คปภ. ให้ประกันภัย ต้องจ่ายสินไหมเร็ว ประวิงการจ่ายสินไหม ครั้งละ 500,000 บาท
ขีดเส้น ประกันภัย ต้องจ่ายสินไหมเร็ว
คปภ. กำหนดให้ ประกันภัย ปรับปรุงหลักเกณฑ์จ่ายสินไหม ถึงสิ้นปี 2560
ไม่ปฏิบัติตาม โทษอัตราเดียวกับ ประวิงการจ่ายสินไหม ครั้งละ 5 แสนบาท
คปภ.ขีดเส้นธุรกิจ ประกันภัย ต้องทำแผนการจ่ายเงิน ค่าสินไหมทดแทน แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ ก่อนปรับจริง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินหรือ ค่าสินไหมทดแทน ตามสัญญา ประกันภัย ของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2559 เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของ บริษัทประกันชีวิต ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการปรับปรุงขั้นตอนค่อนข้างชัดเจนแล้ว
ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะจะเห็นว่าประชาชนที่มาร้องเรียน คปภ. ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของบริษัทประกันวินาศภัย ทั้งที่ให้เวลาในการปรับปรุงมา 3 เดือนแล้ว โดยปลายเดือน ก.ย.นี้ จะมีการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติของบริษัทขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกก่อน เพราะถือว่ามีลูกค้าจำนวนมาก ว่าเป็นไปตามประกาศหรือไม่ และให้ข้อแนะนำ หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจบริษัทรายอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ จะให้เวลาในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการชดใช้เงินหรือ ค่าสินไหมทดแทน ให้เป็นไปตามประกาศถึงสิ้นปี 2560 นี้
เช่น เมื่อเกิดกระบวนการสินไหม จะต้องมีฝ่ายรับเรื่อง พิจารณาสินไหม จ่ายสินไหม หากมีข้อโต้แย้ง จะต้องชี้แจงเป็นเอกสารอย่างชัดเจน ทั้งเหตุผลและข้อกฎหมาย หลังจากนั้นบริษัทใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการลงโทษ ซึ่งปรับในอัตราเดียวกับโทษ ประวิงการจ่ายสินไหมทดแทน คือครั้งละ 5 แสนบาท
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ทุกวันนี้บริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่ จะมีการจัดทำระเบียบปฏิบัติด้านการขาย คือ ช่วงขายมีการดูแลให้บริการลูกค้าอย่างดี จัดเก็บเงินอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนการจ่ายเงินให้ลูกค้า กลับมีคนให้บริการน้อยมาก และซับซ้อน ใช้เวลานาน บางบริษัทคนพิจารณาสินไหม คนมีอำนาจจ่ายสินไหมมีอยู่คนเดียว ดูแลลูกค้าทั่วประเทศ หรือให้อำนาจคนคนเดียว ในการใช้ดุลพินิจในการจ่ายสินไหมให้ลูกค้า ซึ่งเกิดความล่าช้าเมื่อเทียบกับกระบวนการเก็บเงิน
“การเบิกค่าสินไหมทดแทนต้องมีกระบวนการตรวจสอบ แต่ไม่ควรจะช้า ต่อไปถ้าลูกค้ามาร้องเรียน คปภ. ถ้ายังไม่ไปจะส่งกลับไปบริษัท หากเรื่องไม่จบภายใน 15 วัน และไม่มีเหตุผลที่ดีพอ จะลงโทษปรับ”