หลักการพื้นฐานการประกันภัย
หลักพื้นฐานการประกันภัย
การวางแผนการประกัน หมายถึง การวางแผนเพื่อเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัวของเรา ทรัพย์สินของเรา หรือธุรกิจของเรา การวางแผนที่ดีจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
การประกันภัยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การประกันชีวิต เป็นการคุ้มครองความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดเป็นวงเงินชดเชยที่แน่นอนตามทุนประกันที่ระบุไว้ นอกจากนี้ยังสามารถให้คุ้มครองครอบคลุมถึงการทุพลภาพ , การเจ็บป่วย , โรคร้ายแรง , อุบัติเหตุ หรือเงินชดเชยรายได้จากการหยุดงาน
2. การประกันวินาศภัย เป็นการคุ้มครองความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดในรูปทุนประกันตามมูลค่าทรัพย์สิน หากมีความสูญเสียเกิดขึ้น จะมีการชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินทุนประกัน ได้แก่ การประกันไฟ , ประกันรถยนต์ , ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล , ประกันการเดินทาง , ประกันภัยขนส่งทางทะเล และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด
หลักในการวางแผนประกันภัย
1. ต้องรู้วัตถุประสงค์ของการประกันภัย
2. ต้องรู้ความจำเป็นหรือวงเงินที่ต้องการประกัน
3. ต้องรู้ขอบข่ายที่ต้องการประกัน
4. ต้องรู้ช่วงระยะเวลาที่ต้องการให้มีการคุ้มครอง
5. ต้องรู้รูปแบบการประกันที่สามารถตอบสนองความต้องการของเรา
แนวทางในการพิจารณาเมื่อตัดสินใจจะซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต
1. เลือกซื้อกับบริษัทที่มีชื่อเสียง หรือน่าเชื่อถือ
2. ซื้อให้เหมาะกับวงเงินที่ต้องการ
3. ซื้อให้เหมาะกับความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย
4. ทำความเข้าใจในเงื่อนไขของกรมธรรม์ก่อนซื้อ
5. เปรียบเทียบกรมธรรม์ของแต่ละบริษัท
ความแตกต่างระหว่างการประกันชีวิตกับการประกันวินาศภัย
1. ภัยจากการประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องเกิดแน่นอน แต่ภัยจากวินาศภัยอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้
2. ประกันชีวิตจะชดเชยตามทุนประกัน ประกันวินาศภัยจะชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินประกัน
3. ทุนประกันชีวิตมักจะได้คืนเมื่อครบสัญญา ขณะที่เบี้ยประกันวินาศภัยมักจะเป็นแบบกินเปล่า
4. การสมัครประกันชีวิตในวงเงินสูง อาจต้องถูกเรียกตรวจสุขภาพ ส่วนประกันวินาศภัยจะไม่มีการเรียกตรวจสุขภาพ แต่อาจมีการไปตรวจสภาพสินทรัพย์ที่จะเอาประกัน ว่าความเสี่ยงภัยและมูลค่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร ตรงกับที่แจ้งไว้หรือไม่
5. เนื่องจากเบี้ยประกันชีวิตจะต้องส่งมอบคืนผู้เอาประกันในวันหนึ่งข้างหน้า ดังนั้นเงินออมส่วนนี้ จะมีกฎหมายควบคุมการลงทุนที่ค่อนข้างเข้มงวด ขณะที่เบี้ยประกันวินาศภัย มักเป็นแบบกินเปล่า จึงไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการลงทุนเทียบเท่าเบี้ยประกันชีวิต