INSURANCETHAI.NET
Mon 23/12/2024 23:46:50
Home » อัพเดทประกันภัย » การเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ(รถยนต์)\"you

การเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ(รถยนต์)

2017/08/07 3850👁️‍🗨️

การเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ(รถยนต์)

1.ฝ่ายผู้เสียหาย

เช่น ผู้ที่ถูกรถชน หรือได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์
สิ่งที่ควรทำคือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ความผิดเกิด ถ่ายภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของความเสียหายโดยละเอียด หาพยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ขอทราบชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รวบรวมไว้เพื่อขอความช่วยเหลือให้เป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวนหรือชั้นศาลต่อไป ท่านใดมีประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย(ประกันภัยค้ำจุน) ก็ควรจะแจ้งประกันภัยทันที เพราะถ้าแจ้งช้าประกันจะไม่รับผิดชอบเพราะผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้ว

2.ฝ่ายผู้กระทำความผิด

เช่น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บหรือทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย
ควรจะมอบตัวยอมรับความผิดลุแก่โทษ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย เช่น ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำขวัญ เป็นต้น เพราะจะทำให้ศาลเห็นใจ ลดโทษให้ตาม ป.อ.มาตรา 78 ไม่ถึงขั้นติดคุกติดตาราง ส่วนใครที่หลบหนีไปหลังกระทำความผิด เช่น ขับรถยนต์ชนคนแล้วไม่ช่วยเหลือ ควรเปลี่ยนใจหันกลับมามอบตัวและยอมรับความจริง เยียวยาผู้เสียหาย (โทษไม่ถึงขั้นติดคุก)

3.กรณีเกิดเหตุละเมิด คดีเจ้าของรถไม่ได้ไปกับรถที่เกิดอุบัติเหตุ

เช่น บุคคลอื่นยืมรถไป เพื่อนหรือลูกหลานยืมไปและเกิดอุบัติเหตุไปกระทำละเมิดต่อผู้อื่น
เจ้าของรถไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลในขณะเกิดเหตุ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 437 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับคนขับรถ (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกา 2659/2524, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5679/2545, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5542/2552, คำพิพากษาศาลฎีกา 6243/2541)

ยกเว้นผู้ที่ขับรถเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนที่เจ้าของใช้ไปในทางการที่จ้างหรือในขอบอำนาจของตัวแทน เจ้าของรถจึงต้องร่วมรับผิดกับคนขับ (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3760/2533)

กรณีเจ้าของรถโดยสารหรือนั่งไปด้วย
ถ้าไม่ได้หลับหรือเมาจนไม่รู้เรื่องในรถ เจ้าของรถถึงแม้ไม่ได้ขับรถ มีคนอื่นขับรถ ถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ หรือเจ้าของรถขับรถเองต้องรับผิดฐานละเมิด (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2378-2380/2532)

ถ้าเจ้าของรถเมาหนักจนหลับอยู่ในรถและคนขับรถขับรถไปชนบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
เจ้าของรถไม่ต้องรับผิด ถือว่าไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถขณะเกิดเหตุละเมิด(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3076/2522)

4.ลูกจ้างขโมยกุญแจรถแล้วไปกระทำละเมิดกับบุคคลอื่น

เช่น ไปชนคนตายหรือทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เจ้าของรถไม่ต้องร่วมรับผิด เพราะถือว่ามิได้ครอบครองรถในขณะเกิดเหตุและเป็นการกระทำนอกหน้าที่ (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2497(ประชุมใหญ่))

5.คนขับรถบรรทุกหรือรถโดยสารหรือรถยนต์จะอ้างว่าเบรกแตก โดยอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้

เพราะคนขับมีหน้าที่ต้องตรวจสอบหรือรักษา เปลี่ยนอุปกรณ์ แก้ไขเครื่องจักรกลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มั่นคง แข็งแรงและปลอดภัย จึงถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ ต้องรับผิดหากไปก่อความเสียหายให้กับบุคคลอื่น (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3081/2533)

6. การฟ้องร้องบริษัทประกันภัยซึ่งรับประกันวินาศภัย(ประกันภัยค้ำจุน)ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน

ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 แต่ต้องแจ้งผู้รับประกันโดยไม่ชักช้า
ถ้าแจ้งช้าผู้รับประกันไม่ต้องรับผิด (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2542, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2545)

7.หลักเกณฑ์การเรียกค่าเสียหายในกรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

แยกออกเป็น 2 กรณี
กรณีแรก ทำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ดังนี้
1.ค่าปลงศพ (ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคแรก)
2.ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น (ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคแรก)
3.ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย (ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสอง)
4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย ( ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสอง)
5.ค่าขาดไร้อุปการะ (ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม)
6.ค่าขาดการงานที่ต้องทำให้กับครัวเรือนหรืออุตสาหกรรม (ป.พ.พ.มาตรา 445)

กรณีที่สอง กรณีผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย แต่เสียหายเกี่ยวกับร่างกาย อนามัย เรียกค่าสินไหมทดแทนได้ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป (ป.พ.พ.มาตรา 444 วรรคแรก)
2.ค่าเสียความสามารถประกอบการงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (ป.พ.พ.มาตรา 444 วรรคแรก)
3.ค่าขาดการงานที่ต้องทำให้กับครัวเรือนหรืออุตสาหกรรม (ป.พ.พ.มาตรา 445)
4.ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน (ป.พ.พ.มาตรา 446)

8.การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีละเมิดต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดทางอาญา เช่น ฟ้องคนขับให้ใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่า ส่วนฟ้องนายจ้างหรือบุคคลอื่นที่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดให้ใช้อายุความทางแพ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 448





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow