INSURANCETHAI.NET
Sat 18/01/2025 14:54:43
Home » ประกันอัคคีภัย » ประกันอัคคีภัย\"you

ประกันอัคคีภัย

2017/04/29 3324👁️‍🗨️

การประกันอัคคีภัย เป็นประเภทหนึ่งของ การประกันวินาศภัย
ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้าง คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิด ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากความร้อน หรือควันอันเป็นผลมาจากเพลิงไหม้ ความเสียหายเนื่องจากน้ำหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการดับเพลิง รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงของเจ้าหน้าที่ เช่น การทำลายกำแพง ทำลายบ้านข้างเคียง เพื่อป้องกันมิให้ไฟลุกลามออกไป รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ลมพายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว

ความคุ้มครองพื้นฐานประกันอัคคีภัย

1. ไฟไหม้
2. ฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า)
3. ระเบิด
4. ภัยยานพาหนะ หรือช้าง ม้า วัว ควาย ยกเว้นความเสียหายนั้นเกิดจากยานพาหนะ หรือ ช้าง ม้า วัว ควาย ของผู้เอาประกันภัย สมาชิกในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดที่กระทำการในลักษณะที่จ้างหรือถูกใช้วานโดยผู้เอาประกันภัย
5. ภัยอากาศยาน หรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน เว้นแต่ความเสียหายอันเกิดจากอากาศยานที่ผู้เอาประกันภัยได้อนุญาตให้ลงในพื้นที่ซึ่งตนมีสิทธิให้ลงได้ คำว่า อากาศยาน ดังกล่าว ให้หมายความรวมถึง จรวด ซึ่งขับเคลื่อนด้วยตัวเองและยานอวกาศ
6. ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ หรือไอน้ำจากท่อน้ำถังน้ำ ระบบทำความร้อน เครื่องสูบน้ำ ท่อดับเพลิงประจำบ้าน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ น้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในสิ่งปลูกสร้างจากการชำรุดของหลังคาบ้าน หน้าต่าง ประตูวงกบ ประตู หน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ
อาจซื้อความคุ้มครองอื่นๆเพิ่มได้ เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ฯลฯ

อัคคีภัยสำหรับสถานประกอบการ โดยทั่วไปได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และ การระเบิดของก๊าซเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งถ้าเกิดเหตุ 3 อย่างนี้ขึ้นก็จะได้รับการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริงและไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ ส่วนภัยธรรมชาติ หรือ ภัยประเภทอื่นๆ ต้องซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม

อัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย มีความคุ้มครองที่มากกว่าสถานประกอบการ ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิดทุกชนิด ภัยจากยานพาหนะทางบก (รวม ช้าง ม้า วัว ควาย) ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) และภัยธรรมชาติต่างๆ
ผู้เอาประกันสามารถซื้อความคุ้มครองเหล่านี้เพิ่มอีกได้ ตามความต้องการ ที่เห็นว่าเหมาะสมแต่ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยจะเป็นพิจารณา ตัวอย่างเช่น การซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่ม (ลมพายุ, แผ่นดินไหว, น้ำท่วม, ลูกเห็บ) ภัยจากควัน ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ภัยจากความป่าเถื่อนและเจตนาร้าย ภัยจลาจลนัดหยุดงาน ภัยจากการระอุตามธรรมชาติ (ระอุ เช่น วัตถุเพิ่มอุณหภูมิขึ้นจนเกิดไฟไหม้ บางกรณีสิ่งของบางอย่างบริษัทประกันก็ไม่รับประกันหากพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงสูง )

ทรัพย์สินที่เอาประกันได้
สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด สำหรับอาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ เรือนครัว ห้องเก็บของ กำแพง รั้ว ประตู ส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม ฯลฯ

ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลซึ่งตามปกติพักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย (กรณีของเครื่องจักร เป็นทรัพย์สินประเภทสถานประกอบการ หากใช้ในการทำธุรกิจเป็นหลัก หรือ หากบ้านอยู่อาศัยใช้เป็นสถานประกอบการด้วย บริษัทจะใช้อัตราความเสี่ยงของประเภทที่เสี่ยงสูงกว่า)

ประกันภัยน้ำท่วม (ในกรมธรรม์หลักไม่ได้คุ้มครอง ต้องซื้อเพิ่ม ) จะคุ้มครองเมื่อมีการประกาศเขตภัยพิบัติก่อนเท่านั้น และมีความคุ้มครองอาจแบ่งเป็น 4 ระดับขึ้นกับระดับน้ำที่ท่วม ได้แก่ เมื่อน้ำท่วมสามารถเข้ามาในอาคารได้ จะคุ้มครอง 30% ถ้าท่วมถึง 50 cm จะคุ้มครอง 50% ถ้าท่วมถึง 75 cm จะคุ้มครอง 75% และถ้าท่วมเกิน 100 cm ขึ้นไปถึงจะคุ้มครอง 100% ของทุนประกัน เป็นต้น (ปัจจุบันนี้ความคุ้มครองภัยพิบัติได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะประเทศไทยไม่มีภัยน้ำท่วมหนักๆ ตั้งแต่ปี 2554)

ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ หรือไอน้ำจากท่อน้ำถังน้ำ ระบบทำความร้อน เครื่องสูบน้ำ ท่อดับเพลิงประจำบ้าน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ น้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในสิ่งปลูกสร้างจากการชำรุดของหลังคาบ้าน หน้าต่าง ประตูวงกบ ประตู หน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

ภัยเนื่องจากน้ำ ต่างกับ ประกันภัยน้ำท่วม

ปัจจุบันหลายบริษัทได้ออก package ที่ง่ายต่อการรับประกัน สะดวกในการซื้อ โดยไม่ต้องตรวจสอบประเภททรัพย์สิน (ปกติก็ไม่ต้องตรวจอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ทุนประกัน 20 ล้าน ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ) แต่หลักสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือ ในการประกันภัยจะต้องไม่แจ้งคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญแห่งทรัพย์สินที่เอาประกัน เพราะจะทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็น โมฆียะ และบริษัทประกันสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้

ระยะเวลาทำประกันภัย
การซื้อประกันอัคคีภัยมาตรฐานสำหรับสถานประกอบการ ซื้อแบบระยะยาวได้ สูงสุดไม่เกิน 3 ปี
ประกันบ้านที่อยู่อาศัย ซื้อได้สูงสุด 30 ปี  ยิ่งยาว ยิ่งได้เบี้ยถูก เช่น
ซื้อประกัน 1 ปี จ่ายเบี้ย 100%
ซื้อประกัน 2 ปี จ่ายเบี้ย 175%
ซื้อประกัน 3 ปี จ่ายเบี้ย 250%

บริษัทประกันจะต้องให้กรมธรรม์ประกันภัยมาเป็นหลักฐาน และใช้เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการฟ้องร้องกับบริษัทประกัน กรมธรรม์จะมีข้อมูลเยอะ และ ค่อนข้างยากต่อการเข้าใจ

บริษัทประกันจะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้ตามเงื่อนไขที่เขียนอยู่ในกรมธรรม์เท่านั้น
ถ้าไม่ได้เขียนเอาไว้หรือ ได้เขียนยกเว้นไว้ ก็จะไม่จ่าย

บางครั้งในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ไม่มีข้อยกเว้นระบุไว้ เพราะมีสภาพความเสี่ยงภัยต่ำ การเคลมประกันอัคคีภัยจึงมักไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามข้อยกเว้นของประกันอัคคีภัยตามหลักสากล ที่ไม่ต้องระบุในกรมธรรม์แล้วบริษัทก็มีสิทธิไม่จ่ายได้ ก็คือ การที่ผู้เอาประกันเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอัคคีภัย หรือ ผู้เอาประกันกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้เกิดอัคคีภัย (น้องๆของการวางเพลิงเผาเพื่อเอาประกัน)

การประกันภัยทรัพย์สินที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าทรัพย์สินที่เอาประกันไว้มีมูลค่า 10 ล้านบาท แต่เราตัดสินใจทำประกันภัยไว้ 5 ล้านบาท หรือประกันไว้แค่ 50% ของมูลค่าที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อของที่ทำประกันไว้เสียหายไปทั้งหมด (หาย หรือ ถูกทำลาย) บริษัทก็จะคุ้มครองไม่เกิน 5 ล้านบาท
แต่จะจ่ายตามส่วน คือ ถ้าเสียหายหมดก็จะจ่าย 2.5ล้านบาท (เนื่องจากจ่ายเบี้ยไปแค่ครึ่งเดียวของราคาทรัพย์จริง)

เวลาจ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทจะจ่ายมาเป็นตัวเงิน น้อยครั้งจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยวิธีการสร้างใหม่ (เพราะยุ่งยาก) แต่หากผู้เอาประกันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบสร้างใหม่ทดแทนของเก่า ก็ย่อมทำได้ โดยบริษัทประกันจะมีข้อจำกัดไว้ว่าจะสร้างให้ได้ใกล้เคียงของเดิมโดยมูลค่าทรัพย์สินที่สร้างจะต้องไม่เกินเงินที่เอาประกันภัยไว้ และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเตรียมการก่อสร้างใหม่เช่น ค่าแบบแปลน ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ฯลฯ เป็นของผู้เอาประกันแม้ว่าบริษัทประกันจะเป็นผู้เลือกแบบแปลนเอง เป็นต้น ซึ่งยุ่งยากทั้งผู้เอาประกันและบริษัทประกัน เวลามีการเคลม การรับสินไหมเป็นตัวเงินย่อมสะดวกกว่า






คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow