INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 18:52:09
Home » ข่าวประกันภัย » ฟีนิกซ์เหยื่อสังเวยกฎเหล็กคปภ.ถอยหลังขายทิ้งกิจการ100%\"you

ฟีนิกซ์เหยื่อสังเวยกฎเหล็กคปภ.ถอยหลังขายทิ้งกิจการ100%

2012/05/18 1445👁️‍🗨️

ฟีนิกซ์เหยื่อสังเวยกฎเหล็กคปภ.ถอยหลังขายทิ้งกิจการ100% 

“ฟีนิกซ์” เตรียมแผนขายธุรกิจให้ต่างชาติภายในปีนี้ ระบุอยู่ระหว่างเคลียร์หนี้-เพิ่มทุนรับทุนหน้าใหม่ ยอมรับกฎเหล็ก คปภ. ที่เข้มงวดฉุดบริษัทประกันเล็กทนไม่ไหวต้องขายกิจการทิ้ง พร้อมมองประกันภัยไทยอยู่ในช่วงสุญญากาศ

เหตุประกันภัยต่อยังแหยง แนะรัฐเก็บค่าต๋งตามมาร์เก็ต แชร์ พร้อมขนประกันคุ้มภัยน้ำท่วมจับตลาดกรุงเทพฯ 50 เขต 50 ล้าน
แหล่งข่าวจากบริษัทฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายหุ้น 100% ของบริษัทแก่พันธมิตรที่สนใจ รวม 3 ราย โดยรายที่มองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ในการขายหุ้น จะเป็นกลุ่มทุนจากฮ่องกง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมจากนี้ได้ โดยระหว่างการเจรจานั้นบริษัทจะต้องเร่งเคลียร์ระบบบริหารจัดการ (หลังบ้าน) โดยเฉพาะการเพิ่มทุน 75 ล้านบาท ให้ลงตัว รวมถึงเร่งเคลียร์ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกันที่มีไม่ต่ำกว่า 60-70 ล้านบาท โดยจะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นในปีหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะมีทุนใหม่ และมีทีมผู้บริหารใหม่ เรียกว่าเปลี่ยนมือเจ้าของไปเลยก็ได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นยอมรับว่าสาเหตุที่ตัดสินใจขายบริษัท ส่วนหนึ่งมาจากกฎระเบียบที่เข้มงวดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. โดยเฉพาะการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง(Risk Based Capital) ยิ่งทำให้บริษัทเล็กเข้าสู่กระบวนการขายกิจการมากขึ้นและเร็วขึ้น
นายสุชาติ กงทอง ผู้จัดการฝ่ายรับประกันภัยทั่วไปบริษัทฟีนิกซ์ (ประเทศไทย)ฯ  ให้ข้อมูลถึงแผนบริหารความเสี่ยง ว่าอยู่ระหว่างเสนอให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณา นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มทุนให้ครบตามจำนวน จากที่ผ่านมาบริษัทมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นอยู่ที่ 700 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนรวม 775 ล้านบาท
ดังนั้นภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ บริษัทเตรียมเพิ่มทุนให้ครบ 75 ล้านบาท โดยแผนงานกำหนดไว้ที่เงินใส่เข้าไปไตรมาสละ 25 ล้านบาท คาดหลังเพิ่มทุนจนเต็มเพดานแล้วจะทำให้บริษัทสามารถรองรับการขยายงานที่เพิ่มขึ้น และเป็นไปตามเกณฑ์ของทาง คปภ. จากหลัก RBC โดยอัตราดำรงอยู่ของเงินกองทุน ล่าสุดอยู่ที่ 125%
ขณะที่นายธนะศักดิ์ ชัยกรณีกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทเดียวกัน  กล่าวว่า ตลาดประกันภัยในประเทศไทยตอนนี้เหมือนอยู่ในช่วงสุญญากาศ เพราะไม่มีบริษัทประกันภัยต่อกล้าเข้ามารับงาน เพราะกลัวเรื่องความเสี่ยงจากการเรียกค่าเคลมสินไหมที่สูงมาก จึงเห็นได้ชัดเจนว่าหลายบริษัทได้ประกาศยกเลิกขายประกันภัยน้ำท่วมโดยไม่มีกำหนดแล้ว ทั้งนี้ตัวนโยบายของกองทุนภัยพิบัติ ภายใต้เงินกองทุน 5 หมื่นล้านบาท อาจไม่เป็นผลดีกับบริษัท ส่วนที่กำหนดให้ทุกบริษัทที่ขายประกันภัยน้ำท่วมโดยส่งเงินสมทบในอัตราเดียวกันนั้นอาจไม่เป็นธรรมต่อบริษัทรายเล็ก จึงควรกำหนดให้นำส่งเงินตามสัดส่วนการตลาดจะทำได้ง่ายกว่า
นายสุชาติ กล่าวถึงผลประกอบการ ปี 2554 ว่า มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 182 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตสูงกว่าปี 2553 ถึง 200% สำหรับปี 2555 บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการไว้ที่ 220 ล้านบาท โดยคงสัดส่วนเบี้ยรถยนต์ (motor)และกลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ (non motor) ไว้ที่ 50% และ 50% เช่นเดิม  สำหรับแผนการทำตลาด non motor ปี 2555 จะเดินหน้าทำตลาดประกันภัยบ้านน้ำท่วม ผ่านกลยุทธ์ออกออกผลิตภัณฑ์ภายใต้ Saving Smile โดยเน้นไปที่ตลาดบ้านและร้านค้าขนาดเล็ก เน้นให้ความคุ้มครองไม่เกินรายละ 1 แสนบาท โดยรวมเบี้ยประกันอัคคีภัยและอุทกภัย สำหรับบ้านและที่อยู่อาศัย คิดเบี้ยประกันภัยหลังละ 1,500 บาท และร้านค้า คิดเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 2,000 บาท โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันทั้งปีไว้ที่ 50 ล้านบาท
“เรามองว่าจะเปิดขายโปรดักต์ประกันน้ำท่วมให้ได้ทุกเขตของกรุงเทพฯ เฉลี่ยเขตละ 1 ล้านบาท หากเต็มแล้วก็จะเลิกขาย เพื่อจำกัดความเสี่ยงให้อยู่ภายในกรอบที่เรารับได้ ประกอบกับการที่เราไม่ส่งงานให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อ หากกรุงเทพฯ เสียหายเต็มพื้นที่ 100% หรือทุกเขตเราก็จะจ่ายเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น” ฝ่ายรับประกันภัยทั่วไป กล่าวในที่สุด
อนึ่งก่อนหน้าคนวงในระบุว่า ในอีก 2 ปีตั้งแต่ปี 55-56เทรนค่าเบี้ยยังสูงขึ้น 50% สาเหตุหลัก  “รีอินชัวเรอร์”นำข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีคิดค่าความเสี่ยงภัยและลดคอมมิสชันเหลือ 20%จากเดิม 27.5%แม้ภาครัฐจะออกกองทุนประกันภัยพิบัติ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทแต่ยังไม่ทำให้ รี อินชัวเรอร์กลับมามั่นใจได้ทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,714   16-18  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow