เบี้ยประกันสุขภาพลดภาษีได้ คลังเสนอ รวมประกันชีวิตไม่เกิน 100,000
เบี้ยประกันสุขภาพลดภาษีได้ คลังเสนอ รวมประกันชีวิตไม่เกิน 100,000
คลังเล็งเสนอให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ โดยรวมกับเบี้ยประกันชีวิต วงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
หวังช่วยลดความเสี่ยงให้ประชาชนหลังค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่ละความพยายามอ้อนคลังอีกรอบ ขอนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะเสนอให้กระทรวงการคลังนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้ ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้ว ตามข้อหารือระหว่างกรมสรรพากรกับนางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
รมว.คลัง เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกสมาคมประกันชีวิตไทย จึงสั่งให้กรมสรรพากรศึกษาเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน และรีบส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
โดยกรมสรรพากรได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา 2 ประเด็น คือ
1.เพิ่มค่าลดหย่อนการประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากการทำประกันชีวิตจากเดิม 100,000 บาทต่อปี เพิ่มอีก 15,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 115,000 บาท
2.อนุญาตให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมานับรวมกับเบี้ยประกันชีวิตได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ซึ่งล่าสุด รมว.คลังได้เห็นชอบให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักค่าลดหย่อนรวมกับเบี้ยประกันชีวิตได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มค่าลดหย่อนการทำประกันสุขภาพเนื่องจากการทำประกันสุขภาพ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการส่งเสริมการออมเงิน โดยตั้งแต่ปี 2550 กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งเข้มงวด ห้ามไม่ให้บริษัทประกันชีวิตนำเบี้ยประกันสุขภาพมานับรวมเบี้ยประกันชีวิตเพื่อขอลดหย่อนภาษี โดยเบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ปีละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งก่อนนี้ บริษัทประกันชีวิตนิยมขายประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพ และยังมีโปรโมชั่นในระหว่างที่ทำประกันชีวิต เช่น มีการคืนเงินทุกๆ 4 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งกรมสรรพากรในขณะนั้นมองว่า วิธีการนี้ ไม่ได้ส่งเสริมการออมเงินอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะค่าพยาบาลมีราคาแพงมาก ทำให้การซื้อประกันสุขภาพช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชนได้
ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ไปหารือกับกระทรวงการคลังใหม่อีกครั้ง ถึงเรื่องการนำค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายหลังจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ โดยมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะนำค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวตามพื้นที่ต่างๆมาลดหย่อนภาษีตามขั้นบันได 15,000-50,000 บาท
สำหรับข้อเสนอใหม่นี้ ขอให้ทำแบบที่กระทรวงการคลังเคยทำเหมือนปีที่ผ่านมา ที่ให้นำค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทนำเที่ยวในประเทศ ค่าโรงแรมที่พักมาลดหย่อนภาษีได้ แต่เพิ่มวงเงินจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ส่วนระยะเวลาขอให้เริ่มตามที่กำหนดให้ปี 61 เป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.60-ม.ค.62 หรืออาจเริ่ม 1 ม.ค.61-31 ธ.ค.61 ตามแต่กระทรวงการคลังเห็นสมควร
เสนอ ครม. เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท
กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีนำรายจ่ายเบี้ยจากการซื้อประกันสุขภาพ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยคาดหวังจะดึงให้ประชาชนสนใจสุขภาพและช่วยลดภาระงบประมาณ
หลังจากที่กรมสรรพากรเห็นชอบในหลักการให้การทำประกันสุขภาพสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยให้ประชาชนที่ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพมารวมกับเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพื่อต้องการลดภาระการจ่ายงบประมาณของประเทศในการรักษาพยาบาลของประชาชนด้วยการให้ประชาชนหันมาทำประกันสุขภาพเองมากขึ้นและยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจประกันมีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ให้กรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเร่งทำรายละเอียดเสนอ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ส่วนการประกาศรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิ์รับสวัสดิการจากรัฐในวันที่ 15 ก.ย.2560 ปลัดกระทรวงคลังคาดว่าจะมีจำนวน 11.3 – 11.4 คน และมีผู้ที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเฉลี่ยจังหวัดละ 9,000 คน ซึ่งได้ส่งรายชื่อให้ธนาคารทุกแห่งแล้วเพื่อเชิญผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ
ส่วนข้อมูลที่พบว่ามีผู้มีรายได้น้อยที่จบปริญญาเอกนั้น ยอมรับว่าเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ เบื้องต้นจะบักทึกข้อมูลรายชื่อผู้ที่ให้ข้อมูลผิด เพื่อเป็นกลุ่มที่ต้องตรวจสอบละเอียดมากขึ้นหากมาลงทะเบียนในปีต่อไป และยังไม่มีแนวคิดจะกำหนดระดับการศึกษาเป็นเงื่อนไขผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐ
ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าการที่มีการเสนอในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ลดเพดานการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยลงเหลือ 20 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท ถือเป็นหลักคิดที่ดี เพราะการลดเพดานการจัดเก็บภาษีลงจะทำให้มีฐานคนเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักการที่กระทรวงการคลังรับได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังผ่านการพิจารณาในสภาวาระ 3 รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องออกประกาศยกเว้นในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เช่น พื้นที่การศึกษาและโรงเรียน
นายสมชัยเชื่อว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มใช้ได้ทันในปี 2562 และในปี 2561 จะเป็นปีที่หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้แก่องค์กร ภาคธุรกิจต่างๆ ให้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการใช้ภาษีจริง
no related articles to display.