INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 15:30:57
Home » ประกันอัคคีภัย » เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ผู้ครอบครองต้องรับผิด\"you

เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ผู้ครอบครองต้องรับผิด

2015/08/18 1987👁️‍🗨️

การรับผิดต่อความเสียหายกรณีไฟไหม้

สายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่เป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ อยู่ในความครอบครองของผู้ครอบครอง หากดูแลไม่ดี แล้วเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าลัดวงจรแล้วทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย อาจต้องรับผิด

“เจอสะเก็ดไฟกระเด็นใส่ เสียบ้านแล้วยังต้องเป็นหนี้” โดยทีมข่าวประกันภัย
จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ คอลัมภ์ ประกัน-การเงิน ฉบับวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2552 หน้า A10

“โจรปล้นร้อยครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว” คำสอนของคนโบร่ำโบราณที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะฉะนั้นนอกจากต้องเสียทรัพย์สินแล้วยังต้องเสียบ้านไปอีกด้วย แต่ถ้าเสียทุกอย่างไปแล้ว ยังทำให้ไฟที่ไหม้ไปถูกทรัพย์สินของคนอื่นหรือแม้แต่คนกันเองแล้วละก็ อาจต้องมีหนี้ก้อนโตตามมาให้ชดใช้อีกก็ได้

อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับนางมณีที่ถูกบริษัทประกันฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยแทนค่าสินไหมที่จ่ายให้กับเจ้าของรถไป โทษฐานที่ปล่อยให้บ้านไฟไหม้และลามมาถึงรถยนต์ที่จอดอยู่หน้าบ้านของนางมณี แม้รถคันดังกล่าวจะเป็นของสามีนางมณีก็ตาม แต่ก็ยังหนีไม่พ้น

เมื่อบริษัทประกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากนายบุญช่วย ใจเย็น มีอายุคุ้มครองหนึ่งปี และจำเลยที่ 1 คือ นางมณี ใจเย็น เป็นเจ้าของอาคารที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนดูแลเก็บผลประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าและครอบครองอาคารดังกล่าวโดยเปิดกิจการร้านอาหารอยู่

เมื่อวันเกิดเหตุได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นบนชั้นสองของอาคารดังกล่าว เพราะกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากจำเลยทั้งสามซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสายไฟฟ้าภายในบ้านให้อยู่ในสภาพที่ไม่ให้เป็นอันตรายได้ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อเพลิงไหม้ดังกล่าว เป็นเหตุให้วัสดุซึ่งถูกเพลิงไหม้ตกลงบนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2 แสนบาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดเชยค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่นายบุญช่วยผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเงินดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามผู้กระทำละเมิด

แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชอบดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่นายบุญช่วยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเป็นเงินจำนวน 2.08 แสนบาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินต้น 2 แสนบาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลยทั้งสามจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารที่เกิดเหตุ และให้จำเลยที่ 3 เช่า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนเก็บค่าเช่าจากจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น

เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้องเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่อาคารเกิดเหตุ ซึ่งจำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 1 ทำให้วัสดุที่ถูกเพลิงไหม้หล่นใส่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันไว้ ซึ่งจอดอยู่หน้าอาคารที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2 แสนบาท โจทก์ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เพลิงไหม้เพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิด

เห็นว่าเหตุที่เกิดเพลิงไหม้อาคารของจำเลยที่ 1 เสียหายเนื่องจากมีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่อาคารของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 เช่ามาจากจำเลยที่ 1 เพื่อเปิดกิจการร้านอาหาร โดยสายไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเดินอยู่นั้นเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ

จำเลยที่ 3 ผู้มีทรัพย์ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์ดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ปัญหาที่ว่าเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยที่ 3 นำสืบแต่เพียงว่าได้เปลี่ยนสายไฟฟ้าในอาคารที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมด ขณะเกิดเหตุภายในอาคารไม่ได้ใช้เครื่องไฟฟ้าและเปิดไฟฟ้าไว้ที่หน้าอาคาร และในห้องครัวแห่งละ 1 ดวงเท่านั้น

จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ กระแสไฟฟ้าเกิดลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้อย่างไร จำเลยที่ 3 ไม่ทราบ เท่านั้นข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย และเมื่อคดีฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายเกิดจากไฟฟ้าซึ่งเป้นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรโดยมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยเช่นนี้แล้ว

แม้จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากสายไฟฟ้าของจำเลยที่ 3

พิพากษายืน

ฎีกาที่ 5134/2542






คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow