ทำไมต้องวางแผนการเงิน
การวางแผนการเงิน ( Financial Planning ) หมายถึง กระบวนการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล
ทำไมต้องวางแผนการเงิน
1.คนอายุยืนขึ้น
ปัจจุบัน คนไทยมีอายุเฉลี่ย 71 ปี แต่ถ้าเราเก็บสถิติเฉพาะคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบว่าท่านเหล่านั้นจะอยู่ได้อีกประมาณ 20 ปี ( ข้อมูลจากสถาบันประชากรและสังคม ม.มหิดล ) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ช่วงเวลาหลังเกษียณที่ต้องอยู่อีกตั้ง 20 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีพอ
2.โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป
เดิม คนไทยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันแยกย้ายกันอยู่ เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การคาดหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดู เป็นเรื่องที่หวังได้น้อยลง เราจึงต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ
3.ค่าครองชีพในอนาคตจะสูงขึ้นมาก
ข้าว ของในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นทุกวัน อีก 20-30 ปีข้างหน้าในวันที่เราเกษียณ สินค้าที่จำเป็นอาจแพงขึ้นอีก 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ที่มักมีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินเฟ้อเสมอ ดังนั้นงบประมาณที่เราเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ ถ้าไม่ได้คำนวนเผื่อค่าเงินเฟ้อไว้ด้วย
4.สวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอแน่
ในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 20% นั่นหมายความว่า 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นคนสูงอายุ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานต่อคนสูงอายุจะลดลงจาก 6:1 ในปัจจุบันเป็น 3:1 ในปี 2021 ทำให้ภาษีที่รัฐเก็บได้จะไม่เพียงพอต่อการจัดหาสวัสดิการให้คนสูงอายุ หรือหากทำได้ก็เป็นแบบพื้นๆเท่านั้น
5.ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น
สมัย ก่อนการฝากเงินในธนาคารให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและมีความมั่นคงสูง เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ยเงินฝากลดน้อยลงมาก ขณะที่ช่องทางการลงทุนใหม่ๆมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น แต่ก็มีรูปแบบและความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจและรู้จักวางแผนการลงทุนให้ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
6.ทำให้เราสามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น
หาก มีการวางแผนที่ดีและเริ่มต้นเร็ว ย่อมบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินออมที่เก็บได้มากขึ้น ดอกเบี้ยทบต้นที่สูงขึ้น หรือการสามารถหาประโยชน์จากโอกาสดีๆที่บังเอิญผ่านเข้ามา เพราะเรามีเงินออม เงินก้อนที่เก็บเอาไว้ เช่น ซื้อที่ดินทำเลสวยจากคนที่ร้อนเงิน หรือ ซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาตกลงมามากเกินควร
7.ช่วยรองรับความเสี่ยงของชีวิตได้มากขึ้น
ชีวิต ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราอาจโชคร้าย เจ็บป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุหนักๆขึ้นได้ แต่ถ้าเรามีการวางแผนการประกันภัยไว้ ย่อมสามารถบรรเทาภาระต่างๆลงได้ หรือ เราเกิดตกงานกระทันหัน มีคนในครอบครัวป่วย การมีเงินเก็บสำรองไว้ ย่อมหลีกเลี่ยงความยุ่งยากจากการต้องไปกู้หนี้ยืมสินเงินกู้นอกระบบลงได้
ขั้นตอนในการวางแผนการเงิน
1.กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน
ในการวางแผนการเงิน ควรจะเริ่มจากการมีเป้าหมายคร่าวๆว่า เราอยากบรรลุเป้าหมายทางการเงินในเรื่องอะไร และต้องใช้เวลาเท่าไร เช่น
– อยากเกษียณการทำงานตอนอายุเท่าไร ตอนนั้นอยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไร
– อยากเตรียมทุนการศึกษาให้ลูกเรียนถึงระดับไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร
– หรืออยากวางแผนจัดสรรมรดกให้ลูกหลาน ต้องทำอย่างไร
เป้าหมายที่กำหนดขึ้น อาจเป็นเป้าหมายเดี่ยว หรือ เป้าหมายผสมผสานเต็มรูปแบบก็ได้
2.รวบรวมข้อมูล
เป็น การรวบรวมข้อมูลทางการเงิน ทั้งของตนเอง ครอบครัว และภาวะรอบล้อมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์ เช่น รายรับ , รายจ่าย , ทรัพย์สิน , หนี้สิน , ภาระผูกพัน , ดอกเบี้ย หรือทิศทางการลงทุนในปัจจุบันและในอนาคต
3.วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน
นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อหาสถานะทางการเงินปัจจุบัน ว่าตอนนี้มีเงินเก็บสุทธิเท่าไรแล้ว ยังขาดอีกเท่าไรเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
4.จัดทำแผนการเงิน
หลัง จากวิเคราะห์เงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆแล้ว ให้ประเมินทางเลือกที่ดีที่สุด แล้วเขียนแผนการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา ภายใต้สมมติฐานและข้อมูลที่รวบรวมไว้
5.นำแผนไปปฎิบัติ
เป็น การปฎิบัติตามแผนที่ได้เขียนไว้ ว่าต้องลงมือทำอะไรบ้างในกรอบเวลาเท่าไร เช่น ต้องออมให้ได้เดือนละเท่าไร ต้องนำเงินไปลงทุนอะไรบ้าง หรือ ต้องทำประกันภัยเพิ่มในเรื่องอะไรบ้าง โดยต้องมีการตรวจทานด้วยว่า ได้ทำครบพอที่จะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
6.ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน
หลัง จากปฎิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ต้องหมั่นตรวจสอบและประเมินผลที่เกิดขึ้นว่า ได้ผลตามที่คาดหวังหรือไม่ สมมติฐานที่วางไว้มีการเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร และควรจะมีการปรับเปลี่ยนแผนให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะมีการทบทวนแผนการเงินปีละ 1 ครั้ง