การจัดพอร์ตลงทุน
การจัดพอร์ตลงทุน
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้กลไกของระบบการเงินเปลี่ยนไป รูปแบบการออมเก่าๆเริ่มไม่เหมาะสม ขณะที่รูปแบบการลงทุนใหม่ๆมีให้เลือกมากยิ่งขึ้น
ในเวบไซต์นี้จึงขอเสนอรูปแบบการลงทุนให้เลือก 3 แบบ ตามวัยและความชอบเสี่ยงของแต่ละคน (ควรจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนเป็นระยะๆ )
ตัวอย่าง การจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนสู่การเกษียณอายุ
ประเภทการลงทุน | ผลตอบแทนที่คาด | แบบอนุรักษ์นิยม | แบบสายกลาง | แบบชอบเสี่ยง |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ประกันชีวิต/กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ | 5% | 40% | 30% | 30% |
เงินสด/เงินฝาก/ตั๋วแลกเงิน/บัตรเงินฝาก | 3-4% | 30% | 20% | 10% |
พันธบัตร/หุ้นกู้/กองทุนตราสารหนี้ | 5% | 30% | 20% | 10% |
หุ้น/กองทุนรวมหุ้น/กองทุนETF | +/-20% | – | 15% | 30% |
บ้านเช่า/หอพัก/อาคารพาณิชย์ให้เช่า | 5-15% | – | 15% | 20% |
รวม | 5% | 100% | 100% | 100% |
1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ( รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ )
ข้อดี
– เก็บออมอย่างเป็นระบบ
– ได้รับเงินสมทบจากบริษัทอีกหนึ่งเท่าตัวทุกเดือน
– ผลตอบแทนจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี หากสมาชิกทำงานจนเกษียณอายุ , พิการหรือ เสียชีวิต
– เงินสะสมของพนักงานได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี และ ยกเว้นภาษีสูงถึงปีละ 300,000 บาท
– เงินกองทุนแยกจากเงินทุนของบริษัทนายจ้าง จึงไม่สูญหายแม้บริษัทล้มละลายไป
– เป็นเงินก้อนใหญ่ จึงลงทุนได้หลากหลาย
– มีกฎหมายให้ความคุ้มครอง มีข้อกำหนดการลงทุนที่เข้มงวด และต้องมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเป็นผู้บริหารกองทุน
ข้อเสีย
– ไม่มีสภาพคล่อง หากมีความจำเป็นใช้เงิน ต้องกู้เงิน โดยใช้เงินสะสมเป็นตัวอ้างอิง ซึ่งขึ้นกับนโยบายของแต่ละกองทุน หรือ ต้องลาออกจากกองทุน ซึ่งต้องรับภาระภาษีของเงินทั้งจำนวน
– หากมีการย้ายงาน หรือออกจากงาน ต้องออกจากกองทุนเดิม ทำให้การเก็บเงินขาดตอน เว้นแต่จะได้งานใหม่ทันที และมีการทำเรื่องโอนย้ายเงินเดิมเข้าไปในกองทุนของบริษัทใหม่ในทันที
– เงินส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตร และหุ้นกู้ ดังนั้นผลตอบแทนการลงทุนอาจผันผวนตามภาวะดอกเบี้ยที่ขึ้นลงได้
2 ) ประกันชีวิต
ข้อดี
– เก็บออมอย่างเป็นระบบ
– ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน ตลอดสัญญา
– ได้รับการคุ้มครอง เต็มวงเงินทันทีที่เก็บออม
– มีสวัสดิการต่างๆให้ เช่น การรักษาพยาบาล เงินชดเชยชนิดต่างๆ
– ไม่เสียภาษีทั้งเงินปันผล และ เงินสินไหม
– ได้สิทธิลดหย่อนภาษีปีละ 50,000 บาท
– กฎหมาย ให้ความคุ้มครองสูง มีข้อกำหนดการลงทุนที่เข้มงวด หรือสิทธิในกรณีที่เสียชีวิต เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ยึดเงินสินไหมเกินกว่าเบี้ยประกัน ที่ได้จ่ายไป
ข้อเสีย
– สภาพคล่องต่ำ หากมีความจำเป็นใช้เงิน ต้องกู้เงินจากกรมธรรม์ หรือ เวนคืนกรมธรรม์ มักจะขาดทุน (ถ้ายังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ดูได้จากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ )
– ผู้ลงทุนต้องมีอายุและสุขภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– มีภาระฝากเบี้ยประกันทุกปี ตามสัญญา
– การเบิกสวัสดิการต่างๆ มีเงื่อนไขและข้อกำหนดเฉพาะ ผู้ลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน
3 ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อดี
– คนทุกสาขาอาชีพมีสิทธิ์เข้าร่วมกองทุนได้
– สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดหน่วยลงทุน
– สามารถโอนย้ายการลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหนึ่งไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นได้
– เงินลงทุนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ สูงถึง 500,000 บาทต่อปี
– ผลตอบแทนจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีหากมีการลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และผู้ลงทุนมีอายุถึง 55 ปี
ข้อเสีย
– ต้องเพิ่มเงินลงทุนสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อปี
– การ ลงทุนจะเป็นระยะยาวต่อเนื่อง ไม่มีการจ่ายเงินปันผล หรือ ผลประโยชน์ใดๆระหว่างลงทุนจะจ่ายคืนแก่ผู้ลงทุนครั้งเดียว เมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุน
– หากไถ่ถอนก่อนผู้ลงทุนมีอายุ 55 ปี จะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนใน 5 ปีสุดท้ายและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องนำ มาคำนวณภาษีเงินได้ ณ ปีที่ไถ่ถอน
– การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆว่า ลงทุนหลักทรัพย์ประเภทใด
4 ) เงินสด
ข้อดี
– หยิบใช้ได้ตลอดเวลา
– ไม่กังวลเรื่องสถาบันการเงินล้ม
– ไม่มีข้อกำหนดตายตัวในการเก็บเงิน จะเก็บเท่าไร เมื่อไรก็ได้
ข้อเสีย
– ยุ่งยากในการจัดเก็บ เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม
– เงินไม่งอกเงย
– หากมีมากๆ ( มากกว่า 5 ล้านบาท )เสี่ยงต่อการถูกเพ็งเล็งว่าฟอกเงิน
5 ) เงินฝาก ( ออมทรัพย์ / ประจำ )
ข้อดี
– เบิกถอนสะดวก
– มั่นคง
– ได้รับผลตอบแทนแน่นอน
– ใช้เป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกันได้
– มีจำนวนเงินน้อยก็ฝากได้
ข้อเสีย
– มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เมื่อครบรอบการฝากเงิน (ROLLOVER RISK)
– ในอนาคต รัฐมีแนวโน้มจะยกเลิกการค้ำประกันเงินฝาก
– ผลตอบแทนต่ำ
– เสียภาษีดอกเบี้ย 15%(ฝากประจำ)
6 ) ตั๋วแลกเงิน , บัตรเงินฝาก ( B/E , NCD )
ข้อดี
– เสียภาษีดอกเบี้ย 15%
– ดอกเบี้ยสูง
– มั่นคงเนื่องจากธนาคารเป็นผู้ออกหรือค้ำประกัน
ข้อเสีย
– สภาพคล่องต่ำ ต้องฝาก 1 ปีขึ้นไป
– หากต้องการใช้เงินก่อนต้องขายลดราคา
7 ) พันธบัตร
ข้อดี
– มั่นคง เนื่องจากรัฐเป็นผู้ออก
– โดยทั่วไปดอกเบี้ยจะสูงกว่าธนาคาร และรับรองดอกเบี้ยในระยะเวลาที่ยาวกว่า
– ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
ข้อเสีย
– สภาพคล่องต่ำ
– ถ้า ต้องการขายก่อนครบกำหนดสัญญา จะมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตรา ดอกเบี้ย เพราะถ้าหากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มขึ้น พันธบัตรที่ออกในช่วงก่อนหน้าราคาจะลดลง
– ตลาดพันธบัตรไม่ได้เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ ถ้าต้องการใช้เงินเร็วๆ ก่อนครบกำหนด จะขายไม่ได้ราคา
– ใช้เงินลงทุนมาก
– เสียภาษีดอกเบี้ย 15%
8 ) หุ้นกู้
ข้อดี
– ดอกเบี้ยสูง
– รับรองอัตราดอกเบี้ยที่สูง หากเป็นหุ้นกู้แบบกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่
ข้อเสีย
– สภาพคล่องต่ำ
– เป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักประกัน จึงมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
– มีความผันผวนของราคา หากต้องการขายออกก่อนครบกำหนด
– ตลาด หุ้นกู้ ยิ่งไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะของบริษัทที่มีพื้นฐานอ่อน จะไม่ค่อยมีการซื้อขายทำให้ขายไม่ได้ราคา หรือ ไม่มีผู้รับซื้อ
– เสียภาษีดอกเบี้ย 15 %
– ใช้เงินลงทุนมาก
9) กองทุนตราสารหนี้
ข้อดี
– บริหารผ่านมืออาชีพ
– มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนได้
– ไม่เสียภาษีหากขายหน่วยลงทุนแล้วได้กำไร( CAPITAL GAIN )
– ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือ ตู้ ATM
ข้อเสีย
– มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาที่ผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย
– ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าโฆษณาแต่มักต่ำกว่าการเสียภาษี ถ้าลงทุนด้วยตัวเอง
– เงินปันผลต้องจ่ายภาษี 10%
10 ) หุ้นสามัญ
ข้อดี
– ผลตอบแทนสูงมาก หากลงทุนได้ถูกจังหวะ ทั้งในส่วนของกำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้น และเงินปันผล
– กำไรจากราคาซื้อขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี
– มีสินค้าให้เลือกลงทุนมากมาย ทั้งประเภทธุรกิจ,ขนาดราคาหุ้น หรือ ลักษณะการเหวี่ยงตัวของราคาหุ้น
– มีสภาพคล่อง ซื้อขายได้ทุกวันทำการ
ข้อเสีย
– เสี่ยงสูง อาจไม่ได้รับเงินต้นคืน หรือ ขาดทุนจำนวนมาก
– จะได้รับเงินปันผล ก็ต่อเมื่อบริษัทมีผลกำไร
– ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา
– ราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียวแต่ขึ้นกับภาวะตลาดรวม และ จิตวิทยาฝูงชนด้วย
– เงินปันผลต้องเสียภาษี 10% หัก ณ ที่จ่าย แต่สามารถนำมาเครดิตภาษีคืนได้บางส่วน เวลาเสียภาษีบุคคลธรรมดา
11 ) กองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น , วอร์แรนท์)
ข้อดี
– ใช้เงินจำนวนน้อย ก็ลงทุนได้
– ได้ผลตอบแทนสูง หากภาวะตลาดหุ้นดี
– บริหารโดยมืออาชีพ มีการกระจายลงทุนในหุ้นพื้นฐาน
– ไม่เสียภาษี จากกำไรของราคาหน่วยลงทุน
– ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา
ข้อเสีย
– มีความเสี่ยง เนื่องจากลงทุนในหุ้นสามัญเป็นหลัก
– เงินปันผลที่ได้รับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
– ผลตอบแทนจากการลงทุนต้องหักค่าใช้จ่าย ในการบริหารก่อน
– เนื่องจากเน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐาน ดังนั้นผลตอบแทนจึงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
12 ) บ้านเช่า / หอพัก / แฟลต / อาคารพาณิชย์ให้เช่า /อพาร์ตเมนท์
ข้อดี
– มีรายได้เข้ามาทุกเดือน และราคาปรับขึ้นได้ในอนาคต
– ราคาอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสสูงขึ้นได้ในอนาคตโดยเฉพาะการซื้อในช่วงนี้ที่ยังมีราคาต่ำ
– เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
ข้อเสีย
– ลงทุนสูง หรือ มีภาระผ่อนนาน
– สภาพคล่องต่ำ ต้องรอจังหวะขาย หากต้องการเงินต้นคืน
– มีความเสี่ยง เรื่องหาคนมาเช่า
– มีภาระในการบริหาร ตามเก็บค่าเช่า หรือ ซ่อมแซม บำรุงรักษา
หมายเหตุ
– อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ต้องมั่นใจว่าอัตราการเข้าพักหรือเช่าต้อง 80% ขึ้นไป
– การลงทุนต้องซื้อด้วยเงินสด หากใช้เงินดาวน์ ค่าเช่าที่ได้รับต้องใกล้เคียงกับเงินผ่อนในแต่ละเดือน หรือมากกว่า
13 ) ทองคำ
ข้อดี
– ซื้อขายง่าย
– เป็นหลักทรัพย์ที่ยอมรับกันทั่วโลก ดังนั้นในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทองคำจะเป็นแหล่งพักเงิน ทำราคาขยับสูงขึ้นได้
– ในช่วงอัตราเงินเฟ้อสูง เช่น ภาวะสงคราม จะมีราคาสูง
ข้อเสีย
– มีแนวโน้มด้อยค่าลงเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศต่างๆทั่วโลก ลดความนิยมในการใช้ทองคำ เป็นทุนสำรองของประเทศ
– เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม