ร้องเรียนประกันภัย / ร้องเรียน คปภ ออนไลน์
การพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัย โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องเรียนกับบริษัทประกันภัยอย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน เพื่อเป็นการบริการประชาชนได้อย่างสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม
ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย (Insurance Complaint Center : ICC)
มีภารกิจหลักในการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนเกี่ยวกับการประกันภัย โดยประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. กระดานร้องเรียนขอความเป็นธรรม ในเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือ อีเมล์ : ppd@oic.or.th (Policyholder Protection Department Office Of Insurance Commission)
2. ยื่นหนังสือร้องเรียน หรือยื่นผ่านหน่วยงานอื่น
3. ประชาชนสามารถเดินทางเข้าไปขอรับบริการ หรือร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย (Insurance Complaint Center : ICC) ตั้งอยู่ที่สำนักงาน คปภ.ในส่วนกลาง และสำนักงาน คปภ. ภาค/เขต/จังหวัด ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
ขั้นตอนการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยสรุปได้ดังนี้
(1) เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้เจ้าหน้าดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิคส์ (E-Mail) ไปถึงผู้มีอำนาจของบริษัทประกันภัยเพื่อมาพบเจ้าหน้าที่และชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมแนบคำร้อง/เอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือไฟล์เอกสารคำร้อง/เอกสารที่เกี่ยวข้อง
(2) เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยเร็ว
(3) กรณีมีความจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียนและบริษัทเพื่อหาข้อยุติ หากจำเป็นต้องรับฟังคำพยานภายนอก หรือจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานอื่น ให้เจ้าหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริงไปยังพยานภายนอก หรือหน่วยงานนั้นๆ เป็นลายลักษณ์อักษร และหากได้พยานหลักฐานเอกสารครบแล้วให้สรุปประเด็นทั้งหมดและเชิญผู้ร้องเรียนมาหารืออีกครั้ง
(4) ให้เจ้าหน้าที่แจ้งคู่กรณีทุกฝ่ายมาพร้อมกันเพื่อหาแนวทางประนอมข้อพิพาท หากสามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่พิพาทข้อใดก็ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ การจัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในประเด็นที่พิพาทนั้น ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่กฎหมายกำหนด
(5) กรณีเจ้าหน้าที่ดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแล้ว หากคู่กรณีตกลงยุติข้อพิพาทกันไม่ได้ และเป็นกรณีที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ให้เจ้าหน้าที่สอบถามคู่กรณีว่าประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ชำนาญการหรือไม่ หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ชำนาญการต่อไป
https://www.oic.or.th/th/consumer/complaint1
http://oiceservice.oic.or.th/oicrequest/index.php