คปภ.ให้บริษัทประกันจ่ายค่าชดเชยรายวัน ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (Day case) 18 รายการ
คปภ.คลอดเกณฑ์ใหม่ให้บริษัทประกันจ่ายค่าชดเชยรายวันได้โดยลูกค้าไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ. ) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา คปภ.ได้มีประกาศคำสั่งนายทะเบียนฉบับใหม่เรื่องให้ใช้บันทึกสลักหลังผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน กรณีผู้ป่วยในที่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ( Day Case) โดยยกเลิกคำสั่งเดิมที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เหตุผลที่ต้องออกคำสั่งฉบับนี้ เนื่องจากวิวัฒนาการการตรวจรักษาโดยการผ่าตัดหรือหัตถการในปัจจุบัน ทำให้ผู้เอาประกันภัย ตามกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย ประกอบกับเพื่อเป็นการขยายระยะเวลาให้บริษัทประกันมีเวลาเพียงพอในการจัดทำระบบสนเทศรองรับการออกบันทึกสลักหลังจึงจำเป็นต้องออกคำสั่งฉบับนี้
ทั้งนี้ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันแก่ผู้เอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ให้บริษัทแนบบันทึกสลักหลังตามแต่กรณีไปพร้อมด้วยแต่หากบริษัทยังไม่สามารถแนบบันทึกสลักหลังให้แก่ ผู้เอาประกันภัยได้ก็ให้บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนไปก่อนแต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม นี้ โดยให้ถือเสมือนว่าแบบและข้อความตามบันทึกสลักหลังเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน
นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่บริษัท ออกให้แก่ผู้เอาประกันก่อนวันที่มีคำสั่งและสัญญายังคงมีผลใช้บังคับอยู่ให้ถือว่าบันทึกสลักหลังตามแต่กรณีเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน ไม่ว่าบริษัทจะได้ออกบันทึกสลักหลังให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือไม่ก็ตาม สำหรับโรคที่ทำการตรวจและรักษาโดยเข้าเงื่อนไขของคำสั่ง ดังกล่าวมีด้วยกัน 18 โรค ประกอบด้วย การสลายนิ่ว การตรวจเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง การตรวจโดยการส่องกล้อง การผ่าตัดหรือเจาะไซนัส การตัดก้อนเนื้อที่เต้านม การตัดชิ้นเนื้อจากกระดูก การตัดนิ้วมือหรือนิ้วเท้า การเจาะตับ การเจาะไขกระดูก การเจาะช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง การเจาะช่องเยื่อหุ้มปอด การเจาะช่องเยื่อบุช่องท้อง การขูดมดลูก การตัดชิ้นเนื้อ จากปากมดลูก การรักษา Bartholin”s Cyst และการรักษาด้วยรังสีแกมม่า
ผู้เอาประกันภัยรายใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ. ) จังหวัดพิษณุโลก เลขที่ 14 ถนนจ่านกร้อง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์หมายเลข 055 – 282385 หรือที่สายด่วนประกันภัย 1186
เมืองไทยประกันชีวิตตอบสนองสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ สำนักงาน คปภ. เรื่องบันทึกสลักหลังขยายความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน กรณีผู่ป่วยในที่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Case) ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ในขณะที่จ่ายเบี้ยประกันภัยเท่าเดิม
นายสาระ กล่าวว่า ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การตรวจรักษาบางประเภทไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลอีกต่อไป บริษัทฯจึงเร่งดำเนินการตามสำนักงาน คปภ. ด้วยการมอบผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันเป็นจำนวน 1 วันให้กับผู้เอาประกันภัยที่ต้องผ่าตัดหรือหัตถการในฐานะผู้ป่วยใน แต่ไม่ได้เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 18 รายการดังต่อไปนี้ เช่น การตัดก้อนเนื้อที่เต้านมการผ่าตัดต้อกระจกการผ่าตัดโดยการส่องกล้องการเจาะไขกระดูกการสลายนิ่วการขูดมดลูก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวจะต้องเป็นผู้เอาประกันภัยที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือสัญญาเพิ่มเติมที่มีความคุ้มครองผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันหากต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยจะได้รับทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ส่วนจำนวนเงินของผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันที่จะได้รับจากการขยายความคุ้มครองนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแผนความคุ้มครองของลูกค้าแต่ละท่านซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขการรับผลประโยชน์เพิ่มเติมได้ทีwww.muangthai.co.th
สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ณ ปัจจุบันของบริษัทฯ ที่สอดคล้องตามเงื่อนไขของสำนักงาน คปภ. เช่น สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพวงเงินแน่นอน สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพเด็กเล็กโครงการยิ้มสบายเมืองไทยให้คืนโครงการเมืองไทย Smart Lady โครงการเมืองไทย Double Care โครงการเมืองไทยอนาคตอุ่นใจโครงการเมืองไทย Worksite Health Smile เมืองไทย Health Return Cash เมืองไทยยิ้มกว้าง 20/20 และเมืองไทยยิ้มแฉ่ง 20/20.
บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต ก็ได้ส่งเอกสารบันทึกสลักหลัง เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ตามนโยบายของ คปภ
รายละเอียด
บันทึกสลักหลังสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน กรณีผู้ป่วยในที่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล (Day Case)
เป็นที่ตกลงว่า ถ้าข้อความใดในบันทึกสลักหลังสัญญาเพิ่มเติมนี้ขัดหรือแย้งกับข้อความที่ปรากฏในสัญญาเพิ่มเติมที่บันทึกสลักหลังสัญญาเพิ่มเติมนี้แนบอยู่ ให้ใช้ข้อความตามที่ปรากฏในบันทึกสลักหลังสัญญาเพิ่มเติมนี้บังคับแทน
หากผู้เอาประกันภัยบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจรักษาโดยการผ่าตัดหรือหัตถการตามความจำเป็นทางการแพทย์ในฐานะผู้ป่วยใน แต่เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้การตรวจรักษานั้น ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน ให้แก่ผู้เอาประกันภัยจำนวนหนึ่งวัน (1 วัน) สำหรับการตรวจรักษาที่เกิดขึ้นสำหรับการผ่าตัดหรือหัตถการ ดังต่อไปนี้
1. การสลายนิ่ว (ESWL : Extracorporeal Shock Wave Liththotripsy)
2. การตรวจเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี (Coronary Angiogram / Cardiac Catheterization)
3. การผ่าตัดต้อกระจก (Extra Capsular Cataract Extraction with Intra Ocular Lens)
4. การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic) ทุกชนิด
5. การตรวจโดยการส่องกล้อง (Endoscope) ทุกชนิด
6. การผ่าตัด หรือเจาะไซนัส (Sinus Operations)
7. การตัดก้อนเนื้อที่เต้านม (Excision Breast Mass)
8. การตัดชิ้นเนื้อจากกระดูก (Bone Biopsy)
9. การตัด (Amputation) นิ้วมือหรือนิ้วเท้า
10. การเจาะตับ (Liver Puncture/Liver Aspiration)
11. การเจาะไขกระดูก (Bone Marrow Asipiration)
12. การเจาะช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง (Lumbar Puncture)
13. การเจาะช่องเยื่อหุ้มปอด (Thoracentesis/Pleuracentesis/Thoraclc Aspiration/Thoracic Paracentesis)
14. การเจาะช่องเยื่อบุช่องท้อง (Abdominal Paracentesis/Abdominal Tapping)
15. การขูดมดลูก (Curettage, Dilatation & Curettage, Fractional Curettage)
16. การตัดชิ้นเนื้อจากปากมดลูก (Colposcope, Loop diathermy)
17. การรักษา Bartholin’s Cyst (Marsupialization of Bartholin’s Cyst)
18. การรักษาโรคด้วยรังสีแกมม่า (Gamma knife)
(บริษัทสามารถระบุการผ่าตัดหรือหัตถการเพิ่มเติมได้ ตามวิวัฒนาการทางการแพทย์)
การจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน กรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องได้รับตรวจรักษาโดยการผ่าตัดหรือหัตถการมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป (ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษาในฐานะผู้ป่วยในตามสัญญาเพิ่มเติมหรือเป็นการตรวจรักษาตามบันทึกสลักหลังสัญญาเพิ่มเติมนี้) ด้วยสาเหตุหรือโรคเดียวกัน ซึ่งมีระยะเวลาแต่ละครั้งห่างกันไม่เกิน .. วัน (สูงสุดไม่เกินเก้าสิบวัน (90 วัน)) ให้ถือเป็นการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่งตามคำนิยามในสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวัน
ภายใต้ข้อกำหนดความคุ้มครองและข้อยกเว้นความรับผิดของสัญญาเพิ่มเติมที่บันทึกสลักหลังนี้แนบอยู่ ยังคงมีผลบังคับดังเดิม
……………………………………….
กรรมการ/ผู้จัดการสาขา
………………………………….
เจ้าหน้าที่กรมธรรม์ / พยาน