INSURANCETHAI.NET
Thu 21/11/2024 16:37:36
Home » ประกันอัคคีภัย » การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย\"you

การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย

2016/01/18 2966👁️‍🗨️

กรมธรรม์ ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยได้มีการจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง กรมการประกันภัยและสมาคมประกันวินาศภัย โดยเป็นการพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยแยกออกมาจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกรมธรรม์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ บริโภคเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้นซึ่งในที่นี้ หมายถึง เจ้าของที่อยู่อาศัย และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความเสี่ยงภัยต่ำเมื่อเทียบกับลักษณะภัยอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม สำนักงาน เป็นต้น ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์จากการทำประกัน อัคคีภัยสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของตน

ความคุ้มครอง

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก
1. ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ป่า พุ่มไม้ พงรก และการเผาป่าเพื่อปราบพื้นที่
2. ฟ้าผ่า รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า
3. การระเบิดทุกชนิด
4. ภัยจากยานพาหนะ หรือช้าง ม้า วัว ควาย
* จากการชนโดยยานพาหนะต่าง ๆ (รวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย)
* แต่ต้องไม่ใช่ยานพาหนะของผู้เอาประกันภัย
5. ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน
* จากการชน หรือตกใส่
* ตัวอากาศยาน หรือ ของที่ตกจากอากาศยาน
* อากาศยาน ให้หมายรวมถึง จรวด และยานอวกาศด้วย
6. ภัยเนื่องจากน้ำ
* เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ
* จากการปล่อย รั่วไหล ล้น
* จากท่อน้ำ ถังน้ำฯ รวมถึงน้ำฝนที่ผ่านเข้าทางอากาศที่ชำรุด
* แต่ไม่รวมถึง น้ำท่วม และท่อประปาที่แตกนอกอาคาร

ภัยที่ซื้อเพิ่มเติมได้

1. ภัยลมพายุ
2. ภัยจากลูกเห็บ
3. ภัยจากควัน
4. ภัยแผ่นดินไหว
5. ภัยน้ำท่วม
6. ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน
7. ภัยเนื่องจากป่าเถื่อนและการกระทำด้วยเจตนาร้าย
8. ภัยระอุ
9. ภัยระอุที่มีการลุกไหม้ / ระเบิด
10. ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า

home-fire-insurance

การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย
ผู้เอาประกันสามารถเลือกการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยได้ 2 แบบ คือ

1. แบบปกติ โดยการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value)
2. แบบการชดใช้ตามมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Valuation หรือ New for Old)

การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
การ กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าที่แท้จริงทรัพย์สิน มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน เท่ากับ มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หัก ด้วยค่าเสื่อมราคา ณ เวลาและสถานที่ที่เกิดความเสียหายการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามมูลค่า ทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Valuation) บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ ณ เวลา และ สถานที่ที่เกิดความเสียหาย

ประโยชน์เพิ่มเติมจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
1. ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งให้ความ
คุ้มครองพื้นฐานเพียง 3 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือ ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองพื้นฐานเพิ่มเป็น 6 ภัย ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
2. ให้ประโยชน์กรณีกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยคลาดเคลื่อน

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามหลักการเฉลี่ย

กรมธรรม์ ฯ ที่อยู่อาศัย
ถ้า หากจำนวนเงินเอาประกันภัยคลาดเคลื่อนจากมูลค่าที่แท้จริง แต่ยังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สิน เมื่อเกิดความเสียหายเพียงบางส่วน บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมเสมือนกับที่ได้ทำประกันไว้เต็มมูลค่า

(หลักการเฉลี่ย หมายถึง ในกรณีที่จำนวนเงินเอาประกันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินจะถือว่า ผู้ เอาประกันภัยได้เอาประกันตัวเองในส่วนต่างนั้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนลดลงตามส่วน)
3. เพิ่มเงื่อนไขให้บริษัทต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมทั้งดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
4. ข้อ ดีที่เห็นได้ชัดเจนของ “กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย” คือ เรื่องเบี้ยประกันภัย ยกตัวอย่าง เช่น บ้านหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครมีมูลค่า 1,000,000 บาท ทำประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้เต็มมูลค่า คือ วงเงินเอาประกันภัยเท่ากับ 1,000,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยแบบทั่วไป ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัย 900 บาท ต่อปี แต่สำหรับ “กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย” ซึ่งให้ความคุ้มครองกว้างกว่าดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ผู้เอาประกันภัยก็จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเท่าเดิม คือ 900 ต่อปี หากเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยแบบทั่วไป ผู้เอาประกันภัยซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมให้มีความคุ้มครองเท่ากับกรมธรรม์ ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยรวม 1,200 บาทต่อปีเท่ากับว่ากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยนี้ทำให้ประหยัด เบี้ยประกันได้ 300 บาท

ข้อแนะนำในการเลือกทำประกันภัยที่อยู่อาศัย
เนื่องจากเบี้ยประกันภัยที่จะต้องจ่ายจะมีจำนวนเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับความคุ้มครองที่จะได้รับและหากจะให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น จากการทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยดังกล่าว ขอแนะนำให้ประชาชนทำประกันระยะยาว 2 ปี หรือ 3 ปี ซึ่งจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยสำหรับการทำประกันภัยระยะยาวอีกนั่นคือ หากทำประกันภัยระยะยาว 2 ปี บริษัทจะคิดเบี้ยประกันภัยเท่ากับ 175 % ของเบี้ย ประกันภัย 1 ปี และหากทำประกันภัยระยะยาว 3 ปี บริษัทจะคิดเบี้ยประกันภัย 250 % ของเบี้ยประกันภัย 1 ปี จากตัวอย่างข้างต้นถ้าทำประกันภัยแบบ ต่ออายุปีต่อปีเป็นเวลา 3 ปี เบี้ยประกันภัย รวมจะเท่ากับ 2,700 บาท (ปีละ 900 บาท) ในขณะที่ทำประกันภัยแบบระยะยาว ระยะเวลาเอาประกัน 3 ปี จะจ่ายเบี้ยประกันเพียง 2,250 บาท (250 % ของ 900 บาท) ซึ่งเท่ากับประหยัดเบี้ยประกันภัยได้ 450 บาท ทั้งนี้ การทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยระยะยาวนี้สามารถทำได้สูงสุดถึง 30 ปี และจะได้รับประโยชน์จากการลดเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้น






คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow