INSURANCETHAI.NET
Wed 25/12/2024 1:58:15
Home » การประกันภัย » กำเนิดประกันภัย\"you

กำเนิดประกันภัย

2018/10/30 2412👁️‍🗨️

ที่มาของสัญญาประกันภัย

การประกันภัยมีมานานประมาณ 3,000 ปีก่อน คริสกาลในประเทศจีน โดยแนวคิดเริ่มจากกลุ่มพ่อค้าที่ต้องมีการเดินทางไปค้าขายตามที่ต่างๆ และมักประสบภัยจากการเดินทางไปค้าขาย เช่น เรือล่ม , ถูกโจรปล้น จึงรวมกลุ่มที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และทำการตกลงกันด้วยปากเปล่า ด้วยวิธีการรวมกลุ่มกันเอาเงินมาไว้เป็นกองกลาง และจัดคนดูแล เงินกองกลาง ในกรณีที่เกิดภัยและมีความเสียหายตามที่ตกลงกัน ก็จะนำเงินกองกลางมาชดใช้ ซึ่งการประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล จึงเป็นประกันวินาศภัยแรกที่เกิดขึ้น

การประกันภัย

หมายถึง การเฉลี่ยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น โดยมีผู้รับประกันภัยทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” คอยเฉลี่ยความเสียหายให้โดยผู้ที่จะเข้าทำประกันภัย จะจ่ายเงินไม่มากนักเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” ให้แก่ ผู้รับประกันภัย ซึ่งจะรวบรวมเป็นเงินกองกลาง และหากมีความเสียหายจากภัยที่ตกลงคุ้มครองกันไว้ ผู้รับประกันภัยก็จะนำเงินกองกลางชดใช้ความเสียหายตามจำนวนที่ตกลงกัน โดยมีหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับประกันภัย 6 ประการ คือ

1. หลักส่วนได้เสียอันสามารถเอาประกันภัยได้ (Insurable interest)

หมายถึง ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ มีสิทธิ หรือ มีประโยชน์ หรือ มีความรับผิดตามกฎหมาย ในวัตถุที่เอาประกันภัย เช่น การเป็นเจ้าของ , การเป็นเจ้าหนี้ในทรัพย์ที่เอาประกันภัย (ธนาคาร) , การมีส่วนได้เสียอันเกิดจากสัญญา (ตัวอย่าง : เจ้าของอาคารทำสัญญาให้ผู้เช่าอาคารรับผิดชอบค่าเสียหายถ้าเกิดอัคคีภัยในอาคารที่เช่า ดังนั้นถือว่า ผู้เช่ามีส่วนได้เสียในอาคารนั้น) หรือ ในกรณีมีส่วนได้เสียจากการรับผิดตามกฎหมาย เช่นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบกฎหมายต่อชีวิตลูกจ้าง เป็นต้น

2. หลักสุจริตใจอย่างยิ่ง (Principle of utmost good faith)

มีรากฐานมาจากการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง เพราะผู้รับประกันภัยจะไม่ทราบสภาพลักษณะ และจำนวนที่แท้จริงของสินค้าที่ขนส่ง เนื่องจากสินค้าอาจอยู่ในระหว่างขนส่งทางทะเล หรือ สินค้ายังอยู่ต่างเมือง ผู้รับประกันภัย จึงต้องพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ ที่ผู้เอาประกันภัยแจ้ง และนำมาพิจารณาในการรับประกันภัย ดังนั้นหลักสุจริตใจอย่างยิ่ง จึงเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งหมายถึง การที่ผู้เอาประกันภัย และผู้รับประกันภัยมีความสุจริตใจในการทำสัญญาต่อกัน โดยเปิดเผยข้อความจริง (Disclosure) ไม่แถลงข้อความเท็จ หรือ การปกปิดข้อความจริง ในข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อการเสี่ยงภัย และรับรองว่า จะปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย

3. หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Principle of indemnity)

หมายถึง เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ทำประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหม ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ ตามความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปเพื่อรักษาทรัพย์ ไม่ให้เกิดความเสียหายสูงจากภัยที่เกิดขึ้น แต่ค่าสินไหมทดแทน ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้

แนวคิดพื้นฐานข้อนี้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัย แสวงหากำไรจากการทำประกันภัย และป้องกันไม่ให้เกิดภัยขึ้นเพราะความไม่ซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 ที่บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้คือ
1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์ ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย และ
3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควร ซึ่งได้เสียไป เพื่อรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไว้ไม่ให้วินาศ”

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเคยได้ยินว่า มีการทำลายทรัพย์สินเพื่อหวังประกัน เช่น เผาโรงงานเก่าๆ เพื่อจะได้เงินประกัน
นอกจากนี้ กฏดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับ ประกันภัยบางประเภท เช่น ประกันชดเชยรายได้ เป็นต้น

4. หลักการสวมสิทธิ์ หรือ การรับช่วงสิทธิ์ (Principle of subrogation)

หมายถึง หลักที่กำหนดว่าผู้รับประกันภัย จะสามารถสวมสิทธิ์ทั้งปวง ของผู้เอาประกันภัยจะเรียกจากบุคคลภายนอก ผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โดยจะเรียกเกินจำนวนที่จ่ายสินไหมไม่ได้

หลักการข้อนี้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันภัยแสวงหากำไร โดยอาจเรียกร้องค่าเสียหาย 2 ทาง คือ ทั้งบริษัทรับประกันภัย และ จากผู้ก่อความเสียหาย และ เพื่อให้บุคคลภายนอกผู้ก่อเหตุต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนก่อขึ้น

5. หลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Doctrine of contibution)

หมายถึง การมีผู้รับประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงต่อวัตถุที่ได้รับประกันภัยในวัตถุและภัยเดียวกัน โดยมีหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

1.กรณีสองบริษัท ร่วมรับประกันภัยพร้อมกัน (Co-Insurance) ก็จะใช้วิธีเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทน ตามสัดส่วนที่รับประกันภัยไว้
2.กรณีที่ บริษัทรับประกันภัย ไม่ได้รับประกันภัยพร้อมกัน บริษัทในลำดับแรกต้องเป็นผู้ชดใช้ก่อน และบริษัทที่รับประกันภัยลำดับต่อมาจะชดใช้ในส่วนที่ขาด แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนประกันภัยที่ทำไว้

6. หลักสาเหตุใกล้ชิด (Doctrine of Proximate Clause)

หมายถึง หลักซึ่งกำหนดให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใกล้ชิดกับภัยที่เอาประกันภัยไว้ ซึ่งสาเหตุใกล้ชิดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง โดยไม่ขาดตอนและเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย

ตัวอย่างเช่น บ้านนาย ก. เกิดไฟไหม้ พนักงานดับเพลิงต้องฉีดน้ำบ้านข้างเคียง เพื่อสกัดไฟไม่ให้ลาม ทำไห้ทรัพย์สินภายในบ้านข้างเคียงเสียหาย ถ้าพิจารณาแล้วว่า ความเสียหายที่เกิดจากการฉีดน้ำเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ขาดตอน และเป็นผลโดยตรงจากไฟไหม้ที่ทำประกันอัคคีภัยไว้ บริษัทที่รับประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ในความเสียหายของทรัพย์สินบ้านที่ติดกันด้วย

หลักพื้นฐานแนวคิดทั้ง 6 ประการนี้ เป็นหลักที่สำคัญในการประกันภัย และนำมากำหนดเป็นกฎหมายในการธุรกิจประกันภัย





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow