INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 20:01:09
Home » การเงิน การลงทุน ธุรกิจ » บริจาคอย่างไร หักภาษีได้ 2 เท่า\"you

บริจาคอย่างไร หักภาษีได้ 2 เท่า

2012/04/22 2412👁️‍🗨️

ในแบบฟอร์ม ภงด.90 ของกรมสรรพากร พบว่ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือสังคม  โดยอนุญาตให้นำเงินที่เราบริจาคนั้นไปหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งจำนวน  แต่ไม่เกิน 10%ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว

เงินบริจาคที่รัฐอนุญาตให้ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษี  มีอยู่ 3 หมวด
1. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา
ได้แก่  เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของรัฐ  ( ตามที่รมต.คลังกำหนด )  โรงเรียนเอกชน  และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน  ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดหาที่ดิน  จัดสร้างอาคาร  จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษา  โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า  แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้  หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนหมวดต่างๆแล้ว
2. เงินสนับสนุนการกีฬา
ได้แก่  เงินสนับสนุนการกีฬาตามที่รัฐกำหนด  โดยสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของเงินบริจาค  แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน  โดยเงินบริจาคนี้มีกรอบเวลากำหนดให้ใช้ได้ในระหว่างปีภาษี 2548 – 2551  นั่นหมายความว่าปัจจุบันโครงการนี้ได้หมดอายุลงแล้ว  จึงไม่สามารถลดหย่อนได้อีก
3. เงินบริจาคการกุศลสาธารณะ
ได้แก่  เงินที่บริจาคให้วัดวาอาราม  สถานสาธารณกุศล  สถานพยาบาล  สถานการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน  โดยหักลดหย่อนได้กับจำนวนที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย  ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในข้อ 1 และ 2 ข้างต้นแล้ว

เมื่อดูรายการทั้ง 3 หมวด  พบว่าหมวดที่ 1 คือเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา  ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด คือ 2 เท่าของยอดเงินที่บริจาค  (ขณะที่หมวดที่ 2 ยกเลิกสิทธิไปแล้ว )
อย่างไรก็ตาม  ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนบริจาค  ได้แก่  รายชื่อสถานศึกษาที่สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า  และ วัตถุประสงค์ของการบริจาคว่า  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

 

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420)
พ.ศ. 2547
——————————–
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547
เป็นปีที่ 59 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ผู้สนับสนุนการศึกษาบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา  1   พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547”

มาตรา  2   พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  3   ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษา ของ ทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษา เอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดังนี้

(1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่า ลดหย่อนตามมาตรา 47(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่า ลดหย่อนดังกล่าวนั้น

(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็น จำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือ เพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรายการดังต่อไปนี้

(1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

(2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้แก่สถานศึกษา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด

(3) จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 476) พ.ศ. 2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)

มาตรา  4   ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการสนับสนุนการศึกษา ตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบตามมาตรา 3 โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดัง กล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

มาตรา  5   ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

 จากการอ่านประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีในหลายๆประเทศ  มักจะพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า   ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นนักบริจาคตัวยง  หลายคนมีหลักคิดว่า  ในแต่ละปี  หากทำกำไรได้เท่าไร  ให้บริจาคออกไป 10-30% ของกำไรเสมอ   และผลบุญนั้นก็จะย้อนกลับไปหนุนนำให้ชีวิตของผู้บริจาคประสบแต่สิ่งดีๆ  มีความสำเร็จมากยิ่งๆขึ้น

หมายเหตุ  รายชื่อสถานศึกษาของรัฐที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า https://www.rd.go.th/publish/28654.0.html





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow