คดีประกันอัคคีภัย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2537)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2537
ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เมื่อจำเลยได้ให้การโดยชัดแจ้งถึงประเด็นดังกล่าวรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ทั้งเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะในคดีอันถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ จำเลยย่อมไม่ต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาแต่เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแล้วศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ แม้ตามทางปฏิบัติผู้เอาประกันภัยจะต้องยื่นคำขอประกันภัยตามแบบของบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทพิจารณาก่อน แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นกรณีที่กระทำผ่านมาจากตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทรับประกันภัย ส่วนกรณีของโจทก์ตัวแทนของโจทก์ได้ทำคำเสนอต่อส. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้โดยตรง จึงไม่ได้มีแบบพิธีที่จะต้องยื่นคำขอให้พิจารณาก่อน เมื่อ ส. ไปตรวจสอบสินค้าเครื่องจักรเป็นที่พอใจก็สนองรับคำเสนอของตัวแทนโจทก์ผู้อยู่เฉพาะหน้า สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้ว การที่จำเลยได้ยื่นแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 มาตรา 27 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกันอัคคีภัยเมื่อบริษัททำสัญญาประกันอัคคีภัยรายใดให้บริษัทยื่นรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้น ดังนี้ การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้ทำสัญญารับประกันอัคคีภัยสำหรับสินค้าของโจทก์แล้ว กรมธรรมประกันภัยเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เมื่อมีลายมือชื่อผู้แทนของจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญในตารางแห่งกรมธรรม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์อ้างจึงเป็นพยานหลักฐานฟ้องยังคับจำเลยได้ โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยต้องทำกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความตรงตามสัญญาประกันภัยและส่งมอบให้โจทก์ผู้เอาประกันภัย แต่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งที่โจทก์อ้างอิงตามที่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องเท่านั้น ส่วนหลักฐานที่มีเป็นหนังสือจะฟ้องร้องให้บังคับได้หรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบอยู่แล้ว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นโดยใช้ถ้อยคำว่าสัญญาประกันภัยท้ายฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่ย่อมหมายความเพียงว่า สัญญาประกันภัยตามฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำสืบโดยส่งสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยต่อศาล และจำเลยนำสืบยอมรับว่าต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริงและมีลายมือชื่อของผู้แทนจำเลยพร้อมประทับตราของบริษัทถูกต้อง จึงเท่ากับโจทก์นำสืบว่าสัญญาประกันภัยตามฟ้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 แล้ว โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานอันดับที่ 9 ระบุแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยกรมธรรม์เลขที่ 86/338057 จากสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ เป็นชุดมารวม 12 ฉบับ มีสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์อันเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นส่วนหนึ่งของแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยตามกรมธรรม์ดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้ระบุอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88(เดิม) แล้ว เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังได้ เมื่อจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยไว้ แม้ว่าขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันภัยจากจำเลย แต่กรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็มีอยู่ที่จำเลยก่อนโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมกล่าวอ้างถึงและใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องบังคับคดีได้ ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 บัญญัติว่า บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้นเป็นกรณีที่ผู้รับชำระหนี้จะไม่ยอมออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระหนี้จึงให้สิทธิผู้ชำระหนี้เรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จรับเงินได้ ซึ่งต่างกับกรณีที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันไว้แล้ว แต่ยังไม่ส่งมอบให้โจทก์แม้ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลย ก็ฟังว่าโจทก์ชำระเบี้ยประกันแล้วได้ไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยกลับเพิกเฉย เพราะมีกรณีที่จำเลยอ้างเหตุโต้แย้งกับโจทก์ในปัญหาที่ว่ามีการทำสัญญาประกันภัยแล้วหรือไม่เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลยไม่ได้ส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้สนใจหรือติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารรายการละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่วินาศหรือเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะจำเลยจะไม่พิจารณาชดใช้ให้อยู่แล้ว โดยจำเลยถือว่าไม่มีสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อีกทั้งจำเลยจะไปสำรวจความเสียหายหรือไม่ก็ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีสัญญาประกันภัยต่อกันและจำเลยไม่ติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อนี้อีกได้ กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดว่า จำเลยจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์ผู้เอาประกันภัย ในกรณีนี้จำเลยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์โดยหักเบี้ยประกันสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน เมื่อสัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้นและจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยตามสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัย โดยโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่จำเลยแล้ว การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาประกันภัย จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์นี้ เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นหนังสือไปยังโจทก์ สัญญาประกันภัยจึงยังไม่เลิกกันและกรมธรรม์ประกันภัยยังมีสภาพบังคับอยู่ จำเลยให้การว่า สาเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นในสถานที่ที่โจทก์ครอบครอง และโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเหตุตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2 และ 6จริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นตามคำให้การจำเลยคำให้การของจำเลยถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบในประเด็นดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาท และให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นว่าที่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเหตุตามกฎหมายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบเองนั้นเป็นเหตุอะไรเพราะเหตุที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามกฎหมายนั้นต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือเพราะความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัยตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 879 เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นจำเลยจึงไม่มีประเด็นจะนำสืบ และปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการวางเพลิง โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยนั้น ปรากฏว่าข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 356
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เดิม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2510 มาตรา 27
ผู้พิพากษา
สมภพ โชติกวณิชย์
นิเวศน์ คำผอง
บุญธรรม อยู่พุก
แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา