4. ไม่ส่งมอบกุญแจ เป็นเรื่องเช่าทรัพย์
        ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนี้ แต่ต้องมีการเสียค่าบริการ ( ค่าเช่า ) ด้วย สัญญาเช่าทรัพย์จึงจะเกิด นอกจากนั้น จำเลยหรือฝ่ายเจ้าของสถานที่ต้องมีหลักฐานอื่นมาแสดงด้วย เช่น ป้ายประกาศ ใบเสร็จรับเงินว่าเป็นเรื่องเช่าที่จอดรถยนต์ เป็นต้น

  2. ละเมิด

      จะเห็นว่า กรณีดังกล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องของสัญญา ซึ่งจะต้องมีการตกลงกันทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่สัญญา ซึ่งในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นในกรณีของ การนำรถยนต์เข้าไปจอดในลานจอดรถยนต์ของห้างสรรพสินค้าต่างๆ หรือ ตามโรงแรม ซึ่งเราเข้าไปสัมมนา หรือ รับประทานอาหาร บางทีเราอาจต้องเสียค่าจอดด้วย หรือบางทีเราก็ได้ใบจอดรถยนต์ มาไว้เพียงอย่างเดียวโดยไม่เสียค่าจอด เป็นต้น เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องของสัญญาแต่อย่างใด โดยเฉพาะเมื่อไม่เสียค่าจอด เมื่อรถยนต์หาย เราจะฟ้องเรื่องผิดสัญญา เช่น ผิดสัญญาฝากทรัพย์ไม่ได้ ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่  1538/2526 เป็นต้น เมื่อไม่ใช่สัญญา ก็เหลือแต่เรื่องละเมิด เท่านั้นที่เราจะบังคับเอากับเจ้าของสถานที่

      การบังคับด้วยกฎหมายละเมิดนั้น ขณะนี้มีเพียงมาตราเดียวที่จะนำมาใช้คือ มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

      มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

      มาตรา 420 นี้ เป็นความรับผิดชอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความผิดชอบของบุคคล ( Liability  based on Fault )  กล่าวคือ การกระทำโดย จงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และ ประมาทเลินเล่อ ( อย่างธรรมดา )
นอกจากการกระทำแล้วยังรวมถึง การละเว้นกระทำการ ดังกล่าวด้วย แต่จะเป็นการละเว้นกระทำการนั้น จะต้องมีหน้าที่เสียก่อน กล่าวคือ ละเว้นกระทำการตามหน้าที่นั่นเอง หากไม่มีหน้าที่กระทำแล้ว ย่อมไม่เรียกว่า ละเว้นกระทำการ

      นอกจากการกระทำแล้วยังรวมถึง การละเว้นกระทำการ ดังกล่าวด้วย แต่จะเป็นการละเว้นกระทำการนั้น จะต้องมีหน้าที่เสียก่อน กล่าวคือ ละเว้นกระทำการตามหน้าที่นั่นเอง หากไม่มีหน้าที่กระทำแล้ว ย่อมไม่เรียกว่า ละเว้นกระทำการ

Re: รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ
777

Re: รถยนต์หาย...ใครจะต้องรับผิดชอบ

    ในทางปฏิบัติ จะเห็นว่า ตามสถานที่ต่างๆ ที่เราเข้าไปจอดรถยนต์ เมื่อรถยนต์หาย เขามักอ้างว่า สถานที่ที่ให้จอดรถยนต์นั้น เขามีไว้เพื่อ
      1. เป็นการอำนายความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการเท่านั้น
      2. บัตรจอดรถที่จ่ายให้ ก็เป็นเพียง การช่วยรักษาความปลอดภัย
      3. ค่าจอดก็เป็นเป็นค่าธรรมเนียมการจอด ไม่ใช่ค่าฝากรถยนต์ ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1621/2534
     
      เหล่านี้ เพื่อจะเป็นการเลี่ยงว่าเขาไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่เข้าไปจอด แต่แท้ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น หากสังเกตให้ดี การที่เราได้รับบัตรจอดรถยนต์นั้น แม้จะเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยก็ตาม แต่เขาก็กำหนดหน้าที่ของเขาขึ้นมาแล้วเช่นกัน เมื่อกำหนดหน้าที่ขึ้นมา ก็ต้องลงไปดูว่า พนักงานของเขาที่มาทำหน้าที่ตรงนั้น บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ กล่าวคือ บกพร่องต่อหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ หากบกพร่อง จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน
      การบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เป็นเรื่องๆ ไป ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540  ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า พนักงานของเขา ปฏิบัติหน้าอย่างครบถ้วนและไม่ได้ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์ออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสาร แต่สำหรับ  คำพิพากษาฎีกาที่  4223/2542 ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า กลับไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า พนักงานของเขาปฏิบัติหน้าอย่างครบถ้วนและไม่ได้ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์ออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสาร เมื่อรถยนต์ของผู้เข้ามาใช้บริการหายไป เขาจึงต้องรับผิดชอบ
      นอกจากนั้น เมื่ออ่านคำพิพากษาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ความระมัดระวังอย่างมากก่อนปล่อยรถ ส่วนข้อเท็จจริงตาม คำพิพากษาฎีกาที่  4223/2542  ใช้ความระมัดระวังน้อยกว่า ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก มาตราการรักษาความปลอดภัยของห้างทั้งสองต่างกัน กล่าวคือ ห้างสรรพสินค้า ( รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 มีและใช้มาตรการที่รัดกุมมากกว่า ห้างสรรพสินค้า ( รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ) ตาม คำพิพากษาฎีกาที่  4223/2542

      คำพิพากษาฎีกาที่  370/2540 

      จำเลยจัดอาคารที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเป็นผู้เก็บกุญแจไว้โดยไม่ต้องเสียค่าจอดแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยฉีกหรือตรวจบัตรจอด  รถยนต์ขณะที่นำรถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถของจำเลยนั้น เป็นเพียงมาตรการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างของจำเลยปล่อยให้รถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถโดยไม่รับบัตรจอดรถคืนนั้น  โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าลูกจ้างของจำเลยได้ปล่อยรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร  แต่กลับได้ความจากพยานจำเลยว่า  วันเกิดเหตุมีรถยนต์ขอออกจากอาคารที่จอดรถไปโดยไม่มีบัตรจอดรถยนต์รวม  3  คัน  ลูกจ้างของจำเลยได้บันทึกทะเบียนรถยนต์  บัตรประจำตัวผู้ขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชนไว้แล้ว  ไม่ปรากฏว่าได้ปล่อยรถคันที่โจทก์รับประกันออกไป  แม้ว่า  ว. พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่า  เคยขับรถเข้าไปจอดในห้างของจำเลยแล้วออกไปโดยไม่คืนบัตรจอดรถ  ลูกจ้างของจำเลยไม่ยอมให้ออกจนกระทั้งต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับรถให้ดูจึงจะนำรถออกไปได้  แสดงว่าลูกจ้างของจำเลยได้ตรวจสอบและปล่อยรถไปถูกต้องตามระเบียบเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเองมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

      คำพิพากษาฎีกาที่  4223/2542

      จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการด้วย
    การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

      หมายเหตุ ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลดังนี้  “ ... ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจะต้องรับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรผ่านมอบคืนให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออก จึงจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้ หากไม่มีบัตรผ่าน พนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออก จะต้องนำหลักฐานความเป็นเจ้าของรถยนต์และบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงจึงจะนำรถยนต์ออกไปได้รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรผ่าน และบัตรผ่านเข้าออกเอกสารหมาย ล.3 และ ล.10 แม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถยนต์เองดูแลปิดประตูรถยนต์และเก็บกุญแจรถยนต์ไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรผ่านจะมีข้อความว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ของรถยนต์ที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณลานจอดรถดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสองและเจ้าของศูนย์การค้าจัดให้มีบริการรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่จะนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารและขณะที่จะนำรถยนต์ออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และถือบัตรผ่านจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้เลย เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อนการกระทำที่ปฏิบัติก่อน ๆ มาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่จอด หรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากมีการตรวจบัตรตรงช่องทางที่รถยนต์ออกโดยเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของนายสวาทจะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปนี้เชื่อว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสวาทถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420”

        พึงสังเกตว่า

      1. ในกรณีละเมิดนี้ ต้องระมัดระวังไว้เช่นกันว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ดี เจ้าของสถานที่ ก็ดี ไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์คันใดคันหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หากรถยนต์ ได้รับความเสียหายกล่าวคือไม่ได้สูญหาย เช่น ถูกขีดเป็นรอย ถูกงัดรถยนต์เพื่อขโมยทรัพย์สินภายในรถยนต์ บุคคลตามที่กล่าวมาอาจไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นเดียวกัน  หน้าที่โดยตรงของบุคลตามที่กล่าวมาเป็นเพียงหน้าที่โดยทั่วไปเท่านั้น แต่หากมี เขาก็สามารถอ้างได้ว่า “ ดูแลไม่ทั่วถึง ” จึงไม่ต้องรับผิดชอบ
      2. ในกรณีละเมิดนี้ หากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลักรถยนต์ไป หรือ ร่วมมือกับผู้อื่นลักรถยนต์ไปนั้น นายจ้างอาจไม่ต้องรับผิดชอบได้ เพราะทำไปในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ทำไปในทางการที่จ้าง ตามมาตรา 425
      3. การละเว้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเกิดจากสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิต่างๆ ของบุคคลล ก็เป็นการละเมิดโดยการเว้นกระทำการตามหน้าที่อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
      4. สำหรับสถานที่อื่นๆ ที่มีลานจอดรถยนต์ไว้ให้ หากไม่มีบัตรจอดรถยนต์ให้ มีเพียงเจ้าหน้าที่รัษาความปลอดภัย คอยอำนวยความสะดวกในการจัดการจราจรภายในสถานที่ เช่นนี้ก็เป็นยากที่จะตำหนิว่าเขาละเว้นกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ เนื่องจาก เขาไม่มีหน้าที่ใดๆ ต่อเจ้าของรถยนต์เข้าไปใช้ที่จอดรถยนต์
      5. ในกรณีของ อาคารชุด ( Condominium ) จะเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ อาคารชุด พ.ศ. 2522  นิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่ดูแลทรัพย์ส่วนกลาง ( ทรัพย์ส่วนกลางเป็นของเจ้าของห้องชุดทุกคน)  ที่จอดรถยนต์อาจเป็นทรัพย์ส่วนกลาง แต่เขาก็ไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของเจ้าของห้องชุด เว้นแต่มีข้อบังคับให้เขาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้ด้วย ด้วยเหตุนี้ กรณีของ อาคารชุด จึงต้องดูด้วยว่ามีข้อบังคับหรือข้อสัญญา ให้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทรับจ้างบริหารอาคารชุด กระทำอะไรบ้างนอกจากที่กฎหมายอาคารชุดกำหนดหน้าที่ไว้
      6. สำหรับโรงแรมหรือสถานที่เช่นเดียวกับโรงแรม ต้องแบ่งแยกประเภทลูกค้าด้วยเนื่องจาก กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบไว้ต่างกัน โดยทั่วไป เราสามารถแบ่งแยกลูกค้าของโรงแรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ  ผู้เข้ามาพักในโรงแรม กับผู้เข้ามาใช้บริการอย่างอื่นในโรงแรม
        6.1 ผู้เข้ามาพักในโรงแรม (คนเดินทางหรือแขกอาศัย) ความรับผิดชอบในเรื่องนี้ กฎหมายกำหนดไว้สูงกว่าระดับปกติ กล่าวคือ เป็นความรับผิดชอบโดยเคร่งครัด ( Strict liability ) กล่าวคือ ไม่จงใจไม่ประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นหากรถยนต์สูญหาย หรือเสียหาย เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดชอบ เว้นแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ ( มาตรา 674 -675 )
      แต่พึงสังเกตว่า
          ก. ความรับผิดชอบเช่นนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบทางละเมิด แต่เป็นความรับผิดชอบเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ตามกฎหมาย อันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมายอย่างหนึ่ง
          ข. บุคคลที่ต้องรับผิดชอบมีแต่เฉพาะ เจ้าสำนักโรงแรม ผู้ต้องเสียหายก็ต้องเป็นเฉพาะ คนเดินทางหรือแขกอาศัย เท่านั้น
          ค. ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใด ผู้ต้องเสียหายดังกล่าวอาจเรียกร้องภายใต้ละเมิดก็ได้
        6.2 ผู้เข้ามาใช้บริการอย่างอื่นในโรงแรม บุคคลเหล่านี้เช่น ผู้เข้าสัมมนา เข้าไปรับประทานอาหาร หรือ งานเลี้ยง เป็นต้น การวินิจฉัยจะต้องใช้กฎหมายละเมิดตามที่กล่าวมาเป็นหลัก เว้นเสียแต่ว่า มีพฤติการณ์อื่นให้ปรากฏว่าเป็นการฝากทรัพย์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของละเมิด  อนึ่งบุคคลตามข้อ 6.2 นี้ ไม่อาจอ้าง มาตรา 674-675 มาใช้บังคับให้เจ้าสำนักโรงแรมให้ต้องรับผิดชอบได้ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายตามข้อ 6.1

      เอกสารอ้างอิง

    1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    2. คำพิพากษาฎีกา
        คำพิพากษาฎีกาที่แสดงข้างต้นมาจาก
        2.1 ระบบสืบค้นคำพิพากษาฎีกา http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp ยกเว้น  คำพิพากษาฎีกาที่  949/2518
        2.2 รศ.ดร. ไผทชิต  เอกจริยกร ,( ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ) คำอธิบายกฎหมาย จ้างแรงงาน…ฝากทรัพย์…., กรุงเทพฯ,วิญญชน , 2540  ( ยกเว้น  ข้อ 2.3  และ ข้อ 2.4 ข้างล่าง )
        2.3 คำพิพากษาฎีกาที่  925/2536  , คำพิพากษาฎีกาที่  1621/2534 
              ศาสตราจารย์ ประภาศน์  อวยชัย  , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 (เล่ม 2)  มาตรา  575 ถึงมาตรา  701  , สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ , จิรรัชการพิมพ์ , 2542  และ
        2.4 คำพิพากษาฎีกาที่  370/2540
              ศาสตราจารย์ประภาศน์  อวยชัย  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 (เล่ม 3 )  มาตรา  386  ถึงมาตรา 452 , สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , ห้างหุ้นส่วนจำกัด  จิรรัชการพิมพ์  , 2541



INSURANCETHAI.NET
Line+