INSURANCETHAI.NET
Thu 21/11/2024 16:58:53
Home » การประกันภัย การเงิน การลงทุน ธุรกิจ » ค่าลดหย่อนประกันชีวิต/ประกันชีวิตแบบบำนาญ/ประกันสุขภาพ\"you

ค่าลดหย่อนประกันชีวิต/ประกันชีวิตแบบบำนาญ/ประกันสุขภาพ

2021/12/12 1905372👁️‍🗨️

1. หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต
คำถาม :   การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ :    สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)  ต้องเป็นไปตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 235) ดังนี้
          1. กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องทำประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
              (1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้
              (2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
                    ก. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
                    ข. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดนอกจาก ก. เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ
                     ค. กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม ก. หรือ ข. ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
          ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม ก. และหรือ ข. และหรือ ค. ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์
              2. ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี
             3. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และผู้รับประกันภัยต้องระบุเพิ่มเติม หากมีกรณีดังต่อไปนี้
              (1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน
              (2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์
          4. กรณีผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 2. แล้ว ต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตาม 1. ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 2. และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

2. หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
คำถาม :   การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ :   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคสอง ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261) แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน ตามข้อ 2(61) วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 279 (พ.ศ.2554)
          1.  กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีลักษณะ  ดังนี้
               (1)  กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
                   (2)  เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
                   (3)  มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าว จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้  โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
                 (4)  มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น  และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ
           2.  กรณีเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว  หรือแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี  ให้ยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)  และให้ยกเว้นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามหลักเกณฑ์  ดังนี้
                (1)  ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  ทั้งนี้  เมื่อได้รวมกับที่ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี  หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ  ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                (2)  กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น ตามข้อ 2(1) ของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้
               ในกรณีสามีหรือภริยา ซึ่งได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี  ให้สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร 
           3.  มีหลักฐานจากผู้รับประกันภัย ซึ่งได้รับรองว่า เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้น
           4.  กรณีผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2. ข้างต้นแล้ว  ต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 1.  ผู้มีเงินได้ดังกล่าว หมดสิทธิได้รับยกเว้น และต้องเสียภาษีเงินได้ สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้ว  นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว  พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

3. ชาวต่างชาติมาทำงานในไทยหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้
คำถาม :   ชาวต่างชาติมาทำงานในไทยจะสามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้หรือไม่
คำตอบ :   ได้ ตามเงื่อนไข คือต้องมีกำหนดเวลาเอาประกัน 10 ปี ขึ้นไป และทำประกันชีวิตไว้กับผู้ประกอบกิจการรับประกันชีวิตในราชอาณาจักร ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

4. สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตนำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   นาย ก มีเงินได้จากการขายของ สมรสระหว่างปี คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ทำก่อนสมรส นาย ก สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   ปีที่ทำการสมรส นำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาหักลดหย่อนไม่ได้ เนื่องจากความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี แต่ปีถัดไปสามารถนำมาหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร

5. กรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรและบิดามารดา นำมาหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :    นาย ก ได้ทำประกันชีวิตให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและบิดาสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   เบี้ยประกันชีวิตของบุตรและบิดา ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(1)(ง)แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักลดหย่อนเบี้ยประกันที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เท่านั้น

6. ได้เงินคืนค่าเบี้ยประกันชีวิต เนื่องจากเวนคืนอายุกรมธรรม์ ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้  
คำถาม :   นาย ก  ได้รับการเสนอขายประกันชีวิตจากบริษัทรับประกันชีวิตในราชอาณาจักร โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตมีผลคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เงื่อนไขกรมธรรม์ ชำระค่าเบี้ยประกัน 4 ปีๆ ละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท และสิ้นปีที่ 4 สามารถเวนคืนเงินประกันได้เต็มจำนวนพร้อมส่วนเพิ่ม รวมเป็นเงิน 409,000 บาท ขอทราบว่าถ้าใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปีแล้ว เงินที่ได้รับในปีที่ 4 มีผลกระทบต่อค่าลดหย่อนที่ใช้สิทธิแล้วหรือไม่
 คำตอบ :   การเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าว ถือว่า กรมธรรม์มีกำหนดเวลาไม่ถึง 10 ปี เป็นการผิดเงื่อนไข ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ ฉบับที่ 172  ดังนั้น จึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้ เพื่อปรับปรุงการหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้เกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้ถูกต้อง และชำระเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม (ถ้ามี) ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว
         สำหรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับคืน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร

7. ซื้อเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงประเภทเดียว จะหักลดหย่อนอย่างไรเมื่อรวมกับการซื้อหน่วยลงทุน RMF  และเงินที่จ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คำถาม :   นาย ก.  มีเงินได้ทั้งปี จำนวน 1,280,000 บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 143,500 บาท จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 128,000 บาท และจ่ายเงินซื้อหน่วยลงทุน RMF จำนวน 121,000 บาท   นาย ก. สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนได้เท่าไหร่
คำตอบ :   การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ 100,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน ตามข้อ 2(61) วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)  แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 279 (พ.ศ.2554) โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 236) มีวิธีการคำนวณเพื่อนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปใช้หักลดหย่อนภาษี ดังนี้
          1. คำนวณยอดการใช้สิทธิหักไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้( 1,280,000 x 15 %) = 192,000 บาท
          2. จ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 143,500 บาท
              ให้ใช้สิทธิหักประกันชีวิตปกติก่อน (10,000 + 90,000) = 100,000 บาท
              ส่วนที่เหลือนำไปใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 43,500 บาท(143,500 – 100,000)   
          3. นำยอดค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือ 43,500 บาท เทียบกับวงเงินตาม 1. พบว่าไม่เกิน 192,000 บาท(15 % ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท)
          4. นำยอดค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือ ไปรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน  500,000 บาท
    ( 43,500 + 128,000 + 121,000 = 292,500  บาท ) พบว่าไม่เกิน 500,000 บาท
          ดังนั้น  ในปีภาษี 2560 นาย ก สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนได้ ดังนี้
               1. หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบปกติ 100,000 บาท และ
               2. หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 43,500 บาท
          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคสอง ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261) แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน ตามข้อ 2(61) วรรคสองและวรรคสาม ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 279 (พ.ศ.2554)

8. เบี้ยประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อ หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้หรือไม่
คำถาม :   ในปี 2560   นาย ก. ทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินกับธนาคาร โดยธนาคารกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้กู้จะต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินเชื่อของธนาคาร ระยะเวลาประกัน 20 ปี กับบริษัทประกันชีวิตในไทย และผู้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระหนี้สินที่ผูกพัน เมื่อ นาย ก. ชำระเบี้ยประกัน ได้รับใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัย แบบคุ้มครองสินเชื่อ ดังกล่าว และได้รับหนังสือรับรองการประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานและถือเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันชีวิต นาย ก. สามารถนำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
คำตอบ :   การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ให้ยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น
                 กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หากเป็นกรมธรรม์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ไม่สามารถนำไปใช้คำนวณในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศฉบับดังกล่าว ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต และกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หลักฐานต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน หากผู้รับประกันภัยไม่ได้แยกจำนวนเงิน ให้นำหลักฐานดังกล่าวไปให้ผู้รับประกันภัยแยกจำนวนเงินให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะนำมาเป็นหลักฐานในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้ เนื่องจากไม่เป็น ตามข้อ 4 ของประกาศฉบับดังกล่าว

9. ลักษณะการประกันสุขภาพบิดามารดา
คำถาม :   การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะอย่างไร จึงจะได้รับยกเว้นเงินได้
คำตอบ :   การประกันสุขภาพบิดามารดา ต้องมีลักษณะ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้ 
                        1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
                        2. การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
                   3. การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
                        4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

10. หลักฐานการยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
คำถาม :   การใช้สิทธิ์ยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาต้องแสดงหลักฐานอะไรบ้าง
คำตอบ :   ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อย ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) ดังนี้
                      1.  ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
                      2.  ชื่อ และ นามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
                      3.  ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้เอาประกันภัย
                      4.  จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2
                      5.  จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

11. จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้บุตร ไม่สามารถหักค่าลดหย่อน
คำถาม :    นาย ก  ได้ทำประกันสุขภาพให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะและเป็นผู้จ่ายเงินค่าเบื้ยประกันด้วยตนเองจะนำเบี้ยประกันสุขภาพดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   เบี้ยประกันสุขภาพของบุตร  ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อน

12. จ่ายเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยการเดินไปต่างประเทศ  
คำถาม :    ในปีภาษี 2560 นาย ช  ได้ทำเบี้ยประกันชีวิต แบบทั่วไปกรมธรรม์มีอายุ 15 ปี โดยจ่ายเบี้ยประกันชีวิต จำนวน 100,000 บาท และได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยการเดินทางไปต่างประเทศอีกจำนวน  12,000 บาท  สามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันได้จำนวนเท่าใด
คำตอบ :   นาย ช. จะสามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น

13. จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดาคู่สมรส หักค่าลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน  15,000 บาท
คำถาม :    นาย ฉ  ได้มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดา-มารดาของคู่สมรส  จำนวน  12,000 บาท  โดยนาย ฉ. เป็นผู้มีเงินได้แต่เพียงฝ่ายเดียว สามารถหักลดหย่อนได้จำนวนเท่าใด
คำตอบ :   นาย ฉ. จะสามารถหักลดหย่อนสำหรับการประกันสุขภาพของบิดา-มารดาคู่สมรสตามจำนวนที่จ่ายจริง 12,000 บาท ตามข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 162 ข้อ 1(5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท   

14. ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดา ต้องเฉลี่ยค่าเบี้ยประกัน
คำถาม :    นาย ต  นาย ภ  และ นาย ฉ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และมีเงินได้ทุกคน  ได้มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับบิดาจำนวน  12,000 บาท  จะหักลดหย่อนได้จำนวนเท่าใด
คำตอบ :   กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดา-มารดา  ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ ดังนั้นจึงหักค่าลดหย่อนได้คนละ 4,000 บาท

2560 Ref.https://www.rd.go.th/60058.html ปรับปรุงล่าสุด 03-12-2021





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow