INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 17:02:26
Home » ข่าวประกันภัย » ประกันสุขภาพ ขาดแคลน\"you

ประกันสุขภาพ ขาดแคลน

2015/03/06 1836👁️‍🗨️

ประกันสุขภาพ ขาดแคลน

การผ่านร่างกฎหมาย “ปฏิรูประบบประกันสุขภาพ” ของประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” ผู้นำสหรัฐอเมริกา เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่สุดของสหรัฐฯ ในรอบ 40 ปี และทำให้รู้สึก “อิจฉา” คนอเมริกันขึ้นมาในทันทีที่จะมีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมครบถ้วน

ขณะเดียวกันเมื่อหันมามองระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยแล้วก็ได้แต่ “ถอนใจ” เพราะอีกไกลกว่าจะไปถึงฝั่งฝันให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามสโลแกนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งวันนี้ยังคง ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ในการผลักดันโครงการ “บัตรทอง” 30 บาทรักษาทุกโรค แถมยังคอยจะดึงเม็ดเงินจากส่วนอื่นไปโปะอยู่ร่ำไป

การที่ระบบประกันสุขภาพของไทยไปไม่ถึงไหน ต้องยอมรับโดยพื้นฐาน ด้วยว่า มันเริ่มมาจากเพราะบ้านเราไม่มีระบบการออมด้วยตนเองที่ดี มีแต่ระบบ “พึ่งพา” สวัสดิการของรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่างบประมาณก็มาจากเงินภาษีที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้มีปริมาณ “เหลือเฟือ” มากพอจะไปจัดสวัสดิการได้ครอบคลุมเหมือนอย่างสหรัฐฯ เขา

ดังนั้น ระบบการออมด้วยตนเองจึงต้องเกิดขึ้น แต่ด้วยเพราะเราไม่ได้มีการ “ปลูกฝัง” หรือ “ส่งเสริม” กันมาตั้งแต่ต้น การจะมาบอกให้ทำในตอนนี้จึงค่อนข้างจะลำบาก เพราะต้องปรับทั้ง “พฤติกรรม” และ “ทัศนคติ” ให้ยอมรับ “เครื่องมือการออม” ที่มีอยู่ให้ได้

เครื่องมือการออมที่ว่านั้น ตัวหนึ่งที่คนไทยเพิ่งจะเริ่มยอมรับได้ไม่ถึง 30% ในวันนี้ คือ “การประกัน” โดยเฉพาะ “การประกันชีวิต” ที่ดูจะหลากหลายครอบคลุมได้เยอะมากหากรู้จักใช้ เพราะมีทั้งออมเงิน คุ้มครอง ชีวิต และการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน ซึ่งมีให้เลือกทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกที่สามารถจะรองรับกับสวัสดิการของตัวเองได้ เมื่อ สวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอ

ยิ่งตอนนี้สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society คนชราเริ่มเยอะ ขณะที่คนอายุน้อยๆ เริ่มน้อยลง แล้วสุดท้ายใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเหล่านั้น หากไม่นับลูกหลานก็คงต้องเป็น “ตัวเอง” ซึ่งหากไม่มีการวางแผนตั้งแต่ตอนที่ยังหนุ่มสาว แล้วตอนแก่จะดูแลตัวเองได้อย่างไร ถ้าครอบครัวมีฐานะก็คงไม่มีปัญหา แต่หากฐานะปานกลาง-ยากจน จะทำอย่างไร ในโมงยามที่ระบบสวัสดิการของรัฐก็แบกรับภาระจนหลังแอ่น

แต่กระนั้น การจัดสวัสดิการด้วยตนเองก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ อาจจะต้องมีการ “รณรงค์” และมี “มาตรการจูงใจ” บ้าง เช่น มาตรการด้านภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลายๆ ประเทศนำมาใช้เป็นแรงจูงใจ เช่น ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ เองก็มีเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมาตรการภาษีสินเชื่อเพื่อช่วยภาค ธุรกิจขนาดเล็ก แต่ในประเทศไทยเรื่องนี้รัฐยังไม่ได้หยิบนำมาใช้มากนัก เหตุเพราะระบบการจัดเก็บภาษีบ้านเราที่ยังไม่เสถียร แถมยังมีกฎหมายที่ต่างกันไป จะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ พาลชักหน้าไม่ถึงหลังเข้าไปอีก

ทั้งๆ ที่มีความเข้าใจ แต่ทำยังไงที่จะทำให้ทั้ง 2 ส่วนนี้ไปด้วยกันได้ เห็นชัดจากข้อเสนอลดหย่อนภาษีของธุรกิจประกันชีวิตที่ต้องการให้ภาครัฐเพิ่ม ลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์บำนาญ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่จะมารองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรว่าด้วยการตั้งสำรอง เบี้ยของบริษัทประกันชีวิตก่อน เป็นเรื่องที่ยังอ้ำอึ้ง เพราะหากจะแก้ก็กลัวระบบจัดเก็บภาษีจะไม่ถึงไหน และถ้าให้ตัวนี้ แล้วจะมีธุรกิจอื่นตามมาอีก ก็น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะระบบภาษีบ้านเรามันโยงใยกันอีนุงตุงนังกันไปหมด ถ้าแก้ก็ต้องแก้ทั้งยวง ซึ่งมันจะกลายเป็น “เรื่องใหญ่” แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่อาจจะสนองนโยบายรัฐที่จะดึงระบบประกันมาช่วยแบ่งเบาภาระ สวัสดิการของรัฐได้

ตอนนี้จึงได้แต่่เอาใจช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าในเรื่องนี้ให้ได้เสียก่อน ไม่ต้องไปมองไกลที่จะมีการดูแลเหมือนสหรัฐฯ เขา แต่อนาคตก็หวังว่าเรื่อง นี้จะเป็น “ทางออก” ของอีกหลายปัญหาด้านประกันสุขภาพในไทยที่ยังหาคำตอบไม่เจอเช่นกัน

ที่มา : สยามธุรกิจ





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow