INSURANCETHAI.NET
Sat 18/01/2025 14:52:13
Home » อัพเดทประกันภัย » เหตุรุนแรงปี 2553 จลาจล-ก่อการร้าย เซ็นทรัลเวิลด์ – เทเวศประกันภัย\"you

เหตุรุนแรงปี 2553 จลาจล-ก่อการร้าย เซ็นทรัลเวิลด์ – เทเวศประกันภัย

2018/07/29 3066👁️‍🗨️

ประกันภัยมึน ตัดสินเหตุรุนแรงปี 53 ‘จลาจล-ก่อการร้าย’ ขอสู้ชั้นฎีกา

คำพิพากษาออกมาไม่ตรงกัน มีหลายแนวทาง บริษัทประกันภัยต้องการความถูกต้อง ให้คำพิพากษาออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน

ประกันภัย-ลูกค้าอึ้ง เผาเมืองพ.ค. 53 ศาลตัดสินไม่เหมือนกัน
มีทั้งวินิจฉัยเป็นก่อการร้ายอยู่นอกเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย บริษัทประกันภัยลอยลำไม่ต้องจ่าย
อีกศาลบอกเป็นจลาจล กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองต้องจ่ายลูกค้า
ชี้ศาลมีหลายที่หลายบัลลังก์ แต่ละแห่งมองไม่เหมือนกัน เตรียมรวบรวมข้อมูลคดี-เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย อุทธรณ์ต่อสู้กันยันฎีกา ระบุมีผลถึงความน่าเชื่อถือ-ประกันภัยต่อต่างประเทศในฐานะคู่สัญญา ด้านคปภ. แจงอยู่ที่การนำสืบพยาน ตัดสินรวมยาก คนละที่ คนละเวลา ยกเคสบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งแพ้คดี เพราะมียามเห็นคนลอบวางเพลิงไม่เกี่ยวกับชุมนุม

การชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่มีการเผาทำลายทรัพย์สิน ทั้งของรัฐและเอกชนเสียหายจำนวนมาก แม้จะผ่านมา 2 ปีกว่า แต่เจ้าของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัย เนื่องจากบริษัทประกันภัย ยึดคำประกาศรัฐบาลว่าเกิดจาก “การก่อการร้าย” ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องซื้อภัยก่อการร้ายไว้ ซึ่งผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อภัยก่อการร้าย นำไปสู่การยื่นฟ้องศาล เช่นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่กำลังฟ้องร้องเป็นคดีความอยู่

ศาลชั้นต้นหลายแห่งมีคำพิพากษาออกมาแล้ว โดยนายกสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า คำพิพากษาที่ออกมาไม่ตรงกัน และมีหลายแนวทางมาก บางศาลบอกความเสียหายที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Industrial All Risk : IAR) เท่ากับบริษัทประกันภัยต้องจ่าย บางศาลบอกอยู่นอกเงื่อนไขบริษัทประกันภัยไม่ต้องคุ้มครอง

“สมาคมกำลังดูอยู่ว่า ทำไมคำตัดสินถึงออกมาไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน อาจจะเป็นไปได้ว่าศาลแต่ละที่มีวิธีการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน หรืออาจจะเป็นเพราะสถานที่ที่เกิดคนละที่คนละเวลา หรือตัวกรมธรรม์ประกันภัยเอง ถึงจะเป็นกรมธรรม์ประเภทเดียวก็จริง แต่เงื่อนไขในสัญญาแนบท้ายที่ติดไว้ด้านหลังกรมธรรม์ อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ เรากำลังดูอยู่ “

สมาคมฯ จะรวบรวมข้อมูล ว่า …
– มีกี่บริษัทที่ถูกฟ้อง
– แต่ละบริษัทใช้กรมธรรม์ประกันภัยอะไรบ้าง
– มีเอกสารแนบท้าย หรือข้อยกเว้นอะไร
– มีคำตัดสินว่าอย่างไร

โดยจะมีการหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพราะในมุมของบริษัทประกันภัยต้องการความถูกต้อง ให้คำพิพากษาออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน เพราะตามหลักการ หากเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเหมือนกัน คำตัดสินควรออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังเกี่ยวพันไปถึงผู้รับประกันภัยต่อต่างประเทศที่บริษัทประกันภัยซื้อไว้ ซึ่งต้องร่วมจ่ายค่าสินไหมด้วย หากคำพิพากษาออกมาแบบนี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย ซึ่งการต่อสู้คดีคงต้องยืดเยื้อไปถึงศาลฏีกา ซึ่งจะเป็นคนชี้ขาดสุดท้าย

ประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า …
เนื่องจากศาลมีหลายที่ อาทิ ศาลแขวงพระนครใต้, ศาลรัชดา เป็นต้น ซึ่งแต่ศาลจะมีหลายบัลลังก์ และผู้พิพากษาแต่ละบัลลังก์คนละคนกัน แต่ละบัลลังก์ก็มีข้อวินิจฉัยที่ต่างกัน บางบัลลังก์บอกเป็นการก่อการร้าย หรือการลุกฮือของประชาชน เพื่อต่อสู้รัฐบาล หรือเพื่อการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์ IAR บริษัทประกันภัยไม่ต้องคุ้มครอง แต่บางบัลลังก์บอกเป็นจราจลแล้วเกิดไฟไหม้ เป็นความคุ้มครองในกรมธรรม์ IAR ซึ่งในความเป็นจริงกรมธรรม์ IAR เขียนไว้ว่า ไฟไหม้เกิดจากการก่อการร้าย ถือว่าได้รับความคุ้มครองก็จริง แต่มีเอกสารแนบท้ายติดไว้อีกว่า ไม่ว่ากรมธรรม์จะเขียนอย่างไร เอกสารแนบท้ายถือว่า การก่อการร้าย หรือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แล้วก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ก็ตาม ก็จะไม่คุ้มครอง

“คดีนี้ทางบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า เป็นการกระทำเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง และการก่อการร้าย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์ IAR อยู่แล้ว นอกจากจะซื้อกรมธรรม์คุ้มครองความรุนแรงที่เกิดจากภัยการเมืองเท่านั้น กรมธรรม์ถึงจะคุ้มครอง ส่วนภัยก่อการร้าย ปกติจะต้องซื้อแยกออกมาต่างหากจากกรมธรรม์ประกันภัยเดิม อย่างถ้าเป็นการวางเพลิงกรมธรรม์ IAR คุ้มครองจริง แต่ต้องดูในกรมธรรม์ว่าเขียนไว้อย่างไร หรือมีข้อยกเว้นอะไรบ้าง”

ด้านรองเลขาธิการด้านกฎหมายฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า…
คปภ.ยังไม่ทราบคำตัดสินของศาล ซึ่งไม่กี่เดือนก่อนมีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง แพ้คดีเหตุการณ์นี้ต้องจ่ายสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย ประเด็นที่แพ้ เพราะบริษัทไม่ได้ต่อสู้ว่าเป็นเรื่องจราจลหรือไม่ ขณะที่ทางผู้เสียหาย คือผู้เอาประกันภัยยกพยาน ซึ่งเป็นยามคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ว่า มีคนวางเพลิงซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจราจล ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า เป็นการวางเพลิง ซึ่งทั้งกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ IAR คุ้มครองอยู่แล้ว

ศาลแพ่งสั่งเทเวศประกันภัย จ่ายเงินประกันห้างเซนถูกเผา 1,977 ล้านบาท

ศาลแพ่งพิพากษาสั่งเทเวศประกันภัย จ่ายเงินประกันห้างเซนถูกเผาทำลายจำนวน 1,977 ล้านบาท ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง 19 พ.ค.2553

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 5 มี.ค.ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1212/2555 ที่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เพื่อขอให้ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยก่อการร้าย กรณีเกิดเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงิน 1,712,199,701.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมทั้งขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่โจทก์ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายด้วย

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งโจทก์ได้เช่าสถานที่ดังกล่าวที่เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้ขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้กับโจทก์หรือสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่จำเลยปฎิเสธ โดยระบุว่าความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นและเป็นผลมาจากการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมือง อันมีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการกระทำการก่อการร้ายของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.เพื่อต่อต้านรัฐบาล จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามากรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้าย เพราะยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับภัยที่เกิดขึ้นและยังไม่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด จึงไม่อาจจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายได้ หากจำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปตามากรมธรรม์ใดกรมธรรม์หนึ่ง อาจทำให้จำเลยเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อได้ และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดหรือไม่ เห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรง เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำนั้น ส่วนที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. ปราศรัย เหล่านี้แม้จะมีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรง แต่อยู่บนเงื่อนไขว่า ถ้ามีการสลายการชุมนุม หรือมีการทำร้ายคนเสื้อแดงก็จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น การปราศรัยของแกนนำดังกล่าวเป็นการทำเพื่อป้องกันมิให้มีการสลายการชุมนุมตามที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อผลทางการเมืองย่อมมิได้ การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการเลือกตั้งใหม่นั้น ก็ไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดจะชนะและได้จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ส่วนการที่รัฐบาลประกาศขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมิได้ยุติการชุมนุม ยังคงใช้พื้นที่สาธารณะชุมนุมกันต่อไป หากขัดคำสั่งรัฐบาล หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น หรือ จะมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การชุมนุมเช่นนี้มิได้มีลักษณะเป็นการข่มขู่เพื่อผลทางการเมือง หรือ เป็นการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาล หรือ สาธารณชนตกอยู่ในภาวะตื่นกระหนก หวาดกลัว การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.ก่อนเกิดเหตุจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการก่อการร้าย

ส่วนเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เห็นว่ากลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรพสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน กลุ่มคนที่ลงมือเผากระทำการในลักษณะดังที่พยานจำเลยใช้คำว่าพยายามแล้วพยายามอีกที่จะเผา ไม่ได้ใช้ทักษะพิเศษใดๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญแม่นยำ สำหรับถังแก๊ส น้ำมัน ระเบิดขวดหรือยางรถยนต์ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หยิบฉวยได้จากบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและอาวุธ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ก็ไม่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดออกมารับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของตน แม้การกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวจะมีอาวุธ ใช้กำลังและความรุนแรง แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะทำให้ประชาชนส่วนมากเกิดความหวาดกลัวในชีวิตและทรัพย์สิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ก็ไม่ถึงกับจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศตกต่ำ ที่สำคัญขณะคนร้ายเผาห้างสรรพสินค้าเซน แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องใดทางการเมืองเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มใด ก็ไม่ได้กระทำเพื่อข่มขู่ให้รัฐบาลยุบสภาหรือให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง จึงมิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการก่อการร้ายเช่นกัน มีข้อพิจารณาต่อไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ เห็นว่า ภัยที่เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล ก็ไม่ควรจะยิ่งหย่อนไปกว่าภัยที่เกิดจากสงคราม การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ ฯลฯ และต้องแยกพิจารณาเป็น 3 ส่วน คือ จะต้องเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชน จะต้องมีประชาชนร่วมกันเป็นจำนวนมากลุกฮือขึ้นและจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐบาล และจะต้องเป็นประชาชนที่ถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่มีการชุมนุมต่อเนื่องบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ถือว่าเป็นคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แม้การชุมนุมนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงในวงจำกัด ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่ปรากฏว่าเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.เป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล สำหรับภัยอื่นไม่ว่าจะเป็นสงคราม การรุกราน การกระทำของศตรูต่างชาติ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์หรือการปฏิบัติการยึดอำนาจเยี่ยงสงคราม(ไม่ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามการเมือง การกำเริบ การเข็งเมือง การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจการปกครองโดยทหารที่เป็นข้อยกเว้นในกรมธรรม์ ล้วนบ่งบอกถึงความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าไม่อาจนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย ความไม่มีระเบียบ จนไม่สามารถควบคุมได้ อันถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่าการจลาจล

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,647,754,318.89 บาท สำหรับค่าเสียหายที่เชิงลงโทษที่โจทก์ขอมานั้น เห็นว่า การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายจากจำเลย เพิ่มติมจากสัญญาประกันภัยที่ทำไว้สำหรับภัยทั่วไป เพราะโจทก์ต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมภัยทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกันภัย ย่อมทราบดีถึงข้อตกลงและข้อยกเว้นรวมถึงการตีความและขอบเขตแห่งความรับผิดตามกรมธรรม์แต่ละฉบับที่ทำกับโจทก์ โจทก์ทำสัญญาเพิ่มเติมโดยยอมเสียเบี้ยประกัยตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายกว่า 8,914,161.44 บาท เพื่อหวังคุ้มครองภัยทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นแต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ปัดความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ที่ทำไว้กับโจทก์ไม่ว่ากรมธรรม์ฉบับใดซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมาก โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เสียเงินประกันภัยให้แก่จำเลยปีละกว่า 10 ล้านบาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นไปตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ แม้ทุนทรัพย์ที่เรียกจะเป็นเงินจำนวนมาก อันพอฟังได้ว่าจำเลยต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้รั้บประกันภัยต่อ แต่จำเลยก็ควรจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่สามารถจ่ายได้เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับบ้างในขณะที่บ.นิวแฮมพ์เชอร์ฯ ผู้รับประกันภัยร่วมได้ชำระค่าสินไหมทดแทนบางส่วนให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นที่จะปฏิบัติตามสัญญาโดยสิ้นเชิง เป็นการจงใจไม่เหลียวแลและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้บริโภค อันเป็นการฝ่าฝืนความรับผิดชอบ ในฐานะผู้มีวิชาชีพ เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษ เพื่อให้จำเลยใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการมากขึ้น ตามพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ม.42 ให้แก่โจทก์ 1 ใน 5 เท่าของความเสียหายที่ศาลพิพากษา 1,647,754,318.89 บาท คิดเป็นเงิน 329,550,863.07 บาท อีกส่วนหนึ่ง

พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 1,977,305,182.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง และให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลในนามโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท

ด้านนาย ณรัช อิ่มสุขศรี เลขานุการศาลแพ่ง กล่าวว่า คดีนี้ศาลแพ่งได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีพิเศษ ซึ่งหมายถึงคดีที่มีทุนทรัพย์สูง คดีที่คู่ความเป็นบุคคลสำคัญ หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งนี้ศาลแพ่งจะดำเนินคดีเหล่านี้ให้เสร็จโดยเร็วและตัดสินไม่เกิน 6 เดือน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้อง นอกจากตัดสินรวดเร็วแล้ว ศาลแพ่งยังให้ความสำคัญกับความละเอียดรอบคอบก่อนอ่านคำพิพากษา ร่างคำพิพากษาจะต้องได้รับการตรวจตรากลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้คำพิพากษาที่ตัดสินไปก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายมากที่สุด อีกทั้งในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้หากกระบวนการยุติธรรมไทยรวมทั้งศาล สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและเป็นธรรมแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับของชาติสมาชิกและนานาชาติ

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ศาลแพ่งยังได้อ่านคำพิพากษาคดีดำ ผบ.1219/2555 ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่อง ให้ชำระค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์อัคคีภัย ที่ได้ทำไว้กับอาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าสยามสแควร์ จำนวน 53 คูหา 48 กรมธรรม์ จำนวนเงิน 51,439,816.60 บาท กรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีคนร้ายลอบวางเพลิงเผาทรัพย์บริเวณศูนย์การค้าสยาม จนลุกลามไปยังอาคารพาณิชย์ รวมทั้งโรงภาพยนตร์สยามที่เอาประกันไว้

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุม ได้มีกลุ่มคนที่ไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย ไม่มีระเบียบจนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า การจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้น จึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจลอันเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจำนวน 51 คูหา 48 กรมธรรม์ แต่จำเลยคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่โจทก์ในความเสียหายของอาคารพาณิชย์รวม 2 กรมธรรม์ จำนวน 2 คูหา เป็นเงิน 1,780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5

ด้านนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า แม้ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาชี้พฤติการณ์ที่เกิดเหตุในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ช่วงการชุมนุมของ นปช.ว่า ไม่ใช่เป็นการก่อการร้ายแต่เป็นเหตุจลาจล แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อคดีที่มีการยื่นฟ้องคดีอาญากับแกนนำนปช. 24 ราย ในศาลอาญาฐานร่วมกันก่อการร้าย จากเหตุการณ์ชุมนุมตลอดปี 2553 เนื่องจากคดีที่มีการฟ้องแพ่งกัน โดยคู่ความเป็นเรื่องเอกชนฟ้องเอกชนเกี่ยวกับการประกันภัยซึ่งเป็นคนละคนกับจำเลยคดีที่เป็นคดีอาญา ซึ่งโจทก์ที่ฟ้องคือพนักงานอัยการที่มีการรวบรวมพยานหลักฐานและบรรยายพฤติการณ์การกระทำของกลุ่มจำเลยไว้โดยละเอียดในแต่ละช่วงเหตุการณ์ในปี 2553 ที่ไม่ใช่ช่วงเฉพาะในวันที่ 19 พ.ค. 2553 เท่านั้น ทั้งนี้การกระทำของจำเลยในคดีอาญาจะเป็นความผิดหรือไม่ ศาลอาญาจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจเอง แต่หากจำเลยในคดีอาญาจะนำคำวินิจฉัยส่วนหนึ่งของคดีแพ่งมาสนับสนุนความเห็นของตัวจำเลยเองว่า ไม่ได้กระทำผิด ฐานก่อการร้ายเพื่อมาต่อสู้ในคดีอาญาก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของจำเลย แต่ยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งไม่มีผลผูกพันให้ศาลอาญาจะต้องรับฟังทั้งหมด โดยศาลอาญาจะต้องวินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้น

เปิดคำพิพากษาศาลแพ่ง เผาเซ็นทรัลเวิลด์ “ไม่ใช่ก่อการร้าย”

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องพิจารณา 403 ศาลแพ่ง ถ. รัชดาภิเษก ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ ผบ.4326/54 ที่กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ โจทก์ที่่ 1 กับพวกอีก 3 คน ประกอบด้วย บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่่ 2 ,บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด ที่่ 3 และบริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด ที่่ 4 ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยในความ ผิดสัญญาประกันวินาศภัย จากกรณีเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ระหว่างการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ(นปช.)

โดยคำฟ้องระบุว่าโจทก์ทั้งสี่่่ ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยไว้กับจำเลย เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงและยุติลง มีการบุกรุกเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเซน ใช้ไฟเผาตามจุดต่าง ๆ ด้วยความคึกคะนอง เปลวไฟที่ลุกไหม้ได้ผ่านเข้าไปยังศุนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสี่เอาประกันไว้ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ให้โจทก์ทั้งสี่่่ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเงิน 2,848,448,119.08บาท ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชงักให้โจทก์ที่ 1และ 3เป็นเงิน 989,848,850.01 บาทและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าเสียหายทั้งสอง

ศาลมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าเป็น การกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือสั่งการจากแกนนำ ส่วนที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงปราศรัยมีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรงนั้น ถ้ามีการทำร้ายคนเสื้อแดงก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น แต่ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะสลายการชุมนุมเมื่อใดการปราศรัยจึงเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการสลายการชุมนุม ส่วนเรื่องที่รัฐบาลประกาศให้ยุติการชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่ได้ยุติและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จะมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายใดย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะเห็นว่ากลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน ไม่ได้ใช้ทักษะพิเศษใด ๆ ที่เป็นความชำนาญ สำหรับถังแก๊ส น้ำมัน ยางรถยนต์ ก็หยิบฉวยได้ในบริเวณใกล้เคียง ความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ที่สำคัญขณะมีการเผาห้างเซน แกนนำก็ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว คนร้ายที่เผาห้างสรรพสินค้าเซน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็มิได้ต้องการให้ข่มขู่รัฐบาลยุบสภาหรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เป็นการประทำที่หวังผลการทางเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่มีระเบียบ จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า “จลาจล” เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจลซึ่งเป็นภัยที่ได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเงิน 2,719,734,975.29 บาท และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แก่โจทก์ที่1และ 3 เป็นจำนวนเงิน 989,848,850.01 บาทและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าเสียหายทั้งสองแก่โจทก์ทั้งสี่และหรือสำนักงานส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กับโจทก์ที่1และ3ตามลำดับ นับแต่วันที่ 31 มี.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลในนามโจทก์กำหนดค่าทนายความให้ 60,000 บาท

อุทธรณ์พิพากษากลับเทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายประกันให้เซ็นทรัลเวิลด์ – เหตุปี 53

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18:39 น.
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4326/54 ที่กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ , บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) , บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด และบริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-4 ยื่นฟ้องบริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย ในความผิดสัญญาประกันวินาศภัย จากกรณีเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ(นปช.)

โดยคำฟ้องระบุว่าโจทก์ทั้งสี่่่ ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยไว้กับจำเลย เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงและยุติลง มีการบุกรุกเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเซน ใช้ไฟเผาตามจุดต่าง ๆ ด้วยความคึกคะนอง เปลวไฟที่ลุกไหม้ได้ผ่านเข้าไปยังศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสี่เอาประกันไว้ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ให้โจทก์ทั้งสี่่่ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเงิน 2,848,448,119.08 บาท ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้โจทก์ที่ 1และ 3 เป็นเงิน 989,848,850.01 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าเสียหายทั้งสอง

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2556 ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่มีระเบียบ จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า “จลาจล” เมื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจลซึ่งเป็นภัยที่ได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเงิน 2,719,734,975.29 บาท และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แก่โจทก์ที่1และ 3 เป็นจำนวนเงิน 989,848,850.01 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายทั้งสองแก่โจทก์ทั้งสี่และหรือสำนักงานส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กับโจทก์ที่1และ3ตามลำดับ นับแต่วันที่ 31 มี.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลในนามโจทก์กำหนดค่าทนายความให้ 60,000 บาท

ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทำให้บริษัทเทเวศประกันภัยฯ จำเลย ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิดแก่ กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ , บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) , บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด และบริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ โจทก์ทั้ง 4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามคู่ความทั้งสองฝ่ายยังมีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน

ศาลกลับคำพิพากษา ‘เทเวศฯ’ไม่ต้องจ่ายเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์

CPN เตรียมยื่นฎีกาหลังศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้บริษัท เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายสินไหม เหตุไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN แจ้งว่า ตามที่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุเพลิงไหม้โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จาก บริษัท เทเวศประกันภัยจำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด

และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทชนะคดีและให้เทเวศประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทนั้น

ล่าสุด วันที่ 9 ตุลาคม 2557 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท แต่ทั้งนี้ บริษัทจะยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ วันที่ 9 ตุลาคม 2557

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสิทธิขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 ให้ บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าสินไหมทดแทน แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ทรัพย์สินเสียหาย จากเหตุไฟไหม้ ในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 เป็นจำนวนเงิน รวมกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย

โดยทาง CPN ชี้แจงว่า บริษัทได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักวงเงิน 13,224 ล้านบาท และ 6,147 ล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย วงเงิน 3,500 ล้านบาทด้วย

ศาลฯไม่รับฎีกา CPN ร้องสินไหมเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์

CPN เผยศาลฯไม่รับฎีกา หลังศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเหตุเพลิงไหม้โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมระบุยังมีประกันภัยก่อการร้ายวงเงิน 3.5 พันล้านบาท ขณะที่ได้บันทึกขาดทุนทรัพย์สินเสียหายไปแล้วในปี 53 จำนวน 775 ล้านบาท

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) แจ้งว่า ตามที่บริษัท และบริษัทย่อยได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุเพลิงไหม้โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จาก บมจ.เทเวศประกันภัย ตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด ซึ่งในวันที่ 24 ส.ค.60 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และไม่รับฎีกาของบริษัทที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) วงเงิน 3,500 ล้านบาท ไว้อีกกรมธรรม์หนึ่งโดยบริษัทจะดำเนินการเรียกให้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการก่อการร้ายต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการบันทึกขาดทุนจากการตัดจำหน่ายทรัพย์สินที่เสียหายของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์มูลค่า 775 ล้านบาทแล้ว ในงบการเงินประจำปี 2553

CPN สรุปสารสนเทศที่สำคัญเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
1.วันที่ 1 มีนาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทชนะคดี และให้เทเวศประกันภัยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากทรัพย์สินเสียหายให้แก่บริษัทโดยเทเวศประกันภัยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
2. วันที่ 9 ตุลาคม 2557 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท
3. วันที่ 9 มีนาคม 2558 บริษัทยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา
4. วันที่ 24 สิงหาคม 2560 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และไม่รับฎีกาของบริษัทไว้พิจารณา

ด้านบล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อตอนปี 2553 ซึ่งทางบริษัทได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทุกชนิด (Industrial All Risk) และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) วงเงิน 13,224 ล้านบาท และ 6,147 ล้านบาท ตามลำดับ รวมถึงได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) วงเงิน 3.5 พันล้านบาท เพื่อครอบคลุมต่อทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยแรกเริ่มเมื่อปี 2554 CPN ได้ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยฯ ให้รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงทุกชนิดจำนวน 2,848.4 ล้านบาท และประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจำนวน 989.9 ล้านบาท ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนของศาลเรื่อยมาตามเวลาข้างต้น

ถึงแม้สุดท้าย CPN ไม่สามารถได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ตามประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิด แต่ยังมีประกันภัยก่อการร้ายซึ่งคงต้องติดตามผลของคดีต่อไป เนื่องจากคาดใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะสรุปความชัดเจน จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการและมูลค่าพื้นฐานอิง DCF-WACC 8.4% Fair Value ปี 2560 ที่ 70.00 บาท

CPNเผยศาลไม่รับฎีกาค่าสินไหมเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์

CPN เดินหน้าเรียกค่าสินไหมประกันภัยก่อการร้ายเซ็นทรัลเวิลด์ แม้ชวดค่าเสียหายเพลิงไหม้

เซ็นทรัลพัฒนา” เผยศาลฎีกาไม่อนญาตให้ฎีกาในคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเหตุเพลิงไหม้โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ของบริษัทฯ กับเทเวศน์ประกันภัย เตรียมเรียกค่าเสียหายประกันอีกราย

นางสาวอัมพาวีร์ ชมภูพงษ์เกษม เลขานุการบริษัท บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุเพลิงไหม้โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จาก บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิดนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และไม่รับฎีกาของบริษัทไว้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) วงเงิน 3,500 ล้านบาท ไว้อีกกรมธรรม์หนึ่ง โดยบริษัทจะดำเนินการเรียกให้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการก่อการร้ายต่อไป ทั้งนี้บริษัทได้มีการบันทึกขาดทุนจากการตัดจำหน่ายทรัพย์สินที่เสียหายของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์มูลค่า 775 ล้านบาทแล้ว ในงบการเงินประจำปี 2553

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2556 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทชนะคดี และให้เทเวศประกันภัยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากทรัพย์สินเสียหายให้แก่บริษัท โดยเทเวศประกันภัยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น และวันที่ 9 ต.ค.2557 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ต่อมาวันที่ 9 มี.ค.2558 บริษัทยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา จนวันที่ 24 ส.ค.2560 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และไม่รับฎีกาของบริษัทไว้พิจารณา

CPN ได้เงินประกัน!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 ก.ย.60 ปิดที่ 1,659.05 จุด ลดลง 11.44 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 64,498.84 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,970.92 ล้านบาท

หุ้นที่ซื้อขายสูงสุด AOT ปิด 58 บาท ลบ 1.25 บาท, PTT ปิด 406 บาท ลบ 8 บาท, BANPU ปิด 17.40 บาท บวก 0.40 บาท, KBANK ปิด 206 บาท ลบ 4 บาท และ TRUE ปิด 6.10 บาท ลบ 0.25 บาท

หุ้นไทยโดนขายทำกำไรจนเริ่มเห็นการย่อตัวอย่างชัดเจน หลังดัชนีปรับขึ้นติดต่อกันร่วม 100 จุด จนทำให้พื้นฐานขึ้นตามไม่ทันราคาหุ้น เมื่อไม่มีปัจจัยบวกใหม่ จึงเห็นการขายทำกำไรกดดัชนีเป็นเรื่องปกติ

ขณะที่หุ้น CPN เด้งบวกรับข่าวได้เงินประกัน 3.5 พันล้าน คดีเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ โดยราคามาปิดที่ 77 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุด 77.50 บาท บล.เอเซีย พลัส แนะ “ซื้อ” ได้เงินประกันภัยก่อการร้าย 3.5 พันล้าน จากเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์เป็นปัจจัยบวก เนื่องจากเหตุไฟไหม้เกิดตั้งแต่ปี 53 และบริษัทได้ตั้งบันทึกการขาดทุนจากการตัดจำหน่ายทรัพย์สินที่เสียหายมูลค่า 775 ล้านบาท ในงบการเงินปี 53

ขณะที่มีการยื่นฟ้องความเสียหายจากบริษัทประกันภัยฯที่ได้ทำ
– ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทุกชนิด วงเงิน 13,224 ล้านบาท
– การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก 6,147 ล้านบาท
– ประกันภัยการก่อการร้ายวงเงิน 3.5 พันล้านบาท

ซึ่งท้ายที่สุดบริษัทได้รับชดเชยจากกรมธรรม์ก่อการร้ายเต็มจำนวน 3.5 พันล้านบาท (หรือ 0.78 บาท/หุ้น) คาดบันทึกใน 3Q60 ถือเป็นปัจจัยพิเศษเพิ่มเติม (ยังไม่ได้รวมในประมาณการ) ที่จะช่วยสร้างแรงเก็งกำไรให้กับราคาหุ้น

แม้ราคาปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นจาก Fair VaIue ปี 60 ที่ 70 บาท และมี upside จำกัดจาก Fair VaIue ปี 61 ที่เพิ่มเป็น 77 บาท แต่ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตระยะยาวจากแผนพัฒนาศูนย์ฯใหม่ปีละ 2-3 โครงการ ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผย จะเป็น upside เพิ่มเติมอีกในอนาคต ดังนั้นการลงทุนที่เหมาะสมจึงควรหาจังหวะเมื่อราคาอ่อนตัวลงมา!!

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองตลาดสัปดาห์หน้าดัชนีแกว่งออกด้านข้าง หรือมีโอกาสย่อตัวลงหากปัจจัยต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนอย่างปัญหาความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีปะทุ หรือเกิดเหตุไม่คาดฝัน รวมทั้งการเมืองสหรัฐฯในการพยายามผลักดันนโยบายด้านภาษี

กลยุทธ์ลงทุนถือหุ้นเพื่อรอดูสถานการณ์ต่างประเทศ แต่หากดัชนีปรับตัวขึ้น ควรหาจังหวะขายทำกำไรบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนนักลงทุนที่จะเข้าเก็งกำไร ตราบใดที่ดัชนีไม่หลุดแนวรับ 1,650 จุด เก็งกำไรได้ด้วยความระมัดระวัง กำหนดจุดขายตัดขาดทุนอย่างเคร่งครัด พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 1,650 จุด ส่วนแนวต้าน 1,680 จุด!!





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow