INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 0:22:17
Home » ประวัติบริษัทประกันวินาศภัย ไทยศรีประกันภัย » ไทยศรีประกันภัย\"you

ไทยศรีประกันภัย

2011/09/15 4177👁️‍🗨️

ประวัติ บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด

บริษัท ไทยศรีประกันภัยจำกัด เดิมรู้จักกันในนามของ บริษัท ไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทลูกผสมที่เกิดจากความ ร่วมมือกันทางพันธมิตรระหว่าง กลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส (สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์) และ บริษัทไทยศรีนครประกันภัยจำกัด ต่อมาทางกลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส ได้ทำการปรับเปลี่ยน นโยบายทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจในส่วนภาคพื้นที่ทาง กลุ่มได้ถือกำเนิดมา ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดคล้อง กับนโยบายหลักของกลุ่ม ในวันที่ 22 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา ทางผู้ถือหุ้นเดิมตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง จึงแสดงเจตน์จำนงในการ ซื้อหุ้นในส่วนของกลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส โดยมีตระกูล พานิชชีวะ ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและการ บริหารงานธุรกิจที่มีความเป็นสากล เข้ามาถือหุ่นในส่วนของ กลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส

บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด ปัจจุบันมีจำนวนผ้บริหารและ พนักงานรวมกันมากกว่า 570 คน โดยมีสาขา สำนักงานตัวแทน และศูนย์บริการมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ จากประสบการณ์ ในการให้บริการทางด้านธุรกิจประกันวินาศภัย มากกว่า 50 ปี การอุทิศตนในการให้บริการลูกค้า การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การให้การบริการที่มีความน่าเชื่อถือ และความ แข็งแกร่งทางด้านการเงิน ทำให้บริษัทมีความรู้และความเข้าใจ ถึงความต้องการของลูกค่า จึงทำให้ลูกค้าให้ความไว้วางใจใน การให้บริการของเรา ความตั้งใจของเราคือการให้การบริการที่ ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าโดยการนำเสนอการให้บริการด้าน การจัดการความเสี่ยงที่มีรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการ และความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละท่าน

บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันมีจำนวนผู้บริหารและพนักงานกว่า 570 คน โดยมีสาขา สำนักงานตัวแทน และศูนย์บริการมากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ

บริษัทฯมีความมุ่งมั่นในการสรรค์สร้างกรมธรรม์และการให้บริการแก่ผู้ซื้อความคุ้มครอง เพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ตรงตามความต้องการที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ความสามารถในการนำเสนอความคุ้มครองที่เป็นแบบอย่างเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล ทำให้กรมธรรม์ของบริษัทฯ มีความแตกต่างจากกรมธรรม์ทั่วไป

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าและสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ใด พนักงานของเรา พร้อมที่จะเข้าไปดูแล และอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการแก่ท่าน เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจและสบายใจ ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่แห่งใดของประเทศ ดั่งคำมั่นสัญญาที่เรายึดถือและปฏิบัติเสมอมาว่า “ไทยศรีประกันภัย เราประกันความสบายใจให้คุณ”

2548 21 มกราคม 2548 บริษัทฯ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด อย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 440 ล้านบาท มีพนักงานรวมผู้บริหารทั้งสิ้นกว่า 580 คน พร้อมสาขา สำนักงานตัวแทนและศูนย์บริการ มากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการระดับมาตรฐานสากล พร้อมนำเสนอความคุ้มครองภัย และการบริหารความเสี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าของเรา

2547 22 ธันวาคม 2547 ผู้ถือหุ้นเดิมตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง แสดงเจตน์จำนงในการซื้อหุ้นในส่วนของกลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส โดยมีตระกูลพานิชชีวะ ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน และการบริหารงานธุรกิจที่มีความเป็นสากล เข้ามาถือหุ้นในส่วนของกลุ่มซูริคไฟแนนเชียลเซอร์วิส

2540 บริษัทฯได้ร่วมทำงานกับกลุ่มซูริคไฟแนนเชียล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อให้เกิด บริษัท ไทยศรีซูริคประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างความแข็งแกร่งทางด้านประสบการณ์ระหว่างประเทศของกลุ่มซูริคไฟแนนเชียล และภายในความแข็งแกร่งทางด้านประสบการณ์ภายในประเทศของบริษัท ไทยศรีนครประกันภัย จำกัด

2536 27 กันยายน 2536 เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ บริษัทฯได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่ อาคารไทยศรีนครประกันภัย เลขที่ 126/2 ถนนกรุงธนบุรี บางลำภูล่าง คลองสาน กรุงเทพมหานคร

2532 บริษัทฯได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2532 บริษัทฯได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยศรีนครประกันภัย จำกัด เพื่อรับรองงานด้านบริการอุบัติเหตุรถยนต์ จัดตั้งศูนย์บริการอุบัติเหตุภายในเขตกรุงเทพมหานคร 2 แห่งคือ วิภาวดี และ สุขุมวิท และต่างจังหวัดอีก 6 แห่ง

2519 ธุรกิจด้านประกันภัยของบริษัทฯประสบผลสำเร็จและได้รับความเชื่อถือ บริษัทฯได้รับใบอนุญาต จากกระทรวงพาณิชย์ ให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท ภัย ตามใบอนุญาตเลขที่ 3/2519 ลงวันที่ 6 กันยายน 2519

2496 บริษัท ไทยศรีนครประกันภัย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 ใบทะเบียนเลขที่ 3784 โดยใช้ชื่อ “บริษัท ไทยศรีนครประกันภัยและคลังสินค้า จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ ด้านการประกันอัคคีภัยและภัยทางทะเล มีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่เลขที่ 123 ถนนราชวงศ์ จักรวรรดิ สัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร บริษัทฯได้รับอนุญาตจากระทรวงพาณิชย์ ให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยประเภท อัคคีภัย และประเภท ภัยทางทะเล ตามใบอนุญาตเลขที่ พ. 25/2496 ลงวันที่ 26 มกราคม 2496

บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด
126/2 อาคารไทยศรีประกันภัย, ถนนกรุงธนบุรี, คลองสาน, กรุงเทพฯ 10600
โทร : 0-2253-4141, 0-2253-4343, 0-2253-4646
แฟกซ์ : 0-2253-0550, 0-2253-0606
info@thaisri.com
thaisri.com
ศูนย์รับแจ้งอุบัติเหตุไทยศรี ที่เบอร์ 0-2878-7000

“ไทยศรีประกันภัย”หลังยุค”ซูริค”เอี่ยวเครือญาติ”ยูนิคฯ”กินเบี้ย”พื้นที่สัมปทาน”

จุดเปลี่ยนของ “ไทยศรีประกันภัย” ในระยะหลัง เกิดขึ้นภายหลังการจากไปของ “ซูริค” พันธมิตรเก่าแก่จาก “สวิส” ทำให้ธุรกิจที่เคยยึดเกี่ยว “ธุรกิจโฮลด์เซลส์” องค์กรระดับสากล มายาวนาน ต้องหันมาพึ่งพาสายสัมพันธ์ของธุรกิจเครือญาติ “บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ” ผ่านงานสัมปทานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะสัมปทานสร้างเขื่อน โรงงานไฟฟ้า และโรงแรม รีสอร์ตในลาว ควบคู่ไปกับการปลุกชื่อ “แบรนด์” ในรอบ 50 ปี เพื่อเปิดตลาดลูกค้ารายย่อย….

ถ้าจะติดตาม ทิศทางการทำธุรกิจของ “ไทยศรีประกันภัย” ก็คงเลี่ยงไม่พ้นต้องเดินตามรอย 2 ตระกูลใหญ่ คือ ศรีเฟื่องฟุ้ง และพาณิชชีวะ เพราะทั้งสองตระกูลเป็น กลุ่มก้อนธุรกิจที่พึ่งพาอาศัยกันมาตลอดผ่านการเกี่ยวดองทางเครือญาติ จนล่วงเลยวัย 55 ปี ไม่นานมานี้

ไทยศรีประกันภัย คือ ชื่อใหม่ ขณะที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ ไทยศรีซูริคประกันภัย เป็นบริษัทร่วมทุนเป็นพันธมิตรกับ กลุ่มซูริค ไฟแนนซ์เชียลเซอร์วิสประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำให้ก่อนหน้านั้นลูกค้าส่วนใหญ่จึงจำกัดวงอยู่ในกลุ่มองค์กรระดับสากล ขนาดใหญ่ ที่มีการประกันภัยด้วยทุนประกันก้อนโต โดยมี ซูริคเป็นตลาดรับประกันภัยต่อไปต่างประเทศ

แต่การม้วนเสื่อกลับไปรักษาฐานตลาดในยุโรป ของซูริค เมื่อไม่นานมานี้ ก็ทำให้ “ไทยศรีประกันภัย” ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องพึ่งพากลุ่มก้อนธุรกิจในเครือเพื่อขยายตลาดประกันภัยทดแทน ดังนั้นลูกค้าหลักจึงเป็น อุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ และธุรกิจส่งออก รวมถึงงานสัมปทานจากประเทศเพื่อนบ้าน

“ยุคสมัยเปลี่ยนไป การรับรู้ข่าวสาร และเรื่องของภาพพจน์จึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญ ในอดีตคนคิดว่าประกันภัยต้องเป็นเรื่องของคนระดับรายได้สูงๆ จึงถูกตีกรอบแคบๆ เพราะมองไม่เห็นความจำเป็น แต่สมัยนี้ คนเข้าใจธุรกิจมากขึ้นเข้าใจถึงความเสี่ยงจึงต้องมีการทำประกันภัย ดังนั้นจึงต้องถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้คนรู้จักและมองภาพลักษณ์ดีขึ้น”

นที พาณิชชีวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยศรีประกันภัย บอกข้อมูล ฐานลูกค้ากลุ่มไทยศรีฯ ส่วนใหญ่เป็นตลาดองค์กร หรือ รายใหญ่มาตั้งแต่แรกก่อตั้งธุรกิจ โดยมีประกันภัยรถยนต์เป็นสัดส่วนใหญ่ 60% อัคคีภัย 20% เบ็ดเตล็ด 10% ที่เหลือก็เป็นประกันทางทะเล และขนส่ง ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นองค์กรใหญ่ รวมถึงการรับงานจากบริษัทในเครือรวมไว้ด้วย

“ข้อดีของการมีเบี้ยรถยนต์ก็คือ ปริมาณเบี้ยสูงกว่า เบี้ยประเภทอื่น ดังนั้นก็จะมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า แต่ก็มีข้อเสียคืออัตราการเคลมสินไหมก็สูงกว่าเบี้ยประเภทอื่น”

ปัจจุบัน ไทยศรีประกันภัย มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท มีเงินลงทุน 2,000 ล้านบาทและมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 440 ล้านบาท มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,600 ล้านบาท และมีเป้าหมายจะเพิ่มในปีนี้ 1,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น ขยายตัว 10%

การจับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ จึงทำให้ตลาดส่วนใหญ่กระจายอยู่ในตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะตัวมากขึ้น อาทิ การทำประกันภัยเรือยอร์ช เครื่องบิน และรถยนต์ประเภท คลาสสิค คาร์

นที อธิบายว่า ในปี 2551 ไม่ได้โฟกัสไปที่การแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น แต่จะเน้นการปรับปรุงคุณภาพภายในองค์กร บุคคลากร ระบบไอที และภาพพจน์องค์กร โดยการจัดงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท และอีกไม่เกิน 10 ล้านบาทสำหรับ การสร้างแบรนด์ และภาพลักษณ์บริษัท ซึ่งงบส่วนนี้ไม่เคยมีมาก่อน นับจากก่อตั้งบริษัทมาได้ 50 ปี

” สมัยก่อน ต่อให้โฆษณา ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคนซื้อประกันเป็นคนกลุ่มเล็ก เป็นองค์กร แต่สมัยใหม่ สังคมกระจายตัว คนรู้จักการทำประกันภัยมากขึ้น ทำให้เกิดแรงผลักดันจากคนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่จะมองเป็นเป้าหมายในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม นที ยอมรับว่า ไทยศรีประกันภัย ในยุคหลังจะเดินเกาะกระแสของบริษัทในเครือ หรือ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคเจอร์มากขึ้น โดยเฉพาะการเจาะเข้าไปในโครงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว ในโครงการสัมปทานสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ตในลาว ซึ่งเป็นประเทศที่นักลงทุนยังเข้าไปลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับเวียดนาม และพม่า

โดยมองว่าฝ่ายหลังยังมีความไม่แน่นอนด้านการเมือง ขณะที่เวียดนามมี นักลงทุนเข้ามาลงทุนค่อนข้างมากแล้ว

นอกจากนั้น ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็เปิดรับการลงทุนมากขึ้น เงินลงทุนก็จะหลั่งไหลไปลงทุนมากขึ้น ทั้งลาว พม่า เขมร รวมถึงเวียดนาม ดังนั้นบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยก็จะใช้บริการประกันภัยและธนาคารในประเทศมากขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่มีความเสี่ยง เพราะไม่มีปัญหาด้านกฎหมาย เพราะบังคับใช้กฎหมายไทย รวมทั้งไม่มีปัญหาด้านการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราด้วย

การเข้าไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสายสัมพันธ์ธุรกิจในเครือ จึงถือเป็นก้าวแรกของกลุ่ม ไทยศรีฯ โดยปีนี้จะเริ่มศึกษาถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยการศึกษาข้อมูลประเทศนั้นๆ รวมทั้งกฎหมาย ว่าถ้าจะเข้าไปลงทุนจะเข้าไปในรูปแบบใด ทั้งในพม่า ลาว และเขมร

นที บอกว่ามีการตั้งทีมเป็นการภายใน โดยร่วมกับ ยูนิคฯ เพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยสเต็ปแรก จะเป็นการเข้าไปรับงานสัมปทานเอง และรับสวมสิทธิ์ บริษัทที่ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนมาก่อนนี้ด้วย รวม 10 กว่าแห่ง ดังนั้นก้าวแรกจึงพูดถึงการรับประกันภัยทรัพย์สินจากโครงการเพียงเท่านั้น

ขณะที่สเต็ปต่อไป อาจจะศึกษาถึงการเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนหรือ สำนักงานสาขาในลาว ถ้าจะต้องขยายตลาดลูกค้ารายย่อย หรือ เข้าไปให้บริการ ลูกค้าองค์กร ที่เข้าไปลงทุนในลาว

“เราจะมองหาผู้ลงทุนไทยในลาวเป็นหลัก เพราะความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากจะใช้สิทธิ์เรียกร้องที่จะเกิดโดยใช้หลักกฎหมายในประเทศไทยเป็นเกณฑ์ในการคุ้มครองทรัพย์สิน แต่ถ้าจะเข้าลึกถึงขั้นตอนต่อไป ก็จะต้องศึกษาทั้งกฎหมายลาวและไทยด้วยเพราะค่อนข้างต่างกัน”

นทีบอกว่า สำหรับตลาดลุกค้ารายย่อยที่ไม่เคยทำตลาดมาก่อน ปีนี้เริ่มจะมองถึงการสร้างฐานผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่น เทเลเซลส์ หรือ ตลาดไดเร็ค มาร์เก็ตติ้ง จากที่อาศัยแต่ ช่องทางตัวแทนและโบรกเกอร์เป็นหลักมาก่อนหน้านี้

” เราจะไม่ทิ้ง ฐานลูกค้าโฮลด์เซลส์ที่เราเริ่มต้นมาตั้งแต่แรก เพราะฐานลูกค้าเรามาจากกลุ่มนี้ แต่ตลาดรีเทล จะพยายามสร้างช่องทางการตลาดให้มากขึ้น โดยจะขยับเข้าไปเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า และโมเดิร์นเทรด เพื่อรองรับลูกค้าคนรุ่นใหม่”

การตลาดในยุคหลังวัย 55 ขวบปี ของไทยศรีประกันภัย ของทั้ง 2 ตระกูล คือ ศรีเฟื่องฟุ้ง และพาณิชชีวะ จึงมีฐานลูกค้าที่เกี่ยวพันธ์กับธุรกิจในเครือ อย่างเหนียวแน่น ฝ่ายไหนมีงานเข้ามามาก ก็จะทำให้อีกฝ่ายได้รับอานิสงส์ไปด้วย….





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow