INSURANCETHAI.NET
Sat 21/12/2024 19:31:12
Home » Uncategorized » สินมั่นคงฯ ทรัพย์สินเหลือ 5,000 ล้าน กปว.เร่งขาย “ตึก-รถยนต์” จ่ายหนี้\"you

สินมั่นคงฯ ทรัพย์สินเหลือ 5,000 ล้าน กปว.เร่งขาย “ตึก-รถยนต์” จ่ายหนี้

2024/09/19 44619👁️‍🗨️

กองทุนประกันวินาศภัย ตรวจสอบทรัพย์สิน “สินมั่นคงประกันภัย” พบมีมูลค่าอยู่กว่า 5 พันล้านบาท เป็นเงินสด 2,000 ล้าน เร่งขายอสังหาริมทรัพย์ 17 แห่ง รถยนต์ 250 คัน นำเงินจ่ายคืนเจ้าหนี้ คาดแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ดีเดย์ 9 ก.ย. 67 ยื่นทวงหนี้ “ผู้จัดการกองทุน” ยันระบบไม่ล่ม 

กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยในเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ทั้งหมดประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

  • เงินสดกว่า 1,400 ล้านบาท
  • เงินหลักประกันที่วางไว้กับ คปภ. ประมาณ 600 ล้านบาท
  • อสังหาริมทรัพย์ (ตึกสำนักงานใหญ่+สาขา) รวมทั้งหมด 17 แห่ง
  • รถยนต์ประมาณ 250 คัน

    ทางทีมทรัพย์สินจะเร่งดำเนินการจำหน่ายทรัพย์เพื่อแปลงเป็นเงินสด มาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

“ทั้งนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่า กปว. จะเฉลี่ยทรัพย์ด้วยตัวเอง หรือว่าจะส่งคดีล้มละลายเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาดำเนินการให้แทน” ผู้จัดการ กปว.กล่าว

9 ก.ย. เปิดระบบรับคำทวงหนี้
ส่วนความคืบหน้าการเตรียมการให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย กปว.จะเริ่มเปิดระบบรับคำทวงหนี้ในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สิ้นสุดเวลา 16.30 น. รวมเป็นเวลา 60 วัน ขอเน้นย้ำว่าการยื่นคำทวงหนี้ในครั้งนี้ต้องดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น โดยระหว่างเวลาดังกล่าวระบบจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีการยื่นคำทวงหนี้ เข้าสู่ระบบได้ 2 ช่องทาง
– ระบบคุ้มครองสิทธิแบบออนไลน์ https://rps-sev.gif.or.th/Login
– หน้าเว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย http://gif.or.th

สิ่งสำคัญคือเมื่อยื่นคำทวงหนี้เสร็จแล้ว ระบบจะไปสู่หน้าที่ให้กดบันทึกข้อมูล เมื่อดำเนินการเรียบร้อย จะมีข้อความแจ้งให้รับทราบยินยอมข้อมูล จากนั้นเมื่อกดตกลง ระบบจะออกเลขรหัสคำทวงหนี้ให้กับเจ้าหนี้ และระบบจะพากลับไปสู่หน้ายื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหนี้กดพิมพ์เอกสาร โดยเจ้าหนี้ต้องลงลายมือชื่อพร้อมแนบเอกสารหลักฐานตัวจริง ส่งไปรษณีย์มาที่ กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตู้ ปณ. 1122 ปณศ.จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

“เราแนะนำว่าให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ในระบบไว้ก่อนภายใน 60 วัน เพื่อรักษาสิทธิ ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่พร้อม สามารถส่งตามมาทีหลังได้ เพราะถ้าไม่ยื่นคำทวงหนี้ในระบบตามเวลากำหนดจะเสียสิทธิได้”

ยันระบบไม่ล่ม เพิ่มเซิร์ฟเวอร์เป็น 32 ตัว
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าระบบยื่นคำทวงหนี้ในครั้งนี้จะสามารถรองรับเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด เพราะฝ่ายไอทีได้มีการเพิ่มระบบเซิร์ฟเวอร์จากเดิม 4 ตัว มาเป็น 32 ตัว และจะมีการจัดทีมมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเซิร์ฟเวอร์รองรับปริมาณช่วงพีกถึงระดับ 70% ขึ้นไป จะรีบขยายเซิร์ฟเวอร์เข้าไป ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที จึงคาดว่าจะเตรียมการได้ทันก่อนที่ระบบจะช้า

สำหรับเจ้าหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย คาดว่าจะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ประมาณ 800,000-1,000,000 ราย เนื่องจากขณะที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดสัญญาความคุ้มครองเกือบ 8 แสนราย ซึ่งประเมินจำนวนเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ย้ายโอนพอร์ตไปยังบริษัทประกันภัยอื่น จะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ขั้นต่ำประมาณ 4 แสนราย

และรวมกับเจ้าหนี้ที่มีเคลมค้างจ่ายอีก 484,348 ราย คิดเป็นยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ 32,184 ล้านบาท โดยแยกเป็นเจ้าหนี้ประกันภัยโควิด 356,661 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 30,124 ล้านบาท เจ้าหนี้ประกันภัยรถยนต์ 122,228 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 1,945 ล้านบาท และประกันอื่น ๆ อีก 5,459 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 114 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567)

ทั้งนี้เมื่อรวมกับเจ้าหนี้เดิมของ 7 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ได้แก่
บจ.สัมพันธ์ประกันภัย
บจ.เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์
บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย
บมจ.เอเชียประกันภัย 1950
บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย
บมจ.อาคเนย์ประกันภัย
บมจ.ไทยประกันภัย

จำนวนเจ้าหนี้ 552,484 ราย
ยอดหนี้ค้างจ่าย 48,394 ล้านบาท

กปว.จะต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.2-1.4 ล้านราย ยอดชำระหนี้รวม 8 หมื่นล้านบาท

ตามหลังเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้ยื่นคำทวงหนี้ครบ 60 วัน น่าจะสรุปจำนวนเจ้าหนี้และยอดหนี้ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน

กองทุนประกันวินาศภัยแบกหนี้ทะลัก 8 หมื่นล้าน หลังคลังเซ็นปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงประกันภัย” สังเวยพิษกรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” เตรียมเปิดให้เจ้าหนี้ 5 แสนรายยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนฯยอมรับถังแตกเหลือเงินกองทุนแค่ 3-4 ล้านบาท แต่มีหนี้รอจ่ายกว่า 8 หมื่นล้าน หมดหนทางหาเงิน-ดิ้นหาวิธีแฮร์คัตหนี้เผยรัฐบาลไม่ค้ำประกัน-แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ รอรับแค่เงินสมทบบริษัทประกันปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท ประเมินต้องใช้เวลา 60-70 ปีใช้คืนหนี้ผู้เอาประกัน ขณะที่ 10 บริษัทประกันเด้งรับพร้อมประมูลรับโอนพอร์ตลูกค้าสินมั่นคง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ของวงการประกันภัยในประเทศไทย จากพิษกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ทำให้บริษัทประกันขาดทุนหนักจากการต้องจ่ายเคลมสินไหม จนเรียกได้ว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” และถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตรวม 5 บริษัท

ตั้งแต่
1.บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
2.บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน)
3.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงฯ”
โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้

โดยฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จำนวน 33,680.22 ล้านบาท และบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เซ็นลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย

ปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงฯ”
โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้

โดยฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จำนวน 33,680.22 ล้านบาท และบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เซ็นลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย

ถือเป็นการ “ปิดตำนาน” บริษัท สินมั่นคงฯ ที่อยู่คู่คนไทยมาร่วม 73 ปี ของตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ที่เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 โดยสินมั่นคงฯดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยมีพอร์ตรับประกันรถยนต์ใหญ่สุด

กปว.ประชุมบอร์ดวาระพิเศษ
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชี ได้ส่งทีมงานเข้าไปรับไม้ต่อจากเจ้าหน้าที่ คปภ. ที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปควบคุมการอนุมัติจ่ายเงินของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีหนังสือแจ้งถึง นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้รับทราบต่อไป

โดยในส่วนทรัพย์สินและอาคารสาขาที่อยู่ตามต่างจังหวัดทั้งหมดของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จะขอให้สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัด ช่วยดูแลต่อเนื่อง แทน กปว. ไปก่อนในช่วงนี้ และจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย (บอร์ด กปว.) วาระพิเศษ เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทรัพย์สินและจำนวนกรมธรรม์ที่ยังเหลือความคุ้มครองอยู่ ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 800,000-1,000,000 กรมธรรม์ ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ

เปิดยื่นรับชำระหนี้ใน 60 วัน
ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยระบุว่า ตามกฎหมายไม่เกิน 60 วัน กปว.จะประกาศให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 500,000-600,000 ราย มูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท เข้ามายื่นขอรับชำระหนี้กับ กปว.ต่อไป

โดยการยื่นขอรับชำระหนี้กับกองทุนกรณีบริษัท สินมั่นคงฯ จะใช้ระบบเดียวกับศาล คือ ยื่นขอรับชำระหนี้ทางออนไลน์ทั้งหมด กรณีเจ้าหนี้มีปัญหาขัดข้องสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงาน คปภ.ได้ทั่วประเทศ

“ขณะที่บริษัทต้องมีการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ทางสำนักงาน คปภ.จะต้องประสานสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่สนใจเข้ามารับช่วงกรมธรรม์ต่อ” นายชนะพลกล่าว

กองทุนหนักใจแบกหนี้ 8 หมื่นล้าน
นายชนะพลกล่าวถึงภาระหนี้ของกองทุนว่า ปัจจุบันมูลหนี้ที่ กปว. ต้องแบกรับภาระของ 5 บริษัท ที่ปิดกิจการจากผลกระทบโควิด มีมูลหนี้รวมกว่า 80,000 ล้านบาท เจ้าหนี้รวมกว่า 1.1 ล้านราย โดยของ 4 บริษัทก่อนหน้า มีมูลหนี้เกือบ 50,000 ล้านบาท มีเจ้าหนี้เกือบ 600,000 ราย ซึ่งตอนนี้ยังดำเนินการจ่ายหนี้ให้ไม่ได้ ถือว่าค่อนข้างหนักใจมาก เมื่อมีหนี้ของบริษัท สินมั่นคงฯ มาสมทบเพิ่มอีกกว่า 30,000 ล้านบาท เจ้าหนี้เพิ่มอีก 500,000-600,000 ราย ซึ่งถือเป็นมูลหนี้อีกเกือบเท่าตัว

“ตามเจตนารมณ์กฎหมาย รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกองทุน ตอนนี้พยายามทำข้อมูลชี้แจงคณะกรรมาธิการหลายชุด และกองทุนในฐานะหน่วยงานปลายน้ำ ทำครบถ้วนทุกกระบวนความแล้ว ทั้งขอแก้ไขกฎหมายกองทุนเพื่อเพิ่มเงินสมทบ และการกู้เงิน แต่ไม่มีใครให้กู้เลย ขณะที่หน่วยงานอื่นแทบไม่ได้ขยับทำอะไรเลย จึงอยากขอฝากถึงเรื่องนี้ด้วย” นายชนะพลกล่าว

กปว.เหลือเงินจ่ายแค่ 3-4 ล้าน
นายชนะพลกล่าวว่า เรื่องการกู้เงินตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ไว้ 3,000 ล้านบาท แต่ให้ กปว.หาแหล่งเงินกู้เองภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ขณะนี้ทุกสถาบันการเงินก็ยืนยันกลับมาแล้ว ว่าไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะรัฐบาลไม่ค้ำประกัน ฉะนั้นคงต้องเสนอแผนใหม่ในปีหน้า

ขณะที่ประเด็นการเพิ่มรายได้จากการปรับเพิ่มเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย ก็ได้เสนอให้ คปภ.ไปร่วมพิจารณากับภาคอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว เงื่อนไขต่าง ๆ คงอยู่ที่ข้อตกลงทั้งสองฝ่าย

“สถานะ กปว. ขณะนี้มีเงินสภาพคล่องเหลือแค่ 3-4 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันภาระหนี้คงค้างกว่า 80,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค.นี้จะมีเงินสมทบเข้ามาสู่ กปว. ประมาณกว่า 600 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายหนี้เพิ่มเติมได้”

ดิ้นหาวิธีแฮร์คัตหนี้
นายชนะพลกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ กปว.ได้ว่าจ้าง บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด (Baker & McKenzie) บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ให้ช่วยศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้ที่เป็นภาระของกองทุน 4 บริษัทที่ปิดตัวไป โดยวางกรอบการศึกษาการแก้ไขหนี้ในมิติต่าง ๆ มิติแรก คือ การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการแฮร์คัตหนี้ควรจะเป็นสัดส่วนเท่าไร และในกรณีสมัครใจประนอมหนี้ควรจะเป็นสัดส่วนเท่าไร

มิติที่สอง คือ แหล่งเงินที่สามารถนำมาจ่ายหนี้ได้ และใช้ระยะเวลาคืนหนี้กี่ปี และมิติที่สาม คือ ติดขัดข้อกฎหมายส่วนไหนบ้างที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

แต่อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานล่าสุดว่า เบเคอร์ฯได้ขอถอนตัวศึกษาเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดี กำลังพิจารณาว่าจ้างบริษัทรายอื่นต่อไป ซึ่งการศึกษารอบนี้ต้องรวมมูลหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เข้าไปประเมินเพิ่มเติม

กองทุนโอดถูกลอยแพ
นายชนะพลกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินกองทุนขณะนี้เหลือเพียง 3-4 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด คปภ. ได้อนุมัติให้บริษัทประกันวินาศภัยเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนเต็มเพดานกฎหมายกำหนด 0.5% ของเบี้ยรับใหม่ ซึ่งจะทำให้ในปี 2567 กองทุนมีเงินเข้ามาสมทบประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีการนำส่ง 2 รอบ คือ สิ้นเดือน ม.ค. และสิ้นเดือน ก.ค.ของทุกปี เพื่อนำไปทยอยจ่ายคืนหนี้ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวถือว่าน้อยมาก กองทุนจึงคาดหวังว่าหากแก้กฎหมายเกณฑ์ใหม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 1% น่าจะทำให้มีเงินเข้าสู่กองทุนได้ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท น่าจะช่วยจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เร็วขึ้น

“ถึงตอนนี้กองทุนยังไม่เห็นแสงสว่างตรงไหนเลย เพราะยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาล หรือหน่วยงานกำกับ และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่จะพูดคุยกันว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งถ้าไม่มีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และกองทุนยังหาแหล่งเงินทุนไม่ได้ การจ่ายหนี้ไม่สัมพันธ์กับหนี้ค้างจ่ายที่สูงมาก”

ใช้เวลา 66 ปีเคลียร์มรดกหนี้
แหล่งข่าววงในระบุว่า กรณีแนวทางการปรับเพิ่มเงินสมทบมองว่า บริษัทประกันวินาศภัยคงไม่ควักกระเป๋าเงินตัวเองมาจ่ายเงินสมทบอย่างแน่นอน แต่จะผลักภาระให้ลูกค้าโดยการขึ้นเบี้ยประกัน เพราะฉะนั้น แนวทางนี้ต้องระมัดระวังเพราะจะกระทบประชาชนผู้เอาประกันภัยทั้งประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ปัจจุบันกองทุนมีภาระหนี้รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีเงินสมทบเข้ากองทุนปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ หากไม่มีแนวทางช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาเพิ่มเติม เจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัยที่ถูกปิดกิจการเหล่านี้ก็อาจต้องใช้เวลานานถึง 66 ปี ในการรอรับชำระหนี้

10 บริษัทประกันชิงรับโอนพอร์ต
ขณะที่นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตสินมั่นคง เบื้องต้นได้รับข้อมูลว่ามีบริษัทประกันวินาศภัยเกือบ 10 ราย ที่สนใจเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงฯซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยยังไม่ได้แจ้งรายชื่อบริษัทประกันอย่างเป็นทางการเข้ามาให้สำนักงาน คปภ.

สำหรับข้อมูลกรมธรรม์ของลูกค้าบริษัท สินมั่นคงฯ ที่ยังมีความคุ้มครองเหลืออยู่นั้น ระบบของสำนักงาน คปภ. ตรวจเช็กได้ประมาณ 600,000 กรมธรรม์ แต่จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องคาดว่าน่าจะเหลือไม่เกิน 300,000 กรมธรรม์ส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ที่อาจจะครบอายุไปแล้ว ซึ่งในเวลานี้กำลังตรวจเช็กข้อมูลที่ถูกต้องอยู่ หลังจากนั้นก็จะมีการเปิดให้ประมูลพอร์ตลูกค้าแต่ละประเภท

คปภ.หนุนปรับโครงสร้างหนี้
เลขาธิการ คปภ.กล่าวต่อว่า แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของ กปว. ค่อนข้างเห็นด้วยอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอความชัดเจนจากการศึกษาของ กปว.ก่อน

“ทั้งนี้ มองว่าการปรับโครงสร้างหนี้ควรจะเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี คงจะมีการไปร่วมหารือกับ กปว.ต่อไป” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

นายชูฉัตรยืนยันว่าการเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท สินมั่นคงฯ ไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัย หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยในวันนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก และยังเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญของประเทศ สามารถดูแลความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยได้เป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและยึดถือกับระบบประกันภัยต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งเงินออมระยะยาวของประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอีกด้วย

แจ้งบริษัทประกันร่วมดูแลลูกค้า
ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 สมาคมได้ทำหนังสือด่วนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทประกันวินาศภัย เรื่องโครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

เนื่องด้วยสมาคมได้รับการประสานงานจากสำนักงาน คปภ. ขอให้ประสานงานบริษัทประกันวินาศภัย ในการเชิญชวนเข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการดูแลและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจประกันวินาศภัยอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สมาคมได้กำหนดโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย

โดยให้ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะนำค่าเบี้ยประกันที่ได้รับคืนจากบริษัท สินมั่นคงฯ ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ สามารถใช้แทนเงินสดในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ กับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือ

โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยใหม่ เพื่อให้บริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการสามารถเรียกคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยได้

เปิดข้อมูลมรดกหนี้ค้างจ่าย
ข้อมูลจากกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)
กองทุนมีหนี้ค้างจ่ายเดิม (ยังไม่รวมสินมั่นคงฯ) รวม 50,572 ล้านบาท เจ้าหนี้ 604,157 ราย

1.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย มูลหนี้ 30,727 ล้านบาท เจ้าหนี้ 248,502 ราย
2.บริษัท ไทยประกันภัย มูลหนี้ 6,508 ล้านบาท จำนวน 63,469 ราย
3.บริษัท เดอะวันประกันภัย มูลหนี้ 10,108 ล้านบาท จำนวน 136,390 ราย
4.บริษัท เอเชียประกันภัย มูลหนี้ 1,845 ล้านบาท จำนวน 137,903 ราย
5.บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย มูลหนี้ 994 ล้านบาท จำนวน 6,139 ราย
6.บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย มูลหนี้ 203 ล้านบาท จำนวน 4,883 ราย
7.บริษัท สัจจะประกันภัย มูลหนี้ 12 ล้านบาท จำนวน 2,253 ราย
8.บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ มูลหนี้ 221 ล้านบาท จำนวน 4,618 ราย

สินมั่นคงประกันภัย จ่อยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ยืนยันฟ้อง คปภ.เรียกค่าเสียหาย

สินมั่นคงประกันภัยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ฟ้องเรียกค่าเสียหาย “เลขาฯ คปภ.-สำนักงาน คปภ.” กรณีออกคำสั่งห้ามยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์โควิดทำบริษัทเสียหาย หลังศาลปกครองกลางยกฟ้อง

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) และสำนักงานคณะกรรการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายที่บริษัทได้รับจากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทประกันวินาศภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19

บริษัทขอเรียนว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขดำที่ 752/2565 คคีหมายเลขแดงที่ 1157/2567) อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังไม่ถึงที่สุด

เนื่องจากบริษัทมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา และบริษัทจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป เพื่อรักษาสิทธิของบริษัท และเพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565

คปภ. ชนะคดี สินมั่นคงประกันภัย ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้าน

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลปกครองกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 752/2565 กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี

คำพิพากษา ไม่เกินความคาดหมายของสำนักงาน คปภ. เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย

โดยมูลเหตุสำคัญในการออกคำสั่งดังกล่าวมาจากในช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ หรือ COVID 2 in 1 นับ 1,000,000 ฉบับ ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าของบริษัท โดยกล่าวอ้างเหตุของการบอกเลิกสัญญา

เป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้เอาประกันภัยของบริษัทอื่นและกรมธรรม์อื่นว่าจะถูกบอกเลิกกรมธรรม์หรือไม่ และทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจประกันภัยในแง่ลบ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลาม

เพราะถ้าหากบริษัทสินมั่นคงประกันภัย สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้เป็นผลสำเร็จ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปเป็นโมเดลให้กับบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรายอื่นทั้งหมดด้วย

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย จึงได้อาศัยฐานอำนาจที่มีอยู่ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทั้งระบบจำนวน 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในขณะที่สถานการณ์โควิดรุนแรงและประชาชนหาซื้อประกันภัยโควิด-19 ไม่ได้ ก็จะเป็นการปล่อยปละละเลยให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเอาเปรียบประชาชนจนถึงขั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นการลอยแพประชาชนไปตามยถากรรม เนื่องจากหากประชาชนรู้ว่าจะถูกยกเลิกกรมธรรม์เมื่อเกิดภัย ก็คงไม่มีใครซื้อประกันภัยอย่างแน่นอน

ดังนั้น คำพิพากษาในคดีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายแพ้คดี ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยใช้เป็นแนวทางบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ หากเห็นว่ารับประกันภัยไปแล้ว แต่มีแนวโน้มที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก

บริษัทผู้รับประกันภัยอาจใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่งในทุกกรณี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสารบบของธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมาก่อน และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยในภาพรวมทั้งหมด

สำนักงาน คปภ. ขอกราบขอบพระคุณศาลปกครองกลางที่ให้ความเป็นธรรมกับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ให้ปฏิบัติตาม กฎ กติกา มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และพร้อมที่จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและรักษาความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทยไว้อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

เลขาฯ คปภ. เผย สินมั่นคง มีสิทธิอุทธรณ์ ยันยังไม่เพิกถอนไลเซนส์

“ชูฉัตร ประมูลผล” เลขาธิการ คปภ. เผย บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ หลังแพ้คดี พร้อมยืนยันขณะนี้ยังไม่เพิกถอนไลเซนส์ ให้โอกาสส่งแผนเพิ่มทุนเพื่อดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนให้ได้ตามกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการกลับมาประกอบธุรกิจประกันภัย

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวภายหลังศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี ในคดีหมายเลขดำที่ 752/2565 กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท สืบเนื่องจากสำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ประเภทเจอจ่ายจบ

โดยในเบื้องต้นต้องกราบขอบพระคุณศาลปกครองกลางเป็นอย่างสูง ที่ตัดสินให้มีการยกฟ้องสำนักงาน คปภ. และเห็นว่าสำนักงานดำเนินการไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

โดยบทบาทของสำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ในการกำกับ ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ได้ทำแต่ละด้านหนักไป มีสัดส่วนเท่ากันในทุก ๆ ด้าน โดยยึดหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ตามสิทธิทางศาล

บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ยังไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทุกวันนี้สำนักงาน คปภ. ก็ยังมีการเข้าไปควบคุมการอนุมัติจ่ายเคลมประกันให้อยู่ตลอด โดยยังมีโอกาสฟื้นฟูกิจการ โดยต้องดำเนินการส่งแผนเข้ามาให้สำนักงาน คปภ. เพิ่มทุนเพื่อดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนให้ได้ตามกฎหมายกำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการกลับมาประกอบธุรกิจประกันภัย

”เวลานี้ คปภ.ไม่ได้มีการกำหนดเดดไลน์ให้กับทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัย แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสม ก็หวังว่าจะดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วนได้ โดยตอนนี้เข้าใจว่ากรมธรรม์หมดอายุความคุ้มครองหมดแล้ว ยกเว้นกรมธรรม์ประกันรถยนต์ที่ยังเหลืออยู่บางส่วน โดยยังสามารถจ่ายเคลมได้ตามปกติ“ เลขาธิการ คปภ.กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ.ได้ดำเนินการผ่านมาตรา 52 ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มีคำสั่งให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว (ขายกรมธรรม์ใหม่ไม่ได้)





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow