INSURANCETHAI.NET
Tue 21/01/2025 14:29:12
Home » ข่าวประกันภัย » เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังพนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ เร่งยกเครื่อง ปรับกระบวนทัศน์องค์กรใหม่พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2566\"you

เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังพนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ เร่งยกเครื่อง ปรับกระบวนทัศน์องค์กรใหม่พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2566

2023/02/07 969805👁️‍🗨️

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาพนักงาน คปภ. ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจ มุ่งมั่น ก้าวล้ำ เที่ยงธรรม” หรือ “Move Smart, Move Forward, Move Together” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานปี 2565 และแนวทางการดำเนินงานในปี 2566 พร้อมมอบนโยบายให้กับพนักงานและลูกจ้าง สำนักงาน คปภ. ณ โรงแรม โบทานิก้า เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในช่วงปี 2565 ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปเป็นแบบ New Normal ซึ่งสำนักงาน คปภ. ก็มีการปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal เช่นกัน โดยได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการกำกับและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน โดยมีความท้าทาย 3 ประการ คือ ประการแรก ความท้าทายในด้านการกำกับและตรวจสอบดูแลธุรกิจประกันภัย โดยการพัฒนากฎเกณฑ์ด้านกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพแต่มีความยืดหยุ่นภายใต้หลัก Principle-Based 

ประการที่สอง ความท้าทายในด้านการส่งเสริม อาทิ การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และประการที่สาม การอำนวยความสะดวกด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในยุค Next Normal ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริการประชาชนให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มโอกาสของธุรกิจประกันภัย ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัยให้กลับคืนมา

ในช่วงปี 2565 สำนักงาน คปภ.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ SMART OIC จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างผ่านผลงานต่าง ๆ มากมาย และได้ระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ ผลกระทบของการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันภัย 4 ราย ฯลฯ โดยพนักงาน คปภ. ทุกคนได้ร่วมพลังกันฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ และยืนเคียงข้างประชาชน เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างถึงที่สุด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกมิติของความเสี่ยงภัย ส่งผลทำให้ในปี 2565 สำนักงาน คปภ. มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และนำมาซึ่งการได้รับรางวัลอันทรงเกียรติใหญ่ ๆ มากมาย เช่น รางวัลการประเมิน ITA ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับ AA มีคะแนนสูงถึง 96.51 คะแนน สูงสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับ 100 คะแนนเต็มจากตัวชี้วัด “การเปิดเผยข้อมูล” และ “การป้องกันการทุจริต” รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกรมบัญชีกลาง ในส่วนของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยสำหรับทุนหมุนเวียนที่เข้ารับการประเมินจากกรมบัญชีกลาง โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ด้วยคะแนนการประเมินภาพรวมสูงถึง 4.3144 คะแนน ซึ่งนับว่าเป็นคะแนนสูงสุดที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเคยได้รับจากกรมบัญชีกลาง 

อีกรางวัลคือ “ผู้บริหารหน่วยงานอิสระดีเด่น” ประจำปี 2565 ในงาน SIAMRATH ONLINE AWARD 2022 

ซึ่งเป็นรางวัลที่สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทและการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยมีผลงานเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ต่อสื่อมวลชน นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลระดับกรม รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) ด้วยผลคะแนนรวมจัดอยู่ในกลุ่ม Very High จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลคะแนนในระดับความพร้อม รวมสูงสุดถึง 82.07% และรางวัล DIGI Data Award “รางวัลชุดข้อมูลเปิดทรงคุณค่า” โดยสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลงานชุดข้อมูลเปิดยอดเยี่ยม ทำให้เห็นว่า การทำงานของสำนักงาน คปภ. เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการวางรากฐานการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของสำนักงาน คปภ. เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

“ทุกรางวัลที่สำนักงาน คปภ. ได้รับนี้ แสดงถึงความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาการบริหารงานและการบริหารจัดการภายในองค์กร ซึ่งเราจะต้องไม่เพียงรักษาคุณภาพนี้ไว้ แต่จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรหลักที่จะช่วยนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงและตลอดไป”

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการดำเนินงานในปี 2566 สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรใหม่ คือ “ร่วมใจ มุ่งมั่น ก้าวล้ำ เที่ยงธรรม” โดยมีคำนิยาม ดังนี้ ร่วมใจ คือ ผสานความร่วมมือและไว้วางใจ (Teamwork & Trust)  มุ่งมั่น คือ ทำงานอย่างมืออาชีพ (Professionalism) ก้าวล้ำ คือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creativity with Agility) และเที่ยงธรรม คือ ยึดหลักธรรมาภิบาลและใส่ใจสังคม (Good Governance for Good Society) ดังนั้น ทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานในปี 2566 จะต้องมีการทบทวนและปรับทิศทางในการกำกับดูแลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัย การฉ้อฉลประกันภัย รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงสำคัญได้อย่างครบถ้วน และมีฐานะการเงินที่มั่นคงเพียงพอรองรับความเสี่ยงและบริบทในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ควบคู่ไปกับการต่อยอดสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่เคยอยู่ในสถานะของการตั้งรับและเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเดินทางไปสู่การสร้างสมดุลของระบบประกันภัย ควบคู่กับการเสริมสร้างความทนทาน มั่นคง และยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัย ประกอบกับในปี 2566 เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564 – 2566) จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนด Key Result 5 เป้าหมายหลัก ดังนี้  

KR แรก ประชาชนและภาคเอกชนเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ตระหนักถึงความเสี่ยง และใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในมิติต่าง ๆ 

KR ที่ 2 ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤตได้อย่างราบรื่น สามารถบริหารความเสี่ยงสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

KR ที่ 3 สร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม เพื่อเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้น 

KR ที่ 4 แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เท่าทัน สอดคล้องกับบริบทใหม่ กฎระเบียบ และมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลง

และKR ที่ 5 สำนักงาน คปภ. มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมรับความท้าทายใหม่  

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญสำหรับสำนักงาน คปภ. ในการปรับตัวสู่โลกหลังยุคโควิด-19 มี 4 ประการหลัก ๆ คือ ประการแรก สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับองค์กรอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มีการผนวกเรื่อง ESG (Environment, Social and Governance) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและกลยุทธ์ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ประการที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการศึกษาโครงการ Business Process Improvement มาใช้อย่างจริงจังให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานในสายงานต่าง ๆ 

โดยในปี 2566 จะมีการปรับปรุงขนานใหญ่เรียกได้ว่ายกเครื่องกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะจากจุดที่เป็น touch point เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การให้บริการตัวแทนนายหน้า ระบบ E-licensing หรือ จากกระบวนการภายใน เช่น กระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์พัฒนาระบบสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล EWS ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบงาน e-sarabun และระบบ ERP ของสายบริหารที่มาใช้ในการจัดการดูแลทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมดของสำนักงาน คปภ.

ประการที่ 3 ใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล จากระบบงานสารสนเทศที่ได้พัฒนาแล้ว มีการติดตามผลผ่านคณะทำงาน Enterprise Architecture เพื่อให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างภารกิจของสำนักงาน คปภ. กับกระบวนการการทำงานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 

และประการที่ 4 สร้างสมดุลระหว่างการมีเสถียรภาพและการเติบโตเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนองค์กร สำนักงาน คปภ. จะต้องจริงจังเรื่องการบริหารความเสี่ยงและรักษาสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

“หากมีการวางแผนการรับมือที่ดี มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อม ๆ กับหมั่นทบทวนกลยุทธ์ แผนงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นประจำ ย่อมจะส่งผลให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในทุกมิติ และได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน อันจะช่วยให้ระบบประกันภัยของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow