INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 2:21:37
Home » การเงิน การลงทุน ธุรกิจ » เงินที่หล่นหาย เพราะฟุ่มเฟือย,สะเพร่า,รู้เท่าไม่ถึงการณ์\"you

เงินที่หล่นหาย เพราะฟุ่มเฟือย,สะเพร่า,รู้เท่าไม่ถึงการณ์

2012/04/22 1867👁️‍🗨️

คนจำนวนมากมักเข้า ใจว่า  การที่เราเก็บเงินไม่ได้นั้น  เป็นเพราะเรามีรายได้น้อยเกินไป  แต่นักวางแผนการเงินจะบอกว่า  การจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น  ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับรายได้   แต่ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการค่าใช้จ่ายมากกว่า
จากสมการ     เงินเก็บ  =  รายได้  –  ค่าใช้จ่าย
ถึงคุณจะมีรายได้มากมายสักเพียงใด  แต่ถ้าคุณยังคงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย  เพิ่มพูน  ไปตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น  หรือ  ถึงกับใช้เงินเกินรายได้ที่หามาได้   ด้วยการกู้ยืมมาบริโภค  ถ้าเป็นอย่างนี้  ต่อให้หามาได้สักเท่าไร  ก็ไม่มีเหลือเก็บ
แต่ถ้ามีรายได้น้อย  แล้วพยายามใช้จ่ายอย่างกระเบียดกระเสียร  ใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้  ส่วนที่เหลือย่อมสามารถแบ่งมาเก็บออมได้  บางคนอาจจะอ้างว่า  เขาได้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุดแล้ว  ยังไม่พอใช้อยู่ดี  นั่นแสดงว่า  เขาใช้ชีวิตเกินตัว  หรือมีรสนิยมเกินรายได้  เพราะเราคงเคยได้ยินว่า  มีคนไทยมากมายที่มีรายได้เพียงเดือนละ  3,000  –  4,000  บาท  แต่เขาก็สามารถดำรงชีพได้ตามอัตภาพ    ขณะที่บางคนมีรายได้เดือนละร่วมแสน  แต่เป็นหนี้เป็นสินจนต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คน
การเปิดก๊อกน้ำประปาแรงๆ  แล้วใช้มือเข้าไปรอง   ย่อมได้น้ำติดมือมานิดเดียว   ยิ่งถ้าทำผิดวิธี  กางนิ้วห่างๆออกรองรับน้ำไว้   น้ำจะรั่วไหลออกหมด  ไม่เหลือแม้แต่หยดเดียว  แถมน้ำยังอาจกระเด็นเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้
แต่ถ้ารู้วิธี   ถึงแม้น้ำจากก๊อกจะไหลออกมาเอื่อยๆ  หากค่อยๆประคองมือรับ   ย่อมได้น้ำติดมือมามากกว่า  ยิ่งถ้าน้ำไหลมาแรงๆแล้วรู้วิธีนำถัง ,ภาชนะมารอง  ย่อมไม่ต้องอธิบายว่าจะเก็บน้ำได้มากขนาดไหน
“ การจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น  ขึ้นกับการควบคุมค่าใช้จ่าย” มากกว่า  แต่  “การเพิ่มรายได้  จะทำให้การเก็บออมบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น”
ดังนั้น  สมการออมเงินยุคใหม่ต้องเป็นดังนี้
รายได้  – เงินเก็บ  =  ค่าใช้จ่าย

คือเราต้องหักเงินเก็บออกมาในแต่ละเดือนก่อนเสมอ

ทุกคนก็พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บมากที่สุด  จะได้นำไป ลง ทุน  หรือไว้ใช้ตอนเกษียณ  ในเวลาเดียวกันเราทุกคนก็ทำเงินรั่วไหลไปเยอะโดยที่เราไม่ระวังหรือคาดไม่ถึง
   1. การซื้อสินค้าเงินผ่อน  หรือกู้เงินนอกระบบมาใช้
เงิน พวกนี้ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแบบรายเดือน  หรือ  Flat rate    ไม่ลดต้นลดดอก  เมื่อดูอัตราดอกเบี้ยต่อเดือนรู้สึกเหมือนไม่สูง  แต่ถ้ามาคำนวณอย่างละเอียด  จะพบว่าดอกเบี้ยอาจสูงถึง  20-50  %  ต่อปี   ถามว่า  ถ้าคุณมีภาระค่าดอกเบี้ยสูงขนาดนี้  เมื่อไรจะรวยเสียที
ถ้าอยากมีเงินเหลือเก็บ  ผมแนะนำว่าให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน  ไม่มีเงินก้อนอย่าไปซื้อ  เว้นแต่สิ่งที่เป็นหลักทรัพย์  เช่น  บ้าน  ,  รถ  ถ้ายังไม่มีและจำเป็นต้องใช้จริงๆ  อาจจะค่อยๆผ่อนได้  แต่ควรสืบเสาะแหล่งเงินกู้ที่ดีที่สุดก่อนเพราะบางครั้งดอกเบี้ย  ,  ค่าธรรมเนียมหรือวิธีชำระที่ต่างกัน  สามารถช่วยประหยัดเงินได้นับหมื่นบาทต่อปี
  
2. การใช้สินค้าไม่คุ้มค่าอายุงาน
        สินค้าและของใช้แต่ละชนิดมีอายุงานที่คงทนพอสมควร  เช่น รถยนต์  หากบำรุงรักษาสม่ำเสมอ  จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า  8  ปี  โดยไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจ   โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้งานได้ไม่น้อยกว่า  3  ปี
แต่วัยรุ่นสมัยนี้  เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นว่าเล่น  บางคนเปลี่ยนทุกสามเดือน  ส่วนรถยนต์  พอมีการเปลี่ยนรุ่นใหม่  ซึ่งมักจะตกประมาณ  4 -5  ปี  ก็จะซื้อรถใหม่ตามแฟชั่น  ปัญหา  คือ  ราคาขายต่อรถเก่ามักจะลดฮวบลงมาครึ่งต่อครึ่ง
หากนำมูลค่าที่ลดลงมาหารด้วยจำนวนปีที่ใช้  จะพบว่าเงินที่ถูกจ่ายเพื่อซื้อความเท่  หรือความสะดวกสบายนั้นเป็นยอดเงินที่สูงทีเดียว
ถ้าคำนวณออกมาและเห็นตัวเลขแล้ว  เรารู้สึกสะดุ้ง  แสดงว่าเราใช้จ่ายเงินเกินฐานะไปแล้ว   รีบเปลี่ยนพฤติกรรม   ก่อนจะสายเกินไป
3. การลงทุนทำธุรกิจโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบเสียก่อน
        หลายคนอุตสาห์เก็บเงินจนได้เงินก้อน  แต่เมื่อมีคนชวนไปลงทุน  แทนที่จะไตร่ตรองหรือศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า  ธุรกิจนั้นๆเติบโตยั่งยืนไหม  มีตลาดใหญ่พอไหม  หรือ  ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง  กลับทุ่มเงินลงทุนโดยขาดประสบการณ์  สุดท้ายเงินที่เก็บมาครึ่งชีวิตต้องมลายหายไป   ต้องเริ่มมาเก็บเงินใหม่ตอนที่อายุขึ้น เลข 5  ไปแล้ว
 
4. การให้คนอื่นยืมเงินแล้วหนี้สูญ
        จริงอยู่คนเราควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แต่การนำเงินที่เราอุตสาห์เก็บออมมาชั่วชีวิตเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณไปให้ เพื่อนยืมนั้น  นับว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง  เพราะเท่ากับเราเอาชีวิตของเราไปแขวนไว้กับวิธีบริหารเงินของเขา  ถ้าเขาบริหารเงินผิดพลาดอย่างที่เคยทำมา  เราก็ต้องมานั่งน้ำตาตกใน
การเข้าค้ำประกันเงินกู้หรือค้ำประกันการเข้าทำงานให้คนอื่น  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นำความหายนะมาให้ผู้ค้ำ  หากไม่มีการตรวจสอบหรือกลั่นกรองให้รอบคอบก่อน  เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น   มูลค่าความเสียหายอาจจะสูญเป็นแสนเป็นล้านได้
 
 5. การซื้อหวย  เล่นการพนัน
บางคนพูดกันว่า  ทุกวันนี้เขามีเงินเดือนๆละ  10,000 – 20,000  บาท  แต่มีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย  เพราะฉะนั้นเขาจึงเชื่อว่า  ถึงแม้เขาจะตั้งใจเก็บเงินอย่างจริงจัง  ก็ไม่สามารถทำให้เขารวยได้  ความหวังเดียวของเขาคือ  ซื้อหวยเพื่อให้ถูกรางวัลที่  1  ถึงจะมีโอกาสน้อยมากแต่ก็ยังดีกว่าอยู่โดยไม่มีความหวังเลย

คนเราควรมีชีวิตอยู่ อย่างมีความหวัง  แต่การอยู่โดยหวังว่าจะถูกรางวัลที่ 1  แล้วจะรวยเป็นเศรษฐีนั้น หากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมีโอกาสน้อยมาก แทบจะ 1 ในล้าน  และถึงแม้จะถูกรางวัลที่ 1   6,000,000  บาท ก็ไม่ได้ทำให้คนรวยได้  เพราะถ้าบริหารเงินไม่เป็น  ไม่ถึงปีก็หมดซ้ำจะทำให้ติดนิสัยซื้อหวยหนักมือยิ่งขึ้น  และนำไปสู่ภาระหนี้สินในที่สุด
 
  6. การซื้อสินค้าโดยไม่มีความจำเป็น
บ่อยครั้งขนาดไหน  ที่คุณซื้อของบางชิ้นเข้าบ้านโดยไม่อยู่ในแผนมาก่อน  บางทีห้างสรรพสินค้าลดราคา 50%  สินค้าลดราคาจาก  1,000  บาทลงมาที่ 500  บาท  แล้วคุณก็ซื้อมันมาเก็บไว้ในห้องเก็บของ  เวลาผ่านไป  3 -5  ปี  ไปรื้อของเจอ  พบว่าราคาสินค้าชิ้นนั้นถ้าคิดตามสภาพอาจอยู่ที่  200  บาทเท่านั้น  เพราะมันตกยุคตกสมัยไปแล้ว
ของเล่นลูกก็คงมี ลักษณะเดียวกัน  พ่อแม่ซื้อเพราะทนต่อเสียงรบเร้าของลูกไม่ได้  ไม่ใช่ซื้อเพราะเป็นของเล่นที่เสริมสร้างสติปัญญา  สุดท้ายลูกเล่นได้  2  วันก็เบื่อ  ของเล่นจึงเต็มบ้านกลายเป็นภาระต้องหาห้องไว้เก็บของเล่นโดยเฉพาะ  ดังนั้นครั้งต่อไป  จะซื้ออะไร  ต้องคิดแล้วว่าคุ้มค่า  มีประโยชน์ใช้สอยจริงๆ
 
7. การซื้อของแบบเหมาจ่าย
ฟังดูเผินๆการซื้อของแบบเหมา   น่าได้ของราคาถูกกว่า  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  คุณต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นครบทุกรายการจึงจะคุ้มค่าเงินที่เสียไป  แต่ถ้าคุณใช้บริการบางส่วน  เช่นใช้ไปเพียง  50 -70%ของสิทธิที่มี  เมื่อคำนวณราคาสินค้าที่ใช้ไปก็ไม่ต่างอะไรจากราคาปกติเลย  อีกทั้งยังจะทำให้คุณติดนิสัยฟุ่มเฟือยอย่างยากที่จะแก้ไข สินค้าเหล่านี้ได้แก่ เพคเกจค่าโทรศัพท์มือถือ  ,  อาหารบุฟ่เฟ่ต์  ,  สมาชิกโรงแรมต่างๆ  หรือ  สมาชิกสปอร์ตคลับ  ดัง นั้นถ้าจะสมัครเข้าใช้บริการ  ต้องมั่นใจว่าคุณจะได้ใช้บริการต่างๆเหล่านั้นครบถ้วนจริงๆ  หาไม่แล้ว  คุณก็เหมือนถูกหลอกให้ เข้าไปช่วยแบ่งรับค่าใช้จ่ายให้คนอื่นนั่นเอง
  8. เงินลดหย่อนภาษี
        สิทธิพิเศษทางภาษี   เป็นสิ่งที่นักการเงินส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ   เพราะได้มาฟรีๆ  ได้แน่นอนและคิดเป็นยอดเงินที่สูงมาก  ลองคิดดูว่ากว่าจะฝากเงินให้ได้ดอกเบี้ยราว  10,000  บาท  คุณต้องมีเงิน  1,000,000  บาทฝากแช่นิ่งๆไว้ในธนาคารตั้ง  1  ปีเต็ม (ดอกเบี้ย 1%)
แต่ถ้าคุณรู้จักใช้สิทธิลดหย่อนในการเสียภาษีบุคคลธรรมดา  เพียงคุณใช้สิทธิแค่  100,000  บาท  คุณจะได้รับเงินภาษีคืนมาตั้ง  10,000 –  30,000  บาททีเดียว  ไม่มีความเสี่ยง  ไม่ต้องรอลุ้นผลประกอบการ  ผลตอบแทน  10 –37%  ของยอดเงินที่ใช้สิทธิลดหย่อน  (  ขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละคน  )
เพราะฉะนั้น   ทุกครั้งที่ยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดา  อย่าลืมตรวจสอบว่า  คุณได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนครบทุกหมวดหรือไม่  ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประกันชีวิต  ,  เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ  ,  ดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย  เงินบริจาค หรือการขอเครดิตภาษีเงินปันผล  เพราะรัฐบาลได้ให้สิทธินั้นแก่คุณแล้ว
เฉพาะเบี้ยประกันชีวิต  ดอกเบี้ยซื้อบ้านและเงินในกองทุนต่างๆที่กรมสรรพากรกำหนด  รวมเป็นเงินลดหย่อนได้กว่า  1,000,000 บาท  อยู่ที่คุณจะใช้สิทธินั้นหรือไม่  ( ยังไม่นับรวม  เงินบริจาคและเงินเครดิตภาษีเงินปันผลที่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน  แต่วงเงินขึ้นกับเงินได้สุทธิ และเงินปันผลที่ได้รับ )
   9. ลดการสูญเสียเงินก้อนใหญ่ด้วยเงินก้อนเล็ก
        ในชีวิตประจำวัน  มีเหตุไม่คาดฝันมากมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา  บางเรื่องอาจทำให้เราสูญเสียเงินทอง  ,  ทรัพย์สิน  หรือแม้แต่ชีวิตได้  ความเสี่ยงที่ว่านี้ได้แก่  อุบัติเหตุ  ,  เจ็บป่วย  ,  ไฟไหม้  ,  หรือ  โจรเข้าบ้าน ฯลฯ    เราสามารถลดความสูญเสียเหล่านี้ได้โดยการทำประกันภัย  เพื่อโอนความรับผิดชอบไปให้บริษัทประกันภัยรับแทน
หาไม่แล้วเราคงต้องมาเริ่มต้นเก็บเงินกันใหม่ที่อายุ  40 -50  ปี  เพราะทรัพย์สินที่หามาได้ทั้งหมดอยู่ในกองเพลิง  หรือ  ต้องเอาทรัพย์สินออกขายเพื่อใช้รักษาตัวกรณีมีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น  ฉะนั้น  ยอมจ่ายเบี้ยประกันจำนวนน้อยดีกว่ามาเสียหายเพราะเรื่องใหญ่ๆ
10. การใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีการวางแผน
        ผมไม่ได้พูดว่า  จะทำอะไรแต่ละอย่างในชีวิตต้องวางแผนทั้งหมด  แต่อย่างน้อยก่อนจะทำอะไร  ให้หยุดคิดสัก  1  นาที  เพื่อวางแผนก่อน  ผมว่าจะประหยัดอะไรได้เยอะแยะ   ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือเงินทอง
เช่น  รู้จักวางแผนการเดินทาง  ก่อนออกรถทุกครั้ง  ลองคิดดูว่าจะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากขนาดไหน ,  กำหนดเวลาการโทรศัพท์ไว้คร่าวๆ  เพื่อประหยัดเวลาและค่าโทรศัพท์  หรือ  กำหนดรายการอาหารคร่าวๆก่อนสั่งอาหาร  เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเหลืออาหารเต็มโต๊ะเพราะทานไม่หมด  เป็นต้น
   11. ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น
มีค่าใช้จ่ายมากมายที่ถ้าเรามานั่งคิดย้อนหลังดีๆจะพบว่าไม่จำเป็น  หรือจัดว่าใช้เงินเกินตัว  เช่น  การเข้าสังคมที่ถี่เกินไป  ,  การกินเหล้า  , สูบบุหรี่  ,  การทานข้าวนอกบ้านเป็นประจำ

ถ้าประหยัดได้เดือนละ  2,000  บาท  ปีหนึ่งจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นตั้ง  24,000  บาท

อย่าดูถูกละอองน้ำ  เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นเม็ดฝน
อย่าดูถูกเม็ดฝน      เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นลำธาร
อย่าดูถูกลำธาร       เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นแม่น้ำ
อย่าดูถูกแม่น้ำ        เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นมหาสมุทร
อย่าดูหมิ่นเงินจำนวนน้อย  วันหนึ่งมันจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow