Insurance Authority เสถียรภาพทางการเงินด้านประกันภัย
คปภ. ถก Insurance Authority ฮ่องกง
ชูมาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินด้านประกันภัยเพื่อมิให้กระทบความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล พร้อมศึกษารูปแบบของ Financial Stability Committee (FSC)
ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Supervisory College ด้านประกันภัยของไทยและเดินหน้าจัดทำ MOU เพื่อประสานความร่วมมือ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้นำคณะผู้แทนสำนักงาน คปภ. เข้าหารือกับ Mr. John Leung , CEO ของ Insurance Authority of Hong Kong SAR, the People’s Republic of China (IA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับภาคประกันภัย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงผลการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) และแนวทางการกำกับดูแลเชิงมหภาคของฮ่องกง ซึ่งประเมินเสร็จสิ้นไปแล้วในปี 2557 โดยเตรียมนำแนวทางของฮ่องกงมาปรับใช้กับภาคประกันภัยไทย
อีกทั้งยังได้หารือกับ IA เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลภาคการประกันภัยของฮ่องกง จาก Office of the Commissioner of Insurance (OCI) ซึ่งเดิมเป็นแผนกหนึ่งในฝ่ายบริหาร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Insurance Authority (IA) ซึ่งมีรูปแบบองค์กรคล้ายกับสำนักงาน คปภ. โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานอิสระที่กำกับดูแลภาคการประกันภัย นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีหน่วยงานอิสระที่ดูแลภาคการธนาคารและภาคหลักทรัพย์แยกต่างหากเช่นเดียวกับของประเทศไทย โดยพบว่าโครงสร้างการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินในเชิงมหภาคและการจัดการภาวะวิกฤตในภาคการเงินของฮ่องกงมีรูปแบบที่น่าสนใจ
แนวทางการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินของฮ่องกง ใช้หลักการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ด้านพาณิชย์ และหน่วยงานกำกับภาคการเงิน ผ่าน Council of Financial Regulators (CFR) และ Financial Stability Committee (FSC) เพื่อเชื่อมโยงนโยบายการกำกับดูแลภาคการเงิน และเสถียรภาพทางการเงินเชิงมหภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และดำเนินการโดยอาศัยคำสั่งแต่งตั้ง แต่ไม่ได้ออกกฎหมายในการแต่งตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองคณะนี้ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานกำกับภาคการเงินต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงในภาคการเงินและการคลังของประเทศ เช่น รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและมีทีมงานจากกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ ทั้งนี้หากมีปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินจะได้สามารถเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาได้ทันที
นอกจากนี้ IA ยังได้รับการยอมรับว่ามีระบบ Supervisory college ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Supervisory college เป็นการประสานความร่วมมือแบบข้ามพรมแดนที่หน่วยงานกำกับทั้งภาคประกันภัยและภาคการเงินนำมาใช้เพื่อเป็นเวทีสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับในประเทศอื่นๆที่มีเครือข่ายการลงทุนและการให้บริการของธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะฮ่องกงที่มีบริษัทประกันภัยข้ามชาติเป็นจำนวนมากและมีบริษัทประกันภัยของฮ่องกงเข้ามาเปิดหน่วยธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ก็ได้เข้าร่วมการประชุม Supervisory college กับ IA มาอย่างต่อเนื่อง
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงิน แต่ก็ควรมีกลไกเตรียมการเพื่อรองรับไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจพิจารณาให้มีคณะกรรมการลักษณะเหมือนกับ FSC ที่มีรูปแบบคล้ายๆกับที่ IA ของฮ่องกงใช้และเกิดผลดีเป็นที่ยอมรับ โดยในเรื่องนี้สำนักงาน คปภ.ยังได้หารือเรื่องดังกล่าวกับ China Insurance Regulatory Commission (CIRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับภาคประกันภัยของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งจีนและฮ่องกงต่างก็มีรูปแบบในลักษณะเดียวกันคือให้ผู้บริหารระดับสูงระดับรัฐมนตรีที่ดูแลภาคการเงินการคลังเป็นประธานคณะกรรมการ FSC และโครงสร้างของ FSC เน้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือกรณีสถานการณ์ที่ไม่ปกติทางเศรษฐกิจเพื่อจะรายงานต่อไปยังผู้บังคับบัญชาสูงสุดของรัฐบาลในการกำหนดมาตรการทางบริหารในการแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ สำหรับจีนยังคงอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดกำหนดโครงสร้างให้มีความเหมาะสมมากที่สุด ในขณะที่ฮ่องกงได้ใช้โครงสร้างบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวมาแล้วถึง 13 ปี ซึ่งผ่านบททดสอบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจมาได้ด้วยดีจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์ AIG เมื่อหลายปีก่อน และโครงสร้างของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินยังมีลักษณะคล้ายกับของประเทศไทยค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นรูปแบบที่มีความสอดคล้องกับแนวทางของสากล (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) ที่เน้นความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับภาคประกันภัยเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะ จึงเห็นว่าการศึกษาโมเดลของฮ่องกงน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ผลจากการหารือกับ IA เรื่อง Supervisory College ก็ได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันภัยไทยได้มีการไปลงทุนในหลายประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งนับวันจะมีมูลค่าการลงทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการจัดตั้ง Supervisory College ของภาคประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนต่อไปด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การหารือกับ IA ครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ไทยและฮ่องกงจะร่วมเป็นพันธมิตรในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประธานกรรมการของ IA ก็มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุม NAIC- OECD – OIC Joint Roundtable on Insurance and Retirement Saving in Asia ในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน 2560 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งสำนักงาน คปภ. และ IA ก็จะหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนและเปลี่ยนประสบการณ์จาก IA เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ต่อไป