INSURANCETHAI.NET
Sat 18/01/2025 16:11:28
Home » Uncategorized » พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535\"you

พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535

2019/10/03 990👁️‍🗨️

พระราชบัญญัติประกันวินาศภัยพ.ศ.2535

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

          มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535

          มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา 3  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2510

          มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

          วินาศภัย หมายความว่า ความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาที่จะพึงประมาณเป็นเงินได้ และหมายความรวมถึงความสูญเสียในสิทธิ ผลประโยชน์หรือรายได้ด้วย

          บริษัท หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

          สำนักงานใหญ่ หมายความรวมถึงสำนักงานสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

          การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจประกันต่อด้วย

          เงินกองทุน หมายความว่า ทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่าหนี้สินของบริษัทตามราคาประเมินทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทที่ประเมินตามพระราชบัญญัตินี้

          ตัวแทนประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท

          นายหน้าประกันวินาศภัย หมายความว่า ผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น

          กองทุน หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย

          พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          นายทะเบียน หมายความว่า อธิบดีกรมการประกันภัยหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการประกันภัยมอบหมาย

          รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กับออกประกาศตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

          กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

บริษัท

          มาตรา 6  ภายใต้บังคับมาตรา 7 การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจะกระทำได้เมื่อได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

          การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติก่อนให้ความเห็นชอบก็ได้

          เมื่อได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและได้วางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 กับทั้งได้ดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตามมาตรา 27  แล้ว จึงให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว

          การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้

          มาตรา 7  บริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศจะตั้งสาขาของบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ในการนี้ รัฐมนตรีจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขก็ได้

          การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยตั้งเป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          สาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต้องดำรงทรัพย์สินไว้ในประเทศไทยตามจำนวน ชนิด  วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จำนวนทรัพย์สินที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินกองทุนที่บริษัทต้องดำรงตามมาตรา 27

          รัฐมนตรีจะออกใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่งก็ต่อเมื่อบริษัทได้วางหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19  และดำรงไว้ซึ่งทรัพย์สินในประเทศไทยตามวรรคสามแล้ว

          บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศจะเปิดสาขา  ณ ที่ใด ๆ มิได้

          สาขาให้หมายความรวมถึงสำนักงานที่แยกออกจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด และได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากบริษัทไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม  แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนให้ใช้เป็นที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการข้อมูล สถานที่เก็บเอกสารและสถานที่ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับกิจการของบริษัท

          มาตรา 8  หุ้นของบริษัทจะต้องเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อผู้ถือ มีมูลค่าของหุ้นไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท  และข้อบังคับของบริษัทต้องไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น

          มาตรา 9  บริษัทต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

          มาตรา 10  บุคคลใดได้หุ้นของบริษัทใดมา และการได้มานั้นเป็นเหตุให้จำนวนหุ้นหรือบุคคลผู้ถือหุ้นอยู่เป็นไปโดยฝ่าฝืนมาตรา 9 และไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนที่ถือไว้ขึ้นใช้ยันต่อบริษัทนั้นมิได้  และบริษัทจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใดให้แก่บุคคลนั้น  หรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นส่วนที่เกินมิได้

          มาตรา 11  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา 9 และมาตรา 10 ให้บริษัทตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นทุกคราว  และแจ้งผลการตรวจสอบต่อนายทะเบียนตามรายการและภายในเวลาที่นายทะเบียนกำหนดในกรณีที่พบว่ามีจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 9 ให้บริษัทแจ้งให้ผู้นั้นทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตรวจพบ  และให้ผู้นั้นดำเนินการแก้ไขภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้ง

          มาตรา 12  บทบัญญัติมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 มิให้นำมาใช้บังคับแก่บริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศตามมาตรา 7

          มาตรา 13  บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยจะควบกับบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นมิได้  เว้นแต่จะควบกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยด้วยกัน

          การควบบริษัทตามวรรคหนึ่งเข้ากัน ให้กระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ในการให้ความเห็นชอบ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติก่อนให้ความเห็นชอบก็ได้

          เมื่อได้จดทะเบียนควบบริษัทเข้ากันตามกฎหมายแล้ว บริษัทใหม่ที่ควบเข้ากันต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามมาตรา 6  ภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่ควบเข้ากันนั้น ในระหว่างขอรับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปพลางได้ตามใบอนุญาตเดิม หากไม่ขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดดังกล่าว  หรือควบบริษัทเข้ากันโดยฝ่าฝืนมาตรานี้ ให้ถือว่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเดิมที่ออกให้แก่บริษัทก่อนควบเข้ากันนั้นเป็นอันสิ้นอายุ

          มาตรา 14  นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัทต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกปี  เว้นแต่ปีที่ออกใบอนุญาต

          บริษัทใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทนั้นสิ้นอายุ

          มาตรา 15  เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทใดสิ้นอายุ ให้ถือว่าบริษัทนั้นถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

          มาตรา 16  บริษัทตามมาตรา 6 ที่จะเปิดสาขาหรือย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขา ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นำความในมาตรา 7 วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          มาตรา 17  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 18  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า ประกันวินาศภัย หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้

           (1) บริษัท

          (2) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นบริษัทหรือสมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

          (3) สมาคมที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัย

          (4) สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกส่วนมากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท

          (5) ตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยที่ใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อในธุรกิจการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยของตน แล้วแต่กรณี

          (6) สถาบันการศึกษาวิชาประกันวินาศภัยหรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งใช้เพื่อเป็นคำแสดงชื่อของสถาบันนั้น

          (7) กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก หรือผู้มีฐานะ มีตำแหน่งหรือหน้าที่ใด ๆ ในบริษัท สมาคม สหภาพแรงงาน สถาบันการศึกษาวิชาประกันวินาศภัย หรือสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย ตาม (1)(2) (3) (4) และ (6) ซึ่งใช้เพื่อแสดงความเป็นกรรมการ พนักงานลูกจ้าง สมาชิก หรือความมีฐานะ มีตำแหน่งหรือหน้าที่ของตนในบริษัท สมาคม   สหภาพแรงงาน หรือสถาบันดังกล่าว

          มาตรา 19  บริษัทต้องมีหลักทรัพย์ของบริษัทวางไว้กับนายทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ประกันตามประเภทของการประกันภัย

          การกำหนดประเภทของการประกันภัยและมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          หลักทรัพย์ของบริษัทที่ต้องวางไว้กับนายทะเบียนจะเป็นเงินสด  พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็ได้

          บริษัทอาจขอเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ประกันที่วางไว้ได้  ทั้งนี้ ภายใต้บังคับวรรคสองและวรรคสาม

          มาตรา 20  ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าลดต่ำลงกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 19 ให้นายทะเบียนสั่งให้บริษัทนั้นนำหลักทรัพย์ประกันมาเพิ่มจนครบจำนวนที่กำหนดภายในสองเดือนนับแต่วันได้รับคำสั่ง

          มาตรา 21  ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันของบริษัทใดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 19 ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนหลักทรัพย์ประกันส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นได้ ตามคำขอของบริษัทซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

          มาตรา 22  ในกรณีที่บริษัทเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเภทใดอันมีผลให้หลักทรัพย์ประกันที่ได้วางไว้แล้วมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของหลักทรัพย์ประกันที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยที่คงดำเนินการต่อไป  บริษัทมีสิทธิได้รับคืนทรัพย์สินที่ได้วางไว้เป็นหลักทรัพย์ประกันเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าของหลักทรัพย์ประกันที่กำหนดไว้   สำหรับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทที่คงดำเนินการต่อไปนั้น ทั้งนี้ เมื่อบริษัทได้แสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจนายทะเบียนว่า ได้ปลดเปลื้องหนี้สินและไม่มีความรับผิดเหลืออยู่สำหรับการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทที่เลิกนั้นแล้ว

          มาตรา 23  ให้บริษัทจัดสรรเงินสำรองดังนี้

          (1) เงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท

          (2) เงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทน และ

          (3) เงินสำรองเพื่อการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          การจัดสรรทรัพย์สินไว้เป็นเงินสำรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เป็นเงินสำรองตามวรรคหนึ่ง จะเป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็ได้

          มาตรา 24  รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริษัทวางเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ไว้กับนายทะเบียนตามประเภทของการประกันภัยและตามอัตราหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศ

          มาตรา 25  ในกรณีที่หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 19 และเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 เป็นทรัพย์สินที่การโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือต้องกระทำต่อบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการโอนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นทราบ และห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องนั้นโอนหรือให้ไปซึ่งทรัพย์สินนั้น จนกว่านายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งการถอนหรือการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินนั้น

          มาตรา 26  หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทวางไว้ตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23 ที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี  ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่บริษัทยังมิได้เลิกกัน

          ในกรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23(1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 และมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษอื่น

          ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือทรัพย์สินที่วางเป็นหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23(1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวอย่างเดียวกันกับเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

          ทรัพย์สินของบริษัทนอกจากหลักทรัพย์ประกันตามมาตรา 19 และเงินสำรองตามมาตรา 23(1) ที่วางไว้กับนายทะเบียนตามมาตรา 24 ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกันกับผู้ทรงบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 27  บริษัทต้องดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของเบี้ยประกันภัยสุทธิที่ได้รับทั้งหมดสำหรับปีปฏิทินที่ล่วงแล้ว  แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท

หมวด 2

การควบคุมบริษัท

          มาตรา 28  นอกจากการประกันวินาศภัย บริษัทจะลงทุนประกอบธุรกิจอื่นใดได้เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในการนี้รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น ๆ ให้บริษัทปฏิบัติด้วยก็ได้

          มาตรา 29  กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ  ทั้งนี้ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยด้วย

          แบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วตามวรรคหนึ่งเมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือยกเลิกแบบ หรือข้อความนั้นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

          ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิเลือกให้บริษัทต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือข้อความที่บริษัทออกให้นั้น หรือตามแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้   ประการใดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

          ในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้แบบหรือข้อความที่นายทะเบียนมิได้ให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้เอาประกันภัยจะเลือกให้บริษัทต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น หรือจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยนั้นเสียและให้บริษัทคืนเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้นที่ได้ชำระไว้แล้วแก่บริษัทก็ได้ และไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้ประการใด หรือไม่ย่อมไม่เป็นเหตุให้บริษัทพ้นความผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 30  อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทกำหนด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

          อัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้เปลี่ยนอัตรานั้นเสียใหม่ก็ได้การเปลี่ยนอัตราใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ก่อนแล้ว

          มาตรา 31  ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้

          (1) ประกอบธุรกิจประกันชีวิต

          (2) รับประกันวินาศภัยเกินกว่าจำนวนดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน

              (ก) รับประกันอัคคีภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกันเพื่อวินาศภัยอันเดียวกันภายในเขตที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งนี้ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่าร้อยละสิบของเงินกองทุน

              (ข) รับประกันวินาศภัยยานพาหนะทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และบุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในยานพาหนะนั้น และการประกันภัยค้ำจุนเพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน ทั้งนี้ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยแต่ละยานพาหนะเกินกว่าร้อยละสิบของเงินกองทุน

              (ค) รับประกันวินาศภัยอื่นนอกจาก (ก) หรือ (ข) โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยรายหนึ่งเกินกว่าร้อยละสิบของเงินกองทุน

              ในกรณีที่มีการประกันต่อซึ่งวินาศภัยตาม (ก)(ข) หรือ (ค) โดยมีผลบังคับพร้อมกับการรับประกันวินาศภัย มิให้นับจำนวนเงินที่เอาประกันต่อเข้าอยู่ในจำนวนที่กำหนดตาม (ก)(ข) หรือ (ค)

          (3) ลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

          (4) ฝากเงินไว้ที่อื่นนอกจากที่ธนาคาร บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

          (5) เก็บเงินสดไว้ที่อื่นนอกจากเก็บไว้ที่สำนักงานของบริษัท

          (6) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทเพื่อเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากธุรกิจหรือการกระทำใด ๆ เว้นแต่เป็นการจ่ายบำเหน็จ เงินเดือน  โบนัส หรือเงินอย่างอื่นที่พึงจ่ายตามปกติ

          (7) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่ตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัย นอกจากเงินค่าจ้างหรือบำเหน็จที่พึงจ่ายตามปกติ

          (8) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใด เป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท

          (9) จ่ายบำเหน็จให้แก่บุคคลที่ช่วยให้มีการทำสัญญาประกันภัยซึ่งมิใช่ตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัท

         (10) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์  เว้นแต่

              (ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามสมควร

              (ข) เพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 28

              (ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้หรือจากการบังคับจำนอง

          การซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) หรือ (ข) หรือการได้อสังหาริมทรัพย์มาจากการรับชำระหนี้ตาม (ค) ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ในการอนุญาตนายทะเบียนจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

          (11) ให้ประโยชน์เป็นพิเศษแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

          (12) รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยลดลงต่ำกว่าจำนวนที่ต้องชำระ

          (13) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันวินาศภัยนายหน้าประกันวินาศภัย หรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินเป็นผู้รับชำระเบี้ยประกันภัย

          (14) ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่มีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทและไม่ได้ประทับตราของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่มีลายมือชื่อของผู้จัดการสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและไม่ได้ประทับตราของบริษัทนั้นด้วย ถ้ามี

          (15) โฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท

          (16) ตั้งหรือมอบหมายบุคคลอื่นนอกจากตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทไปชักชวนชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการกระทำของกรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทซึ่งกระทำการในนามบริษัท หรือ

          (17) ขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใด ๆ หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่นายทะเบียนกำหนดแก่กรรมการ หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการ  ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการและได้รับความเห็นชอบจากนาย-ทะเบียน

          มาตรา 32  คำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่อนุญาตตามมาตรา 31 (2) ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

          มาตรา 33  บริษัทต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของบริษัทตามมาตรา 31(10) ในกรณีดังต่อไปนี้

          (1) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทมีไว้เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับใช้เพื่อสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท หรือเพื่อใช้สำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นตามมาตรา 31 (10)(ก) หรือ (ข) ถ้ามิได้ใช้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ให้จำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้

          (2) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทได้มาจากการรับชำระหนี้ หรือจากการบังคับจำนองตามมาตรา 31(10)(ค) ให้จำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่ได้มา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 31(10)(ก) หรือ (ข)

          กำหนดระยะเวลาที่กำหนดตาม (1) และ (2) นายทะเบียนอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสามปี เมื่อบริษัทร้องขอก่อนสิ้นระยะเวลานั้นโดยมีเหตุผลอันสมควร  ในการอนุญาตนายทะเบียนจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้

           มาตรา 34  ห้ามมิให้บริษัทตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของบริษัท

          (1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

          (2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต

          (3) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทในช่วงเวลาที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยหรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

          (4) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทอื่นที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          (5) ถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทตามมาตรา 53

          (6) เป็นข้าราชการการเมือง

          (7) เป็นข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบริษัท เว้นแต่เป็นกรณีของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานของบริษัทหรือเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 53

          มาตรา 35  ห้ามมิให้บริษัทแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลใดนอกจากกรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัททำการรับประกันวินาศภัย รับเบี้ยประกันภัย และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด นอกจากการประกันต่อ

          มาตรา 36  ห้ามมิให้บริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

          การกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ ของบริษัทที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

          มาตรา 37  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริษัทปฏิบัติการใด ๆ ในเรื่องต่อไปนี้ได้

          (1) การเก็บเบี้ยประกันภัย

          (2) การประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท

          (3) การประกันต่อ

          (4) การจำแนกประเภทค่าใช้จ่าย

          (5) การจัดสรรเงินสำรองเพื่อการเสี่ยงภัยไว้เป็นประเภท ๆ

          (6) อัตราค่าจ้างหรือบำเหน็จสำหรับตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันวินาศภัยตามประเภทของการประกันวินาศภัย

          (7) แบบ ขนาด ตัวอักษร ภาษาที่ใช้ และข้อความของหนังสือมอบอำนาจของบริษัท รวมทั้งเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัท

          มาตรา 38  ในการติดต่อกับประชาชน บริษัทต้องเปิดทำการตามวันและเวลาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด แต่ทั้งนี้ บริษัทจะเปิดทำการเกินกว่าที่กำหนดก็ได้

          มาตรา 39  เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกันอัคคีภัยเมื่อบริษัททำสัญญาประกันอัคคีภัยรายใด ให้บริษัทยื่นรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้น

          บทบัญญัติวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่การประกันต่อ

          มาตรา 40  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรายการตามมาตรา 39 และเห็นสมควรจะกระทำการตรวจสอบเพื่อทราบราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ให้กระทำได้  ในการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้นในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ตามที่เห็นสมควร และให้มีอำนาจตรวจและเรียกให้ส่งเอกสารรวมทั้งหลักฐานใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะทราบราคาอันแท้จริงของทรัพย์สินนั้น

          ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง

          ถ้าผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสะดวกตามวรรคสองจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรนายทะเบียนจะมีคำสั่งให้สัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไปก็ได้คำสั่งของนายทะเบียนให้กำหนดวันที่ให้สัญญาประกันอัคคีภัยระงับสิ้นไปซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามวันนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่ง และให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งนั้นไปยังบริษัทและผู้เอาประกันภัยโดยพลัน เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งเช่นว่านี้ให้สัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้นระงับสิ้นไปในวันที่นาย-ทะเบียนกำหนดนั้น

          ในกรณีที่สัญญาประกันอัคคีภัยระงับสิ้นไปตามวรรคสาม ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้เอาประกันภัย ให้ถือเสมือนว่าการระงับสิ้นไปแห่งสัญญาประกันอัคคีภัยนั้นได้ระงับสิ้นไปเพราะผู้เอาประกันภัยบอกเลิกสัญญา

          มาตรา 41  ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบตามมาตรา 39 ว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัยมากถึงขนาดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าต่ำเกินสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานผลการตรวจสอบนั้นต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ปรากฏผลการตรวจสอบ ในกรณีเช่นนี้ถ้านายทะเบียนเห็นเป็นการสมควรให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ลดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยลงเท่าที่นายทะเบียนเห็นสมควรไปยังบริษัทและผู้เอาประกันภัยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากพนักงานเจ้าหน้าที่  แต่จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ลดลงแล้วนั้น ต้องไม่ต่ำกว่าราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามที่ปรากฏในการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่

          มาตรา 42  เมื่อได้มีคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 41 แล้ว

          (1) ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้นเสียได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียน  และเมื่อได้บอกเลิกแล้วให้บริษัทคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาที่เอาประกันภัยนั้น

          (2) ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้บอกเลิกสัญญาประกันอัคคีภัยตาม (1) ให้ถือว่าการประกันภัยรายนั้น มีจำนวนเงินที่เอาประกันภัยตามที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งให้ลดลงแล้วนั้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งและให้บริษัทกำหนดเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยเท่าที่ได้ลดลงแล้วนั้น และให้คืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินให้แก่ผู้เอาประกันภัยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่ง

          มาตรา 43  ในกรณีที่วินาศภัยเกิดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีเหตุอันควรสงสัยว่าวินาศภัยนั้นเกิดขึ้นด้วยความทุจริตของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ให้พนักงานสอบสวนแจ้งเหตุที่สงสัยนั้นไปยังนายทะเบียน ในกรณีเช่นนี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งไปยังบริษัทให้งดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยรายที่สงสัยนั้นไว้ เมื่อเหตุอันควรสงสัยนั้นหมดไปแล้ว ให้นายทะเบียนถอนคำสั่งนั้นเสียและแจ้งการถอนคำสั่งนั้นไปยังบริษัทและผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

          ในกรณีที่นายทะเบียนออกคำสั่งให้งดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนระงับอยู่นับแต่วันที่นายทะเบียนออกคำสั่งจนถึงวันถอนคำสั่งนั้น

          มาตรา 44  ให้บริษัทจัดทำสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

          เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีของบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท ให้บริษัทลงรายการที่เกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท  ทั้งนี้ ไม่ช้ากว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการนั้น

          มาตรา 45  ให้บริษัทเก็บรักษาสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา 44 ไว้ที่สำนักงานของบริษัทไม่น้อยกว่าสิบปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น หรือนับแต่วันที่บริษัทพ้นจากความรับผิดตามรายการที่มีความรับผิดหลังสุด ทั้งนี้ แล้วแต่อย่างใดจะยาวกว่า

          มาตรา 46  ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจดูสมุดทะเบียนตามมาตรา 44 เฉพาะรายการที่ตนเกี่ยวข้องหรือจะขอให้บริษัทคัดสำเนารายการดังกล่าวโดยรับรองว่าถูกต้องด้วยก็ได้  ทั้งนี้ ต้องเสียค่าบริการตามที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา 47  บริษัทต้องจัดส่งรายงานประจำปีแสดงฐานะการเงินและกิจการของบริษัทสำหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงแล้วต่อนายทะเบียน ตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนดภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน

          สำหรับบริษัทที่เป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศต้องส่งรายงานประจำปีของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ตนเป็นสาขาด้วยภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศนั้น

          รายงานประจำปีตามมาตรานี้ ต้องมีการรับรองโดยผู้สอบบัญชีด้วย

          มาตรา 48  ถ้าปรากฏว่ารายงานประจำปีที่บริษัทส่งตามมาตรา 47 วรรคหนึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่มีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องหรือครบถ้วนบริบูรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

          ในกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทมิได้ส่งรายงานประจำปีตามมาตรา 47

          มาตรา 49  ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทยื่นรายงานหรือเอกสารใด ๆ ตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราว ตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนดก็ได้  และนายทะเบียนจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

         รายงานหรือเอกสารที่ยื่นหรือแสดงหรือทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความตามวรรคหนึ่ง บริษัทต้องทำให้ครบถ้วนตรงต่อความเป็นจริง

          มาตรา 50  ให้บริษัทประกาศรายการย่อตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดแสดงสินทรัพย์และหนี้สินที่มีอยู่ในวันสิ้นปีปฏิทินภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งรายงานประจำปีตามมาตรา 47 ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในท้องถิ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่อย่างน้อยหนึ่งฉบับ มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน และให้ปิดประกาศไว้ในที่ที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัทไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนด้วย

          มาตรา 51  ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

          (1) เข้าไปในสำนักงานของบริษัทในระหว่างเวลาทำการเพื่อทราบข้อเท็จจริง ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ จากกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทและสอบถามบุคคลดังกล่าวได้

          (2) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัท หรือสถานที่ใด ๆ  ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสมุดบัญชี เอกสาร หรือดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท เพื่อตรวจสอบหรือประเมินราคาทรัพย์สินของบริษัท ในระหว่างเวลาทำการหรือในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

          (3) สั่งให้บริษัทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ

          (4) เรียกบุคคลดังกล่าวใน(1) หรือ (3) มาให้ถ้อยคำหรือจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการก็ได้

          ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

          มาตรา 52  เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด  ในการนี้จะสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุนหรือจะสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้

          ในกรณีที่บริษัทใดไม่เพิ่มทุนหรือลดทุนภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว

          ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องให้บริษัทใดเพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้บริษัทนั้นสามารถพยุงฐานะและการดำเนินการต่อไปได้ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีจะสั่งให้บริษัทเพิ่มทุนหรือลดทุนทันทีก็ได้โดยให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

          ในการเพิ่มทุนหรือลดทุนตามวรรคสองหรือวรรคสาม  มิให้นำมาตรา 1220 มาตรา 1224 มาตรา 1225 และมาตรา 1226 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 136 วรรคสอง (2) มาตรา 139 และมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด  พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณีมาใช้บังคับ

          มาตรา 53  เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 52  นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นถอดถอนกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทผู้เป็นต้นเหตุดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้

          ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทนั้นแต่งตั้งบุคคลอื่นโดยความเห็นชอบจากนายทะเบียนเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันถอดถอน

          ในกรณีที่บริษัทใดไม่ถอดถอนบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือถอดถอนแล้วไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคสอง  นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งถอดถอนบุคคลดังกล่าวหรือแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งเป็นเวลาไม่เกินสามปี และมิให้นำความในมาตรา 34(4) มาใช้บังคับ

          ให้ผู้ซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งตามวรรคสามได้รับค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัทนั้น และในระหว่างเวลาที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีมติเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของนายทะเบียนมิได้

          บุคคลซึ่งถูกถอดถอนตามคำสั่งของนายทะเบียนจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ ในบริษัทนั้นไม่ได้ไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม

          ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนที่ให้ถอดถอนหรือแต่งตั้งตามมาตรานี้เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

          มาตรา 54  ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 52 ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ  สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด

          ให้บริษัทที่ได้รับคำสั่งของนายทะเบียนให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 52 รายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมดของบริษัทภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา 55  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้  นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ

          มาตรา 56  ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอตรวจดูสมุดทะเบียนและเอกสารที่เกี่ยวแก่สมุดทะเบียนที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ และขอคัดสำเนาโดยมีคำรับรองของนายทะเบียนได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา 57  เมื่อบริษัทใดประสงค์จะเลิกกิจการให้บริษัทนั้นแจ้งความประสงค์ที่จะเลิกกิจการต่อนายทะเบียนให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนเลิกกิจการ

          ในกรณีที่บริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศเลิกกิจการให้มีการชำระบัญชี ในการชำระบัญชีนั้นให้นำความในมาตรา 60  มาตรา 61 และมาตรา 62 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 58  ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย หากมิได้เรียกร้องจากบริษัทจนล่วงพ้นอายุความแล้ว ให้บริษัทนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ

หมวด 3

การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

          มาตรา 59  รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเมื่อปรากฏแก่รัฐมนตรีว่าบริษัท

          (1) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

          (2) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

          (3) หยุดประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยไม่มีเหตุอันสมควร

          (4) ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

          (5) ถ้าประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

          มาตรา 60  เมื่อบริษัทใดถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้บริษัทนั้นเลิกกันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และให้มีการชำระบัญชี ในการชำระบัญชีนั้นให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีการใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน

          มาตรา 61  เพื่อประโยชน์แก่การชำระบัญชี ให้ถือว่าบริษัทซึ่งเป็นสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศเป็นบริษัทจำกัด และเพื่อประโยชน์แก่การนี้ให้ถือว่านายทะเบียนและกรมการประกันภัยเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วแต่กรณี  และการเสนอรายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้เสนอต่อนายทะเบียนแต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีต่อบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศนั้น

          มาตรา 62  ผู้ชำระบัญชีซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 60 อาจได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัท

หมวด 4

ตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันวินาศภัย

          มาตรา 63  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

          คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาต  ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

          ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยให้ระบุด้วยว่าเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใด

          มาตรา 64  ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          (1) บรรลุนิติภาวะ

          (2) มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

          (3) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

          (4) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

          (5) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

          (6) ไม่เป็นนายหน้าประกันวินาศภัย

          (7) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยในระยะเวลาสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

          (8) ได้รับการศึกษาวิชาประกันวินาศภัยจากสถาบันการศึกษาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด หรือสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยได้ตามหลักสูตรและวิธีการที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

          มาตรา 65  ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 64  ประสงค์จะเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใด ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทนั้นต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทให้ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย

          เมื่อนายทะเบียนได้พิจารณาคำขอตามวรรคหนึ่งเป็นที่พอใจแล้วให้ออกใบอนุญาตให้ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทที่แสดงความต้องการ เมื่อได้ออกใบอนุญาตแล้วให้แจ้งให้บริษัททราบ

          ผู้ที่เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใดอยู่แล้ว อาจขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทอื่นอีกได้ คำขอรับใบอนุญาตเช่นว่านี้ ผู้ขอต้องยื่นหนังสือแสดงความยินยอมของบริษัทที่ผู้นั้นเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยอยู่แล้วพร้อมด้วยหนังสือแสดงความต้องการของบริษัทใหม่ที่ต้องมีข้อความแสดงไว้ด้วยว่าบริษัทใหม่นั้นได้ทราบแล้วว่าผู้ขอเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทใดอยู่แล้ว  เมื่อนายทะเบียนได้ออกใบอนุญาตแล้วให้แจ้งบริษัทที่เกี่ยวข้องทราบ

          หนังสือแสดงความต้องการตามวรรคหนึ่งและหนังสือแสดงความยินยอมตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา 66  ตัวแทนประกันวินาศภัยอาจทำสัญญาประกันวินาศภัยในนามของบริษัทได้ เมื่อได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท

          ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย หรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน อาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้ เมื่อได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท

          หนังสือมอบอำนาจของบริษัทตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

          หนังสือมอบอำนาจของบริษัท แม้มิได้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดก็ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มิได้ทำตามแบบที่กำหนดนั้น

          มาตรา 67  บุคคลธรรมดาซึ่งจะขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยได้ต้องไม่เป็นตัวแทนประกันวินาศภัย หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ  พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทใด และให้นำความในมาตรา 64(1)(2)(3)(4)(5)(7) และ (8) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          นิติบุคคลอาจขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยได้เมื่อ

          (1) นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

          (2) กิจการดังกล่าวอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น

          (3) นิติบุคคลนั้นมีพนักงานหรือลูกจ้างที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้เป็นผู้ทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าว และ

          (4) นิติบุคคลนั้นต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยในระยะเวลาสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

          มาตรา 68  บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติมาตรา 67 ประสงค์จะเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน

          การออกใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด

          คำขอรับใบอนุญาตและใบอนุญาตตามมาตรานี้  ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด

          มาตรา 69  นายหน้าประกันวินาศภัยต้องมีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย ในกรณีย้ายสำนักงานต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเป็นหนังสือภายในห้าวันนับแต่วันที่ย้าย

          มาตรา 70  ให้นายหน้าประกันวินาศภัยจัดทำสมุดทะเบียน สมุดบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจของตนตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนด

          เมื่อมีเหตุจะต้องลงในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้นายหน้าประกันวินาศภัยลงรายการเกี่ยวกับเหตุนั้นในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และเอกสารเช่นว่านั้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุจะต้องลงรายการนั้น

          มาตรา 71  ให้นายหน้าประกันวินาศภัยเก็บรักษาสมุดทะเบียนสมุดบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวกับธุรกิจของตน รวมทั้งเอกสารประกอบการลงสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีไว้ที่สำนักงานของตนไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันลงรายการครั้งสุดท้ายในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีนั้น

          มาตรา 72  ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย ให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตถ้าผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด  ภายในกำหนดสองเดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

          ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งได้ต่ออายุใบอนุญาตครบสองคราวติดต่อกันแล้วและได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่อไป  ให้ใบอนุญาตที่ออกให้ในคราวต่อไปนั้นมีอายุห้าปี

          มาตรา 73  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างในบริษัทใด ให้ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยของผู้นั้นสิ้นสุดลง

          มาตรา 74  ในกรณีที่บริษัทได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นแล้วก็ดี หรือได้ส่งมอบแก่นายหน้าประกันวินาศภัยเพื่อส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เอาประกันภัยรายนั้นได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่บริษัทแล้ว

          มาตรา 75  เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติของนายหน้าประกันวินาศภัย นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกให้นายหน้าประกันวินาศภัยมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งสมุดทะเบียนสมุดบัญชีหรือเอกสารใด ๆ หรือให้ส่งรายงานตามแบบและรายการที่นายทะเบียนกำหนดเพื่อตรวจสอบ หรือจะเข้าไปในสำนักงานของบุคคลดังกล่าวในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบดังกล่าวก็ได้ในการนี้นายหน้าประกันวินาศภัยต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

          มาตรา 76  นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยเมื่อปรากฏแก่นายทะเบียนว่าตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัย

          (1) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

          (2) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 64 หรือมาตรา 67 แล้วแต่กรณี

          (3) ดำเนินงานทำให้เกิดหรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน

          เมื่อนายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งคำสั่งนั้นไปยังผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

          มาตรา 77  ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 76 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง  คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

          มาตรา 78  ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน แนะนำ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในต่างประเทศหรือกับบุคคลใด ๆ นอกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้

          ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่นายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้ทำสัญญาประกันต่อกับผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในต่างประเทศ

หมวด 5

กองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย

          มาตรา 79  ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

          มาตรา 80  บริษัทใดไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนให้ถูกต้องตามมาตรา 58  ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของเงินที่ไม่ได้นำส่งดังกล่าว

          มาตรา 81  ให้กองทุนประกอบด้วย

          (1) เงินที่ได้รับตามมาตรา 120

          (2) เงินที่ได้รับตามมาตรา 58

          (3) เงินเพิ่มที่ได้รับตามมาตรา 80

          (4) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้มอบให้ และ

          (5) ดอกผลของกองทุน

          มาตรา 82  เงินและทรัพย์สินตามมาตรา 81 ให้เป็นของกรมการประกันภัยและไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

          มาตรา 83  การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการบริหารกองทุนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

หมวด 6

บทกำหนดโทษ

          มาตรา 84  บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคห้า  มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 16 มาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 6 วรรคสี่ มาตรา 7 วรรคหนึ่งหรือเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 31(10) วรรคสอง หรือมาตรา 33 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทและถ้าเป็นกรณีกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 85  บริษัทใดไม่ตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่แจ้งผู้ถือหุ้นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11  ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 86  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 87  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 18  ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท  และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 88  บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 23 มาตรา 28 มาตรา 31 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 52  มาตรา 53 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง หรือไม่วางเงินสำรองประกันภัยตามมาตรา 24 หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 37 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 41 หรือมาตรา 43  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 89  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

          มาตรา 90  บริษัทใดออกกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยฝ่าฝืนมาตรา 30  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

          มาตรา 91  บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

          มาตรา 92  บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

          มาตรา 93  บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 มาตรา 44 มาตรา 47 มาตรา 50 มาตรา 54 วรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 49  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 94  บริษัทใดไม่ยอมให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูสมุดทะเบียนหรือไม่ยอมคัดสำเนารายการให้ตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

          มาตรา 95  บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการ หรือให้คำชี้แจงตามมาตรา 49  ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

          มาตรา 96  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา 51 หรือฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 51  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 97  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 วรรคห้า  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 98  บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

          มาตรา 99  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 100  ตัวแทนประกันวินาศภัยผู้ใดทำสัญญาประกันภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง หรือตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย หรือพนักงานของบริษัทผู้ใดรับเบี้ยประกันภัยโดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทตามมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 101  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใดไม่มีสำนักงานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย  หรือตามที่ได้แจ้งการย้ายสำนักงานไว้ต่อนายทะเบียนตามมาตรา 69  ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท

          มาตรา 102  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใดย้ายสำนักงานโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา 69  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

          มาตรา 103  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 70  วรรคหนึ่ง หรือไม่ลงรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีตามมาตรา 70  วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

          มาตรา 104  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

          มาตรา 105  นายหน้าประกันวินาศภัยผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งเรียกตามมาตรา 75 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 106  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา 75  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 107  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 108  ในกรณีที่บริษัทใดจงใจกระทำความผิดเพราะฝ่าฝืนมาตรา 23 มาตรา 28 หรือมาตรา 35 หรือจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งหรือให้ทำคำชี้แจงตามมาตรา 49  หรือไม่หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งกรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย

          มาตรา 109  ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

          (1) ในการดำเนินงานของบริษัท กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในบริษัทกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด 1  หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 หรือหมวด 7 ของลักษณะ 12 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 40 มาตรา 41 หรือมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499  หรือมาตรา 215 หรือมาตรา 216 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535

          (2) ในการสอบบัญชีของบริษัท  ผู้สอบบัญชีผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 269 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499

          (3) ผู้ใดเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) หรือ (2)

          ให้ถือว่ากรมการประกันภัยเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          ในความผิดตามมาตรานี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สิน หรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในการนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 110  ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 109  และกรมการประกันภัยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนให้กรมการประกันภัยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าหกเดือนไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหกเดือน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของกรมการประกันภัยก็ได้

          ให้กรมการประกันภัยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการประกันภัยเป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง

          การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร เมื่อกรมการประกันภัยร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เมื่ออธิบดีกรมการประกันภัยหรือบุคคลที่อธิบดีกรมการประกันภัยมอบหมายแจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

          ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาหรือของอธิบดีกรมตำรวจที่สั่งตามวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

          มาตรา 111  ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ยกเว้นมาตรา 86 และมาตรา 110 ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

          คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนและคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้วให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

บทเฉพาะกาล

          มาตรา 112  ให้ถือว่าบรรดาบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2510  เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้  และให้ถือว่าสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสาขาของบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในการอนุญาต

          มาตรา 113  บริษัทตามมาตรา 112 บริษัทใดได้ออกหุ้นไว้แล้วโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้บริษัทนั้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 114  บริษัทตามมาตรา 112 บริษัทใดมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามมาตรา 9  แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คงมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยในอัตราที่เป็นอยู่ได้ต่อไป

          มาตรา 115  ให้บริษัทตามมาตรา 112 ที่มีสำนักงานแยกออกจากสำนักงานใหญ่และประกอบการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของบริษัทตามมาตรา 112 ยื่นขอรับอนุญาตเป็นสาขาให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือเลิกสำนักงานนั้นเสีย  ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และภายในระยะเวลาดังกล่าวมิให้ถือว่าบริษัทตามมาตรา 112 ฝ่าฝืนมาตรา 16

          มาตรา 116  ให้บริษัทตามมาตรา 112 วางหลักทรัพย์ประกันให้ถูกต้องตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 117  ให้บริษัทตามมาตรา 112 จัดให้มีการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 118  มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา 112 ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และต้องจำหน่ายไปตามมาตรา 33  แห่งพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าปีนับแต่วันที่เลิกใช้หรือวันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี  เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทตามมาตรา 112 ได้มาหรือมีอยู่ก่อนวันที่ 14 เมษายน 2510

          มาตรา 119  มิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้ที่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทตามมาตรา 112 อยู่แล้วโดยชอบก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 120  ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิได้รับ ซึ่งสิทธิเรียกร้องเงินนั้นขาดอายุความแล้วและอยู่ในครอบครองของบริษัทในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทตรวจสอบและนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำความในมาตรา 80 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 121  บริษัทตามมาตรา 112 บริษัทใดได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทนั้นประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามใบอนุญาตนั้นต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

          (1) หลักทรัพย์ประกันที่บริษัทต้องวางไว้กับนายทะเบียนและเงินกองทุนที่บริษัทดำรงไว้ตามมาตรา 19 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี ต้องเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนต่างหากจากหลักทรัพย์ประกันและเงินกองทุนที่บริษัทตามมาตรา 112  ต้องวางและดำรงไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

          (2) ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิตออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัย

          (3) ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ารัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทตามมาตรา 112 นั้นด้วย

          ให้บริษัทตามวรรคหนึ่ง จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต โดยรับโอนบรรดาทรัพย์สิน  หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดทั้งพนักงานและลูกจ้างในส่วนของธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทตามมาตรา 112 เป็นของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นให้แล้วเสร็จภายในแปดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหากไม่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรานี้ ให้ถือว่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทตามมาตรา 112 นั้นเป็นอันสิ้นอายุ

          มาตรา 122  ในกรณีที่มีเหตุผลอันจำเป็น ให้รัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 113 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อบริษัทตามมาตรา 112 ร้องขอโดยแสดงเหตุผลอันจำเป็นให้ปรากฏ แต่ระยะเวลาที่ขยายให้ดังกล่าวต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 113 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117

          มาตรา 123  ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ.2510 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

          มาตรา 124  ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ.2510 ในขณะเดียวกันแจ้งการเลิกกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียนภายในสองเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพ้นระยะดังกล่าวหากผู้ใดมิได้แจ้งการบอกเลิกการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยอย่างใดอย่างหนึ่งต่อนายทะเบียนให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยของผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลาให้แจ้งการบอกเลิกดังกล่าว

          มาตรา 125  ให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขในการอนุญาตที่ออกหรือกำหนด ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือเงื่อนไขที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow