รับจ้างทำเคลม ขุดคดีเก่า เล่นงานย้อนหลังโทษประวิงบีบประกันจ่าย
รับจ้างทำเคลม ขุดคดีเก่า ฉวยช่องประกันพลาดท่าจ่ายตามกฏหมายไม่ครบ เล่นงานย้อนหลังโทษประวิงบีบประกันจ่าย
บริษัทประกันภัยสั่งการให้รื้อดูคดีเก่า ปิดช่องโหว่พวกรับจ้างทำเคลมขุดเคลมเก่าที่จบลงไปแล้วหากินกับการนำเรื่องฐานานุรูปและค่าขาดผู้ไร้อุปการะมาหากินเรียกร้องกับบริษัทประกัน แลกกับไม่ต้องโดนโทษปรับประวิงสินไหม
ดูว่ามีเคลมรายใดบ้างที่มีการจ่ายสินไหมยังขาดตกบกพร่องและเปิดช่องให้กับ พวกรับจ้างทำเคลมหากินนำไปร้องกับ คปภ.เพื่อเอาผิดโทษประวิงจ่ายสินไหมได้บ้าง
ปัจจุบันบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ ระมัดระวังการเคลมรายใหม่ๆ ปิดช่องว่างไม่ให้ พวกรับจ้างทำเคลมรับมอบอำนาจจากผู้เสียหายและหาเหตุนำไปร้องเรียนกับคปภ.เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันในส่วนที่ขาดไปได้ จึงทำให้หากินกับเคลมใหม่ไม่ค่อยได้ เช่น การขาดประโยชน์ทดแทนจากการใช้รถ
ทำให้พวกรับจ้างทำเคลม ไม่สามารถซื้อเคลมใหม่ๆ โดยอาศัยการรับมอบอำนาจจากผู้เสียหายมาเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยกันได้ หันมาหากินเอากับเคลมเก่าๆที่ผ่านมาแล้ว บางเคลมก็ผ่านพ้นมาหลายปี หากบริษัทใดไม่ยินยอมจ่าย ก็จะนำเรื่องไปร้องกับคปภ. โดยอาศัยประเด็นเรื่องของฐานานุรูป หรือการขาดไร้ผู้อุปการะของผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรมาต่อรองเพื่อแลกกับการไม่ร้องต่อคปภ.ให้ดำเนินคดีโทษฐานประวิงค่าสินไหมบ้าง บางบริษัทไม่ยินยอมก็จะถูกเสียค่าปรับโทษฐานประวิงสินไหมโดยปริยายก็โดนไปแล้วหลายบริษัทด้วยกันทีเดียว
ขั้นตอนการทำงาน ของพวกรับจ้างทำเคลม กรณีไปขุดเคลมเก่ามา โดยรับมอบอำนาจจ้างผู้เสียหายมาร้องเรียกค่าสินไหมกับบริษัทในส่วนที่บริษัทยังขาดไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งบางบริษัทโดนค่าปรับประวิงไปร่วม 3 ล้านกว่าบาท โดยโทษประวิงมีตั้งแต่ปรับขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อวัน ถึง 20,000 บาทต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน เวลาจ่ายค่าสินไหมจะเจรจาจ่ายรวมกันทั้งพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถและภาคสมัครใจ 500,000บาท โดยมีเรื่องของฐานานุรูปมาเกี่ยวข้อง ทางบริษัทก็ต้องมีการพิจารณาจ่ายให้เหมาะสม
ด้วยความที่ไม่รู้ของพนักงานบริษัทประกันเกี่ยวกับคำสั่งที่ออกมา จึงจ่ายไปตามที่ตกลงกับคู่กรณีหรือผู้เสียหายไป พอบริษัทรู้เรื่อง ก็จะเอาเงินไปจ่ายผู้เสียหาย ทางคปภ.ก็บอกว่าเราไม่ได้ทำตามเงื่อนไข จึงทำให้ต้องถูกโทษประวิงไปปริยาย จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทได้มีการแก้ไขระเบียบปฎิบัติใหม่ โดยออกคำสั่งให้จ่ายขั้นต่ำรวมทั้งค่าขาดไร้ให้ครบขั้นต่ำ 3 แสนบาท สำหรับภาคสมัครใจ หากรายใดเห็นว่า ไม่เพียงพอ จะเรียกร้องให้เต็มวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ก็ต้องมาพิจารณาในเรื่องฐานานุรูปกัน หากบริษัทจ่ายให้ไม่ได้ ก็ให้ทำหนังสือถึงทายาทผู้เสียหายว่า จ่ายไม่ได้เพราะอะไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน
บางกรณีจะนำเคลมของคดีเก่าที่จ่ายไม่ครบถ้วนมาต่อรองกับคดีอื่น เพื่อให้จ่ายเต็มกรมธรรม์ แลกกับการไม่ถูกร้องประวิง หากบริษัทประกันปิดช่องว่างโดย จ่ายให้ถูกต้อง ตามขั้นต่ำของกฏหมายก็เป็นการปิดช่องโหว่โดยจ่ายขั้นต่ำ 100,000บาท และเรื่องของการเรียกค่าขาดไร้ผู้อุปการะรวมกันแล้ว 300,000 บาท ก็จบ ก็รับจ้างทำเคลมก็คงจะนำมาเป็นเหตุหากินกันไม่ได้ในเรื่องของค่าปรับรายวันสำหรับการประวิงค่าสินไหม
จะว่าไปแล้ว บริษัทประกันภัย มักไม่ได้รักษาผลประโยชน์ลูกค้าเท่าที่ควร เนื่องจากการทำเช่นนั้น ทำให้บริษัทประกันต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่หากคิดเพียงแค่นั้นก็มองสั้นเกินไปหน่อย เพราะในระยะยาวแล้ว ชื่อเสียง ความเป็นธรรม ของบริษัท จะทำให้บริษัทเองเป็นที่รู้จัก และเติบโตขึ้น เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจนั้น ความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
สถานการณ์ที่บริษัทประกันภัยเหล่านั้นพบเจออยู่จึงเป็นเรื่องของผลการกระทำของตัวเอง ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น ใครทำไว้เยอะก็ตามแก้เยอะ
สำหรับผู้ที่จะเลือกซื้อสินค้าประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันวินาศภัย การมองหาตัวแทน หรือ นายหน้ามืออาชีพ เพื่อมาช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อโดยตรงกับบริษัทประกันแล้วได้ ส่วนลดเล็กน้อย
ใครกัน ที่ทำให้บริษัทประกันภัย ตื่นตัวในการจ่ายสินไหม ให้ความเป็นธรรมกับลูกค้าผู้เอาประกัน?
1. ตราเป็นกฏหมายโดย คปภ.
2. ทำให้เป็นรูปธรรม โดยกลุ่มผู้รับจ้างทำเคลม อย่างน้อย เขาก็ไม่ได้ทำผิดกฏหมาย และ ประชาชนทั่วไปก็ได้รับอนิสงค์จากการกระทำนี้ด้วย ทั้งผู้ที่เสียหาย ได้รับสินไหมไม่ครบถ้วนก็ได้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น และ ผู้ที่อาจจะต้องเรียกร้องสินไหมจากประกันในอนาคต ก็จะได้รับการดูแลการจ่ายสินไหม อย่างรอบคอบของบริษัทประกันภัย เพื่อป้องกันการเหตุการดังกล่าวนั่นเอง คุณควรขอบคุณเขาเหล่านั้นหรือเปล่า?!และถ้าบริษัทประกันภัยทำถูกต้องตั้งแต่แรก ใส่ใจในประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยตั้งแต่ต้น ใครจะทำอะไรได้ จริงไหม?
“ถ้าวันนี้ทำถูกต้อง วันหน้าก็ไม่ต้องกลัว”