กองทุนประกัน 2,000 ล้านพร้อมจ่ายลูกค้า 6 บริษัทเจ๊ง!
กองทุนประกัน 2,000 ล้านพร้อมจ่ายลูกค้า 6 บริษัทเจ๊ง!
พลันที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) รับหลักการร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันชีวิตและร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฉบับใหม่เหมือนเป็นการ “คืนความสุข” ให้กับประชาชนที่ทำประกันโดยเฉพาะลูกค้าบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบ อนุญาตหรือถูกภาครัฐสั่งปิดไปก่อนหน้านี้และบริษัทใหม่ที่อาจจะถูกปิดตามมา อีกให้ได้รับเงินเร็วขึ้นเพราะในร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ ผู้เอาประกันทันทีสูงสุดไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท จากเดิมใช้เวลารอคอยหลายปีกว่าจะได้เงิน บางครั้งก็ไม่ได้เงินโดยกองทุนประกันวินาศภัยจะมีภารกิจหนักกว่าเพราะมี บริษัทประกันถูกปิดไปถึง 6 บริษัทขณะที่บริษัทประกันชีวิตไม่มีถูกปิดมาหลายสิบปี
“ประเวช องอาจสิทธิกุล” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายประกันภัยทั้ง 2 ฉบับอยู่ในกลุ่มกฎหมายเร่งด่วนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งน่าจะจัดตั้งเร็วๆ นี้ ซึ่งในร่างกฎหมายมีบทเฉพาะ กาลเกี่ยวกับการจ่ายหนี้ผู้เอาประกันของทั้ง 2 กองทุนให้มีผลย้อนหลังไปถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันบริษัทที่ถูกปิดไปก่อนหน้า นี้ด้วย
+ กองทุนฯ พร้อมจ่าย
+ ลูกค้า 6 บริษัทเจ๊ง
ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยถูกปิดไปแล้ว 6 บริษัท
บริษัท สัมพันธ์ประกันภัยปิดเมื่อปี 2552
บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ปี 2553
บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย และ บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) ปี 2554
บริษัท ส่งเสริมประกันภัย ปี 2556
บริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557
“กองทุนประกันวินาศภัยมีเม็ดเงินพอจ่าย คร่าวๆ มูลหนี้ที่ต้องจ่ายประมาณพันกว่าล้านบาทไม่รวมยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ แต่หนี้ไม่เยอะ เท่าที่ทราบมีใบคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นเข้ามา 2 หมื่นใบคำขอจาก 4 บริษัท ไม่รวมส่งเสริมฯที่มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินมีเงินพอจ่ายไม่ต้องมาเอาจาก กองทุนและยูเนี่ยนที่เพิ่งปิดไป ตอนนี้กองทุนฯ ต้อง เตรียมความพร้อมรอจ่ายเงินหากกฎหมายออกมาต้องดูยอดหนี้มีอยู่จริงทั้งหมด เท่าไหร่ แยกประเภทหนี้เพราะหนี้ที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กองทุนฯ ต้องเป็นหนี้ที่เกิดการเอาประกันภัยเท่านั้น ขณะนี้หนี้บางส่วนก็เจรจาประนอมหนี้กันได้ซึ่งสมาคมฯ และบริษัทประกันจะส่งคนเข้ามาช่วยตรวจสอบเอกสารด้วย”
ถามว่ามีบริษัทประกันที่เข้าข่ายจะถูกปิดอีกหรือไม่ เลขาธิการ คปภ.บอกว่า ณ ปัจจุบันทุกบริษัทยังมีฐานะการเงินมั่นคงแข็งแรง
+ เร่งสรุปหนี้คาดจ่ายจริงไม่เกิน 1,600 ล.
+ สัมพันธ์เยอะสุดลูกค้ากว่าหมื่นราย
ด้านผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย “กมลวรรณ กีรติสมิต” กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า กรณีลิเบอร์ตี้ฯ และส่งเสริมฯ ผู้ชำระบัญชีไม่ต้องยื่นฟ้องล้มละลายเพราะมีทรัพย์สินเกินกว่าหนี้สิน โดยลิเบอร์ตี้อาจจะประนอมหนี้ไม่หมดมีเหลือมาที่กองทุนฯ ต้องจ่ายให้ หลักๆ จะมีหนี้ 4 บริษัทที่กองทุนฯ ต้องจ่ายคือสัมพันธ์, เอ.พี.เอฟ.,วิคเตอรี และยูเนี่ยนอินเตอร์ ซึ่งในส่วนของสัมพันธ์ มีใบคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้เอาประกันยื่นเข้ามาที่กองทุนฯ 13,000 ใบคำขอ เยอะที่สุด มูลหนี้ประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะที่ยื่นกับกรมบังคับคดีมีอยู่ประมาณ 8,000 ราย ใบคำขอต่างกันอยู่ 5,000 ใบคำขอ กำลังตรวจสอบอยู่รายชื่อเจ้าหนี้ตรงกันหรือมีใครยื่นซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เป็นหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยกี่ราย มูลหนี้เท่าไหร่
ส่วนเอ.พี.เอฟ. มีใบคำขอรับชำระหนี้ยื่นเข้ามาที่กองทุนฯ 5,000 ใบคำขอ มูลหนี้ประมาณ 200 ล้านบาท โดยศาลล้มละลายกลางเพิ่งมีคำสั่งให้เอ.พี.เอฟ. ล้มละลายต้องรอกรมบังคับคดีดำเนินการ เสร็จสิ้นคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร ขณะ ที่วิคเตอรีฯ มีคำขอรับชำระหนี้ยื่นเข้ามาน้อยที่สุดไม่ถึง 2,000 ใบคำขอ มูลหนี้ ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ยังไม่ได้สอบทานข้อมูลกับกรมบังคับคดีเพราะเพิ่งยื่น คำร้องต่อศาลล้มละลายกลางทางศาลยังไม่มีคำสั่งล้มละลายออกมา ส่วนยูเนี่ยน อินเตอร์ยังไม่มีข้อมูล
+ ประกันจ่ายอีกค่าต๋งรอบใหม่
+ กองทุนทะลุเพดาน 2 พันล้าน
“ถึงเวลาจ่ายจริงอาจจะไม่ถึงก็ได้ อย่างสัมพันธ์ฯ มูลหนี้ 1,300 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขสูงสุดจ่ายจริงต่ำกว่านี้อยู่ที่ยอดหนี้ที่กรมบังคับคดีแจ้งมา และการประเมินราคาหนี้ค่าซ่อมรถ บริษัทอื่นก็เหมือนกัน ตอนนี้กองทุนฯ มีเงิน 1,800 ล้าน สิ้นก.ค.ที่ผ่านมาจะได้เงินสมทบจากบริษัทประกันภัยเพิ่มอีกประมาณ 250-300 ล้านบาท เป็น 2,050 ล้านบาท และสิ้นม.ค.ปีหน้าจะได้เพิ่มอีกวงเงินราวๆ นี้ ถึงตอนนั้นจะมีเม็ดเงิน 2,350 ล้านบาท จ่ายหนี้แล้วยังมีเงินเหลือไม่ต้องกู้ยืมแม้กฎหมายจะให้ทำได้ การจ่ายจะเรียงตามลำดับบริษัทที่ถูกปิดลูกค้าสัมพันธ์ได้ก่อน”
อย่างไรก็ดี ในประเด็นมูลหนี้ทั้งหมด “วีรวุธ งามจิตวิริยะ” อดีตผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ชี้แจงกับ “สยามธุรกิจ” เพิ่มว่า คาดว่าหนี้ผู้เอาประกันของทั้ง 6 บริษัทน่าจะประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ ตามงบการเงินล่า สุด ณ 30 ม.ย. 57 ที่ส่งให้กับคปภ. มีหนี้สิน 226 ล้านบาท ทรัพย์สิน 282 ล้านบาท แม้จะมากกว่าหนี้สินแต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเบี้ยประกันค้างรับซึ่งปกติ เมื่อบริษัทปิดเบี้ยประกันส่วนนี้จะตามคืนมาไม่ได้แทงเป็นหนี้สูญได้ทันที ซึ่งในหนี้สิน 226 ล้านบาท ส่วนที่เป็นหนี้ผู้เอาประกันไม่น่าจะเกิน 100 ล้านบาท
“ใน 6 บริษัทมี 2 รายเคลียร์ใกล้จะจบแล้วอย่างส่งเสริมจ่ายผู้เอาประกันไป 100% แล้วบริษัทยังมีเงินเหลือ 200 กว่าล้านบาท ไม่ต้องเอาเงินจากกองทุนฯ เลย ส่วนลิเบอร์ตี้ก็ประนอมหนี้ไปได้เยอะเหลืออีก 50-60 ล้านบาท ส่วนนี้จะมาเอาจากกองทุนฯ ผมคาดว่าหนี้ผู้เอาประกันของสัมพันธ์ฯ ที่กองทุนต้องจ่ายน่าจะประมาณ 900-1,000 ล้านบาท เอ.พี.เอฟและวิคเตอรีเท่ากันรายละ 200 ล้านบาท ลิเบอร์ตี้ 60 ล้านบาท ยูเนี่ยนก็ราวๆ 100 ล้านบาท”
“วีรวุธ” กล่าวว่ากฎหมายใหม่ กำหนดให้กองทุนฯ จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ชำระบัญชีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรณี บริษัทล้มละลาย ซึ่งในเรื่องกฎหมายใหม่ขณะนี้รอตั้งสนช. หลังจากตั้งเสร็จจะเสนอร่างกฎหมายนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. คาดว่าน่าจะออกมาบังคับใช้ไม่เกินม.ค.ปีหน้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557