บอร์ด คปภ.สั่ง บ. ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัย
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ประจำเดือนกันยายน 2556 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2556 เป็นต้นไป
ด้วยบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งบริษัทไม่สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามโครงการที่บริษัทเสนอต่อ นายทะเบียนตามมาตรา 27/5 ได้ ประกอบกับบริษัทไม่ยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุนรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556 ไม่ยื่นงบการเงินรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว รวมทั้งไม่บันทึกรายการรับประกันภัยภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีระบบควบคุมกรมธรรม์ประกันภัยและการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่รัดกุม รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายที่มีจำนวนสูงผิดปกติ นอกจากนั้นบริษัทดำรงสินทรัพย์ เงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่เป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย และจัดสรรทรัพย์สินหนุนหลังหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทจึงมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
คณะกรรมการ คปภ. จึงพิจารณาเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2551 สั่งให้ บมจ ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินจนสามารถดำรงเงินกองทุนครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และแก้ไขการดำเนินงานที่บกพร่องของบริษัทให้แล้วเสร็จ ทั้งต้องจัดให้มีการดำเนินการในกรณีดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีระบบการบริหารงานบุคคล ระบบบัญชี ระบบการเงิน ระบบการเสนอขาย ระบบการพิจารณารับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบและระบบควบคุมภายใน รวมถึงต้องจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นลายลักษณ์อักษร
2. จัดให้มีระบบการควบคุมการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย ระบบการโอนข้อมูลการรับประกันภัย ระบบการบันทึกบัญชีและสมุดทะเบียน ระบบการเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถโดยข้อบังคับแห่งกฎหมายที่มีความรัดกุมชัดเจน โปร่งใส สามารถติดตามตรวจสอบได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. บริษัทจะต้องดำเนินการสำรวจตรวจสอบและจัดทำรายงานจำนวนกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัทได้จำหน่ายไป และเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยให้ครบถ้วน ทั้งบริษัทจะต้องเรียกคืนกรมธรรม์ประกันภัย ที่เป็นยอดค้างจำหน่ายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกลับคืนครบตามจำนวนที่จัดพิมพ์
4. บริษัทจะต้องยื่นงบการเงินและรายงานการดำรงเงินกองทุนที่มีผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่าง ไม่มีเงื่อนไขให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ทั้งจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. บริษัทต้องจัดสรรทรัพย์สินไว้ให้เพียงพอกับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23
6. บริษัทต้องจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังไว้ให้เพียงพอสำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4
7. บริษัทต้องดำเนินการตามเงื่อนไขให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 หรือจนกว่า นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บมจ ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมได้ตามปกติ เช่น การจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่สามารถขายกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ได้ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำที่บริษัททุกวันเพื่อประสานให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ www.oic.or.th