จัดระเบียบนายหน้าประกันไร้สังกัด คปภ.ร่างกฎหมายล้อมคอก"หัวหมอ"อมเบี้ยลูกค้า
42

จัดระเบียบนายหน้าประกันไร้สังกัด คปภ.ร่างกฎหมายล้อมคอก"หัวหมอ"อมเบี้ยลูกค้า

คปภ.ชงกฎหมายจัดระเบียบนายหน้าประกันไร้สังกัดนิติบุคคลกว่าแสนราย ล้อมคอกพวกขี้ฉ้อ

บริษัทโบรกเกอร์ ใหญ่น้อยหนุนสุดแรง หวังสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจ เตรียมดึงมือดีเข้าสังกัด จัดศูนย์อำนวยความสะดวกและพัฒนาบุคลากร "อัครโบรกเกอร์" แนะโบรกฯปรับตัวกันล้มเร็ว

แหล่งข่าวจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ส่งร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องการจัดระเบียบนายหน้าประกันภัยไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดให้นายหน้าบุคคลต้องมีสังกัดเป็นนิติบุคคล (Sub-Agent)

เนื่องจากปัจจุบันระบบประกันภัยมีนายหน้าบุคคลจำนวนมากเป็นหลักแสนราย ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมดูแล และระยะหลังปรากฏข่าวด้านลบอยู่บ่อยครั้ง เช่น ฉ้อโกงค่าเบี้ยประกัน เก็บมาแต่ไม่มีการส่งต่อให้กับบริษัทประกันภัย

ขณะที่ นายจิตวุฒิ ศศิบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่กำหนดให้นายหน้าบุคคลต้องมีสังกัดเพื่อให้สามารถระบุตัวตนได้ และให้เกิดมุมมองต่อภาพลักษณ์ที่ดีกับธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และหากกฎหมายสามารถประกาศบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมธุรกิจอย่างมาก

อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมรับมือการจัดระเบียบซับเอเจนต์ ซึ่งเชื่อว่าในจำนวนนายหน้าบุคคลที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน จะมีนายหน้าที่มีความสามารถอยู่ไม่น้อย ดังนั้นบริษัทจึงเตรียมเปิดสำนักงานนายหน้าเพื่อรองรับส่วนนี้ และในบางพื้นที่จะเปิดเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกให้แก่นายหน้า รวมถึงเปิดหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือด้านการสอบใบอนุญาต งานด้านเอกสารต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นายชาตรี อัครทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัครโบรกเกอร์ จำกัด กล่าวว่า กฎหมายนายหน้าบุคคลใหม่ถือเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีกับธุรกิจนายหน้าประกันภัยมากขึ้น ในด้านภาพลักษณ์ของนายหน้าและภาพลักษณ์ของธุรกิจ แต่ผลเสียอาจกระทบต่อนายหน้าบุคคลในระยะแรกที่ต้องเร่งหาสังกัดเข้าไปทำงาน และอาจต้องรับผิดชอบในเรื่องของภาษีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายหน้าบุคคลในระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในวงการธุรกิจประกันภัยหรือบริษัทนายหน้าประกันภัยจะทราบดีอยู่แล้วว่าใครทำงานเป็นอย่างไร ดังนั้นคนที่มีผลงานดีก็น่าจะมีบริษัทต่าง ๆ ทาบทามให้เข้าไปร่วมทำงานด้วยอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทก็จะต้องรอดูความชัดเจนของกฎหมายใหม่ก่อน เพราะจะมีผลให้บริษัทต้องรับผิดและรับชอบในหน้าที่ของนายหน้านั้น ๆ ด้วย เช่น ความรับผิดชอบกรณีนายหน้ารับเบี้ยประกันจากลูกค้าแล้ว และหากเกิดการฉ้อโกง ก่อนเข้ามาทำงานบริษัทจะต้องเข้าไปรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการทำงานของบริษัทนายหน้าประกันทำได้ยากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันสูง เพราะมีช่องทางทำธุรกิจหลากหลายขึ้น ทั้งช่องทางธนาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีสาขากระจายทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางขายผ่านออนไลน์ ดังนั้นบริษัทเล็ก ๆ หากไม่สามารถปรับตัวหรือบริหารต้นทุนได้ก็อาจต้องปิดกิจการ

"นายหน้ารายใหญ่ที่มีเบี้ยประกันเกินกว่า1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลือก็มีแต่รายเล็ก ๆ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการอัพเกรดตัวเองให้เป็นมืออาชีพ ก็เหมือนร้านอาหารถ้าทำอาหารอร่อย มีลูกค้าไม่มาก แต่เข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ เผลอ ๆ อาจมีกำไรดีกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ด้วยซ้ำ โดยสิ่งที่บริษัททำคือการเพิ่มช่องทางให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ และเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 80% ของเบี้ยประกันที่มีอยู่ในหลักร้อยล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเบี้ยเติบโต 20%" นายชาตรีกล่าว

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1424850552



INSURANCETHAI.NET
Line+