กองทุนประกัน 2 พันล้านพร้อมจ่ายลูกค้า 6 บริษัทที่ล้มละลาย
พลันที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) รับหลักการร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันชีวิตและร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฉบับใหม่เหมือนเป็นการ “คืนความสุข” ให้กับประชาชนที่ทำประกันโดยเฉพาะลูกค้าบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบ อนุญาตหรือถูกภาครัฐสั่งปิดไปก่อนหน้านี้และบริษัทใหม่ที่อาจจะถูกปิดตามมา อีกให้ได้รับเงินเร็วขึ้นเพราะในร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ ผู้เอาประกันทันทีสูงสุดไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท จากเดิมใช้เวลารอคอยหลายปีกว่าจะได้เงิน บางครั้งก็ไม่ได้เงินโดยกองทุนประกันวินาศภัยจะมีภารกิจหนักกว่าเพราะมี บริษัทประกันถูกปิดไปถึง 6 บริษัทขณะที่บริษัทประกันชีวิตไม่มีถูกปิดมาหลายสิบปี
“ประเวช องอาจสิทธิกุล” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายประกันภัยทั้ง 2 ฉบับอยู่ในกลุ่มกฎหมายเร่งด่วนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งน่าจะจัดตั้งเร็วๆ นี้ ซึ่งในร่างกฎหมายมีบทเฉพาะ กาลเกี่ยวกับการจ่ายหนี้ผู้เอาประกันของทั้ง 2 กองทุนให้มีผลย้อนหลังไปถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันบริษัทที่ถูกปิดไปก่อนหน้า นี้ด้วย
+ กองทุนฯ พร้อมจ่าย
+ ลูกค้า 6 บริษัทเจ๊ง
ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยถูกปิดไปแล้ว 6 บริษัท ประกอบด้วย
บริษัท สัมพันธ์ประกันภัยปิดเมื่อปี 2552
บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ปี 2553
บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย
บริษัท วิคเตอรี ประกันภัย (ประเทศไทย) ปี 2554
บริษัท ส่งเสริมประกันภัย ปี 2556
บริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557
(2560 สัจจะประกันภัย (เดิม กมลประกันภัย))
“กองทุนประกันวินาศภัยมีเม็ดเงินพอจ่าย คร่าวๆ มูลหนี้ที่ต้องจ่ายประมาณพันกว่าล้านบาทไม่รวมยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ แต่หนี้ไม่เยอะ เท่าที่ทราบมีใบคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นเข้ามา 2 หมื่นใบคำขอจาก 4 บริษัท ไม่รวมส่งเสริมฯที่มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินมีเงินพอจ่ายไม่ต้องมาเอาจาก กองทุนและยูเนี่ยนที่เพิ่งปิดไป ตอนนี้กองทุนฯ ต้อง เตรียมความพร้อมรอจ่ายเงินหากกฎหมายออกมาต้องดูยอดหนี้มีอยู่จริงทั้งหมด เท่าไหร่ แยกประเภทหนี้เพราะหนี้ที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กองทุนฯ ต้องเป็นหนี้ที่เกิดการเอาประกันภัยเท่านั้น ขณะนี้หนี้บางส่วนก็เจรจาประนอมหนี้กันได้ซึ่งสมาคมฯ และบริษัทประกันจะส่งคนเข้ามาช่วยตรวจสอบเอกสารด้วย”
ถามว่ามีบริษัทประกันที่เข้าข่ายจะถูกปิดอีกหรือไม่ เลขาธิการ คปภ.บอกว่า ณ ปัจจุบันทุกบริษัทยังมีฐานะการเงินมั่นคงแข็งแรง
+ เร่งสรุปหนี้คาดจ่ายจริงไม่เกิน 1,600 ล.
+ สัมพันธ์เยอะสุดลูกค้ากว่าหมื่นราย
ด้านผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย “กมลวรรณ กีรติสมิต” กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า กรณีลิเบอร์ตี้ฯ และส่งเสริมฯ ผู้ชำระบัญชีไม่ต้องยื่นฟ้องล้มละลายเพราะมีทรัพย์สินเกินกว่าหนี้สิน โดยลิเบอร์ตี้อาจจะประนอมหนี้ไม่หมดมีเหลือมาที่กองทุนฯ ต้องจ่ายให้ หลักๆ จะมีหนี้ 4 บริษัทที่กองทุนฯ ต้องจ่ายคือสัมพันธ์, เอ.พี.เอฟ.,วิคเตอรี และยูเนี่ยนอินเตอร์ ซึ่งในส่วนของสัมพันธ์ มีใบคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้เอาประกันยื่นเข้ามาที่กองทุนฯ 13,000 ใบคำขอ เยอะที่สุด มูลหนี้ประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะที่ยื่นกับกรมบังคับคดีมีอยู่ประมาณ 8,000 ราย ใบคำขอต่างกันอยู่ 5,000 ใบคำขอ กำลังตรวจสอบอยู่รายชื่อเจ้าหนี้ตรงกันหรือมีใครยื่นซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เป็นหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยกี่ราย มูลหนี้เท่าไหร่
ส่วนเอ.พี.เอฟ. มีใบคำขอรับชำระหนี้ยื่นเข้ามาที่กองทุนฯ 5,000 ใบคำขอ มูลหนี้ประมาณ 200 ล้านบาท โดยศาลล้มละลายกลางเพิ่งมีคำสั่งให้เอ.พี.เอฟ. ล้มละลายต้องรอกรมบังคับคดีดำเนินการ เสร็จสิ้นคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร ขณะ ที่วิคเตอรีฯ มีคำขอรับชำระหนี้ยื่นเข้ามาน้อยที่สุดไม่ถึง 2,000 ใบคำขอ มูลหนี้ ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ยังไม่ได้สอบทานข้อมูลกับกรมบังคับคดีเพราะเพิ่งยื่น คำร้องต่อศาลล้มละลายกลางทางศาลยังไม่มีคำสั่งล้มละลายออกมา ส่วนยูเนี่ยน อินเตอร์ยังไม่มีข้อมูล
+ ประกันจ่ายอีกค่าต๋งรอบใหม่
+ กองทุนทะลุเพดาน 2 พันล้าน
“ถึงเวลาจ่ายจริงอาจจะไม่ถึงก็ได้ อย่างสัมพันธ์ฯ มูลหนี้ 1,300 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขสูงสุดจ่ายจริงต่ำกว่านี้อยู่ที่ยอดหนี้ที่กรมบังคับคดีแจ้งมา และการประเมินราคาหนี้ค่าซ่อมรถ บริษัทอื่นก็เหมือนกัน ตอนนี้กองทุนฯ มีเงิน 1,800 ล้าน สิ้นก.ค.ที่ผ่านมาจะได้เงินสมทบจากบริษัทประกันภัยเพิ่มอีกประมาณ 250-300 ล้านบาท เป็น 2,050 ล้านบาท และสิ้นม.ค.ปีหน้าจะได้เพิ่มอีกวงเงินราวๆ นี้ ถึงตอนนั้นจะมีเม็ดเงิน 2,350 ล้านบาท จ่ายหนี้แล้วยังมีเงินเหลือไม่ต้องกู้ยืมแม้กฎหมายจะให้ทำได้ การจ่ายจะเรียงตามลำดับบริษัทที่ถูกปิดลูกค้าสัมพันธ์ได้ก่อน”
อย่างไรก็ดี ในประเด็นมูลหนี้ทั้งหมด “วีรวุธ งามจิตวิริยะ” อดีตผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ชี้แจงกับ “สยามธุรกิจ” เพิ่มว่า คาดว่าหนี้ผู้เอาประกันของทั้ง 6 บริษัทน่าจะประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ ตามงบการเงินล่า สุด ณ 30 ม.ย. 57 ที่ส่งให้กับคปภ. มีหนี้สิน 226 ล้านบาท ทรัพย์สิน 282 ล้านบาท แม้จะมากกว่าหนี้สินแต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเบี้ยประกันค้างรับซึ่งปกติ เมื่อบริษัทปิดเบี้ยประกันส่วนนี้จะตามคืนมาไม่ได้แทงเป็นหนี้สูญได้ทันที ซึ่งในหนี้สิน 226 ล้านบาท ส่วนที่เป็นหนี้ผู้เอาประกันไม่น่าจะเกิน 100 ล้านบาท
“ใน 6 บริษัทมี 2 รายเคลียร์ใกล้จะจบแล้วอย่างส่งเสริมจ่ายผู้เอาประกันไป 100% แล้วบริษัทยังมีเงินเหลือ 200 กว่าล้านบาท ไม่ต้องเอาเงินจากกองทุนฯ เลย ส่วนลิเบอร์ตี้ก็ประนอมหนี้ไปได้เยอะเหลืออีก 50-60 ล้านบาท ส่วนนี้จะมาเอาจากกองทุนฯ ผมคาดว่าหนี้ผู้เอาประกันของสัมพันธ์ฯ ที่กองทุนต้องจ่ายน่าจะประมาณ 900-1,000 ล้านบาท เอ.พี.เอฟและวิคเตอรีเท่ากันรายละ 200 ล้านบาท ลิเบอร์ตี้ 60 ล้านบาท ยูเนี่ยนก็ราวๆ 100 ล้านบาท”
“วีรวุธ” กล่าวว่ากฎหมายใหม่ กำหนดให้กองทุนฯ จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากผู้ชำระบัญชีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรณี บริษัทล้มละลาย ซึ่งในเรื่องกฎหมายใหม่ขณะนี้รอตั้งสนช. หลังจากตั้งเสร็จจะเสนอร่างกฎหมายนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. คาดว่าน่าจะออกมาบังคับใช้ไม่เกินม.ค.ปีหน้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557
no related articles to display.