ลูกค้าโกงประกัน ปีละนับหมื่นล้าน
ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย
ในแต่ละปี ธุรกิจประกันภัยต้องถูกลูกค้าฉ้อโกงเคลมสินไหมปีละนับหมื่นล้านบาท ทั้งที่ใครก็รู้ว่าธุรกิจประกันภัยนั้นมีความเขี้ยวแค่ไหน ใครจะได้เงินไปจากบริษัทประกันง่ายๆ ย่อมไม่มีทาง แม้จะเป็นลูกค้าอยู่ก็ตาม
ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ระบุว่า 2559 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพิ่มสูงมากขึ้น คือตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมามีถึง 200 เรื่อง เท่ากับตัวเลขทั้งปีของปี 2558 ทีเดียว หากยังเจรจาตกลงกันไม่ได้ ลูกค้าก็ต้องเสียเวลา เสียเงินเสียทอง ฟ้องร้องกับบริษัทประกันต่อไป
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจลูกค้าผู้สุจริต เมื่อถึงเวลาเรียกเคลมสินไหมแล้วไม่ได้เงินตามที่ตกลงกันไว้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ หรือไม่ก็ถูกบริษัทประกันถ่วงเวลา หรือบ่ายเบี่ยงการจ่ายสินไหมออกไปให้นานที่สุด (ปัจจุบันมีโทษ การประวิงการจ่าย) ซึ่งบริษัทประกันเองก็ควรมองว่าลูกค้าส่วนใหญ่นั้นตั้งใจจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ (หลักสุจริตใจอย่างยิ่ง) เพื่อซื้อประกันไว้คุ้มครองความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้น หาใช่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะฉ้อโกงบริษัทประกัน
บริษัทประกันภัยควรเอาเวลาทุ่มเท หรือหาวิธีรับมือกับพวกที่ตั้งใจมาฉ้อโกงกับบริษัทประกันโดยตรงจะดีกว่า ซึ่งอาจลดความเสียหายได้มหาศาล ดีกว่ามาตั้งแง่กับลูกค้าผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย
ปัญหาการฉ้อโกงสินไหมประกันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย
แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉลี่ย ตัวเลขฉ้อโกงสินไหมจะอยู่ประมาณปีละ 10% ของเบี้ยประกันทั้งหมด ซึ่งของไทยก็ตกประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท
เริ่มตั้งแต่
เรื่องที่สามารถทำคนเดียวได้
ตั้งใจขับรถชนหรือเบียดกำแพง
เพื่อต้องการเปลี่ยนกันชนหรือต้องการทำสีใหม่ ซึ่งภาษาประกันเรียกว่า เคลมแห้ง
กรณีนี้มีให้เห็นกันทั่วไป ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไร ปีนี้เคลมไปแล้ว ปีต่อไปหากบริษัทประกันขึ้นเบี้ยอีก ก็ไม่ทำประกันต่อ ย้ายไปอยู่บริษัทใหม่ที่เบี้ยต่ำกว่าแทน
กรณีเสี่ยตัดนิ้วเพื่อเคลมประกัน มีการวางแผนทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ไว้ 20 บริษัท ยอมจ่ายค่าเบี้ยปีละ 4 แสนบาท แลกกับทุนประกันรวมกันถึง 80-90 ล้านบาท ยอมตัดนิ้วของตัวเองออกไป 1 นิ้ว เพื่อให้เข้าเงื่อนไขกรมธรรม์ ถ้าสำเร็จก็จะได้รับเงินนับสิบล้านบาท แต่บริษัทประกันรวมตัวกันจับได้เสียก่อน จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง แม้สุดท้ายจะส่งฟ้องคดีอาญาฉ้อโกงไม่ทัน เพราะหมดอายุความก่อน แต่คดีแพ่ง บริษัทประกันก็ชนะไม่ต้องจ่ายสินไหม
ฉ้อโกงเป็นขบวนการ
มีการนำรถเก๋งนับ 10 คัน ที่ทำประกันชั้น 1 ไว้ไปจัดฉากชนกับรถบิ๊กไบค์ มีค่าสินไหมรวม 2 ล้านบาท กรณีนี้ถูกจับได้ เพราะบริษัทประกันหลายแห่งใช้พนักงานสำรวจภัยหรือเซอร์เวเยอร์คนกลาง เรียกเคลมไปเรียกเคลมมา ในที่สุดเซอร์เวเยอร์ก็มาจ๊ะเอ๋กับรถบิ๊กไบค์คันเดิม ความเลยแตก
จ้างทำประกัน ประกันสุขภาพหรือประกันชดเชยรายได้จากการรักษาพยาบาล
จ้างให้ทำประกัน ทำพร้อมๆ กันหลายบริษัท แถมจ่ายค่าเบี้ยให้ด้วย แกล้งเจ็บป่วยไปนอนโรงพยาบาลหลายวัน ก็ได้แล้วหลายหมื่นบาท คงทำโจ่งแจ้งไปหน่อย ในที่สุดก็ถูกจับได้
ผู้รู้กฎหมายอาศัยช่องว่างของกฎหมายหากิน
การรับจ้างเรียกร้องเคลมสินไหมแทนผู้เอาประกันตัวจริง โดยขอกินเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักจะมีมูลค่าสินไหมที่สูง และบริษัทประกันไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะมาอย่างถูกกฎหมาย
การเผาเอาเงินประกัน
ปัญหานี้ก็ยังมีเกิดขึ้นอยู่ แม้บริษัทประกันจะรู้ทั้งรู้ว่าตั้งใจเผาเอาเงินประกัน แต่เมื่อขึ้นสู่ขบวนการในชั้นศาลแล้ว หลักฐานจากเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นตัวพิสูจน์ที่สำคัญสุดว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการจงใจ แต่หลายครั้งบริษัทประกันต้องจ่ายตามระเบียบ
สมาคมประกันวินาศภัยไทยและ คปภ.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ดี และกำลังเดินหน้านำระบบอินชัวรันส์บูโร หรือข้อมูลกลางของธุรกิจประกันมาใช้ คล้ายสถาบันการเงินใช้เครดิตบูโรตรวจสอบประวัติทางการเงินของลูกค้า หวังว่าหากทำได้สำเร็จจะช่วยลดปัญหาฉ้อโกงของธุรกิจประกันได้ไม่มากก็น้อย