INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 2:40:09
Home » ข่าวประกันภัย » วินาศภัยหน้ามืด ขอผ่อนปรนกฎเหล็กการเงินประกันภัย [2554]\"you

วินาศภัยหน้ามืด ขอผ่อนปรนกฎเหล็กการเงินประกันภัย [2554]

2011/07/26 1257👁️‍🗨️

ขอให้แยกรายงานความเสียหายเกี่ยวกับอุทกภัยน้ำท่วมเป็นรายการพิเศษ ไม่รวมกับความเสียหายส่วนอื่น เพื่อแสดงความแตกต่างผลประกอบการของบริษัท

ผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) บริษัท ประกันวินาศภัยทุกแห่งนัดหารือวาระเร่งด่วน เรื่องความเสียหายจากภัยน้ำท่วมมีการหารือเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง ประเด็นสำคัญคือ ความเสียหายครั้งนี้มูลค่ามหาศาลมีผลกระทบต่อฐานะการเงิน ระดับเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยค่อนข้างมาก ดังนั้นขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผ่อนกฎต่างๆ เกี่ยวกับการกำกับฐานะการเงินบริษัทประกันภัยในช่วงนี้

นายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า…
มีการพูดคุยกันถึงข้อเสนอของสมาคมประกันวินาศภัย เกี่ยวกับอุทกภัยน้ำท่วมที่จะเสนอกับสำนักงานคปภ. ขอให้แยกรายงานความเสียหายเกี่ยวกับอุทกภัยน้ำท่วมเป็นรายการพิเศษ ไม่รวมกับความเสียหาย (ค่าสินไหมทดแทน) ส่วนอื่น เพื่อแสดงความแตกต่างผลประกอบการของบริษัทในช่วงปกติ และในช่วงไม่ปกติที่เกิดน้ำท่วม ให้เห็นว่าในช่วงปกติผลประกอบการดี มีกำไร และขอยกเว้นรายการพิเศษหรือความเสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าว ไม่นำมาคำนวณอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC)

“ในเรื่องการตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนในกรณีน้ำท่วม ปกติการคำนวณตามเกณฑ์ RBC จะคำนวณจากค่าสินไหม รวมทั้งในส่วนที่รับประกันภัยไว้เอง (Retention) และประกันภัยต่อ สมมติค่าสินไหม 200 ล้านบาทเป็นสินไหมสุทธิ ที่บริษัทประกันรับเอง 20 ล้านบาท สินไหมประกันต่อ 180 ล้านบาท เดิมนำมาคำนวณทั้งหมด ขอให้คำนวณจากสินไหมสุทธิเท่านั้นเพื่อไม่ให้เงินกองทุนกระทบมาก”

ยิ่งกว่านั้น ยังขอพิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นในการประเมินเบี้ยประกันภัยค้างรับ ซึ่งปกติคปภ.จะประเมินเบี้ยประกันภัยค้างรับเป็นสินทรัพย์หรือเป็นเงินกองทุน ให้บริษัทประกันภัยต้องเป็นเบี้ยประกันภัยค้างรับไม่เกิน 60 วันเท่านั้น แต่เหตุการณ์ น้ำท่วมทำให้เก็บเบี้ยประกันภัยยาก ลูกค้าจำนวนมากประสบปัญหา สมาคมฯ ขอขยายระยะเวลาออกไป แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลาขึ้นอยู่กับคปภ.จะพิจารณาอาจจะเป็น 90 วัน

ด้านซีอีโอบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมประชุม ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า …
เนื่องจากค่าเสียหายธุรกิจประกันภัยที่จะต้องจ่ายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ มีมูลค่ามหาศาลมากจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย ทำให้ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามเกณฑ์ RBC ซึ่งคปภ.กำหนด ให้บริษัทประกันภัยต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ 125% ตลอดเวลาประกอบธุรกิจ ซึ่งหากเป็นภัยปกติที่มีค่าเสียหายไม่มากไม่มีปัญหา CAR Ratio ถึงเกณฑ์หรือเกิน เกณฑ์ขั้นต่ำมาก

“น้ำท่วมหนักแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปีอาจจะ 50 ปีหรือ 100 ปี ซึ่งผลกระทบครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นอัตราส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับค่าเสียหายที่ต้องมานำคำนวณเงินกองทุน ควรจะมีการอะลุ้มอล่วยให้กับภาคธุรกิจเหมือนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจพ.ศ. 2540-2541 มีแบงก์ ไฟแนนซ์ล้ม ทางแบงก์ชาติมีการยืดหยุ่นกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกทั้งภัยน้ำท่วมครั้งนี้ แม้ความเสียหายเยอะก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ธุรกิจประกันภัยและรีอินชัวเรอส์จ่ายอยู่แล้ว หากกรมธรรม์ที่ซื้อไว้มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วม ไม่ต้องมาตีความมากเหมือนภัยก่อการร้าย ดังนั้น คปภ. ควรจะช่วยภาคธุรกิจ”

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันถึงประเด็นสภาพคล่อง ขอคปภ.ยกเว้นความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นฐานสินทรัพย์หนุนหลัง เพราะตามระเบียบคปภ.กำหนดให้บริษัทประกันภัย ต้องจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังรองรับหนี้สิน และภาระผูกพันทั้งหมดรวมค่าสินไหมทดแทนด้วย ซึ่งน้ำท่วมนี้ค่าเสียหายเยอะ หากสินทรัพย์หนุนหลังไม่พอต้องเพิ่มเงินกองทุนและขอให้คำนวณสภาพคล่อง จากเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนสุทธิโดยหักประกันภัยต่อออกไป เพราะเกณฑ์เดิมจะนำค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดจากน้ำท่วม มาเป็นตัวตั้งคำนวณสภาพคล่องซึ่งความเสียหายครั้งนี้เป็นแสนล้าน สภาพคล่องทั้งระบบหายไปมาก

คปภ. กล่าวว่า …
ทราบข้อเสนอที่ทางสมาคมประกันวินาศภัยขอมาแล้ว กำลังพิจารณาอยู่อย่างอัตราส่วนต่างๆ ที่นำมาคำนวณ CAR Ratio พร้อมที่จะพิจารณาลดสัดส่วนต่างๆ ให้ แต่เกณฑ์เงินกองทุน 125% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องใช้กำกับฐานะการเงินบริษัทประกันภัยต้องใช้ต่อไป

ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคปภ. กล่าวว่า …
ค่าสินไหมทดแทนต้องถูกนำมาคำนวณใน CAR Ratio โดยเงินกองทุนมีไว้เพื่อรองรับความผันผวน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้คือ ความผันผวนเต็มที่ เงินกองทุนตอนนี้ถูกดีไซน์มาเพื่อรองรับเหตุการณ์นี้ไม่มากก็น้อย มุมของคปภ.ยืนยันไม่ปกปิดข้อเท็จจริงความเสียหายครั้งนี้ ต้องปรากฏอยู่ในงบการเงินแน่นอน

ค่าเสียหายของธุรกิจประกันวินาศภัยจากน้ำท่วมครั้งนี้ เป็นหลักแสนล้านบาทแม้จะมีการประกันภัยต่อรองรับ แต่ส่วนที่บริษัทประกันภัยในประเทศต้องจ่ายเองประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทขึ้นไป หากมองเงินกองทุนของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบอาจจะพอ แต่ถ้าดูเป็นรายบริษัทอาจจะไม่พอ ทุกบริษัทมีเงินกองทุนไม่เท่ากัน ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน บางบริษัทค่าเสียหายอาจจะเกินเงินกองทุน ดังนั้นจะมีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ จ่ายค่าเสียหายเกินกว่าทุนที่มีอยู่ทำให้เงินกองทุนขาด ต้องเพิ่มทุนเพื่อให้เงินกองทุนถึงเกณฑ์

“เราจะเห็นบริษัทจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากค่าเสียหายน้ำท่วมเพิ่มทุนเข้ามา ถ้ามองภาพรวมอาจจะเพิ่มไม่มากแต่ ถ้าเป็นรายบริษัทอาจจะมาก บางบริษัทอาจจะเพิ่มหลายร้อยล้านหรือเป็นหลักพันล้านบาท บางบริษัทมีทุนแค่ 100 ล้านบาทแต่ค่าเสียหายสุทธิเป็น 1,000 ล้านบาท ผลกระทบยังจะมาจากรับประกันภัยต่อจากบริษัทอื่นรีกันไปรีกันมา”

31 ธันวาคม 2553
ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเงินกองทุน 67,771 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 11.86%
มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 767.25%

สยามธุรกิจ วันที่ 7 ธันวาคม 2554





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow