INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 2:47:35
Home » ความรู้รถยนต์ » รถจดประกอบ คืออะไร?\"you

รถจดประกอบ คืออะไร?

2013/10/02 7952👁️‍🗨️

รถจดประกอบ คือ รถยนต์ที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถ โดยแยกเครื่องกับตัวรถออกจากกันเพื่อสำแดงให้ศุลกากรเห็นว่าเป็นชิ้นส่วนไม่ ใช่รถทั้งคัน

หากเป็นโครงรถที่ไม่ตัดหรือแบ่งครึ่ง จะเสียภาษีศุลกากรชิ้นส่วนตัวถัง 30%
ถ้าตัดครึ่งจะเสียภาษีเพียง 3% แต่ไม่สามารถนำโครงมาจดทะเบียนได้ โดยการขอจดทะเบียนต้องมีเอกสารการเสียภาษีศุลกากรแสดงชิ้นส่วนเครื่องยนต์ และตัวถังจึงจะจดประกอบเป็นรถที่สมบูรณ์ได้ และต้องมีโรงงานประกอบที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตเพื่อนำมาประกอบเป็นรถ คันสมบูรณ์และเสียภาษีสรรพสามิตเหมือนรถใหม่ป้ายแดง

car-part1

รูปแบบการนำเข้ารถหรู
การนำเข้ารถมาขายในไทย ตามกฎหมายจะต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น รถยนต์ใช้แล้วไม่สามารถเข้ามาได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ จะมียกเว้นบ้างก็เป็นรถเฉพาะประเภท หรือรถนำเข้ามาใช้เป็นส่วนบุคคล ของผู้ที่เคยอยู่ หรือศึกษาในต่างประเทศ และทำเรื่องขอนำรถที่เคยใช้กลับมาเมืองไทย (มีเช่นกันที่ใช้ช่องนี้หลบเลี่ยงนำเข้ามาขาย แต่ไม่มากนัก)

แต่การนำเข้ารถใหม่ทั้งคันมีอุปสรรคต่อการทำตลาด เพราะโดนภาษีทุกอย่างเบ็ดเสร็จกว่า 200-300% (แล้วแต่ขนาดเครื่องยนต์และแรงม้า) ด้วยข้ออ้างเพื่อคุ้มครองอุตฯ รถยนต์ในประเทศ ,รถราคา 1 ล้านบาท เมื่อนำมาขายในไทยจะเพิ่มเป็น 3-4 ล้านบาท!

กฎหมายได้อนุญาตให้นำอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถที่ใช้แล้ว หรืออะไหล่รถจากต่างประเทศเข้ามาได้ และให้สามารถนำมาประกอบรถเป็นคัน และจดทะเบียนเหมือนรถปกติทั่วไปได้ หรือที่เรียกกันว่า… “รถจดประกอบ”

รถจดประกอบ จึงไม่ใช่รถที่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ผิดและเกิดปัญหา อยู่ที่กระบวนการดำเนินการของรถจดประกอบ ซึ่งผิดไปจากความหมายของรถจดประกอบ เช่นรถหรู/ซูเปอร์คาร์ 6 คัน ที่กำลังจะนำไปจดทะเบียนยังจังหวัดศรีสะเกษ แต่เกิดไฟไหม้ระหว่างทาง 4 คัน และถูกตรวจสอบพบว่า เป็นรถจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี

ปัญหารถจดประกอบไม่ใช่เพิ่งเกิด นิยมทำกันมา 5-6 ปีแล้ว และเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวอื้อฉาว จนสื่อมวลชนออกมาสาวไส้กระบวนการรถจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี เพราะมีการตรวจสอบพบว่า รถจดประกอบที่เป็นรถหรู หรือซูเปอร์คาร์ ไม่ได้นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะมาเป็นคัน (บางรายนำเข้ารถใหม่ๆ มาเลย) หรือแยกเพียงล้อเท่านั้นมา ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนใช้แล้ว
แต่ที่สุดข่าวคราวก็เงียบหายไป จนเกิดกรณีร้อนแรงล่าสุดขึ้นมา จากมูลค่ารถนับร้อยล้านบาท และสื่อมวลชนตามติดเรื่องนี้แทบจะทุกสื่อ
นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ารถอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการลักลอบนำรถหรูเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพื่อนำมาสวมทะเบียน รถที่นิยมลักลักนำเข้ามา จะเป็นรถหรูรุ่นที่มีในตลาดค่อนข้างมาก เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือบีเอ็มดับเบิลยู เพราะสามารถหาซากรถรุ่นเดียวกัน(จากอุบัติเหตุ) หรือใกล้เคียง มาตัดต่อแชสซีส์ หรือเลขตัวถังทับ เพื่อสวมทะเบียนได้ง่าย ไม่ก็ใช้ทะเบียนปลอม ตลอดจนติดป้ายแดงวิ่งกันเป็นปีเป็นชาติ แต่ก็เสี่ยงกับการถูกจับสูง
ในบรรดารถหรูนำเข้า รถจดประกอบจึงเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะมีช่องให้ดำเนินการได้ถูกกฎหมาย และอัตราภาษีก็ต่ำกว่ารถใหม่นำเข้ามาก หรือใกล้เคียงกับรถประกอบในไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30-50% เท่านั้น
ที่สำคัญได้รับความร่วมมือ จากเจ้าหน้าที่รัฐ(บางกลุ่ม)ในการหลบเลี่ยงเป็นอย่างดี!!

กลโกงนำเข้ารถจดประกอบ
จากความนิยมนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนมาประกอบรถเป็นคัน หรือรถจดประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถที่ไม่ค่อยมีขายในไทย หรือถ้ามีจะเป็นรถใหม่นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน ซึ่งมีราคาแพงมากจากอัตราภาษีกว่า 200-300% ขณะที่รถจดประกอบเสียภาษีเพียง 30-50% และยังประเมินจากฐานของชิ้นส่วนอะไหล่ หรือราคารถมือสอง(ภาษีสรรพสามิต)
จึงไม่แปลกที่จะเห็นรถ “มินิ” ราคาของตัวแทนจำหน่ายกว่า 2-3 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นรถจดประกอบกลับไม่ถึงล้านบาท และคิดดูว่ารถเครื่องยนต์ใหญ่กำลังสูงๆ เสียภาษีเต็มกว่า 300% หรือราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป จะมีช่องห่างของราคาแค่ไหน?
เหตุนี้รถจดประกอบจึงเป็นที่ต้องการ ของบรรดาผู้ชื่นชอบรถหรูและแรง แต่ต้องการสบายกระเป๋า ซึ่งต้นทางของรถเหล่านี้มาจากประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน อย่างอังกฤษ ตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะฮ่องกง ที่ใช้รถหรูและสปอร์ตกันมาก รวมถึงประเทศผู้ผลิตรถยนต์อย่างญี่ปุ่น โดยเครือข่ายกลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบจะไปซื้อ หรือประมูลมา
อย่างที่บอกรถจดประกอบ จะเป็นรถหรูและสปอร์ต ไม่ก็เป็นรถที่ไม่มีขาย หรือตัวแทนจำหน่ายในไทยนำเข้ามาขายไม่มาก การแยกอุปกรณ์ชิ้นส่วนมา เพื่อประกอบรถจึงไม่ใช่จะกระทำกันได้ง่ายๆ และยิ่งรถเทคโนโลยีสูงๆ แถมบางรุ่นตัวถังทำด้วยอลูมิเนียมอัลลอย อย่างพวกซูเปอร์คาร์ หรือรถหรูระดับท็อปคลาส การที่จะมาเชื่อม (Welding) หรือประกอบเข้ากัน กับเครื่องมือปกติที่มีในไทยทำไม่ได้เลย ต้องใช้เครื่องมือของมันโดยเฉพาะ
ฉะนั้นจึงเกิดคำถามตัวโตๆ… บรรดารถหรูระดับมากกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะซูเปอร์คาร์ เหมือนอย่างรถเกิดไฟไหม้ 6 คัน เป็นไปได้หรือที่จะเป็นรถจดประกอบ?!!
มากกว่านั้นบางรายถึงกับนำรถใหม่ เข้ามาทำเป็นรถจดประกอบ เพราะลูกค้ามีความต้องการอยู่แล้ว(และรู้กัน) อย่างที่บอกราคาอย่างน้อยแตกต่างกันเป็นเท่าตัว เพราะทุกขั้นตอนถูกตีเป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่ หรือรถมือสอง จึงทำให้เสียภาษีต่ำกว่ารถใหม่นำเข้าทั้งคัน
นี่จึงเป็นเหตุผล ทำไม? กลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบ(เชื่อว่าส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่ทำถูกก็มี) นำเข้ารถมาทั้งคันหรือเกือบจะทั้งคัน โดยถอดเพียงแค่ล้อ หรืออย่างมากถอดประตู และฝากระโปรงด้วย เพราะเป็นชิ้นส่วนที่สามารถประกอบได้ง่ายๆ อยู่แล้ว จากนั้นจับใส่ตู้คอนเทนเนอร์ แล้วส่งมาขึ้นท่าเรือแหลมฉบัง หรือคลองเตย
เมื่อมาถึงท่าเรือและกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไทย เนื่องจากกฎหมายเองไม่มีความชัดเจน คำว่าชิ้นส่วนใช้แล้วนำมาจดประกอบ หมายถึงจะต้องแยกชิ้นส่วนขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้ในอดีตเคยมีอธิบดีกรมศุลกากร ต้องการให้ตีความให้ชัด แต่ที่สุดเรื่องก็เงียบหายไปกับสายลมเช่นเคย
ด้วยช่องโหว่ตรงนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรบางราย ร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบ แลกกับการรับผลประโยชน์ เพียงดูเอกสารสำแดงนำเข้าที่ระบุว่า เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถ หรืออะไหล่ โดยที่ไม่ได้มีการเปิดกล่องแต่อย่างใด หรือเปิดเพียงเป็นพิธี พอให้เห็นชิ้นส่วนที่แยกมาบางชิ้นเท่านั้น
จากนั้นออกใบอินวอยซ์ หรือใบแสดงรายการสินค้านำเข้าจากศุลกากร โดยเฉพาะหมายเลขโครงตัวถัง และเครื่องยนต์ของรถ เพื่อเสียภาษีศุลกากร และนำชิ้นส่วนอะไหล่(รถทั้งคัน) ออกมาทำเป็นรถจดประกอบ
บทสรุป… อุปกรณ์ชิ้นส่วน(รถทั้งคัน) เหล่านี้ จึงเสียภาษีนำเข้าเพียงไม่เกิน 30% (ของราคาประเมินอะไหล่) ขณะที่อัตรารถใหม่นำเข้าทั้งคันสูงถึง 80%

ขั้นตอนและรูปแบบการกระทำ
ตามกฎหมายของการที่จะทำรถจดประกอบ เมื่อนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถเข้ามา จะต้องดำเนินการประกอบรถ กับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบรถกรมสรรพสามิต ซึ่งเดิมจะมีเพียงไม่กี่แห่ง เพราะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ แต่ช่วงหลังภาครัฐต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ จึงอนุญาตให้มีโรงประกอบรถมากขึ้น
แม้จะมีอู่หรือโรงรับประกอบรถที่ได้ รับใบอนุญาตมากขึ้น แต่ปัจจุบันในไทยยังคงมีอยู่น้อย หรือแทบจะไม่มีอู่ประกอบรถใดเลย ที่จะสามารถดำเนินการประกอบรถหรู รถสปอร์ต หรือซูเปอร์คาร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวช่าง หรือเครื่องมือต่างๆ เห็นได้จากการนำหมายศาลของดีเอสไอ เข้าตรวจค้นสถานประกอบการรถจดประกอบ 4 จุด ที่เกี่ยวข้องกับรถลัมบอร์กินี 1 ในรถ 4 คัน ที่เกิดเหตุไฟไหม้ ปรากฏว่าไม่มีสภาพที่จะประกอบรถหรู หรือซูเปอร์คาร์ได้เลย
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บริษัทหรือกลุ่มผู้นำเข้ารถหรู ต่างก็ใช้ช่องทางเหล่านี้ ในการดำเนินธุรกิจนำเข้าและจดประกอบรถ ซึ่งต้องมีวิศวกรเป็นผู้รับรองมาตรฐานการประกอบรถคันนั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถนำไปจดทะเบียนได้
ตามรายงานของดีเอสไอ พบผู้เกี่ยวข้องในการกระทำผิด เกี่ยวกับการดำเนินการประกอบรถจดประกอบ ได้แก่ ผู้นำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วน(รถทั้งคัน) ผู้ประกอบรถ และนอมินี ซึ่งแยกเป็น 4 รูปแบบ อ้างดำเนินการทำรถจดประกอบ โดยรูปแบบแรกลูกค้าจะเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์ และอุปกรณ์รถยนต์ จากบริษัทที่เป็นนอมินีของผู้ประกอบรถ ซึ่งบริษัทผู้ประกอบรถจะทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างประกอบ พร้อมกับขายเฉพาะตัวถัง เพื่อให้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคเป็นผู้นำเข้าเครื่องยนต์เอง และบริษัทประกอบรถไม่มีความเกี่ยวข้อง
รูปแบบที่ 2 บริษัทผู้ประกอบรถจะดำเนินการเอง ทั้งการซื้อตัวถัง เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ชิ้นส่วน จากบริษัทนำเข้าโดยตรง เมื่อประกอบรถเสร็จจึงจะนำออกมาขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป และแบบที่ 3 กลับกันลูกค้าจะเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งหมด และนำไปให้บริษัทผู้ประกอบรถทำการประกอบให้ แต่อาจจะมีการหาอุปกรณ์ตกแต่งให้
สุดท้ายรูปแบบที่ 4 จะคล้ายๆ กัน ลูกค้าเป็นผู้ซื้อตัวถัง เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ชิ้นส่วนจากผู้นำเข้า โดยชิ้นส่วนตกแต่งจะซื้อจากบริษัทนอมินี ซึ่งจากข้อมูลของดีเอสเชื่อว่า ส่วนใหญ่รถหรูที่นำไปจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นแบบแรก และรูปแบบที่ 4
แต่นั่นเป็นรูปแบบของการสำแดงเอกสาร อ้างจดประกอบ ทั้งในการเสียภาษีสรรพสามิต และจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งจริงๆ ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกัน และแทบจะไม่มีการประกอบรถ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นรถนำเข้ามาเกือบทั้งคัน(หรือทั้งคัน)
เมื่อกระบวนประกอบรถ(หลอกๆ) เสร็จแล้ว จึงนำรถดังกล่าวไปเสียภาษีสรรพสามิต จากนั้นหากเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซิน หรือดีเซล ต้องไปให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ตรวจสอบสภาพรถตามมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานมลพิษ แต่ถ้าใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือแก๊ส 100% ไม่ต้องตรวจกับสมอ. แต่ต้องมีการรับรองมาตรฐาน และความมั่นคงปลอดภัยจากวิศวกร ซึ่งอู่ประกอบรถจะดำเนินการให้
ผ่านกระบวนการต่างๆ เหล่านี้แล้ว และนำหลักฐานสำคัญต่างๆ สำเนาใบนำเข้า หรืออินวอยซ์ หลักฐานการตรวจสภาพรถจากสมอ.(ติดแก๊สไม่ต้องมี) และสำเนาใบเสียภาษีสรรพสามิต นำไปขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก อาจจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ได้

เปิดเส้นทางการนำเข้ารถหรูจดประกอบ รวมถึงขั้นตอนและรูปแบบการกระทำผิดไปแล้ว ได้เห็นกลโกงของรถจดประกอบ นอกจากการนำเข้ารถทั้งคัน หรือเกือบทั้งคัน ยังนำรถที่ประกอบแล้วไปติดแก๊ส โดยเฉพาะบรรดาซูเปอร์คาร์ ล่าสุดดีเอสไอเปิดเผยจำนวนรถหรูและรายชื่อเจ้าของรถ เข้าข่ายต้องตรวจสอบจำนวน 488 คัน ปรากฏว่าส่วนใหญ่ติดแก๊สทั้งนั้น แล้วทำไม? รถหรู/ซูเปอร์คาร์เหล่านี้ถึงชอบดมแก๊ส และการหลีกเลี่ยงภาษีของรถจดประกอบ ล้วนมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเอี่ยวทุกขั้นตอน!!?…

car-part2


ทำไม? ซูเปอร์คาร์ต้องติดแก๊ส

จุดที่ทำให้รถไฟไหม้ 4 คัน ทราบว่าเป็นรถจดประกอบทันที มาจากถังแก๊สและอุปกรณ์ต่อพ่วงนั่นเอง เพราะในโลกนี้คงไม่มีซูเปอร์คาร์ระดับ 12 สูบ ติดตั้งแก๊สแน่นอน และในเชิงวิศวกรรมก็ไม่สามารถทำได้
ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงฟันธง!… เป็นรถนำเข้าไม่ถูกต้อง เป็นรถจดประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี!
งานนี้ผู้คนทั่วๆ ไป จึงเข้าใจว่ารถจดประกอบผิดกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงภาษี(ย้ำว่ารถจดประกอบ เป็นรถถูกต้องตามกฎหมาย) รวมถึงคิดว่าการติดแก๊สเป็นกระบวนหนึ่งของการทำผิด หรือต้องการหลีกเลี่ยงภาษี
ประเด็นที่กลุ่มผู้ค้าหรือผู้ซื้อผู้ ใช้รถจดประกอบ ต้องติดแก๊สรถหรูและซูเปอร์คาร์ เพราะต้องการลดขั้นตอนในการตรวจสภาพรถกับสมอ. และอีกส่วนหนึ่งเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าตรวจสภาพรถ เพราะมีอัตราสูงเป็นแสนบาททีเดียว ที่สำคัญจะตรวจรถผ่านมาตรฐานสมอ. เรียกว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรฐานมลพิษ ซึ่งหากตรวจไม่ผ่านก็ต้องสูญเงินไปเลย ไม่มีการคืนเงินแต่อย่างใด และหากตรวจใหม่ก็ต้องจ่ายตามอัตราอีก
เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่รถจดประกอบ แม้แต่รถใหม่ผู้นำเข้าอิสระหรือเกรย์มาร์เก็ต ยังมีปัญหากับสมอ.ในเรื่องนี้เช่นกัน มีรถใหม่นำเข้าจากเกรย์มาร์เก็ตหลายพันคัน ที่ยังไม่เข้ารับการตรวจสภาพรถกับสมอ. จนมีข่าวเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้านับพันเคว้งไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะไม่ผ่านการตรวจสภาพรถกับสมอ. และยังมีรถนำเข้าอีกกว่า 2 พันคัน รอตรวจสอบกับสมอ.อยู่
ปัญหานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม, สมอ. และกรมขนส่งทางบก ต่างร่วมกันพยายามหาทางออกอยู่ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมอ.ได้มีการลดค่าตรวจสภาพรถเกรย์มาร์เก็ต อย่างรถเบนซินเดิมค่าตรวจสอบ 124,163 บาท ลดลงเป็น 49,755 บาท และรถดีเซลขนาดเล็กค่าตรวจสอบ 19,795 บาท จากเดิม 46,588 บาท
ในส่วนของสรรพสามิต รถจดประกอบติดแก๊สยังคงใช้อัตราภาษีปกติ เหมือนกับรถใหม่ทั่วไป อยู่ที่ประมาณ 30-50% (ยังมีภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพราะเป็นแก๊สแอลพีจี หรือไม่ใช่รถติดแก๊สซีเอ็นจีจากโรงงาน(Retrofit) ที่จะได้รับอัตราภาษีพิเศษ
การติดแก๊สของรถหรูขนาดใหญ่ หรือซูเปอร์คาร์จดประกอบ จุดประสงค์หลักจึงอยู่ที่เลี่ยงการตรวจสภาพรถของสมอ.เป็นสำคัญ และไม่ได้ต้องการใช้งานจริง ที่สำคัญรถเหล่านี้ไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงแก๊ส โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ระดับ 8 หรือ 12 สูบ ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน…
ดังนั้นการติดตั้งแก๊สในรถจดประกอบ ดังกล่าว จึงเป็นการติดหลอกๆ เพื่อผ่านขั้นตอนไปจดทะเบียนเท่านั้น เหมือนอย่างกับซูเปอร์คาร์ที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งไม่มีการวางท่อ หรือเชื่อมเข้ากับเครื่องยนต์แต่อย่างใด และเมื่อจดทะเบียนเสร็จก็ถอดออก และหลังจากนั้นขอกลับมาเป็นใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และมีการล้างเล่มทะเบียนใหม่

car-part3

เจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวทุกขั้นตอน!!?
จากกระบวนการของรถจดประกอบ จะเห็นว่ามีการหลีกเลี่ยง หรืออาศัยช่องโหว่กฎหมายในทุกขั้นตอน โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ(บางส่วน) แทบจะทุกกระบวนการ
เริ่มจากนำรถมาขึ้นท่าเรือ ผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมศุลกากร อย่างที่ทราบกันโดยเฉพาะรถหรูขนาดใหญ่/ซูเปอร์คาร์จะนำรถเข้ามาทั้งคัน หรือเพียงถอดล้อ และอย่างมากเพิ่มฝากระโปรง-ประตูรถ ถ้ารถเล็กญี่ปุ่นเทคโนโลยีไม่สูงมาก อาจจะมีการแยกเครื่องยนต์ด้วย
แม้กฎหมายจะไม่ชัด แต่อย่างน้อยก็มีการระบุให้พอเป็นฐานได้ว่า ชิ้นส่วนนำเข้าจดประกอบจะต้องแยกเครื่อง และโครงตัวถังมาทั้งคัน เพราะห้ามตัดครึ่ง หรือตัวหัวตัดท้าย แบบนั่นจะนำเข้ามาเป็นอะไหล่เซียงกง ซึ่งต้องเสียภาษีอีกแบบ(3%) แต่ถ้าเป็นโครงตัวถังภาษีอยู่ที่ 30% โดยต้องมีหมายเลขกำกับชัดเจน
แต่อย่างที่ทราบกัน แทบจะไม่มีการแยกชิ้นส่วนแต่อย่างใด ตรงนี้กลุ่มผู้นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่จึงต้องใช้กำลังภายใน ว่ากันว่าเป็นจุดที่จะต้องจ่ายสูงที่สุดของทุกระบวนการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรปิดหูปิดตา หรือแค่ดูให้เห็นว่าเป็นกองอะไหล่ เพราะการไปเสียภาษีสรรพสามิต และจดทะเบียนกับกรมขนส่ง ต้องมีใบแสดงรายการสินค้า หรืออินวอยซ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรรับรองความต้องถูกต้อง

car-part4
ผ่านด่านแรกมาที่กรมสรรพสามิต ซึ่งต้องประเมินราคาของรถคันนั้นๆ แม้จะมีเกณฑ์คร่าวๆ อยู่แล้ว แต่หากมีความใกล้ชิดและร่วมมือกัน ราคาประเมินก็อาจจะต่ำลงไปบ้าง
นอกจากนี้กลุ่มผู้ค้าบางราย ไม่ต้องการจ่ายภาษีสรรพสามิตเต็มการประเมิน จึงใช้วิธีนำรถไปให้สรรพสามิตต่างจังหวัดที่คุ้นเคยจับปรับ ซึ่งจะประเมินกันค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างรถจดประกอบราคาประเมิน 10 ล้านบาท อัตราภาษี 30% ประมาณ 3 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ร่วมกัน จะประเมินตีภาษีเพียง 5 แสนบาท ซึ่งรวมค่าปรับ 3 เท่า เบ็ดเสร็จจ่ายภาษีทั้งหมด 1.5 ล้านบาท
จะเห็นว่าถูกกว่าจ่ายภาษีโดยตรงเป็น เท่าตัว!… เมื่อจ่ายค่าปรับภาษีแล้ว สามารถนำใบเสร็จดังกล่าว ไปขอรับจดทะเบียนกับกรมขนส่งได้ถูกกฎหมายเช่นกัน
แต่วิธีนี้ก็ต้องมาลุ้น(หรือไม่) จะมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือไม่ เพราะหากตรวจพบว่าจ่ายภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง คราวนี้ล่ะโดน 3 เท่าของราคาภาษีประเมินจริง หรือ 9 ล้านบาท!!
ในส่วนของการตรวจสภาพกับสมอ.เช่นกัน ซึ่งรู้กันว่าเป็นด่านหินที่สุดของรถจดประกอบ เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมรถยนต์เบนซินและดีเซลค่อนข้างสูงมาก แม้แต่รถใหม่นำเข้าของเกรย์มาร์เก็ตยังหนาว โดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่น รถมือสองอย่างรถจดประกอบ แทบจะมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ผ่าน
นี่จึงมีข่าวกระเซ็นออกมา ทั้งจากผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ตว่า หากไม่อยากจะยุ่งยากมากนัก ต้องมีค่าตรวจพิเศษเป็นจำนวนหลักครึ่งแสนต่อคันกันเลย!
ขณะที่วงการรถจดประกอบ ไม่แตกต่างกันมากนัก นี่จึงเป็นที่มาของซูเปอร์คาร์อย่าง ลัมบอร์กินี หรือเฟอร์รารี่ ติดแก๊สหลอก หรือที่แซวๆ กันว่า… ซูเปอร์คาร์ชอบดมแก๊ส!!

เมื่อผ่านทุกด่านเสร็จแล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้าย จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะเป็นด่านที่รถจดประกอบ จะแปลงสภาพเป็นรถถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
เกี่ยวกับเรื่องซิกแซกให้เร็ว หรือตรวจสอบใบหลักฐานต่างๆ คงไม่ต้องพูดกัน มาว่ากันเรื่องที่การตีตรารับรองรถหรู/ซูเปอร์คาร์ติดแก๊สจดทะเบียนได้ เพราะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องใช้งานจริงได้หรือไม่ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องพิสูจน์อะไรมาก กับเหตุผลง่ายๆ…
รถหรูขนาดใหญ่ และซูเปอร์คาร์ ที่เครื่องยนต์ระดับ 8 หรือ 12 สูบ เป็นไปได้หรือที่จะใช้เชื้อเพลิงแก๊ส เพราะในโลกนี้เขาไม่ทำกัน และมันเป็นไปไม่ได้เลย!!
ไม่ว่าจะอย่างไร เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งก็มีการอนุมัติให้จดทะเบียน จากการมีอะไรมาปิดตาปิดหูเสีย และพอเสร็จขั้นตอนนี้ผู้ขอจดทะเบียนรถจดประกอบจะถอดแก๊สออก สักพักจึงขอเปลี่ยนเป็นใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามเดิม ถ้าจดต่างจังหวัด(กำลังนิยม) จะขอย้ายมากรุงเทพฯ และมีการแจ้งหาย หรือล้างเล่มทะเบียน ทำให้ไม่เห็นว่ามีการติดตั้งแก๊ส(หลอก) มาก่อน (ต้นฉบับที่ขนส่งยังสามารถตรวจสอบได้)
แต่จะว่าไปรถหรู/ซูเปอร์คาร์ติดแก๊สหลอก มีการเปิดโปงมาได้ 2-3 ปีแล้ว ทำให้ผู้บริหารของกรมการขนส่งทางบก ต้องแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ระมัดระวัง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งของรถจดประกอบ
เหตุนี้ในช่วงหลังๆ ขบวนการรถจดประกอบ จึงเบนไปยังต่างจังหวัดแทน และโดยเฉพาะจังหวัดที่มีเครือข่ายร่วมมือกัน จึงไม่แปลกที่เมื่อหลายปีก่อน จะเห็นซูเปอร์คาร์ติดป้ายทะเบียนลำพูนเต็มไปหมด และปัจจุบันที่เป็นข่าวฮือฮา ย่อมต้องเป็นขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ เป้าหมายของรถหรู 6 คัน ก่อนที่จะเกิดไฟไหม้เสียก่อน จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว และมีการตรวจสอบพบว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้จดทะเบียนรถจดทะเบียน 19 คัน จนขนส่งจังหวัดถูกเด้งเข้ามาช่วยราชการในกรมฯ
เรียกว่า… กระบวนหลบเลี่ยงภาษีและกฎหมายของรถจดประกอบ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายทางกันเลยทีเดียว
งานนี้ “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ถึงกับบอกว่าขบวนการหลบเลี่ยงภาษีของรถจดประกอบ สร้างความเสียหายให้กับรัฐ ปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท!!

กระแสข่าวที่ออกมา ดูเหมือนว่าขนส่งต่างจังหวัด จะเป็นเป้าหมายของรถจดประกอบ ซึ่งอาจจะจริงกับบางจังหวัด เพราะมีเครือข่ายหรือเจ้าหน้าที่ขนส่งที่รู้กัน แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายของรถจดประกอบ อยู่แค่ปลายจมูก หรือใกล้เคียงกับกรุงเทพฯนี่เอง และรถรุ่นฮิตก็ไม่ใช่ซูเปอร์คาร์มากนัก กับเป็นรถนิสสัน คิวบ์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรุ่นรุ่นมินิ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไฟไหม้รถหรู/ซูเปอร์คาร์ 4 คัน ดูเหมือนจะลุกลามกลายเป็น… จุดอวสานของรถนำเข้าจุดประกอบ?!!

car-part5

นนทบุรี/นิสสัน-เบนซ์-มินิฮิต!
กระแสข่าวที่ออกมา ดูเหมือนว่าขนส่งต่างจังหวัด จะเป็นเป้าหมายของรถจดประกอบ ซึ่งอาจจะจริงกับบางจังหวัด เพราะมีเครือข่ายหรือเจ้าหน้าที่ขนส่งที่รู้กัน แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายของรถจดประกอบ อยู่แค่ปลายจมูก หรือใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นนนทบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หรือจังหวัดในเขตภาคกลางรอบๆ นี่เอง
เพราะคงไม่มีใครอยากจะนำรถไปจดทะเบียนไกลๆ เพราะเสียเวลาเดินทาง และค่าขนส่งเปล่าๆ นอกจากจะเป็นรถราคาแพง อย่างรถหรู/ซูเปอร์คาร์ 6 คัน หรือต้องระมัดระวังพิเศษ ไม่ให้อยู่ในสายตาของกรมขนส่งทางบกส่วนกลาง
จากข้อมูลของดีเอสไอ พบว่าในช่วงปี 2554-2555 มีรถจดประกอบต้องสงสัยหลบเลี่ยงภาษี เข้าสู่ระบบจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก 5,823 คัน แยกเป็นแจ้งจดทะเบียนใช้แก๊สระบบเดียว 2,410 คัน และใช้เชื้อเพลิงปกติ 3,422 คัน นอกจากนี้ยังมีรถจดประกอบ ยื่นขอแบบการเสียภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตในปี 2556 จำนวน 3,000 คัน
โดยรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ยี่ห้อที่นิยมนำมาจดประกอบ และจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ระหว่างปี 2554-2555 จำนวน 5,832 คัน ปรากฏว่ามากสุดเป็น นิสสัน คิวบ์ 1,741 คัน รองลงมาตามลำดับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 823 คัน
โตโยต้า 763 คัน มินิคูเปอร์ 596 คัน โฟล์คสวาเกน 511 คัน บีเอ็มดับเบิลยู 281 คัน โรเวอร์ 278 คัน มาสด้า 220 คัน มิตซูบิชิ 157 คัน ฮอนด้า 146 คัน ไดฮัทสุ 56 ซูบารุ 55 คัน ไครสเลอร์ 46 คัน ปอร์เช่ 38 คัน ออดี้ 27 คัน จากัวร์ 20 คัน เลกซัส และอัสติน ยี่ห้อละ 12 คัน อีซูซุ 9 คัน เปอโยต์ และซาบ ยี่ห้อละ 6 คัน เช่นเดียวกับเฟอร์รารี เชฟโรเลต และโรลส์-รอยซ์ อย่างละ 4 คัน เบนท์ลีย์ 3 คัน แลนด์โรเวอร์ 2 คัน ส่วนคาดิแลค ฟอร์ด ฮุนได ลินคอล์น โลตัส มิตซูโอกะ และมอริส ยี่ห้อละ 1 คัน

ขณะที่รายงานจากกรมการขนส่งทางบก รายงานสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนใช้แล้วนำเข้าจากต่าง ประเทศ หรือรถจดประกอบ ในพื้นที่ขนส่งต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2553 – 31 มี.ค.2556 จำนวนรวม 6,862 คัน ประกอบด้วย นนทบุรี 2,741 คัน สระบุรี 1,289 คัน กรุงเทพฯ 861 คัน พระนครศรีอยุธยา 679 คัน อ่างทอง 355 คัน นครปฐม 343 คัน ปราจีนบุรี 318 คัน นครนายก 118 คัน ชลบุรี 54 คัน กาญจนบุรี 42 คัน ราชบุรี 31 คัน ศรีสะเกษ 23 คัน อุบลราชธานี 5 คัน สมุทรสาคร 1 คัน อุดรธานี 1 คัน และอุตรดิตถ์ 1 คัน
รายงานสถิติที่เปิดเผยออกมา จะพบว่าในจำนวนยี่ห้อรถนิยมจดประกอบ อย่างนิสสัน คิวบ์ หรือเมอร์เซเดส-เบนซ์ คงไม่จำเป็นต้องวิ่งไปจดใกล้ในภาคอื่น โดยส่วนใหญ่จดทะเบียนกับขนส่งจังหวัดปริมณฑล หรือใกล้เคียง ไม่ก็จดที่กรุงเทพฯ นอกจากรถที่ผิดปกติมากๆ อย่างรถหรูขนาดใหญ่/ซูเปอร์คาร์ 6 คัน จึงจะไปจดจังหวัดไกลๆ ที่มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ร่วมมือกันเท่านั้น

ไฟไหม้สู่จุดจบรถจดประกอบ?
ผลสะเทือนจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถหรู/ซูเปอร์คาร์ 4 คัน ได้ลุกลามเผารถจดประกอบทั้งวงการ เพราะได้รับความสนใจจากประชาชน สื่อมวลชนทุกแขนงเกาะติดต่อเนื่องเกือบสองสัปดาห์ และยังคงจะดำเนินต่อไป…
จนทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องเร่งแก้ไขปัญหากันเร่งด่วน และมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกไฟลามเซ่นกรณีรถหรู 6 คัน อย่างขนส่งจังหวัดศรีสะเกษที่ถูกเด้งเข้ากรุ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ต่างก็เร่งทำผลงาน จะเห็นว่าตำรวจภาค 2, 3 และ 4 ต่างโชว์การตรวจจับยึดรถหรู/ซูเปอร์คาร์ ที่เป็นรถลักลอบนำเข้าประเทศ รถสวมซาก ขูดลบทะเบียนหมายเลขตัวถัว และรถปลอมแปลงเอกสารเป็นจำนวนมาก
แม้แต่กรมศุลกากรล่าสุด ยังแถลงจับกุมยึดรถยนต์ลักลอบหนีศุลกากรและเลี่ยงอากร ที่ล้วนเป็นรถหรูและซูเปอร์คาร์จำนวน 10 คัน อาทิ ลัมบอร์กินี, ปอร์เช่, เมอร์ซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู และลักซัส รวมมูลค่า 129 ล้านบาท

แต่นี่คงจะเป็นเพียงพิธีกรรมเซ่นไฟไหม้เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการเปิดท่อที่ตันมานาน เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมรถจดประกอบ อย่างเรื่องการไม่รับจดทะเบียนรถจดประกอบ ที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะคมนาคมยังไม่ออกกฎกระทรวงมาบังคับใช้ อ้างมีรถจดประกอบที่รอตรวจจากสมอ.อยู่เยอะ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในกฎกระทรวงเรื่อง “งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้ว ที่นำเข้าจากต่างประเทศ”…
โดยกฎกระทรวงดังกล่าว จะครอบคลุมรถที่จดทะเบียนพื้นที่กรุงเทพฯ และทุกจังหวัด สำหรับประเภทของรถที่อยู่ในข่ายงดรับจดทะเบียน ประกอบด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถบรรทุกส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล โดยชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้ว จะมีความหมายรวมถึงชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซี และโครงรถจักรยานยนต์
ในกฎกระทรวงดังกล่าว ยังระบุผู้ที่ประสงค์จะนำเข้ารถมาจดทะเบียน ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยกรณีเป็นรถติดแก๊สไม่ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐาน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้นำมาจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงบังคับใช้ ส่วนรถที่ต้องผ่านการตรวจสอบของสมอ. ให้นำมาจดทะเบียนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้หลังจากลงนามกฎกระทรวง จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ประกาศก็จะมีผลบังคับใช้
หรือนี่จะเป็น… บทอวสาน “รถจดประกอบ” ในไทย?!

car-part6

ยกเลิกจดทะเบียนรถหรูประกอบ…แล้วทำไง?

เหตุไฟไหม้รถสปอร์ตหรูหลายคัน ที่บรรทุกอยู่บนรถเทรลเลอร์ขณะนำส่งลูกค้า ช่วงทางขึ้นเขากลางดง กม.36-37 ถนนมิตรภาพ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง ส่งผลให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับวิธีการนำเข้ารถหรู การขนย้าย การจดทะเบียน รวมถึงตัวเจ้าของผู้ครอบครองรถหรูเหล่านี้

กรณีดังกล่าวกลายเป็นข่าวต่อเนื่องอยู่บนหน้าหนึ่ง นสพ.เดลินิวส์ และนสพ.ของหลายสำนักพิมพ์อยู่หลายวัน กระทั่งวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีประกาศบังคับใช้กฎกระทรวง งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถใช้แล้วที่นำมาจากต่างประเทศ พ.ศ.2556 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 17 มิ.ย.56 มีผลบังคับใช้ทันที

โดยกำหนดให้งดรับจดทะเบียนรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่ นำเข้ามาจากต่างประเทศในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตจังหวัดอื่นทั่วประเทศ

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอภิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับรถที่จดประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนให้เจ้าของรถมาจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎกระทรวง กำหนด โดยรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงระบบเดียว หรือรถที่ผ่านการทดสอบจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)แล้ว ให้ยื่นเอกสารขอจดทะเบียนรถ ภายในวันที่ 16 ก.ค.56 โดยรถเก๋ง ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน ณ กรมการขนส่งทางบก จตุจักร เพียงแห่งเดียว

สำหรับรถตู้ รถปิคอัพ และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล สามารถยื่นขอจดทะเบียนรถได้ที่ กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดได้ทั่วประเทศ ส่วนรถที่ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ยังมิได้ผ่านการทดสอบ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง และยื่นเอกสารขอจดทะเบียนรถภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2557 โดยแนบหลักฐานในการขอจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำ เข้ามาจากต่างประเทศ อาทิ หลักฐานการนำเข้าตามขั้นตอนจากกรมศุลกากร หลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพสามิต และหลักฐานการผ่านการตรวจสภาพรถจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หนังสือรับรองจากวิศวกร ฯลฯ จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนรถดังกล่าว ดำเนินการให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนดต่อไป หากพ้นกำหนดดังกล่าว จะไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้

สำหรับประกาศบังคับใช้กฎกระทรวง งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถใช้แล้วที่นำมาจากต่างประเทศพ.ศ.2556 มีดังนี้

วันที่ 17 มิถุนายน 2556 ราชกิจจานุเบกษา  เผยแพร่ กฎกระทรวง งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจาก ชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศพ.ศ. 2556

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้  เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำเข้าชิ้นส่วนของ รถที่ใช้แล้วมาจากต่างประเทศมาประกอบและจดทะเบียนเป็นรถใหม่จำนวนมากเพื่อ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ในประเทศ สมควรกำหนดให้งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำ เข้าจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ข้อ 1 ให้งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำ เข้ามาจาก ต่างประเทศ ในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตจังหวัดอื่นทุกจังหวัด สำหรับประเภทรถดังต่อไปนี้

(1) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน
(2) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน
(3) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล
(4) รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

ชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซีรถหรือโครงรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี

ข้อ 2 ผู้ใดประสงค์จะนำรถตามข้อ 1 มาจดทะเบียนตามมาตรา 10 ให้นำมาจดทะเบียนภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นรถที่ไม่ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือเป็นรถที่ ผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมแล้วให้นำมาจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

(2) กรณีเป็นรถที่ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับยังไม่ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้นำมาจดทะเบียนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ให้ไว้ ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปมรถหรู ไฟไหม้ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นข่าวคึกโครมระดับชาติ จึงนำมาสู่กระบวนการตรวจสอบครั้งมโหฬาร ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับทำคดีและไล่ตรวจสอบผู้ครอบครองรถหรูจดประกอบที่ถูกขึ้นบัญชีต่องสงสัยร่วม 500 คัน โดยมีคนที่มีชื่อเสียงและเศรษฐ

รถจดประกอบ คือ รถมือสองที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วน โดยแยกเอาโครงรถและอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากกัน ส่วนจะแยกชิ้นส่วนมากน้อยเพียงใดไม่สำคัญ โดยก่อนนำเข้าต้องแสดงให้กรมศุลกากรทราบว่า นำเข้ามาแบบเป็นชิ้นส่วน ไม่ใช่นำเข้ามาทั้งคัน
การนำเข้ารถมาทั้งคัน จะถูกคิดภาษีสูง อีกทั้งต้องนำเข้า “โครงตัวรถ” มาทั้งคัน ห้ามตัดครึ่ง ให้นำเข้ามาแบบสมบูรณ์ทั้งโครงตัวรถ การนำเข้ารถในแบบนี้จะนำโครงที่นำเข้ามานั้นจดเป็นรถจดประกอบได้ โดยจะเสียภาษีศุลกากรนำเข้าชิ้นส่วนตัวถัง  30%  ถ้าไม่ได้นำเข้ามาแบบโครงเต็มที่สมบูรณ์ จะเป็นการนำเข้าโดยตัดครึ่งหรือตัดมาบางส่วน เสียภาษีแค่ 3% แต่ไม่สามารถใช้โครงนั้นมาจดทะเบียนได้ ดังนั้นโครงที่นำเข้านี้ จะใช้เป็นอะไหล่ไม่เหมือนกับพวกที่นำเข้ามาทั้งโครงแบบสมบูรณ์ ที่ขอจดทะเบียนได้
การนำรถมาขอจดทะเบียน ต้องมีเอกสารอินวอยซ์ที่เสียภาษีศุลกากร แสดงชื้นส่วนเครื่องยนต์และตัวถัง ถึงจะนำมาจดประกอบเป็นรถที่สมบูรณ์ได้ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องหาโรงงานประกอบรถที่ได้รับอนุญาติจากกรมสรรพสามิต  เพื่อประกอบรถให้เป็นคัน เมื่อประกอบเสร็จ ต้องนำไปเสียภาษีสรรพสามิตเหมือนรถป้ายแดง โดยกรมสรรพสามิตจะประเมินราคาว่า รถรุ่นไหน เครื่องยนต์ขนาดใด เสียภาษีเท่าไหร่ จากข้อมูลกรมสรรพสามิตระบุว่า รถที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,800 ซีซี เสียภาษี 30% จากราคาประเมิน รถที่มีเครื่องยนต์เกิน 2,800 ซีซี เสียภาษี  50%  ของราคาประเมิน

สารพัดกลโกงภาษี
ผู้ประกอบการบางรายเลี่ยงการเสียภาษี โดยใช้ช่องว่างกฎหมาย  ส่วนใหญ่จะนำรถไปให้กรมสรรพสามิตต่างจังหวัดจับปรับ ซึ่งจะเสียภาษีแค่ 3 เท่า หลังจากถูกปรับจะนำใบเสร็จค่าปรับไปแสดง เพื่อนำรถไปจดทะเบียน เช่น รถจดประกอบคันหนึ่งต้องเสียภาษี 30% กรมสรรพสามิตตีราคาประเมิน 10 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 30% เป็นเงิน 3,000,000 บาท แต่กรณีนี้เสียค่าปรับ100,000 บาท ทั้งที่ต้องจ่ายจริง 3 เท่าหรือ 300,000 บาท)

หลังจากจ่ายค่าปรับ 100,000 บาท จะนำใบค่าปรับไปยื่นต่อกรมขนส่งเพื่อขอจดเป็นรถจดประกอบอย่างถูกต้อง หากตรวจพบภายหลัง ผู้เป็นเจ้าของรถจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ หมายความว่า จะต้องควักเงิน 3 เท่าของราคาภาษีที่ประเมินจริง (เทียบจากตัวอย่างที่ยกมา เจ้าของรถต้องเสียภาษีถึง 9,000,000  บาท)
การจดเป็นรถติดแก๊สนั้น รถทุกคันต้องเสียภาษีสรรพสามิตเป็นปกติ เพียงแต่รถจดประกอบทุกคันต้องส่งตรวจ (สมอ.) หรือ สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม ถ้าเป็นรถทั่วไปที่เปิดตัวใหม่ๆ ผู้ผลิตจะส่งแค่รุ่นละ 1 คันให้ตรวจ แต่กรณีรถมือสองหรือรถจดประกอบต้องตรวจทุกคัน ถ้าตรวจไม่ผ่านต้องเสียค่าตรวจฟรีนับ 10,000 บาท โดยที่ผ่านมามีนายหน้ารับเป็นธุระเดินเอกสารให้ผ่าน แต่คิดค่าบริการแพง 200,000-300,000  บาทต่อคัน
อย่างไรก็ตาม มีคนที่เห็นช่องว่างกฏหมาย โดยนำรถไปติดแก๊สแล้วนำไปจดทะเบียน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินเรื่อง เนื่องจาก (สมอ.) ไม่มีเครื่องตรวจรถที่ใช้แก๊ส  จึงอนุโลมให้รถติดแก๊สไม่ต้องตรวจ (สมอ.) สามารถนำรถเข้าจดทะเบียนได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนเลี่ยงมาใช้วิธีดังกล่าว บางรายนำรถหรูไปติดแก๊ส พอติดได้ไม่นานก็ไปแจ้งยกเลิกกลับไปใช้น้ำมันตามเดิม บางคนอ้างว่าเล่มทะเบียนหาย ไปขอทำใหม่ จะให้เล่มทะเบียนไม่มีหลักฐานว่า รถคันดังกล่าวเคยจดติดตั้งแก๊สมาแล้ว (แต่ต้นขั้วที่กรมขนส่งยังมีระบุไว้) บางรายไม่ได้นำรถไปติดแก๊สจริง แต่ใช้วิธีการซิกแซกแล้วให้พนักงานบันทึกว่า เป็นรถติดแก๊ส

ด้านกรมสืบสวนคดีพิเศษที่รับดำเนินคดีรถหรูจดประกอบ เปิดเผยว่า จะตรวจเอกสารรถหรูต้องสงสัย ทั้ง 488 คันว่า เอกสารรถเหล่านี้แสดงข้อเท็จจริงว่า เป็นรถที่จดประกอบภายในประเทศหรือไม่ หากตรวจพบว่า ไม่ได้ประกอบโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศไทยจริง  จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเป็นหลัก ส่วนผู้ครอบครองนั้นจะพิจารณาตามข้อกฎหมายในเรื่องของหลักเจตนารู้เห็นหรือไม่

สำหรับการเลือกใช้วิธีการตรวจสอบนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่แยกแยะรถจดประกอบอย่างถูกต้อง กับรถที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามกฎหมายออกจากกัน โดยปลายเดือนมิถุนายนนี้จะตรวจสอบรถหรูที่มีชื่ออยู่ทั้งหมด 488 คัน และเปิดโอกาสให้เจ้าของรถเหล่านี้ที่สมัครใจ นำรถและเอกสารมายืนยันความถูกได้ เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ให้มายืนหลักฐาน จะมีหมายเรียกเจ้ารถหรูมาสอบสวน
จากการสอบสวนเบื้องต้นของ (DSI) ยืนยันว่า มีเต็นรถจำนวนมากขายรถจดประกอบถูกต้อง แต่ยังตกค้างไม่ได้รับการจดทะเบียนหรือเสียภาษีตามกฎหมาย แต่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเข้าข่ายรอจดทะเบียน โดยกรมสรรพสามิตยืนยันว่า รถหรูที่เข้าข่ายนี้สามารถไปยืนขอเสียภาษีตามที่กรมฯ กำหนดไว้ได้

ผู้ประกอบการโอดกระทบธุรกิจ
ผู้ประกอบการรถจดประกอบรายใหญ่ย่านศาลายา กล่าวว่า ได้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รถหรูจดประกอบทุกคันที่มีจำหน่ายได้ผ่านการเสียภาษีจากกรมศุลกากรอย่างถูก ต้องตามขั้นตอนทุกคัน
“บอกมาเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น เวลานี้รถของเต็นที่ถูกยึดไปยังอยู่ในขั้นการตรวจสอบ จึงบอกไม่ได้ว่า ผิดหรือถูก อย่างไรก็ตามพอมีเรื่องแบบนี้แน่นอนต้องส่งผลกระทบต่อการจำหน่าย ลูกค้าสอบถามเข้ามาเหมือนกัน”
คุณชนาสิน บำรุงชน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ  บริษัท ทีแอสแอล คอร์เปเรชั่น จำกัด กล่าวว่า มุมมองของประกอบการรถใหม่จริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ที่ผ่านมามีลูกค้าสอบถามว่า รถที่ซื้อไปจะมีปัญหาหรือเปล่า แต่เมื่ออธิบายให้ทราบลูกค้าก็สบายใจ

คุณนายพสิษฐ์ วราห์บัณฑูรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์ลอฟท์ ออโต้ อิมพอร์ต จำกัด ผู้นำเข้าอิสระกล่าวว่า รถหรูที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างถูกต้องปัจจุบันยังตกค้างในที่พักรถ ไม่สามารถจดทะเบียนได้กว่า 1,000 คัน แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีที่เป็นข่าว จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบรถนำเข้าในเรื่องเงินทุน ซึ่งเรื่องนี้สมาคมผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศฯ กำลังกระตื้นรือร้นติดตามอย่างต่อเนื่อง
กรมขนทางทางบกยืนยันว่า กฎกระทรวงคมนาคมที่ห้ามรับจดทะเบียนรถจดประกอบทุกกรณี ผ่านการลงนามจากรัฐมนตรีว่ากรกระทรวงคมนาคมแล้ว และเตรียมประกาศใช้ในราชกิจจารุเบกษา แต่ยกเว้นให้ 2 กรณีคือ รถที่ตรวจ (สมอ.) ไว้แล้ว แต่เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ ยังอนุโลมให้ยืนหลักฐานการจดได้ภายใน 1 เดือน อีกกรณีคือ รถที่มีเอกสารพร้อม “รถที่ผ่านกระบวนการ (สมอ.)” สามารถจดทะเบียนได้ภายใน 1 ปี

car-part7





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow