ระบบการประกันสุขภาพของประเทศสิงคโปร์
1. Medisave
ระบบการสะสมกองทุนเพื่อสุขภาพ โดยเก็บเงินรายได้ส่วนหนึ่งของสมาชิกเข้าบัญชี Medisave Account เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพของสมาชิกและครอบครัวในอนาคตกรณีที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล(IPD) และเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) บางกรณี
เงื่อนไขการใช้ Medisave
1. ต้องเป็นสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุมัติ
2. ผู้ที่สามารถใช้ Medisave คือ สมาชิก และครอบครัว (หมายถึง คู่สมรส บุตร บิดามารดา ปู่ย่าตายาย) ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติสิงคโปร์ ยกเว้น ปู่ย่าตายายต้องเป็นชาวสิงคโปร์หรือผู้มีถิ่นพำนักถาวร (Singapore Permanent Residents-PR)
2. Medishield Life
Medishield Life คือ การประกันสุขภาพที่บริหารจัดการโดย Central Provident Fund Board (CPF) เป็นการประกันสุขภาพตลอดชีวิต ให้ชาวท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพขั้นร้ายแรงอยู่ก่อนแล้วโดยอัตโนมัต (ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพขั้นร้ายแรงอยู่ก่อนจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็นระยะเวลา 10 ปี) Medishield Life ช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมถึงการรักษาของผู้ป่วยนอก เช่น การฟอกไต และการทำเคมีบำบัดสำหรับผู้เป็นโรคมะเร็ง โดยให้การคุ้มครองกับผู้เอาประกันที่รับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐและกำหนดระดับห้องพักผู้ป่วย หากผู้เอาประกันอยู่เกินกำหนดก็จะต้องใช้เงินสดหรือ Medisave จ่ายส่วนเกิน รัฐให้การสนับสนุนการเพื่อให้สมาชิกมีความสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้โดยให้ความช่วยเหลือ
1. Premium Subsidies สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำจนถึงระดับปานกลาง
2. Pioneer Generation Subsidies สำหรับชาวสิงคโปร์รุ่นแรกๆ (Pioneer)
3. Transition Premium Support แบ่งเบาภาระสำหรับชาวสิงคโปร์ที่เปลี่ยนเข้าสู่ระบ Medishield Life
4. Additional Premium Support สำหรับผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันได้หลังจากรัฐให้การสนับสนุนแล้ว
3. Private Medical Insurance Scheme (PMIS)
สมาชิก CPF สามารถใช้ Medisave จ่ายเบี้ยประกัน Integrated Shield Plan (IPS) สำหรับตัวสมาชิก บิดามารดา คู่สมรสและ ปู่ย่าตายาย
Intergrated Shield Plan (IPS) ประกอบด้วย Medishield Life และ การเพิ่มเติมการประกันจากบริษัทประกันเอกชน
4. ElderShield
ElderShield เป็นโครงการการประกันรายได้สำหรับคนพิการรุนแรง (หมายถึงบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3 อย่าง เช่น ความสามารถในการเข้า-ออก ห้องน้ำ/ชำระล้างตัวเอง สวมใส่เสื้อผ้า และ การป้อนอาหาร เป็นต้น) โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินขั้นพื้นฐานกับผู้ที่ต้องการการดูแลระยะยาว โดยการจ่ายเงินสดรายเดือนๆละ 400 เหรียญสิงคโปร์เป็นระยะเวลาสูงสุด 72 เดือน ( ElderShield 400) สมาชิก CPF ที่มีบัญชี MA เมื่ออายุครบ 40 ปี ก็จะอยู่ภายใต้ ElderShield โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนหรือตรวจสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุขจะแต่งตั้งบริษัทประกันในการบริหารจัดการ การจ่ายเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับอายุที่เข้าโครงการและเบี้ยประกันจะไม่เพิ่มตามอายุ สมาชิกสามารถใช้ Medisave จ่ายเบี้ยประกันได้แต่หากไม่มี Medisave ก็ใช้ของ คู่สมรส บุตร บิดามารดาได้
Ref. http://singapore.mol.go.th/node/398
ระบบประกันสุขภาพของชาวต่างชาติ
ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมเหมือนชาวท้องถิ่น กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower) จะบังคับให้นายจ้างดูแลลูกจ้างในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลโดยให้นายจ้างซื้อประกันกับบริษัทเอกชน 2 ประเภท
1. ประกันสุขภาพ (Medical Insurance)
นายจ้างจะต้องมีประกันสุขภาพสำหรับลูกจ้างประเภท Work Permit และ S-Pass ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 15,000 เหรียญสิงคโปร์กรณีเป็นผู้ป่วยในและการผ่าตัดย่อยที่ไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลซึ่งรวมถึงการรักษาตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
2. ประกันกรณีบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน (Work Injury Compensation Insurance) ภายใต้พระราชบัญญัติ Work Injury Compensation Act (WICA) นายจ้างจะต้องซื้อประกันให้กับลูกจ้างที่ใช้แรงงานและลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 1,600 เหรียญสิงคโปร์ ทั้งลูกจ้างท้องถิ่นและลูกจ้างชาวต่างชาติ หากการประกันต่ำกว่าที่กฏหมายระบุจะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 เหรียญสิงคโปร์หรือจำสูงสุด 12 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับพนักงานอื่น ๆ นายจ้างมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจว่าจะซื้อประกันหรือไม่ แต่หากพนักงานเหล่านี้มีคุณสมบัติตามกำหนดที่สามารถเรียกร้องค่าทดแทนได้ นายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายค่าทดแทนให้โดยไม่คำนึงถึงเรื่องการประกันตน
Work Injury Compensation Act (WICA) เป็นกฏหมายที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานโดยไม่ต้องพึ่งกฏหมายแพ่ง