พ.ร.บ.คุ้มครองฯ การฟ้องแพทย์ และวิกฤติการแพทย์ไทย
การฟ้องแพทย์ทำให้เกิดวิกฤติทางการแพทย์ได้อย่างไร?
ข้อดีของการฟ้องแพทย์คือ ทำให้แพทย์ต้องพิถีพิถันในการตรวจรักษามากขึ้น มาตรฐานการรักษาสูงขึ้น แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ทรัพยากรมีจำกัด
สมควรหรือที่รัฐจะทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อรักษามาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูง เเล้วปล่อยให้ประชาชน ขาดแคลนปัจจัย4
การแก้ปัญหาต้องเกิดขึ้นอย่างจัง เพื่อไม่ให้การแพทย์ไทยไปพบวิกฤติ อันเนื่องมาจาก
1.แพทย์ ต้องใช้เวลาตรวจผู้ป่วยนานมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เหลือต้องรอนานมากขึ้น บางคนอาจต้องรอเป็นวันๆ หรือหลายวัน นอกจากนั้น แพทย์ยังต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาด และถ้ามีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจใดๆ แม้แต่เพียงนิดเดียว ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะเสี่ยงทำการรักษาเอง
2.ผู้ป่วย แม้จะไม่ต้องเสียค่ารักษาเพราะมีหลักประกัน แต่ก็ต้องเสียเวลารอตรวจ รอผ่าตัดนานขึ้น ต้องถูกเจาะเลือดตรวจมากขึ้น ได้รับรังสีมากขึ้น ถูกแพทย์นัดมาตรวจบ่อยขึ้น อาจต้องถูกส่องกล้อง ใส่สาย ฯลฯ มากขึ้น เจ็บปวด ทุกข์ทรมานมากขึ้น อาจต้องถูกส่งตัวไปรักษากับผู้เชี่ยวชาญยังที่ไกลๆ โดยไม่จำเป็น ทำให้เสียค่าเดินทาง, ขาดรายได้, เป็นภาระญาติ ฯลฯ
3.โรงพยาบาลเอกชน คิดค่าความเสี่ยงมากขึ้น ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ชนชั้นกลางซึ่งรับภาระไม่ไหว ก็จะถูกผลักไประบบรัฐ ทำให้โรงพยาบาลรัฐ รับภาระหนักขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น
วิธีแก้ไขปัญหาฟ้องแพทย์จะทำได้อย่างไร?
การฟ้องร้องแพทย์คงจะต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสิทธิเบื้องต้นของผู้ป่วย แต่ต้องเป็นกรณีที่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎทั่วไปทางการแพทย์ หรือกรณีขาดความรับผิดชอบ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วยเท่าที่ควรเท่านั้น การฟ้องว่า การ “ใช้ดุลยพินิจของแพทย์” ไม่เหมาะสม โดยอ้างมาตรฐานยุโรป-อเมริกา, อ้างตำราเพียงเล่มเดียว, หรืออ้างแนวปฏิบัติที่มิได้ยึดถือเป็นการทั่วไป ไม่ควรอนุญาตให้ทำได้
พรบ.คุ้มครองฯ ช่วยลดการฟ้องแพทย์ได้หรือไม่?
แทนที่จะลด พรบ.คุ้มครองฯจะเพิ่มการฟ้องแพทย์ เพราะ
1.เป็นการส่งสัญญาณว่าเมื่อมีเหตุนอกเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นจากการรักษา พยาบาล ต้องได้รับเงินชดเชย เมื่อประชาชนถูกทำให้เชื่อเช่นนี้แล้ว เมื่อใดที่ไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าความคาดหวัง ก็จะต้องหาทางฟ้อง หรือมีผู้ชักชวนให้ฟ้อง
2.ที่มาของกองทุนมาจากวงการแพทย์ ทำให้เข้าใจว่าผลกระทบล้วนเกิดจากความผิดพลาดของกระบวนการรักษา ทั้งๆ ที่ผลอันไม่พึงประสงค์(adverse effect)และโรคแทรกซ้อน(complication) ส่วนมากเกิดจากปัจจัยจากโรคของผู้ป่วยเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล เช่นแพ้ยาทำให้ผิวหนังลอกหลุดหรือ,ตาบอด หรือเสียชีวิต น้ำคร่ำหลุดเข้าหลอดเลือดทำให้เสียชีวิต, พังผืดรัดลำไส้หลังผ่าตัด เป็นต้น จริงอยู่ว่าผู้ได้รับผลกระทบฯ เป็นผู้น่าเห็นใจ แต่การชดเชยเบื้องต้น ควรมาจากรัฐ เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยจากไฟไหม้, น้ำท่วม, แผ่นดินไหวฯลฯ ส่วนการชดเชย “อย่างเหมาะสมกับความเสียหาย” จากหน่วยงานด้านการแพทย์ ควรจ่ายเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง เท่านั้น
3.การชดเชยโดยกองทุนส่งผลเสียต่อวงการแพทย์ เพราะเมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้ใดทำให้เกิดความเสียหายโดยประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือประกอบวิชาชีพโดยขาดความรับผิดชอบ ขาดจริยธรรม แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นควรต้องได้รับโทษเอง การกลบเกลื่อนโดยการใช้กองทุนไปชดเชย จะทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำทุรเวชปฏิบัติรอดตัว และสามารถเป็นปลาเน่าอยู่ในข้องได้ต่อไป
หน่วยงานหรือองค์กรใดบ้าง ที่จะช่วยให้ปัญหาการฟ้องแพทย์บรรเทาลงได้
1.แพทยสภา
1.1 ต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากขึ้น เช่นมีผู้พูดถึงแพทยสภาบ่อยๆ ว่า มาจากการเลือกตั้งของแพทย์ การทำงานจึงต้องปกป้องแพทย์เพื่อรักษาคะแนนเสียง ความจริงแล้ว กรรมการแพทยสภาครึ่งหนึ่ง เป็นโดยตำแหน่งของภาครัฐ เช่นปลัดกระทรวง, อธิบดี, คณบดีคณะแพทย์ทุกแห่ง, เจ้ากรมแพทย์ของทุกเหล่าทัพ ฯลฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีเพียงครึ่งเดียว และกรรมการแพทยสภาที่มาจากแพทย์ภาคเอกชน ยิ่งน้อยมาก เรื่องพวกนี้ โฆษกแพทยสภา ไม่ได้ออกมาชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจแต่อย่างใด หรือการลงโทษแพทย์ ก็แทบไม่ได้ยินจากแพทยสภาเลย เสมือนว่าแพทยสภาเข้าข้าง และไม่เคยลงโทษแพทย์เลย
1.2 ต้องสอบสวนและตัดสินโดยเร็ว ส่วนหนึ่งของการฟ้องศาล เนื่องจากกระบวนการของแพทยสภาช้าเกินไป แม้แพทยสภาจะมีปัญหาและข้อจำกัดมากมายในการที่จะตัดสินโดยเร็ว แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ ไม่เพียงแต่เพื่อป้องกันการนำคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้น แต่เพื่อความยุติธรรมต่อผู้เสียหายด้วย เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็เท่ากับไม่ยุติธรรม
1.3 ต้องกระตุ้นให้แพทย์ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัย แพทยสภาเคยพยายามบังคับให้ทำการศึกษาต่อเนื่อง(CME) แต่ล้มเหลว เพราะมุ่งการลงโทษ “แพทย์ทุกคน” ถูกบังคับให้ทำ CME เพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพฯ จึงถูกต่อต้านมาก ถ้าใช้วิธีจูงใจ เช่นใครทำ CME ให้ใบประกาศนียบัตร ไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าจะขอเปิดหรือขอดำเนินการสถานพยาบาล ขอเข้ารับราชการ ขอสอบวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรฯลฯ ต้องมีใบประกาศฯ แพทย์ที่ทำงานด้านบริหาร, ด้านระบาดวิทยา, ด้านเวชกรรมป้องกัน หรือทำธุรกิจอื่นอยู่ ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ CME แต่ถ้าเกษียณแล้ว อยากเปิดคลินิก หรืออยากกลับมาทำเวชปฏิบัติ ก็ค่อยกลับมาทำ CME เพื่อเอาใบประกาศฯ ก็ได้ แบบนี้ แรงต่อต้านก็จะน้อยลง
2.ศาล
2.1 ต้องตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีทางการแพทย์ เนื่องจากมีความซับซ้อนยิ่งกว่าคดีทางแรงงาน, ทางภาษี, ทางเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ ซึ่งคดีเหล่านั้น ล้วนมีศาลพิเศษทั้งสิ้น
2.2 ศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหา ผู้เสียหายต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าแพทย์ทำการประมาทหรือผิดพลาดอย่างไร ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ป่วยจะสามารถหาหลักฐาน หรือจะมีองค์ความรู้พอที่จะกล่าวหาแพทย์ได้ ศาลสำหรับคดีทางการแพทย์ จึงควรเป็นระบบไต่สวน
2.3 ผู้พิพากษาควรต้องมีความรู้ทางการแพทย์ในระดับหนึ่ง เพราะ
2.3.1 หลักฐานทางการแพทย์มีระดับความน่าเชื่อถือ หรือระดับความน่าจะเป็นต่างกันหลายระดับตั้งแต่เชื่อถือได้มากที่สุด, มาก, ปานกลาง, น้อย, น้อยที่สุดจนถึงเชื่อถือไม่ได้เลย
2.3.2 เอกสารทางการแพทย์ที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปปีสองปี อาจกลายเป็นเอกสารที่ไม่มีแพทย์ผู้ใดยอมรับเลยก็ได้
2.3.3 วิธีรักษาในแต่ละสถาบัน มีความเชื่อ และวิธีปฏิบัติต่างๆ กัน
2.3.4 ความรู้ทางการแพทย์ส่วนใหญ่แม้จะนำมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่การนำมาใช้ ต้องใช้ดุลยพินิจ เช่นเด็กมีไข้และชัก การจะให้ยาต้านเชื้อไวรัสหรือไม่ ต้องใช้ดุลยพินิจว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่ากัน ซึ่งต้องพิจารณาจากการแสดงทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ แพทย์แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีดุลยพินิจเหมือนกัน แพทย์คนเดียวกันอาจมีดุลยพินิจสำหรับคนไข้คนละคน ไม่เหมือนกันก็ได้ การลงโทษโดยอ้างว่าแพทย์ใช้ดุลยพินิจไม่ตรงกับหลักฐานที่โจทก์อ้าง ย่อมไม่ถูกต้อง
2.3.5 การผ่าตัดบางอย่างเช่นผ่าตัดต่อมไธรอยด์ มีงานวิจัยระบุว่า ถ้าการผ่าตัดทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูง ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียงแหบถาวรประมาณ 2% แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์น้อย โอกาสเสียงแหบถาวร จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% ถ้าแพทย์ผ่าตัดแล้ว เกิดเสียงแหบเพียงคนแรกก็ถูกฟ้องเสียแล้ว เราจะมีแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูงได้อย่างไร
2.3.6 วงการแพทย์ โดยเฉพาะสาขาย่อย ย่อมรู้จักเป็นอาจารย์-ศิษย์, รุ่นพี่-รุ่นน้อง, หรือเรียนสถาบันเดียวกัน การใช้ตรรกะว่ารู้จักกัน คำให้การมีน้ำหนักน้อย ทำให้ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่แท้จริง ถูกกีดกันออกไปจากการพิจารณาไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้
ถ้าผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย อาจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าหลักฐานอันไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน อันไหนเป็นความรู้ที่เป็นปัจจุบัน อันไหนล้าสมัยแล้ว วิธีไหนที่ควรกำหนดเป็นมาตรฐาน คำตัดสินของศาลที่ผ่านมา กลายเป็นบรรทัดฐานทางการแพทย์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่แพทย์ แต่ไม่สามารถเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพราะถูกปิดปากด้วยกฎหมายหมิ่นศาล และแพทย์ก็จำต้องยอมปฏิบัติตามมาตรฐานของศาลอย่างจำใจ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น อาจถูกพิพากษาให้จำคุก
3.รัฐ
ต้องจัดระบบการรักษาให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ และภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์มากเกินไป เช่นมีระบบ Co-payment, ระบบขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล, ระบบแพทย์ทั่วไป (GP) หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นต้น ระบบปัจจุบันทำให้เกิดการใช้บริการทางการแพทย์มากเกินความจำเป็น เนื่องจากฟรีทุกอย่าง และเข้าถึงได้ง่ายเกินไป เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียว ก็สามารถรักษาทุกโรคได้ทุกที่ และฟรีทุกอย่าง
ผมหวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย คงจะรีบเร่งปรับปรุงระบบการแพทย์ไทย เพื่อลดการฟ้องแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่ระบบการแพทย์ไทยจะถลำลึก กลายเป็นระบบที่สิ้นเปลืองมหาศาล ตามรอยประเทศยักษ์ใหญ่แบบอเมริกา
Ref. https://www.prachatai.com/journal/2011/02/33126