INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 17:52:02
Home » ความรู้รถยนต์ » รถเถื่อนเกลื่อนเมือง!!\"you

รถเถื่อนเกลื่อนเมือง!!

2013/06/01 2231👁️‍🗨️

รถเถื่อนเกลื่อนเมือง รวย จน มีสิทธิ์โดนหลอกเท่ากัน

illegal-car

– รถเถื่อนทะลักล้นวิ่งทั่วไทยนับหมื่นคัน โดนกันทั่วทั้งเศรษฐียันคนเดินดิน
– เปิดเส้นทางนำเข้ารถยนต์หรู เฟอร์รารี่ ปอร์ช จากัวร์ จากชายแดนก่อนข้ากรุง ทะลักปีละกว่าพันคัน
– แฉขบวนการปลอมทะเบียน ตั้งแต่คนประมูล ยันเจ้าของอู่ ก่อนนำออกจำหน่าย ฝีมือเจ๋งชนิดคนในวงการยังอึ้ง
– แนะกลเม็ดดูรถอย่างไรจึงไม่ถูกหลอก และวิธีสังเกตป้าย ทะเบียนปลอม

การสวมทะเบียนไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่จะเกิดกับ จอย ศิริลักษณ์ ผ่องโชค เพียงคนเดียว แต่เชื่อว่ากรณีเช่นนี้จะเกิดมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แถมยังไม่เห็นวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไร เนื่องจากบรรดาผู้ซื้อรถยนต์ทั้งที่เป็นสัมมาอาชีพ และมิจฉาชีพ ซึ่งอย่างหลังไม่ต้องพูดถึงเพราะมีเป็นขบวนการอยู่แล้ว แต่อย่างแรกนั้นเกิดจากความเสียดายเงินต้นที่อุตส่าห์ส่งมาแทบตาย สุดท้ายมาถูกไฟแนนซ์มายึดรถไป จึงต้องหนีสุดฤทธิ์ และจบด้วยการขายรถให้กับบรรดากลุ่มคนที่หากินกับการสวมทะเบียน

วิธีหากินของแก๊งปลอมทะเบียนเริ่มต้นจาก การส่งคนไปประมูลซากรถจากแหล่งประมูลรถต่างๆ เพื่อนำสมุดทะเบียนรถ และเลขตัวถังของรถซาก มาตอกใส่รถอีกคัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่รถที่ชนยับแต่ปีใหม่ๆ เช่นประมาณปี 2005 ขึ้นไป เนื่องจากทำแล้วจะได้ราคาดีกว่ารถเก่า โดยรถใหม่เช่น ฮอนด้า ซีวิค รุ่นปัจจุบัน จะประมูลคันละประมาณ 1-2แสนบาท จากนั้นไปหาซื้อรถที่หนีไฟแนนซ์ ซึ่งกลุ่มที่รับซื้อรถประเภทนี้มีหลายกลุ่มทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อนำมาสวมทะเบียนต่อไป

แหล่งข่าวในวงการรถยนต์รายหนึ่ง เล่าให้ “ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์” ฟังว่า เจ้าของรถที่หนีไฟแนนซ์ส่วนมากจะเป็นคนหลักลอย ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเป็นคดีความ ซึ่งรถที่ได้จากคนพวกนี้จะมีเยอะเดือนละประมาณ 7-8 คันแล้วแต่จังหวะ

หลังจากได้ซากรถพร้อมทะเบียนมาเรียบร้อยแล้ว หากมีรถที่หนีไฟแนนซ์มาตรงกับประเภทของซากรถที่ได้มา เช่น มีซากของรถโตโยต้า วีโก้ และบังเอิญมีรถวีโก้หนีไฟแนนซ์มาพอดี ทางกลุ่มปลอมทะเบียนก็จะรีบคว้ารถคันนั้น โดยจะให้ราคารถค่อนข้างดี อาจประมาณแสนกว่าบาท พร้อมขอเอกสารไฟแนนซ์ ทะเบียนรถ เพื่อความรัดกุม เพราะแม้การกระทำของขบวนการนี้จะผิดกฎหมายแต่เป็นการป้องกันไม่ให้ผิดกฏหมายแบบ 2 เด้งในโทษฐานรับรถขโมยมาอีกกระทงหนึ่ง

“พวกนี้จะชอบรถหนีไฟแนนซ์ เพราะถ้าโดนจับได้ก็แค่เสียค่าปรับให้ไป หรือถ้าฟ้องมาก็เอาเงินไปจ่าย แต่ถ้าเป็นรถขโมยมาเจอคุกอย่างเดียว”

เจาะขบวนการฮั้วประมูลซาก
ในทุกที่ ทุกแห่ง ทุกเวลา ที่มีการประมูลซากรถจะมีคนในขบวนการสวมทะเบียนแทรกตัวเข้าไปร่วมประมูลด้วยเสมอ แต่ผุ้ที่เสนอราคานั้นจะมีแค่คนเดียวเท่านั้น และเป็นที่รู้กันอยู่ว่าใครเป็นใคร

หลังจากประมูลซากได้แล้วก็บรรดาขบวนการซื้อซากสวมทะเบียนซึ่งจะมีทั้งเป็นกลุ่มใหญ่ และเล็กหลายกลุ่ม ไปรวมตัวรอกันที่ร้านอาหารเพื่อประมูลรถที่ประมูลจากบริษัทมาแล้วอีกที เรียกได้ว่าซากรถที่ประมูลได้มาเป็นสิ่งหอมหวานที่หลายกลุ่มต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรถประไหน รุ่นใด เก๋ง หรือกระบะ แต่ขอให้เป็นรถญี่ปุ่น ว่ากันว่าเฉพาะเล่มทะเบียนก็มีการซื้อขายกันเป็นแสนแล้ว

เมื่อได้ซากรถมาแล้วก็จะนำไปที่อู่ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของอู่จะเป็นคนในขบวนการสวมทะเบียน ในกรณีรถกระบะหากไม่ยับเยินมากก็จะยกบอดี้จะคันหนึ่งมาใส่ไว้อีกคันหนึ่ง จากนั้นก็จะมีการตอกทะเบียนรถใหม่ ทั้งตัวถัง และแชสซี พอเสร็จแล้วก็จะนำรถไปขายต่อที่เต๊นท์ ซึ่งเต๊นท์บางแห่งก็รู้ แต่บางแห่งก็ไม่รู้ เนื่องจากมีการทำอย่างแนบเนียนมาก

“เต๊นท์ที่รู้แต่ถ้าราคาพอซื้อได้ ขายต่อง่ายก็เอา แต่บางเต๊นท์ขนาดอยู่กับรถซื้อขายรถทั้งวันยังไม่รู้ ขนาดขนส่งบางทียังดูไม่ออกเลย”

ซื้ออย่างไรจึงไม่ถูกหลอก
ด้วยความเนียนของตัวรถเพราะมีการแปลงสภาพให้สวยกิ๊ก หนำซ้ำยังมีทั้งเอกสาร หมายเลขรถอย่างถูกต้อง ทำให้หลายคนไม่รู้ ไปซื้อรถประเภทนี้มาใช้ก็มี
“รถพวกนี้มีวิ่งเป็นพันคันบนท้องถนน” แหล่งข่าวในวงการเฉลยตัวเลขให้ฟังแล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อ!?

คนในวงการรถยนต์ยังบอกอีกว่า หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ คนที่ซื้อรถต้องสืบประวัติของรถดู ด้วยการสอบถามถึงการประกันรถยนต์ เพราะถ้ามีประกันจะรู้ว่ารถคันนี้ หมายเลขนี้ เคยมีประวัติการแจ้งอุบัติเหตุมาก่อนหรือไม่ ขณะที่เจ้าของเต๊นท์ต้องดูว่าคนที่นำรถมาขายเป็นเจ้าของตัวจริงหรือไม่ ถ้าซื้อรถจากนายหน้าก็ต้องพยายามซื้อจากคนที่คุ้นเคยเท่านั้น เพราะพวกนี้จะขายรถในราคาที่เท่ากับท้องตลาด ทั้งที่เป็นรถมีปัญหา หากไปตั้งราคาถูกกว่ามากก็เกรงว่าจะถูกสงสัย

“บางรายซื้อรถไปเป็นปีแล้วเพิ่งมารู้ว่าซื้อรถขโมยตอนไปต่อทะเบียนภาษีเพราะดันไปเจอรถยี่ห้อเดียวกัน สีเดียวกัน เลขทะเบียนอะไรเหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งกรณีนี้เรียกกันว่ารถแฝด ดังนั้น เวลาซื้อรถโดยเฉพาะรถมือสองนั้นผู้ซื้อควรตรวจสออบจากกรมการขนส่งทางบกว่ารายละเอียดในคู่มือทะเบียนรถ เลขทะเบียนรถยนต์ เลขแชสซี เลขเครื่องยนต์ สี และยี่ห้อตรงกับรถที่ตนเองซื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารต่างๆที่ได้จากผู้ขายด้วยว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่”

วิธีสังเกตป้ายภาษี
ทะเบียนปลอม

นอกจากนี้ยังมีการสวมทะเบียนอีกลักษณะหนึ่ง คือการปลอมเอกสารและเลขทะเบียนหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียน แผ่นแสดงป้ายการเสียภาษี ซึ่งวิธีการนี้เมื่อคนร้ายได้รถที่โจรกรรมมาแล้วก็จะจ้างคนทำเอกสารปลอมขึ้นสวมแล้วนำรถไปขายต่อ ซึ่งเอกสารปลอมที่มีการขายกันราคาไม่แพงนัก ถ้าเป็นแผ่นป้ายทะเบียน 2,000 บาท แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีกับพ.ร.บ.รถยนต์คู่ละ 2,000 บาท ถ้าชุดใหญ่มีสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ด้วยราคา 20,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เอกสารปลอมเหล่านี้จะทำไม่เหมือนกัน หากเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่ติดอยุ่ท้ายรถ ถ้าเป็นของจริงด้านหน้าจะมีตัวเลข 10 หลัก ซึ่งกรมการขนส่งจะยิงด้วยเลเซอร์ อยุ่ด้านล่างแผ่นป้ายสามารถมองเหห็นได้ชัดเจน และมีพรายน้ำสัญลักษณ์ตราขนส่งทางบกระยิบระยับอยู่บนแผ่นป้าย ถ้าเอาไฟฉายส่องหรือมองกลางแดดจะเห็นชัดเจน รวมทั้งจะมีตัวอักษร ขส.ปั๊มอยู่ด้านหลังแผ่นป้ายด้วย แต่ของปลอมจะไม่มีตัวเลขหรือสัญลักษณ์เหล่านี้เพราะมิจฉาชีพไม่มีเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขนาดนี้

ส่วนแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีจะมีวงกลมสีเงินเล็กๆ สัญลักษณ์ของขนส่งทางบกอยุ่ ถ้าเอียงดูจะเห็นเป็นประกายรุ้ง ถ้าเป็นของปลอมจะไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าว เพราะเทคโนโลยีไม่ถึง บางทีไปตัดฝอยจากซองบุหรี่มาแปะ ถ้าลองลูบดูของจริงจะลื่นมือ แต่ของปลอมจะด้านๆ ส่วนตัวอักษรถ้าเป็นของปลอม เส้นจะไม่ชัดเจน ขูดลอกได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธีเอาแผ่นตัวอักษรแบบมาขูดลอกติด หรือไม่ก็ตัดตัวอักษรจากแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของปีที่ผ่านมาแล้วเอากาวแปะติด ซึ่งถ้าใช้มือลูบตรงขอบตัวอักษรจะรู้แลย บางทีใช้หมึกดำเขียนทับก็มี ซึ่งหากสังเกตจะเห็นความแตกต่างชัดเจน บางรายทำได้ทุเรศถึงขนาดเอาแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของปีก่อนมาขูดขีดดัดแปลงโดยที่ไม่แก้ไขเลขปีด้วยซ้ำ

กรณีรถยนต์ดาราสาว จอย ศิริลักษณ์ ที่ถูกปลอมทะเบียนนั้น แม้จะทำให้เกิดการตื่นตัวของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปราบปราม การสวม และปลอมทะเบียนของกลุ่ม มิจฉาชีพ ซึ่งทำเป็นขบวนการ และมีการพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลา แต่ขบวนการนี้ไม่มีทางหมดไป เพราะกำไรต่อคันนั้นช่างสูงยั่วยวนให้กระทำผิดเสียเหลือเกิน ลองคำนวณดูว่ารถคันหนึ่งซื้อซากมาราคา 1 แสนบาท ซื้อรถหนีไฟแนนซ์มาอีก 1 แสนบาท เสียค่าแรงในตอกตัวเลขที่ตัวถัง ตัวเลขเครื่อง อีกประมาณ 4-5 พันบาท แต่สามารถขายได้ในราคา 5 แสนบาท เท่ากับสามารถฟันกำไรไปเกือบ 3 แสนบาทเลยทีเดียว

“การสวม หรือปลอมทะเบียนรถยนต์ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มมิจฉาชีพ ประเภท โจรกรรมรถยนต์ หรือ นำเข้ารถยนต์มาขายแบบผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ในผู้ใช้รถบางกลุ่มใช้วีธีการสวมทะเบียน เพื่อให้มีรถยนต์ไว้ใช้หลายๆ คัน พร้อมกันด้วยทะเบียนเดียว หรือบางกลุ่มสวมเพื่อนำรถยนต์ไปแข่ง ในกีฬามอเตอร์สปอร์ตทั่วไปก็มี” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ป้ายทะเบียนปลอม
ทำได้ง่ายนิดเดียว

ทะเบียนปลอม หรือการปลอมทะเบียนนั้น ปัจจุบันทำกันง่ายกว่าในอดีต ด้วยเทคโนโลยีการทำแผ่นป้ายทะเบียนที่สูงขึ้นของร้านรับทำป้ายทะเบียนต่างๆ เป็นวิธีง่ายที่สุดใน แม้จะไม่เหมือนกับที่กรมขนส่ง ทำขึ้นแบบ 100% แต่ก็พอจะตบตาเจ้าหน้าที่ได้

ทะเบียนปลอมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการปลอมทะเบียนป้ายแดง สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ออกจากโชว์รูม ช่วงที่รอการจดทะเบียนจากกรมขนส่งทางบก โชว์รูมรถยนต์บางแห่งอาจมีทะเบียนป้ายแดงที่ทางกรมขนส่งฯ ออกให้ไม่พอกับรถที่ขาย บางครั้งก็ใช้ป้ายแดงปลอม ติดรถให้กับลูกค้าใช้ช่วงรอจดทะเบียน ซึ่งกรณีนี้ลูกค้าที่ไม่ทราบก็จะใช้รถติดป้ายแดงปลอมโดยไม่รู้ตัว

สำหรับป้ายแดงของแท้ที่ออกโดยกรมขนส่งนั้น จะต้องมีตัวอักษร “ขส” ปั้มติดอยู่ที่มุมของป้าย และต้องมีสมุดทะเบียนป้ายแดงกำกับ มีการจำกัดระยะเวลาการใช้รถทะเบียนป้ายแดงไว้ ในช่วงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น ดังนั้นรถทะเบียนป้ายแดง แม้จะเป็นป้ายจริงแต่นำมาวิ่งกันในยามค่ำคืนถือเป็น เรื่องที่ผิดกฎหมายพรบ.จราจร ส่วนป้ายแดงปลอมนั้นไม่ว่าจะวิ่งกันช่วงไหน หากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับก็ต้องถูกปรับอยู่ดี

ส่วนทะเบียนป้ายดำปลอม เป็นป้ายทะเบียนที่ทำขึ้นเอง หรือว่าจ้างร้านทำป้ายทะเบียนผลิตให้ ส่วนใหญ่เป็นการทำขึ้นแทนป้ายทะเบียนเดิม ซึ่งอาจสูญหายของผู้ใช้รถบางคน แต่ถึงอย่างไรก็ถือเป็นการผิดกฎหมายจราจร เนื่องจากป้ายทะเบียนที่นำมาติดตั้ง ต้องเป็นป้ายที่มาจากกรมขนส่งฯ เท่านั้น แม้จะมีเล่มทะเบียนกำกับ และเสียภาษีถูกต้องก็ตาม ดังนั้นผู้ที่ทำป้ายทะเบียนหาย จึงควรแจ้งขอทำป้ายทะเบียนใหม่กับกรมขนส่งฯ จะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้รถบางคนที่ใช้รถโดยไม่ยอมเสียภาษี และจดทะเบียนกับกรมขนส่งฯ ส่วนใหญ่เป็นรถที่ผิดกฎหมาย เช่นรถยนต์นำเข้า ราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือรถที่ถูกโจรกรรม รถยนต์ประเภทนี้จะปั๊มทะเบียนขึ้นเอง โดยกำหนดหมวด และเลขทะเบียนให้เป็นเลขพิเศษ เช่นเลขตัวเดียว, เลขคู่เหมือน, เลขตอง หรือประเภท XXYY หรือ XYYX แต่ไม่ใช่กลุ่มทะเบียนประมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากส่วนใหญ่คิดว่าเจ้าของรถทะเบียนประเภทนี้ น่าจะเป็นผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพล ทำให้ไม่กล้าตรวจจับ

สำหรับการสวมทะเบียนนั้น เป็นวิธีการที่ทำกันมานาน การสวมทะเบียนมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย การสวมทะเบียนประเภทนี้ ต้องมีทะเบียนรถคันจริงอยู่แล้ว อาจเป็นของรถที่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ประเภทซากรถ แล้วนำรถยี่ห้อ เดี่ยวกัน รุ่นเดียวกัน อาจสีเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นรถใช้แล้วนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถโจรกรรมจากประเทศใกล้เคียง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น หรือนำนำเข้ามาจำหน่าย แล้วนำเลขแชสซีร์ จากตัวถังซากรถตัดมาแป๊ะ กับตัวถังรถนำเข้าเหล่านี้ การสวมทะเบียนแบบนี้ ทำให้รถคันที่สวมทะเบียนสามารถเสียภาษี และต่อทะเบียน เป็นรถถูกกฎหมาย ใช้งานได้ปรกติ

ก่อนหน้านี้ ยังมีการนำเข้ารถยนต์แบบเป็นชิ้นส่วน เช่นตัดหลังคา ตัวถึง ด้านหน้า ด้านท้าย แล้วนำมาประกอบเป็นคัน โดยมีวิศวกรรจดทะเบียนให้การรับรอง แล้วนำทะเบียนซากรถมาสวม ในแบบเดียวกัน แต่รถยนต์นำเข้าเป็นชิ้นส่วนแบบนี้ ปัจจุบันไม่ได้รับการอนุมัติให้มีการนำเข้ามาใช้งานแล้ว

การสวมทะเบียนแบบอีกประเภท คือ ผู้ใช้รถบางคนมีรถยนต์อยู่แล้ว 1 คัน แล้วอาจต้องการมีรถยนต์เพิ่มอีก 1 คัน โดยไม่ต้องการเสียภาษีเพียงคันเดียว หรือเป็นการเลี่ยงภาษีนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะหารถฝาแฝดอีกคัน หรืออาจเป็นรถรุ่นใกล้เคียงกัน แล้วแก้ไขเลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะติดอยู่บริเวณฝาปกระโปรง เสาประตู หรือใต้เบาะที่นั่งแล้วแต่รุ่น และยี่ห้อ การเปลี่ยนแปลงเลขตัวถังมีทั้งการขูด ตัด หรือปั๊มใหม่

การสวมทะเบียนแบบรถฝาแฝดที่ว่านี้ ส่วนใหญ่มักไม่นำไปซื้อขายต่อ เพราะหากถูกจับได้ อาจมีปัญหาต่อถึงรถที่มีทะเบียนตัวจริง รถฝาแฝดมักใช้กันในกลุ่ม ประเภทอยากมีรถ 2 คัน กลุ่มที่นิยมแข่งรถมักใช้วิธีการนี้ รถคันหนึ่งใช้งานทั่วไป ส่วนอีกคันหนึ่งไปใช้แข่งในสนามแข่งกีฬามอเตอร์สปอร์ต

อย่างไรก็ตาม การสวมทะเบียนฝาแฝดในระยะหลังถูกนำมาใช้กับรถที่โจรกรรมจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาขายในราคาถูก ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่แก๊งโจรกรรมรถยนต์รายใหญ่ นำมาใช้และถูกจับได้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การสวมทะเบียนในแบบหลังนี้ มักไม่ทำป้ายทะเบียนกันเอง แต่จะทำเรื่องแจ้งป้ายทะเบียนหาย แล้วขอให้กรมขนส่งฯ ทำป้ายทดแทน เท่ากับรถแฝดนั้น มีป้าย และเล่มทะเบียนเป็นของจริง

เปิดเส้นทางนำเข้ารถสุดหรู
จากชายแดนก่อนถึงมือผู้ซื้อ

ข่าวคราวการนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมาย และมาตรการนำเข้ารถผิดกฎหมายมาประมูลขายของกรมศุลกากร กลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มมิจฉาชีพ ส่งฟอกรถผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ ทำให้กรมศุลกากร ต้องยกเลิกการขาย และประมูลสินค้า รวมถึงรถยนต์ที่นำเข้าโดยไม่ผ่านการเสียภาษีศุลกากร โดยออกระเบียบใหม่ ให้ส่งสินค้าและรถยนต์ที่ตรวจยึดได้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยโอนไปให้กับหน่วยงานราชการอื่นๆ ไปใช้ หรือดำเนินการอื่นใดแล้วแต่ระเบียบของหน่วยงานนั้น

ก่อนหน้านี้การประมูลโดยเฉพาะรถยนต์นำเข้าผิดกฎหมายของกรมศุลกากร แม้จะดำเนินการอย่างสุจริต โปร่งใส แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกลอุบายของบรรดากลุ่มนายทุนมิจฉาชีพ ที่ทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมายได้ เนื่องจากกลุ่มนายทุนเหล่านี้ มักถอดอุปกรณ์สำคัญของรถยนต์นำเข้า เช่นกล่องควบคุม ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น แล้วปล่อยให้กรมศุลกากรตรวจยึด หลังจากนั้นก็มีการฮั้วประมูลกับภายในกลุ่ม หรือแม้บุคคลภายนอกประมูลได้ก็ไม่สามารถนำรถคันนี้ไปใช้งานได้ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ควบคุม หรือที่เรียกว่ากล่อง ECU

ท้ายที่สุดกลุ่มนายทุนดังกล่าวก็จะได้รถประมูลเหล่านั้น แล้วจึงนำกล่อง ECU ติดตั้งคืน และสามารถนำไปจดทะเบียนส่งขายให้กับลูกค้าได้เหมือนกับรถนำเข้าถูกกฎหมายทั่วไป

การยกเลิกประมูลสินค้า และรถยนต์หนีภาษี เป็นการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกดังกล่าวไม่สามารถยุติการทำธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มนายทุนดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้ารถยนต์หนีภาษี โดยเปลี่ยนเส้นทางไปนำเข้ารถยนต์จากชายแดนฝั่งติดกับประเทศมาเลเซีย ที่ด่านอำเภอสะเดา ซึ่งง่ายและคล่องตัวกว่า หลังจากนั้นจึงนำรถยนต์มาสวมทะเบียนตามรูปแบบดังกล่าว และขายให้กับลูกค้าในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความต้องการ

รถยนต์นำเข้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ประเภทซูเปอร์คาร์ ทั้งเฟอร์รารี่ ปอร์เช่ จากัวร์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นต้น เพราะคุ้มกับเงินลงทุน

นอกจากนี้ แหล่งข่าวในกรมศุลกากร ยังระบุว่า พื้นที่ที่เรียกว่า Tax Free Zone ของกรมศุลฯ เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจนำเข้ารถหนีภาษีสามารถลักลอบนำรถผิดกฎหมายมาสวมทะเบียนขายได้ เนื่องจาก Tax Free Zone เป็นสถานที่สำหรับจอดรถนำเข้า หรือสินค้าที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการเสียภาษี เพื่อรอพิธีทางศุลกากร

เมื่อกลุ่มนายทุนดังกล่าวนำรถเข้ามา มักจะส่งรถมาเก็บไว้ที่ Tax Free Zone ดังกล่าว ระหว่างนี้ก็จะนำรูปหรือโมเดลรถนำเข้าที่อยู่ใน Tax Free Zone ไปขาย และเมื่อขายได้ก็จะลักลอบนำรถยนต์ที่จอดไว้ออกไปขาย ด้วยการสวมทะเบียน เพื่อให้เป็นรถถูกกฎหมาย

แหล่งข่าวเผยอีกว่า รถสปอร์ต รถซูเปอร์คาร์ รวมถึงรถหรูทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ จากัวร์ ที่จอดขายในเต็นท์รถบางแห่งในกรุงเทพฯ มีส่วนหนึ่งที่เป็นรถนำเข้าหนีภาษี และสวมทะเบียน ซึ่งแต่ละปีคาดว่ามีจำนวนมากกว่า 1,000 คัน

กลุ่มคนพวกนี้เราอาจจะเรียกว่า นายทุน นักธุรกิจ หรือจะเรียกว่า แก๊งนำเข้ารถหนีภาษีก็ได้ แหล่งข่าวบอกว่า คนเหล่านี้ยังดำเนินธุรกิจประเภทนี้ต่อไปได้ แม้หน่วยงานราชการจะมีมาตรการปราบปราม และป้องกันออกมาอยู่ตลอด ซึ่งบรรดากลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายที่ว่านี้ก็พยายามหาวิธีเลี่ยง และปรับรูปแบบอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะตราบเท่าที่ยังมีความต้องการรถยนต์หรูหรา หรือสปอร์ตราคาแพง แต่ไม่อยากจ่ายแพงกว่า เพราะภาษีนำเข้าที่สูงถึง 200% รถยนต์หนีภาษีก็ยังจะเล็ดลอดเข้าสู่ท้องถนนเมืองไทยอยู่ต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่บางคนรู้เห็น หรือคอยให้ความช่วยเหลืออยู่หรือไม่ตาม

ขนส่งยันไม่มีช่องโหว่
มีปลอมเพราะเทคโนโลยีดี

กรมการขนส่งทางบก หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบการจดทะเบียนรถยนต์ ต้องรับบทหนักในการปราบปราม และแก้ไขปัญหารถสวมทะเบียน ซึ่ง ชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็บอกว่า ที่ผ่านมากรมฯ มีการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันกลุ่มมิจฉาชีพเองก็พยายามหาวิธีการใหม่ๆในการสวมทะเบียน

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้เพิ่มมาตรการและความเข้มข้นในการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่การนำรถเข้าประเทศ โดยการกระทำความผิดในการสวมทะเบียนเกิดขึ้นได้หลากหลาย ตั้งแต่การนำรถไปใช้กระทำความผิด โจรกรรม ก่ออาชญากรรม บางส่วนกระทำเพื่อหลบเลี่ยงหนี้สินจากไฟแนนซ์

“ปัญหาการสวมทะเบียนเกิดจากรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ รถนำเข้าไม่ถูกต้อง รวมไปถึงรถที่หลบเลี่ยงการชำระหนี้จากไฟแนนซ์ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการต่างๆไม่ได้มีช่องโหว่แต่ประการใด เพราะปัจจุบันเรามีบทลงโทษที่รุนแรง ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ก็ถึงขั้นไล่ออก จึงไม่มีใครอยากเอาอนาคตตัวเองมาเสี่ยง” ชัยรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มมิจฉาชีพสามารถสวมทะเบียนรถยนต์ได้ง่ายกว่าในอดีต เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทั้งการพิมพ์ และการผลิตแผ่นป้ายทะเบียน รวมถึงระบบอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้รถทั่วไป บางอย่างกลายเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการสวมทะเบียนด้วยเช่นกัน

อย่างเช่นการพิมพ์สมุดเล่มทะเบียนรถปลอมขึ้นมาใช้เอง การปั๊มป้ายทะเบียนปลอม แม้จะไม่เหมือนกับของจริง 100% แต่ก็พอจะตบตาเจ้าหน้าที่ได้บ้าง โดยเฉพาะหากไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด ขณะที่บริการรับจดทะเบียนรถยนต์ของร้านตัวแทนบางแห่ง สามารถจดทะเบียนรถยนต์ให้โดยไม่ต้องมีการตรวจสภาพรถ หรือบางรายรับจดทะเบียนโดยไม่ต้องใช้สมุดเล่มทะเบียน ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถสวมทะเบียนรถยนต์ได้ง่าย และสะดวกขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า การสวมทะเบียนรถยนต์มีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้รถสวมทะเบียนกลายเป็นรถยนต์ถูกกฎหมาย ด้วยการปลอมใบแจ้งย้ายของรถหนีภาษี ซึ่งบางคันใช้สมุดเล่มปลอม เพื่อย้ายทะเบียนไปต่างจังหวัด โดยใช้ข้อมูลของรถยนต์ถูกต้องที่จดทะเบียนกรุงเทพฯ โดยบางคันมีการยกเลิกการใช้ บางคันโอนย้ายไปจังหวัดอื่น ทำให้มีทะเบียนว่าง และกลุ่มมิจฉาชีพ จะนำสมุดคู่มือของรถที่ถูกต้องมาปลอมแปลงข้อมูลให้ตรงกับรถเลี่ยงภาษีของตน และทำเรื่องขอโอนย้ายไปจังหวัดอื่น

หลังจากได้ทะเบียนใหม่ของจังหวัดนั้นๆแล้ว กลุ่มมิจฉาชีพจะทำการฟอกเล่มที่ปลอม โดยแจ้งเล่มทะเบียน และขอให้กรมขนส่งออกเล่มใหม่ หลังจากได้สมุดเล่มทะเบียนเป็นเล่มจริง ก็จะย้ายรถออกไปจังหวัดอื่นๆอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เมื่อได้เอกสารจริงจากทางราชการทั้งหมด ก็จะนำรถยนต์ที่ผ่านการฟอกทะเบียนดังกล่าว ย้ายเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งถึงขั้นตอนนี้ รถหนีภาษี หรือรถผิดกฎหมายที่เคยสวมทะเบียน ถูกฟอกจนกลายเป็นรถถูกกฎหมาย และสามารถนำไปขายต่อได้เหมือนรถในตลาดทั่วไป

ในกรณีนี้กรมการขนส่งทางบกเองก็มีการออกมาตรการตรวจสอบ โดยให้ขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งให้ทราบเรื่องการโอนย้ายรถที่มีมูลค่าสูงๆ อาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นต้น โดยหากมีการโอนย้ายและออกทะเบียนเล่มใหม่ของแต่ละจังหวัด ขอให้ตรวจสอบมาที่ กรมขนส่งกลางก่อน เช่น จาก กทม.ไปอยุธยา จากอยุธยา ไปนครปฐม จากนั้นย้อนกลับเข้ามา กทม.ใหม่

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็เปิดเว็บไซต์ www.lostcar.go.th เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หรือแจ้งรถหาย ซึ่งจะช่วยสกัดกั้นการทำงานของขบวนการสวมทะเบียนและโจรกรรมรถยนต์อีกทางหนึ่ง

แฉเครือข่าย
แก๊งดาวน์ –แชร์
รถยนต์-มอเตอร์ไซค์

การสวมทะเบียนไม่ได้มีเฉพาะรถยนต์ราคาแพงเท่านั้น ในส่วนของรถจักรยานยนต์เองก็มีการลักลอบสวมทะเบียน หรือบางครั้งก็ปลอมป้ายทะเบียนกันเลย เนื่องจากในแต่ละปีมีรถจักรยานยนต์ออกสู่ท้องถนนกันกว่า 1.4-.15 ล้านคัน และในเมืองไทยน่าจะมีรถจักรยายยนต์ใช้งานอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคัน

อีกทั้งการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ทำได้ง่าย และสะดวกกว่า ซึ่งในที่สุดรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมเหล่านี้ จะถูกส่งไปยัง 3 แหล่ง คือ 1.ประเทศเพื่อนบ้าน 2. แยกชิ้นส่วน และ3.ทำทะเบียนปลอมขาย

แม้ราคามอเตอร์ไซค์จะไม่สูงมาก และกำไรจากการจำหน่ายจะไม่เพียบเท่ากับรถยนต์ แต่จากจำนวนที่มากกว่ารถยนต์หลายเท่าตัว ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ทำรายได้อย่างงามให้กลุ่มมิจฉาชีพ ในเรื่องนี้ “ผู้จัดการ 360 รายวัน” ได้เคยทำรายงานไว้ดังนี้

แก๊งดาวน์รถ-แชร์รถ

จากข้อมูลพบว่าเครือข่ายการโจรกรรมรถยนต์นั้นมีมักทำกันเป็นขบวนการ โดยมีกลุ่มนายทุนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการขโมยรถโดยกลุ่มแก๊งต่างๆแล้ว วิธีการหนึ่งที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมาก็คือ “แก๊งดาวน์รถ” และ “แชร์รถยนต์” ซึ่ง พ.ต.ท.อรรถพร สุริยเลิศ รองผู้กำกับศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ได้เปิดเผยถึงวิธีการชองขบวนการดังกล่าว ว่า

“จริงๆแล้วตัวเลขรถหายที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งนั้น เราพบว่ามีรถที่ไม่ได้หายจริงถึง 30% แต่เป็นการทำรถให้หายไปจากระบบโดยฝีมือของแก๊งอาชญากรรมที่เรียกกันว่า ‘แก๊งดาวน์รถ’ โดยแก๊งพวกนี้จะจ้างชาวบ้านในชุมชนไปดาวน์ โดยจ้างคน 3,000 บาท คนค้ำประกัน 2,000 บาท ที่พบมากคือรถจักรยานยนต์เพราะดาวน์ง่าย ใช้เงินดาวน์น้อย บางร้านให้ดาวน์ 999 บาท หรือบางร้านไม่เรียกเงินดาวน์เลย แค่เอาสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ซื้อไว้ เมื่อได้รถมาแล้วแก๊งดาวน์รถก็เอารถส่งไปขายที่กัมพูชา ส่วนร้านขายรถจักรยานยนต์เขามีประกันภัย เขาก็ไปแจ้งหาย ประกันภัยก็ไปจ่ายไฟแนนซ์ ซึ่งแก๊งพวกนี้จะมีนายทุนที่เป็นหัวหน้าแก๊งตัวจริง นายทุนเอารถไปขายได้ 30,000 บาท แต่ลงทุนจ้างชาวบ้านแค่ 5,000 บาท ทำอย่างนี้สัก 10 คัน ก็ได้เงินตั้งหลายแสน มันก็เลยเกิดขบวนการอย่างนี้ขึ้นมา

อย่างคดีที่ดังๆ แถวย่านบางปู แก๊งดาวน์รถมันเอาใบปลิวไปติดในสลัมว่าถ้าร้อนเงินให้ติดต่อที่เบอร์นี้ พอชาวบ้านมาติดต่อเขาก็บอกว่าจะให้กู้เงิน 12,000 บาท โดยให้ชาวบ้านไปดาวน์รถจักรยานยนต์มาเพื่อเอามาค้ำประกันเงินกู้ แก๊งพวกนี้ก็ส่งรถไปขายชายแดน แต่ยังให้ชาวบ้านผ่อนชำระเงินกู้อยู่เพื่อหลอกว่าผ่อนชำระครบจะได้รถคืน ก็หลอกไปเรื่อยๆ”

กรณีที่คล้ายๆ กันคือ “แชร์รถยนต์” ซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อปีที่แล้ว (2551) คดีที่ดังมากคือแชร์รถยนต์ ซึ่งแก๊งนี้สามารถขโมยหรือฉ้อโกงรถไปถึง 1,2000 คัน โดยใช้เวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น เขาใช้วิธีตั้งบริษัทหลอกระดมรถเช่าจากชาวบ้าน คือให้ชาวบ้านเอารถยนต์มาให้เช่าโดยให้ค่าเช่าราคาสูงถึงเดือนละ 30,000 บาท ชาวบ้านที่ไม่มีรถก็จะไปดาวน์รถมาให้เช่า สมมุติดาวน์ 100,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 13,000 บาท แต่ได้ค่าเช่าถึงเดือนละ 30,000 บาท ชาวบ้านก็มองว่าคุ้มเพราะให้เช่าแค่ 3 เดือนก็ได้เงินดาวน์คืนแล้ว หักค่างวดแล้วก็ยังเหลืออีกเดือนละ 17,000 บาท ชาวบ้านบางคนก็ลงทุนดาวน์รถออกมา 2 คัน ไปกู้เงินมาดาวน์รถก็มี เพื่อเอารถมาให้บริษัทดังกล่าวเช่า พวกนี้ก็เอารถไปขายตามแนวชายแดนหรือเอาไปจำนำ มีทั้งจำนำกับเต็นท์รถ จำนำตามบ่อนในกรุงเทพฯ จำนำกับพวกนายทุนใต้ดินซึ่งเป็นพวกที่มีเงินเหลือ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็เอาเงินมาปล่อยกู้ ”

แก๊งจำนำรถ

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันนี้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯมีนายทุนใต้ดินที่รับจำนำรถในลักษณะดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 500 ราย ซึ่งในวงการจะรู้กันว่าใครรับจำนำรถบ้าง โดยนายทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกหน้าทำธุรกิจเอง แต่ให้ลูกน้องออกหน้าแทน แต่บางรายก็เปิดเป็นบริษัทรับจำนำรถบังหน้า แต่ธุรกิจจริงๆ คือรับซื้อรถที่ได้จากการโจรกรรม

“พวกนายทุนใต้ดินเนี่ยมีเยอะมาก เพราะเขามองว่ามันหาเงินง่าย คือสมมุติว่ารับจำนำรถโดยคิดดอกร้อย 10 และยึดรถไว้เป็นหลักประกัน ถ้าให้กู้รวมแล้วสัก 1 ล้านบาท แต่ละเดือนก็จะมีรายได้ 1 แสน ถ้าไม่ส่งเงินต้นก็เอารถไปขายได้ แต่ถ้าปล่อยกู้แบบทั่วๆ ไปก็ได้แค่สัญญาเงินกู้เป็นกระดาษแผ่นเดียว ซึ่งคนที่เอารถมาจำนำกับนายทุนใต้ดินพวกนี้มีไม่น้อยที่เป็นรถที่ขโมยมา เช่น ไปเช่ารถที่ภูเก็ตแล้วก็ขับมาจำนำที่กรุงเทพฯ โดยอาจจะไม่มีเอกสารคู่มือทะเบียนรถ ทิ้งแค่รถและกุญแจไว้ให้ หรืออาจจะใช้เอกสารปลอมในการจำนำ ซึ่งนายทุนที่รับจำนำก็ไม่สนใจเพราะคิดว่ารับจำนำไว้กินดอก ถ้าไม่มาไถ่รถคืนก็เอาไปขาย

แต่ส่วนมากคนรับจำนำก็จะตรวจสอบทะเบียนประวัติของรถก่อน ว่ารถมี อ.ย. คือเป็นรถที่ “ถูกอายัด” ไว้หรือเปล่า ถ้าเป็นรถที่มี อ.ย. ซึ่งแปลว่า เป็นรถที่ขโมยมาก็อาจจะไม่เอา หรือให้ราคาที่ต่ำมาก สมมุติฟอร์จูนเนอร์ราคา 250,000 เขาให้แค่ 100,000 พวกที่ขโมยรถมาก็เอาเพราะเขาไม่ต้องลงทุนอะไร แล้วตามกฎของพวกนี้จำนำไว้แล้วขาดส่งดอกเกิน 2 เดือน เขาก็เอารถไปขาย รถคันนี้ก็จะเข้าสู่ขบวนการสวมซากต่อไป โดยคนรับจำนำจะขายรถต่อให้แก๊งสวมซากทะบียนรถ แก๊งนี้ก็จะเอาซากรถที่ซื้อมาจากแก๊งประมูลรถ ซึ่งเขาไปประมูลซากรถที่เกิดอุบัติเหตุ ซ่อมไม่ได้แล้วจากบริษัทประกันมา เสร็จแล้วแก๊งสวมซากดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วก็นำออกมาขายเป็นรถมือสอง ส่วนคนที่เอารถมาจำนำพอได้เงินเสร็จก็ไปแจ้งความว่ารถหาย แต่ก็มีอีกพวกหนึ่งคือคนที่เข้าไปเล่นพนันในบ่อนแล้วไม่มีเงินจ่ายก็เอารถจำนำไว้ แต่ไม่มีเงินไปไถ่ ก็ไปแจ้งความว่ารถหาย สุดท้ายรถก็เข้าสู่กระบวนการสวมซากเหมือนกัน” พ.ต.ท.อรรถพร เล่าถึงธุรกิจซื้อขายรถผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น การขโมยรถไปผ่าแยกเป็นวิธีหนึ่งที่คนร้ายนิยมมาก เพราะเมืองไทยมีปัญหาเรื่องอะไหล่แพง โดยเฉพาะอะไหล่จากศูนย์ของรถยี่ห้อนั้นๆ ดังนั้นจึงมีแก๊งลักรถบางแก๊งที่ตระเวนลักรถเพื่อนำอะไหล่ไปขายให้พ่อค้าตามตลาดเชียงกง (ตลาดขายอะไหล่มือสอง) โดยอู่รถต่างๆ ก็จะมาซื้ออะไหล่ที่เชียงกงโดยไม่รู้ว่าเป็นของที่ขโมยมา ซึ่งสาเหตุที่แก๊งพวกนี้เลือกที่จะแยกอะไหล่ขายแทนที่จะขายรถทั้งคันก็เพราะรถที่ขโมยมานั้นผู้ซื้อจะให้ราคาจะต่ำมาก อีกทั้งการถอดอะไหล่ขายยังเป็นวิธีที่สามารถหลบเลี่ยงการจับกุมได้ง่ายกว่า

อุปสรรคขจัดแก๊งโจรกรรมรถ

การขจัดขบวนการโจรกรรมรถยนต์ให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะตราบใดที่ยังมีนายทุนใหญ่คอยรับซื้อรถที่ได้จากการโจรกรรม ก็ยังมีกลุ่มแก๊งต่างๆ ที่พร้อมจะขโมยรถไปขาย อีกทั้งการจะเอาผิดกับกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังแก๊งโจรกรรมรถนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เนื่องจากการทำงานของเครือข่ายแก๊งโจรกรรมรถในแต่ละขั้นแต่ละตอนนั้นจะทำงานแบบแยกกลุ่มและตัดตอนกันหมด เช่น คนที่ขโมยรถจะรู้จักแค่คนรับซื้อ แต่ไม่รู้จักนายทุน หรือคนที่ขับรถไปส่งขายตามแนวชายแดนก็รู้จักแค่คนที่มาติดต่อ แต่ไม่รู้จักตัวคนขาย

“แก๊งพวกนี้ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจในลักษณะตัดตอนกันหมด คือแก๊งประมูลก็แก๊งหนึ่ง แก๊งโจรกรรมรถก็แก๊งหนึ่ง แก๊งรับจำนำก็เป็นอีกแก๊ง แก๊งสวมซากก็อีกแก๊ง หรือคนที่เอารถไปส่งชายแดนก็แค่รับจ้างขับรถไปส่งอย่างเดียว ติดต่อผ่านคนกลางโดยไม่รู้จักกับแก๊งสวมซากเลย เวลาไปจับรถที่สวมซากได้เราก็ตามไปสอบสวนคนที่ประมูลซากรถ พวกนี้ก็บอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเพราะเขาประมูลรถจากบริษัทประกันอย่างถูกต้องทุกอย่าง ส่วนคนที่ซื้อซากรถจะรถไปทำอะไรเขาไม่รู้ เขาก็บอกอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนดี ผมล่ะงงประเทศชาติ

บางรายเราก็มีประวัติอาชญากรรมอยู่ บางคนรับจำนำไว้ เจ้าของรถขาดส่ง 2 เดือน พวกนี้ก็เอารถไปขายทิ้ง โดยปลอมเอกสารไปหลอกขายชาวบ้าน มาประกาศขายทางเว็บไซต์ก็มี ฮอนด้า แจ๊ส ขายถูกแสนเดียว คนก็ซื้อกัน วันดีคืนดีคนซื้อก็ถูกจับเพราะติดป้ายทะเบียนปลอม คนซื้อก็ซัดทอดไปที่คนขาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าไปสอบสวนและออกหมายจับ แต่ที่ยากคือเราสาวไม่ถึงตัวขายทุนเพราะส่วนใหญ่พวกนี้ไม่ออกหน้าเองแต่สร้างลิ่วล้อขึ้นมาเป็นนายหน้าทำธุรกิจแทน นายหน้าก็ไปป่าวประกาศในวงการว่าใครมีรถอะไรบ้างเขารับซื้อ ส่วนตัวนายทุนก็ออกเงินอย่างเดียว ผลประโยชน์แบ่งคนละครึ่ง อย่างลงทุนปล่อยกู้ 1,000,000 บาท เก็บดอกร้อยละ 10 ก็ได้มา 100,000 นายทุนก็เอาแค่ 50,000 อีก 50,000 ก็ให้นายหน้าเอาไปบริหารกันในกลุ่ม เวลานายหน้าถูกออกหมายจับก็หนีไป ถ้ายังจับไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นนายทุน หรือบางทีนายหน้าก็อาจจะไม่ซัดทอด พอลิ่วล้อคนนี้ถูกจับ นายทุนก็หาคนอื่นมาเป็นนายหน้าแทน หรือแก๊งขโมยรถแก๊งนี้ถูกจับ มันก็มีแก๊งใหม่ขึ้นมา เพราะมันมีคนซื้อ มันก็มีคนที่พร้อมจะขโมย มันก็ปราบไม่หมดเสียที ” พ.ต.ท.อรรถพร กล่าวถึงอุปสรรคในการปราบปรามขบวนการโจรกรรมรถ

กลางเดือนมิถุนายน ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) ได้จัดแถลงข่าวการตรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อหรูจำนวน 28 คัน ซึ่งต้องสงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรนำรถเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและฉ้อโกงหรือยักยอกบริษัทให้เช่าซื้อรถยนต์โดยตรวจยึดได้จากอู่ซ่อมและแต่งรถและสถานที่จอดรถย่านลาดพร้าว พื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

สำหรับสถิติคดีโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ 2 ปีย้อนหลัง มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปรากฏว่าในปี 2550 มีแจ้งรถยนต์สูญหาย 2,976 คัน รถจักรยานยนต์สูญหาย 19,853 คัน ส่วนปี 2551 รับแจ้งรถยนต์สูญหาย 2,712 คัน รถจักรยานยนต์สูญหาย 20,039 คัน





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow