ราชกิจจาฯ อุ้มบริษัทประกัน สภาพคล่องต่ำ จากเคลมโควิด 11.10.2021
ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศมาตรการ คปภ. เร่งช่วยเหลือด่วน “บริษัทประกันวินาศภัย” สภาพคล่องต่ำ หลังรับประกันภัยโควิด-19 ค่าสินไหมทดแทนพุ่ง หวั่นกระทบความเชื่อมั่นระบบประกันภัย
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา
ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
เนื่องจากเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิดในปัจจุบันมีความรุนแรงทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้บริษัทประกันจำนวนหนึ่งต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากกว่าที่คาดการณ์ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจะเกิดขึ้นกับบริษัทประกัน รวมทั้งให้บริษัทประกันได้มีระยะเวลาในการจัดการค่าสินไหมทดแทนและแก้ไขฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบประกันภัย
เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด พ.ศ.2564
จึงอาศัยอำนาจกฎหมายของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ประกอบกับมติที่ประชุม คณะกรรมการ คปภ. เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2564 ออกประกาศไว้ดังนี้
1.การยกเว้นคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัย จากการรับประกันภัยการเจ็บป่วยหรือภาวะโคม่าอันเกิดจากโรคโควิด-19 สำหรับความเสี่ยงจากการสำรองค่าสินไหมทดแทนและความเสี่ยงจากสำรองเบี้ยประกันภัย
2.การนับเงินกู้ยืมมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ แต่จะแยกเป็นเงินกู้ยืมลักษณะดังนี้
– เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเต็มจำนวน แต่กรณีบริษัทเลิกกิจการ เจ้าหนี้ผู้ให้บริษัทกู้ยืมเงินจะได้รับชำระเงินในลำดับหลังจากเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เจ้าหนี้บุริมสิทธิ และเจ้าหนี้สามัญอื่นของบริษัทนั้น
-เป็นเงินกู้ยืมที่ไม่มีหลักประกันหรือการค้ำประกันหรือการรับประกันโดยบริษัท หรือผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ทำให้มีสิทธิในการเรียกร้องเหนือกว่าเจ้าหนี้ประเภทอื่น
– เป็นเงินกู้ยืมมีกำหนดเวลาในการชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องไม่มีเงื่อนไขที่จูงใจให้บริษัทชำระหนี้คืนก่อนกำหนด เช่น ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้นในลักษณะขั้นบันได(no step-up)
– ไม่มีการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันและไม่มีการชำระหนี้เงินต้นก่อนครบกำหนดเวลาในการชำระหนี้ เว้นแต่ บริษัทมีการแปลงหนี้เป็นทุนหรือมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าอัตราที่ คปภ.อาจกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการกำกับดูแลสถานะการเงินของบริษัทตามประกาศ คปภ. ว่าด้วยการกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย
– บริษัทมีสิทธิเลื่อนกำหนดเวลาในการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมออกไปได้ หากบริษัทนั้นไม่มีกำไรจากการดำเนินงานและไม่จ่ายเงินปันผลสำหรับหุ้นสามัญและไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นใดให้กับผู้ถือตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1
– สัญญากู้ยืมต้องไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับตัวแปรอื่นใด ที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัท เช่น ไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเมื่อความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทนั้นเปลี่ยนแปลงไป
– ต้องมีเงื่อนไขระบุในสัญญากู้ยืมว่าสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญหรือสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้ เมื่อทางการตัดสินใจจะเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทนั้น
3.ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2564 จนถึงวันที่ 30 มี.ค.2565 ให้ยกเว้นไม่ต้องดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ แต่ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-30 มิ.ย.2565 ให้ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 มากกว่าร้อยละ 40 ของผลรวมของเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงทุกด้าน และดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของมากกว่าร้อยละ 30 ของผลรวมของเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงทุกด้าน
4.ยกเว้นไม่ต้องนำค่าเผื่อความผันผวน ณ ระดับความเชื่อมั่น 75 เปอร์เซ็นต์ไทล์ มาใช้ในการประเมินมูลค่าสำรองประกันภัยจากการรับประกันภัยการเจ็บป่วยหรือภาวะโคม่าอันเกิดจากโรคโควิด สำหรับสำรองค่าสินไหมทดแทนก่อนการเอาประกันภัยต่อ สำรองค่าสินไหมทดแทนจากค่าสินไหมทดแทนหลังการเอาประกันภัยต่อ สำรองเบี้ยประกันภัยก่อนการเอาประกันภัยต่อ และสำรองเบี้ยประกันภัยหลังการเอาประกันภัยต่อ
5.การนำเบี้ยประกันภัยค้างรับจากการรับประกันภัยโดยตรง ที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้ในการจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลัง
6.การนำเบี้ยประกันภัยค้างรับจากการรับประกันภัยโดยตรง ที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้ในการจัดสรรเงินสำรอง
7.บริษัทมีเงินสดและเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หรือประเภทกระแสรายวัน สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโควิด และบริหารสภาพคล่องของกิจการมีจำนวนรวมกันได้เกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ คปภ.
8.ค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากการรับประกันภัยการเจ็บป่วยหรือภาวะโคม่าอันเกิดจากโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565
9.ต้องเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากการรับประกันภัยการเจ็บป่วยหรือภาวะโคม่าอันเกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565
10.ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2564 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565
ทั้งนี้บริษัทที่จะขอผ่อนผันต้องมีลักษณะดังนี้
– มีค่าสินไหมทดแทนโควิดเป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านบาทก่อนการยื่นขอผ่อนผัน
– ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดในคำสั่ง คปภ.ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือระบบงานและกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนโควิดไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียนกรมธรรม์โควิดที่มีการยื่นต่อ คปภ.ก่อนการยื่นขอผ่อนผัน
– มีการประมาณการว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัท(CAR) ในระหว่างวันที่ 30 ก.ย.2564 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565 อาจต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
– มีเงินกองทุนหรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโควิดค้างจ่ายที่มีการเรียกร้องก่อนการยื่นขอผ่อนผัน ทั้งนี้สินทรัพย์สภาพคล่องให้หมายถึง เงินสด, เงินฝากกับสถาบันการเงิน, พันธบัตรรัฐบาลไทย
– มีแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2565 โดยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนต่อนายทะเบียนทุก 15 วัน
– ยื่นคำขอต่อ คปภ.เพื่อพิจารณาให้การผ่อนผันได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2565 โดยให้ คปภ.แจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทที่ยื่นคำขอทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาครบถ้วน และเมื่อ คปภ.พิจารณาผ่อนผันให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบ รวมถึงประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการผ่อนผันนั้น โดยบริษัทต้องไม่รับประกันภัยโควิดเพิ่มเติม
“อุ้มบริษัทประกันภัย”ที่อ่วมจากการรับประกันภัยโควิด-19 เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท รวมทั้งเพื่อให้บริษัทได้มีระยะเวลาจัดการค่าสินไหมทดแทน และแก้ไขฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/248/T_0024.PDF
เวลาเราจะซื้อประกันภัย ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับต้นๆเลย คือ ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยนั้นๆ เพื่อที่ว่า หากต้องมีการจ่ายสินไหม จะได้มีเงินจ่ายให้ลูกค้าซึ่งสภาพคล่องของบริษัทประกัน สามารถดูได้ที่ เว็บไซต์ของ คปภ ถ้าไม่อัพเดท หรือ หาไม่เจอให้ไปถาม เพจของคปภ อาจจะถามที่โพสท์ล่าสุดของ เพจ ให้แอดมิน เพจช่วย บอกลิ้ง หรือ แจ้งข้อมูลนี้
เพจของ คปภ https://web.facebook.com/PROIC2012
ในความเป็นจริง ทางเรายินดีอย่างยิ่งที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อจะเป็นประโยชน์ แต่ดูเหมือนว่า ข้อมูลที่ว่านั้น ไม่อัพเดท หรือ หาไม่ค่อยจะเจอ หาก ทีมงาน คปภ ผ่านมา หรือ ท่านใดทราบแจ้งให้ทางเราได้ จะขอบคุณ เพื่อจะได้นำมาเผยแพร่อีกช่องทางเป็นประโยชน์ต่อสารธารณะต่อไป
นอกจากนี้อาจตรวจสอบประวัติบริษัทประกันนั้นดู อาจจะลองค้นใน Google ว่า มีคนด่าเยอะไหม เรื่องอะไรบ้าง แล้วที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือใช้บริการของ นายหน้าประกันภัย ที่เราไว้ใจ เพื่อช่วยคัดกรองและดูแลเรา