INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 19:05:03
Home » Don't miss it กมลประกันภัย ประวัติบริษัทประกันวินาศภัย » กมลประกันภัย(ปิด)\"you

กมลประกันภัย(ปิด)

2011/03/09 4505👁️‍🗨️

กมลประกันภัย / กมลสุโกศลประกันภัย / สัจจะประกันภัย

พ.ศ. 2516 จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท กมลสุโกศลประกันภัย จำกัด
พ.ศ. 2548 -2551 กลุ่มผู้ลงทุนชุดใหม่เข้ามาบริหารจัดการ ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท เป็น 150 ล้านบาทและเพิ่มครบ 200 ล้านบาทภายในเวลาต่อมาในเดือน มกราคม 2549 ได้ย้าย สำนักงานใหญ่ จาก 666 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มาที่ 361 ถนนบอนด์สตรีท (เมืองทองธานี 3) ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 เพื่อรองรับปริมาณงาน ที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องและได้ พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

พ.ศ. 2552 ในเดือนกันยายน 2552 ได้มีการปรับโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นและเพิ่มทุนโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่นำโดยนาย สุวรรณโชตชวเลิศ ร่วมกับ กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่และดีลเลอร์รถยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ ที่มีความเข้มแข็ง ด้านการเงินได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น450 ล้านบาทซึ่งการเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทกมลประกันภัยจำกัด(มหาชน)มีเงินกองทุน ที่สูงเกินค่ามาตรฐานของเงินกองทุนที่กฏหมายกำหนด อันเป็นการสร้างความมั่นใจ ให้แก่ลูกค้าของ บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน)

kamolinsurance

Call Center กมลประกันภัย
ศูนย์บริการรับแจ้งอุบัติเหตุ (02-502-2888) ทั้งประกันภัยรถยนต์และการประกันภัยทั่วไป ด้วยเจ้าหน้าที่รับแจ้งอุบัติเหตุุที่สามารถควบคุมเวลาการตรวจอุบัติเหตุของเจ้าหน้าที่สินไหมที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงให้ข้อมูลบริการด้านสินไหมเบื้องต้นแก่ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง

บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน)
สำนักงานใหญ่ 361 ถ.บอนด์สตรีท ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
Tel : 0-2502-2999 Fax : 0-2502-2955
เว็บไซต์ kamolinsurance.com

บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อบริษัท กมลสุโกศลประกันภัย จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2516 และต่อมาในปี พ.ศ. 2548 จดทะเบียนแปรสภาพเป็น มหาชน จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากทุน จดทะเบียน 55 ล้านบาทเป็น 150 ล้านบาทและเพิ่มครบ 200 ล้านบาท ภายในเวลาต่อมาในเดือนมกราคม 2549 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่จาก 665 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มาที่ 361  ถนนบอนด์สตรีท (เมืองทองธานี3) ต.บางพูด  อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี

ปี พ.ศ.2552 บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น  450 ล้านบาท     ซึ่งการเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวนี้ทำให้ บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน)  มีเงินเงินกองทุนที่สูงเกินค่ามาตรฐานของเงินกองทุนที่กฎหมายกำหนดและต่อมาในเดือนตุลาคม 2553 ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 480 ล้านบาท

พ.ศ. 2554 บริษัทฯได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 550 ล้านบาทและย้ายสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 421,423 ถนนบอนด์สตรีท (เมืองทองธานี3) ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

1 มกราคม 2559 ได้มีกลุ่มทุนนำโดย นางสาวลินดา เมฆดารา  เข้าซื้อกิจการของบริษัทจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไว้ทั้งหมดและได้ดำเนินการเพิ่มทุนอีกจำนวน 150 ล้านบาท(ชำระแล้ว)  เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 รวมกับทุนจดทะเบียนเดิม 550 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินกองทุนที่ได้ชำระแล้วรวม 700 ล้านบาท อันเป็นการสร้างความมั่นคงและเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้าของบริษัท    ซึ่งทางบริษัทได้ทำการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น  บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด(มหาชน) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ปัจจุบันบริษัทฯได้เปิดดำเนินกิจการในชื่อ “บริษัทสัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)”

421,423 ถนน บอนด์สตรีท ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
Phone: 0-2502-2999
Email: info@sajjainsurance.com
https://www.sajjainsurance.com

“คปภ.” สั่ง “กมลประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2558 หลังเงินกองทุนไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำเดือนสิงหาคม 2558 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

ด้วยบริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน แต่บริษัทไม่เสนอโครงการต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา ประกอบกับบริษัทดำรงสินทรัพย์สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด  บันทึกบัญชีเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน ไม่บันทึกหนี้สินรายการค่าปรับ ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ บริษัทจึงมีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

คณะกรรมการ คปภ. จึงพิจารณาเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1.    บันทึกรายการหนี้สิน ได้แก่ เงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย ค่าปรับ  ให้ครบถ้วนเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและตามที่กฎหมายกำหนด

2.    จัดหาเงินทุน เช่น การเพิ่มทุน ให้เพียงพอต่อภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด

3.    จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสมเพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัย ระบบงาน ได้แก่ ความพร้อมในระบบบัญชีการเงิน ระบบการเสนอขายและการพิจารณารับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบ และระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม เป็นต้น รวมถึงให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละระดับเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

4.    ให้บริษัทแก้ไขและดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมได้ตามปกติ เช่น การจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่สามารถขายกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ได้ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำที่บริษัททุกวันเพื่อประสานให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th

“กมลประกันภัย” รอดจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาต
กมลประกันภัย”รอดจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาต คปภ.วิเคราะห์เชิงลึกข้อกฎหมายและแผนธุรกิจใหม่ก่อนไฟเขียวให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ตามที่นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 และให้บริษัทเร่งแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนและหนี้สินต่างๆให้ครบถ้วน การจัดหาเงินทุนเพื่อทำให้บริษัทดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และปรับปรุงให้มีระบบงานของบริษัทและบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพนั้น แต่เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครบถ้วน สำนักงาน คปภ.โดยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. จึงเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน)นั้น

ต่อมาบริษัทได้ส่งหนังสือนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาระงับการ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทและให้บริษัทดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องมายังปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ คปภ. พิจารณา และสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม บอร์ด คปภ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ซึ่งที่ประชุม คปภ.พิจารณาแล้วมีมติให้สำนักงาน คปภ. ดำเนินการเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมและวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับแผนธุรกิจและความเพียงพอของเงินทุนของบริษัทเพื่อประกอบการพิจารณาของ บอร์ดคปภ.ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และเสนอต่อบอร์ด คปภ.อีกครั้งหนึ่งก่อนสรุปความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป

ในการประชุมบอร์ด คปภ. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคปภ. ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมและการวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับแผนธุรกิจของบริษัททั้งด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านความสามารถในการขยายธุรกิจ ด้านความสามารถในการทำกำไร ด้านฐานะการเงินและความมั่นคงทางการเงิน ด้านความพร้อมของระบบการควบคุมภายในและบุคลากร ประเด็นความเสี่ยงต่างๆ แนวทางการตรวจสอบและติดตามของสำนักงานคปภ. ตลอดจนความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ฯลฯ ต่อที่ประชุมบอร์ดคปภ. ซึ่งได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในทุกมิติแล้ว มีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานคปภ.ว่า บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้แก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียน ที่ 21/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 ซึ่งออกตามความในมาตรา 52 ครบถ้วนแล้ว ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ การบันทึกหนี้สินได้ครบถ้วน อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเกินกว่าที่อัตรากฎหมายกำหนด และมีระบบงาน ระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ มีบุคลากรที่พร้อมจะเปิดดำเนินธุรกิจ และมีคุณภาพในการให้บริการแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย จึงเห็นควรให้ยุติการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทและอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป และให้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อโปรดทราบต่อไป

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น กล่าวคือ ภายหลังที่ทางคปภ.มีหนังสือเสนอ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท ปรากฎว่าบริษัทมีการเพิ่มทุนเข้ามาในบริษัท โดยมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากรวม 150 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนร้อยละ 157.10 อีกทั้งบริษัทยังได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทชุดใหม่ ปรับแผนธุรกิจใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขระบบงานของบริษัทพร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานส่งให้สำนักงานคปภ.แล้ว โดยการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ทำอย่างรอบคอบตรงไปตรงมา โดยมีกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้น รัดกุม และที่สำคัญมีข้อกฎหมายและข้อมูลต่างๆรองรับอย่างชัดเจน อีกทั้งยังผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกลั่นกรองและเสนอแนะการใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาบริษัทประกันภัยที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการ ICU” ถึง 3 ครั้ง รวมทั้งบอร์ดคปภ.เองก็ได้พิจารณากันอย่างละเอียดและซักถามข้อสงสัยต่างๆพร้อมให้สำนักงานคปภ.วิเคราะห์ในเชิงลึก โดยพิจารณาทั้งประเด็นข้อกฎหมายและประเด็นอื่นๆประกอบกันทั้งก่อนที่จะมีมติก็ได้ให้ข้อสังเกตไปปรับปรุงในหลายประเด็น ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว

“แม้ว่าจะยุติการเพิกถอนใบอนุญาตฯของบริษัทและเห็นชอบให้บริษัทเปิดดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่สำนักงาน คปภ.จะยังคงติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคงน่าเชื่อถือ”

กมลฯล้างบ้านก่อนชื่อ‘สัจจะ’ ลั่นไม่เบี้ยวเดินตามแผนคปภ.
ทุนใหม่กมลประกันภัย ลั่นขอเก็บกวาดบ้านให้สะอาด ล้างภาพกมลฯเก่า ลุยปรับพอร์ตงานรับประกันพร้อมเร่งสะสางเคลียร์หนี้เก่า ก่อนเดินหน้าสยายปีกบุกงานนอนมอเตอร์ เล็งเป้าหมายรับประกันลูกค้าที่เป็นพันธมิตรในโครงการอสังหาฯอย่างแอลพีเอ็น และณุศาศิริ พร้อมเปลี่ยนชื่อ “สัจจะประกันภัย”ยันไม่เบี้ยวแน่ พร้อมเดินตามแผน3ปีให้ไว้กับคปภ.

น.ส.ลินดา เมฆดารา ประธานกรรมการ บริษัท กมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนเองและพันธมิตรในกลุ่มได้เข้ามาซื้อกิจการถือหุ้นในบริษัทกมลประกันภัย โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทณุศาศิริแต่ประการใด อีกทั้งตนเองก็ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการณุศาสิริ เพียงแต่โรงเรียนนอริชที่ทางตนเองและครอบครัวได้เป็นเจ้าของนั้นได้ตั้งอยู่ในโครงการดังกล่าว จึงทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ส่วนที่มีหุ้นถืออยู่ในบริษัทณุศาศิริก็เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนเท่านั้น

สำหรับแผนดำเนินงานของบริษัทนับแต่นี้คงจะขอเวลากวาดบ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงค่อยเดินหน้าทำตลาดอย่างจริงจัง โดยนับจากนี้ไปถึงสิ้นปีคาดว่าจะผลิตเบี้ยประกันได้ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งคงจะต้องรอให้ลูกค้าเก่ารถแท็กซี่ของสหกรณ์ที่มีประวัติการเคลมสูง และส่งผลให้บริษัทขาดทุนหมดอายุเสียก่อน โดยจะต้องลบภาพเดิมๆของกมลประกันภัยทิ้งทั้งหมด ซึ่งกรมธรรม์ลูกค้าเหล่านี้จะทยอยครบกำหนดอายุกรมธรรม์ในเดือนก.ย.นี้ บริษัทก็จะจัดระเบียบการรับประกันใหม่ โดยมีการคัดคุณภาพรถที่จะมาทำประกัน พร้อมๆกับการทยอยหันมาปรับพอร์ตงานรับประกันโดยเน้นเบี้ยประกันนอนมอเตอร์มากขึ้น เพื่อให้ได้สัดส่วน 50% และงานประกันรถยนต์และพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถอีก 50% แทนที่เดิมจะเป็นงานประกันรถยนต์เต็ม 100% พร้อมกันนั้นจะเร่งทยอยเจรจาชำระหนี้ที่ค้างไว้กับคู่ค้าหรืออู่เจ้าหนี้เดิมประมาณ 200 ล้านบาท ให้จบสิ้นไป เพื่อจะได้เริ่มต้นขยายงานได้อย่างเต็มที่ต่อไป

โดยมีแผนจะปรับเพิ่มการรับประกันนอนมอเตอร์ในปีที่สองให้ได้สัดส่วน 60% และประกันรถยนต์และพรบ.ฯอีก 40% โดยตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันรับรวมไว้ที่ 400 ล้านบาท ส่วนปีที่ 3 ก็จะขยับเบี้ยประกันเป็น 500 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งจะสอดคล้องเป็นไปตามแผน3 ปีที่ให้ไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย(คปภ.) โดยช่องทางการทำตลาดไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันทางกลุ่มมีพันธมิตรที่แนบแน่นและเคยร่วมงานกันมาอย่างกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่น แอลพีเอ็นที่บริษัทได้เข้าไปประมูลงานก่อสร้างให้กับโครงการเป็นประจำร่วมกันอยู่แล้ว หรือกลุ่มณุศาศิริก็ดี ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าไปขยายงานรับประกันอัคคีภัยหรืองานประกันรถยนต์ให้กับลูกค้าโครงการทั้งสองได้อยู่แล้วขณะเดียวกันบริษัทก็คงจะขยายหรือแตกไลน์หาพันธมิตรช่องทางการขายผ่านบริษัทนายหน้าเข้ามาเป็นพันธมิตรป้อนงานให้กับบริษัทเราเพิ่มเติม

นางลินดา กล่าวอีกว่า สำหรับในวันที่ 1 ส.ค. 2559 เป็นต้นไป บริษัทได้วางเป้าหมายไว้แล้วว่า จะทำการเปลี่ยนแปลงชื่อกิจการของกมลประกันภัยเปลี่ยนมาใช้เป็นบริษัทสัจจะประกันภัย และมีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่จากปัจจุบันที่อยู่ในเมืองทองธานี ไปอยู่สนามบินน้ำตรงข้ามกับตึกทำการของกองสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเรามีพื้นที่รองรับไว้อยู่แล้ว ซึ่งสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงมาใช้แบรนด์หรือชื่อบริษัทว่า สัจจะประกันภัย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า กิจการของเราไม่เบี้ยวแน่ และขอยืนยันว่า ไม่ได้แต่งตัวบริษัทเพื่อมาขายต่ออีกทีอย่างแน่นอน แต่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพราะมีความมั่นใจในทีมงานชุดใหม่ ที่มีประสบการณ์ และยังมีเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่จะทำให้เราสามารถต่อยอดขยายงานรับประกันภัยในอนาคตอีกด้วย

(ฉบับที่ 327 ปักษ์แรก ประจำวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2559 https://www.nakkhai.com )

บอร์ด คปภ.สั่ง “สัจจะประกันภัย”หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว กำหนดมาตรการคุมเข้มและห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ย้ำบริษัทฯ ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเคลมประกันสำหรับลูกค้าเดิม

เลขาธิการ คปภ. สั่งการสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ได้รับความเดือดร้อน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดำรงสินทรัพย์สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 51 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงินในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบริษัทค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ จึงเป็นกรณีที่บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และมีเหตุสมควรที่จะสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

โดยบอร์ด คปภ. พิจารณาจากพฤติการณ์และหลักฐานต่างๆ โดยละเอียดแล้ว เห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
สั่งให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
1. ให้บริษัทฯ แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหาร ที่มีความรู้ความสามารถ
2. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงการบันทึกรายการบัญชีให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง เพื่อให้งบการเงินของบริษัทมีความน่าเชื่อถือ และผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
3. ให้บริษัทฯ จัดให้มีระบบควบคุมภายใน การสอบทาน และการคานอำนาจของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการชุดย่อย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งให้มีการทดสอบระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ให้บริษัทฯ จัดให้มีแผนธุรกิจ แผนบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานที่สำนักงานเห็นชอบให้มีความน่าเชื่อถือ สามารถปฏิบัติได้ โดยมีการจัดให้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบ
5. ให้บริษัทฯ ต้องดำรงทรัพย์สินสำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัทเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และต้องจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
6. บริษัทฯ ต้องชำระค่าปรับให้ครบถ้วนตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ

ทั้งนี้ ให้บริษัทฯ แก้ไขและดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สำหรับกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “การสั่งให้ บมจ. สัจจะประกันภัย หยุดรับประกันภัยจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัย เนื่องจากอุตสาหกรรมประกันภัยในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงขอให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ต้องวิตกกังวล ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามปกติ เพียงแต่ไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ ผมได้ย้ำให้สำนักงาน คปภ. เน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประการสำคัญ โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบและสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด และสำนักงาน คปภ. เขต รวม 71 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ทำการตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของ บมจ. สัจจะประกันภัย ที่ตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทฯ ออกกรมธรรม์รายใหม่และในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทฯ เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทฯ ดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว” หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th
https://insurancethai.net/webboard/index.php/topic,1219.0.html

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงดาบเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว
ด้วยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ สร.กค.686 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1196/2560 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 5/2560 เรื่องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นั้น สำนักงาน คปภ.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบดังนี้

1. บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดิมคือ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 21/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดได้ นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) จึงนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในระหว่างนั้นบริษัทได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้มีการทบทวนคำสั่ง โดยแสดงหลักฐานการโอนเงินเข้ามาในบริษัททำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนักงานคปภ.ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เมื่อพบว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขอื่นๆ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ คปภ. จึงอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการรับประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงาน คปภ. ต้องติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด ต่อมาบริษัทได้มีการเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

2. ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามการดำเนินงานของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปรากฏข้อสงสัยว่าบริษัทอาจมีการทำธุรกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ.จึงได้เข้าตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานในเชิงลึกในทันทีจนพบว่า บริษัทมีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดำรงสินทรัพย์

สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงิน ในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบริษัทค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งปัจจุบันสายกฎหมายและคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว

3. ด้วยเหตุผลข้างต้นนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลให้บริษัทไม่สามารถรับประกันวินาศภัยและถูกระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดในช่วงเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่บริษัทต้องคำสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งฯ จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่รวดเร็วในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อภาระผูกผันตามสัญญาประกันภัยและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด ปรับปรุงการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง จัดให้มีระบบควบคุมภายใน การสอบทาน และการคานอำนาจของคณะกรรมการบริษัท จัดให้มีแผนธุรกิจ แผนบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

4. นอกจากนี้เมื่อบริษัทมีหนังสือขอขยายระยะเวลา นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ยังได้ให้โอกาสแก่บริษัทโดยอนุญาตให้ขยายเวลาแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ตามที่บริษัทร้องขอ โดยกำชับว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่ได้รับการขยาย สำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับการอนุญาตให้ขยาย บริษัทยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ครบถ้วน ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 100 โดยจากการตรวจสอบเมื่อครบเวลาตามที่มีการอนุญาตให้ขยาย บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันว่า มีการนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ครบถ้วน ดังนั้น หากให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน สำนักงาน คปภ. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาใช้อำนาจตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท

5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ครบถ้วน ได้แก่ งบการเงินของบริษัทยังไม่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยผู้สอบบัญชีไม่อาจให้ข้อสรุปผลการสอบทาน เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 จำนวนร้อยละ -312.92 การจัดทำแผนธุรกิจและแผนบริหารความเสี่ยงไม่มีความชัดเจน และการประมาณการฐานะทางการเงินยังไม่สอดคล้องกับธุรกิจ บริษัทไม่สามารถดำรงทรัพย์สินสำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบให้ครบถ้วน และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าบริษัทดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ส่งผลให้บริษัทยังคงมีปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัยได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2560

6. เนื่องจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นเพราะปัญหาฐานะการเงินและปัญหาการจัดการภายในของบริษัทนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

7. สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 23 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่ง ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัย ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งบริษัทจะขยายความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยไม่มีการคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัย

สำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัย นั้นด้วย สำหรับกรณีที่กรมธรรม์มีค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายนั้นให้เป็นไปตาม

หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น

ทั้งนี้รายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186

8. ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัยบัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมายื่นต่อผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกองทุนประกันวินาศภัยตามสถานที่ดังต่อไปนี้

ส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้

(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260

ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ

9. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่ และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ

10. ทั้งนี้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย

เปิดยื่นรับชำระหนี้บริษัท สัจจะประกันภัย ธุรกิจรับโอน ดูแลฟรี แต่ต้องซื้อ ประกันภัย ปีถัดไป

เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนาม เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย (สั่งปิดกิจการ) บริษัท สัจจะประกันภัย เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน 2 กลุ่ม

หนึ่ง กลุ่มเจ้าหนี้ตามสัญญา ประกันภัย และเจ้าหนี้อื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญา ประกันภัย
ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2560 สิ้นสุดวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ภายในวันและเวลาราชการ โดยในกรุงเทพมหานคร ยื่นได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ และ เขตบางนา ส่วนของต่างจังหวัด ยื่นได้ที่สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ

สอง กลุ่มลูกค้าหรือ ผู้เอาประกันภัย ที่กรมธรรม์ยังไม่ครบสัญญา
ได้รับความร่วมมือจาก บริษัทประกันวินาศภัย 23 บริษัท
บริษัท กรุงเทพประกันภัย, บริษัท กรุงไทยพานิช ประกันภัย, บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ, บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย), บริษัท ทิพยประกันภัย, บริษัท เทเวศประกันภัย, บริษัท ธนชาตประกันภัย, บริษัท นวกิจประกันภัย, บริษัท นำสินประกันภัย, บริษัท ประกันคุ้มภัย, บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์, บริษัท พุทธธรรมประกันภัย, บริษัท ฟอลคอน ประกันภัย, บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ สาขาประเทศไทย, บริษัท มิตรแท้ประกันภัย, บริษัท เมืองไทยประกันภัย, บริษัท วิริยะประกันภัย, บริษัท สินมั่นคงประกันภัย, บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย), บริษัท ไทยประกันภัย, บริษัท เอราวัณประกันภัย, บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย และบริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย รับโอนลูกค้าไปดูแล จนกว่าจะครบสัญญาฟรี แต่ขอให้ซื้อ ประกันภัย ในปีถัดไปกับบริษัทดังกล่าว





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow