INSURANCETHAI.NET
Wed 18/12/2024 13:55:48
Home » อัพเดทประกันภัย » การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม\"you

การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม

2015/06/24 32139👁️‍🗨️

ถ้ามีอุบัติเหตุรถชน แล้วเราเป็นฝ่ายถูก เรามีสิทธิที่จะเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
เอกสาร
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนรถ ( ประกันจะจ่ายให้เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองกรณีที่ยังผ่อนอยู่ เท่านั้น )
– สำเนาใบเคลม ( ที่ได้จาก จนท.ที่มาตอนเกิดเหตุ และขอเลขที่เคลมของ คู่กรณีไว้ด้วย )
– สำเนาใบแจ้งซ่อม / รับรถ ใบนี้สำคัญ เพราะระบุว่า เราเอารถเข้าซ่อมวันไหน ได้รับรถวันไหน
จำนวนที่จ่ายให้เป็นจำนวนมาตรฐานของบริษัทฯ ยกเว้นว่าเรามีหลักฐานเช่น ใบเสร็จค่าเช่ารถ เพื่อมาเรียกร้องให้ได้มากกว่านี้

เรื่องค่าสินไหมค่าเสียประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม เรียกจากประกันภัยได้ค่ะ เราเพิ่งเรียกร้องมามาดๆ ต่อรองนานมาก ตอนแรกๆให้น้อยมาก อ้างว่าไม่นับวันรออะไหล่ ซ่อม 39 วันรวมรออะไหล่ ให้มา 20 วัน วันละ300 ( เป็นมาตรฐานค่ะ ยังไงต้องได้ขั้นต้นค่ะ ลูกค้ามักไม่ทราบมาก่อนว่าเบิกได้)เนื่องจากช่วงส่งรถซ่อมเราเช่ารถ มาใช้ ค่ะ มีค่าใช้จ่าย ตามบิล 24,000 บาทเพราะต้องไปทำงาน,รับส่งลูก ดังนั้นเราจึงไม่ยอมในขั้นต้น เลยยื่นคำร้องที่ คปภ. แต่ไม่จบเบื้องต้นพนักงานบริษัทฯประกันเจรจาที่ คปภ. เค้าท้าให้ไปฟ้องที่อนุญาโตตุลาการเลย ยังไงก้อได้แค่เบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่ให้เรานี่แหละ 500 บาท 20 วัน เราเลยต้องฟ้องศาลต่อค่ะ (ไม่ยุ่งยาก แต่มีทนายส่วนตัวนะคะเพื่อนกัน อยากให้เป็นเคสตัวอย่าง ) แต่เราไม่ฟ้องที่อนุญาโตตุลาการค่ะ เราฟ้องศาลแขวงเลยค่ะ สุดท้ายได้ตามบิลค่าเช่ารถเลยค่ะ ซ่อม 39 วัน ค่าเช่ารถขนาดเดียวกัน 24,000 บาทค่ะ เลยขอแชร์ประสบการณ์ตรงค่ะ https://pantip.com/topic/30679686

lack-of-benefit-during-repair-car

การเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม หรือ “การเคลมประกันรถระหว่างซ่อม”

ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์นี้
เมื่อรถที่เราขับไปประสบอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายถูก เรามีสิทธิ์เรียกร้อง (เคลม) สินไหมทดแทนจากคู่กรณีได้ (ตาม ป.พ.พ แล้ว ถือว่าเป็นฝ่ายถูกละเมิด) และถ้าหากคู่กรณีมีประกันภัยรถยนต์อยู่แล้ว เราสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณีได้ทันที (ถ้าประกันไม่ยอมจ่าย ให้ตามจากคู่กรณี ขอให้คู่กรณีตามประกันที่ตนเองใช้บริการ) นอกจากการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมแล้ว เรายังสามารถเรียกร้องค่าเสื่อมราคาจากการประสบอุบัติเหตุได้ด้วย

การทำสำเนาที่ไม่ควรพลาด
สิ่งที่สำคัญคือ ทำสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนเก็บไว้ ดังนั้น
1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ควรถ่ายรูปเก็บไว้ทันที เพื่อป้องกันคดีพลิก
2. หลังจากที่เจ้าหน้าที่บริษัทประกันแจกใบเคลมสำหรับซ่อมแล้ว
a. ถ่ายสำเนาส่วนหัวใบเคลมของคู่กรณีไว้ (หรือใช้กล้องถ่ายรูป) อย่างน้อยต้องมีหมายเลขใบเคลม รวมถึงสถานที่ขณะออกใบเคลมของเจ้าหน้าที่ประกัน
b. ถ่ายสำเนาใบเคลมของเราเก็บไว้ก่อนที่จะส่งให้อู่ซ่อมรถของประกัน
3. ตอนส่งรถเข้าอู่ซ่อม ใบแจ้งซ่อม / รับรถ ต้องระบุวันที่รับรถ (เข้าอู่ซ่อม) ที่ชัดเจน และทำสำเนาเก็บไว้
4. หลังจากที่ซ่อมเสร็จ ให้ขอสำเนาเอกสารจากอู่ซ่อม ได้แก่
a. รายละเอียดรายการซ่อม
b. ใบแจ้งซ่อม / ส่งรถ ต้องระบุวันที่ส่งรถ (ออกจากอู่) ที่ชัดเจน

การรวบรวมค่าใช้จ่ายระหว่างรอรถซ่อม
1.รวบรวมค่าใช้จ่าย / รายละเอียดที่จะขอสินไหมชดเชยช่วงที่ไม่มีรถใช้เพราะรอซ่อม เช่น
a.ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นเพราะขาดรถ
b.รายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ (เช่น ขับแท็กซี่ ใช้ในการรับจ้าง)
c.ค่าเสื่อมสภาพที่อาจจะมี (เช่น บริษัทไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่ แต่ใช้วิธีซ่อม)
2.การมีหลักฐานของค่าใช้จ่าย จะช่วยให้การเรียกสินไหมมีน้ำหนักขึ้น ใบเสร็จรับเงินต่าง ๆ

ขั้นตอนเรียกสินไหม
1.แจ้งความจำนงค์ขอยื่นเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมกับบริษัทประกันคู่กรณี
2.ถ้าบริษัทประกันไม่ปฏิเสธ โดยทั่วไปจะให้ยื่นเอกสาร (โดยทั่วไปจะให้ส่งทาง fax)
3.เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
a.หนังสือแจ้งความจำนงค์ (ดูตัวอย่างที่ท้ายบทความนี้) พร้อมสำเนาหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิด
b.สำเนาใบเคลมหรือรายละเอียดการซ่อม (ของเรา) และเอกสารที่ระบุวันรับรถและส่งคืนรถ
c.สำเนาใบเคลมคู่กรณี
d.สำเนาบัตรบัตรประชาชนพร้อมสำเนาหน้ากรมธรรม์ของเรา (ถ้ามี)
e.สำเนาทะเบียนรถ
4.ควรโทรไปสอบถามบริษัทประกันว่าเอกสารที่ส่งไปครบถ้วน ตัวอักษรชัดเจนหรือไม่ ใครรับเรื่อง หมายรับเรื่องที่เท่าไหร่ (จะได้ติดตามเรื่องสะดวกขึ้น) และจะติดต่อกลับเมื่อไหร่

ขั้นตอนหลังเรียกสินไหม
1.หากพ้นวันที่กำหนดไว้แล้วยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ให้โทรติดตามเรื่อง (กระทุ้งต่อมความรับผิดชอบ) ก่อนโทร เตรียมหมายเลขรับเรื่องไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
2.หลังเรื่องอนุมัติ มักมีการต่อรองราคา อันนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลในการต่อสู้เรียกค่าสินไหมทดแทนให้มากที่สุด (ในขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้)
3.การการต่อรองจบสิ้นด้วยดี บริษัทประกันภัยจะส่ง (fax) ใบตกลงรับค่าสินไหมให้เราลงชื่อยอมรับ (ตามที่ตกลงกันไว้ในข้อที่ผ่านมา) และส่ง (fax) กลับคืนเขาไป
4.การรับค่าชดเชย อาจจะเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนเงินเข้าบัญชี (แล้วแต่วิธีการของแต่บริษัทไป)

สรุปคือ
การเรียกสินไหมทดแทนค่าเสียหายของรถยนต์เป็นสิทธิ์ที่ผู้ถูกละเมิดสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าผู้ละเมิด (ฝ่ายผิด) จะมีประกันภัยคุ้มครองหรือไม่ก็ตาม ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังรวมถึงค่าความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นเพราะการขาดรถใช้ด้วย

ตัวอย่างหนังสือประกอบการแจ้งความจำนงค์ขอเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม

วันที่ 1 เมษายน 2552
เรื่อง ขอเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
เรียน แผนกสินไหมทดแทน
เอกสารแนบ (ถ้ามี)1. ….
2. ….
ข้าพเจ้า … เป็นเจ้าของรถยนต์ …รุ่น… หมายเลขทะเบียน… ถูกรถยนต์ยี่ห้อ..หมายทะเบียน … ชนท้ายที่….เมื่อวันที่ …. ซึ่งขับโดยคุณ….
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รถของข้าพเจ้ามีความเสียหายดังนี้
1.รายการความเสียหาย 1
2.รายการความเสียหาย 2
3. ….บลา ๆ ๆ
ข้าพเจ้าได้จึงได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ ศูนย์…. สาขา…ในวันที่… ซ่อมเสร็จ….เป็นเวลา 31 วัน

ข้าพเจ้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าหลังการขาย โดยปกติจะต้องใช้รถยนต์สำหรับติดต่อลูกค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกวัน ประมาณ 60 กม. / วัน ในระหว่างที่นำรถเข้าซ่อมนั้น ข้าพเจ้าต้องใช้บริการรถแท็กซี่ในการเดินทางแทนและมีความไม่สะดวกในการเดินทางอย่างมาก

ดังนั้น จึงขอเรียกสินไหมดังต่อไปนี้
1. ค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ 400 บาทต่อวัน เป็นระยะเวลา 31 วัน รวม 12,400 บาท
2. ค่าเสื่อมสภาพรถจากอุบัติเหตุ 10,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 22,400 บาท

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

………

(ชื่อ สกุล)

สินไหมทดแทนไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อม
ผมอยากเรียกสินไหมทนแทนไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อมครับ เพราะเดือดร้อนมาก เนื่องจากต้องไปหาลูกค้า เพื่อติดตั้ง ซ่อมแซม หรือแก้ไขตัวโปรแกรม ตอนนี้รถอยู่อู่ครับ ต้องรอว่าจะได้รับรถวันไหน ผมถึงจะได้เขียนถูก คร่าวๆผมร่างเอกสารไว้แบบนี้นะครับ “ข้าพเจ้า นายนำโชค อัครธนิยประคุณ เป็นเจ้าของรถยนต์ มาสด้า รุ่น 3 หมายเลขทะเบียน ฌป 4439 กทม ถูกรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า แคมรี่ หมายทะเบียน ชษ 9794 กทม ชนท้ายที่หน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนประชาราษฎร์สาย 1 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 เวลา 15:32 ซึ่งขับโดย คุณนเรศ เบอร์โทรศัพท์ 08-1821-6630 จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รถของข้าพเจ้ามีความเสียหายดังนี้ 1. กันชนท้ายถลอก สีแตก 2. กรอบป้ายทะเบียนแตก 3. ประตูหลังบุบ 4. ไฟท้ายมีรอยฉีก 5. เซ็นเซอร์ถอยหลังเสียหาย 6. ระบบกล้องถอยหลัง ข้าพเจ้าได้จึงได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ อู่นำชัย สาขาเตาปูน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซ่อมเสร็จ วันที่ 9 ตุลาคม 2556 เป็นเวลา 9 วัน ข้าพเจ้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าด้านซอฟแวร์ ทำงานวันปกติ จันทร์ – ศุกร์และมีการเดินทางไปทำงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย โดยปกติจะต้องใช้รถยนต์สำหรับติดต่อลูกค้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกวัน ประมาณ 100 กม. / วัน ในระหว่างที่นำรถเข้าซ่อมนั้น ข้าพเจ้าต้องใช้บริการรถแท็กซี่ , จักรยานยนต์รับจ้าง , สองแถว , รถโดยสารประจำทาง ,รถไฟฟ้าBTS และMRT เป็นการเดินทางแทนรถยนต์ที่กำลังซ่อมแซม และมีความไม่สะดวกในการเดินทางอย่างมาก เพราะต้องถือเอกสารอุปกรณ์ช่าง และโน๊ตบุ๊ค ดังนั้น จึงขอเรียกสินไหมดังต่อไปนี้ 1. ค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ 800บาทต่อวัน คิดจากกรณีใช้รถวันละ 200 บาท แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้นเมื่อไม่มีรถใช้เป็นวันละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 9 วัน (800 x 9)รวม 7,200 บาท 2. ค่าเสื่อมสภาพรถจากอุบัติเหตุ 20,000บาท 3. ค่าเดินทาง+ค่าโทรศัพท์ ในส่วนที่ไม่ควรเสีย 1,000 บาท 4. การหยุดงาน ทำให้โดนหักเงินเดือน 2 วัน ทำให้สูญเสียรายได้ คือวันเอารถไปที่อู่รถ และวันรับรถ คิดเป็นเงิน 1,500 บาท รวมทั้งสิ้น 20,000 + 7,200+1,000+1,500 = 29,700 บาท ” เอกสารประมาณนี้ พอจะให้ประกันฝ่ายคู่กรณี ดำเนินเรื่องได้ไหมครับ เพราะเดือดร้อนและอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากความประมาทของเราเลย

ท่านสามารถเรียกร้องให้บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณีซึ่งเป็นฝ่ายผิด ให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ในระหว่างซ่อมได้ ตามความเสียหายที่แท้จริง อย่างไรก็ดี หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัยท่านสามารถนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาร้องเรียนได้ที่สำนักงาน คปภ.

ค่าขาดประโยชน์ เรื่องที่ประกันมักแกล้งลืม
ประเด็นที่ว่านี้คือสิทธิอันพึงได้พึงเสีย ในเรื่องการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งต้องตอกย้ำขีดเส้นใต้ตัวใด ๆ กันอีกครั้งว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกับค่าขาดรายได้จากการทำงาน มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองรายการ

แต่เพื่อป้องกันความสับสนก็ต้องแยกอธิบายถึง “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ก่อน เพราะรายการนี้มีทั้งได้สิทธิและหมดสิทธิ

คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันรถยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุในหมวดการยกเว้นความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไม่คุ้มครอง ซึ่งมีอยู่ 9 ข้อด้วยกัน เฉพาะข้อที่ 5 ระบุชัดเจน กรรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองในความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์

คู่มือฯ ได้ห้อยดิ่งเอาไว้ว่า ถ้าความเสียหายจากการขาดการใช้รถยนต์นั้นเกิดจากบริษัทประวิงการซ่อม หรือซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถได้

อีกทั้งการเรียกค่าเสียหายนั้น ท่านบอกว่าให้คิดคำนวณจากวันที่ขาดประโยชน์จากการล่าช้า ไม่ใช่นับจากวันที่การขาดใช้ประโยชน์ หมายความว่า รถยนต์เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 1 และบริษัทประกันหรืออู่ซ่อมรถยนต์ในสังกัดนัดหมายว่ารถยนต์จะซ่อมแล้วเสร็จภายในวันที่ 25

ดังนั้นการนับว่าการขาดผลประโยชน์จากการใช้รถต้องเริ่มนับจากวันที่ 25 จนถึงวันรับรถ ไม่ใช่เริ่มนับจากวันที่ 1

ที่สำคัญคู่มือฯ ฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ปัญหาว่าอย่างไรถึงจะล่าช้า จะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โดยพิจารณาจากขนาดความเสียหาย เปรียบเทียบกับกรณีทั่วไป ความเสียหายขนาดนั้น โดยทั่วไปจะซ่อมเสร็จภายในกี่วัน หากบริษัทซ่อมแล้วเสร็จช้ากว่านั้นก็ให้ถือว่าล่าช้าแล้ว

กรณีรถยนต์ของเราเป็นฝ่ายถูกละเมิดหรือภาษาประกันเขาเรียกว่าเป็นฝ่ายถูก กรณีอย่างนี้ ไม่ต้องคิดถึงว่าจะเข้าข่ายข้อยกเว้น เข้าข่ายประวิงซ่อมช้าหรือไม่ เพราะเจ้าของรถยนต์สามารถเรียกค่าขาดประโยชน์จาการใช้รถจากบริษัทประกันภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามประมวลกฎหมายแห่งและ พาณิชย์มาตรา 240 ลักษณะมูลละเมิด

อีกทั้งการนับวันเวลาในการเรียกค่าเสียหาย ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกสามารถนับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถใช้รถได้

ทั้งสองลักษณะ เหตุเกิดจากการประวิงหรือสิทธิอันชอบธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ จากถูกละเมิดกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า ค่าขาดประโยชน์จากการขาดการใช้รถนั้นจะต้องชดใช้กันอย่างไรเป็นมูลค่าหรือเป็นตัวเลขเท่าไหร่ต่อวัน

ในขณะที่ธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นเสมือนไมโครชิพฝังไว้ในสมองของพนักงานสินไหมทดแทนของบริษัทประกัน ถ้ามีเจรจาตกลงเรื่องค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถเมื่อไหร่ คำตอบที่อยู่ในใจหรือถูกฝังไมโครชิพไว้จะกำหนดราคาอยู่ที่ 300 บาทขั้นต่ำ (นัยว่าถ้าเป็นกรณีรถแท็กซี่ ราคา 300 ไม่สามารถใช้ได้ ต้องใช้อัตราค่าเช่ารถวันละ 600 บาท เป็นเพดานในการเจรจา)

หมายความว่าถ้าอยากจะได้มากกว่าวันละ 300 บาท ต้องหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ว่าเราใช้จ่ายในการเดินทางจริงวันละเท่าไหร่ อย่างเช่น ถ้าได้ใช้บริการรถแท็กซี่รุ่นใหม่ที่มีใบเสร็จให้กับผู้โดยสาร หลักฐานอย่างนี้รับประกันซ่อมฟรีบริษัทเถียงไม่ออก หรือใช้กรณีเทียบเคียงเอาจากอัตราค่าโดยสารที่ติดประกาศอยู่ในรถแท็กซี่ หรืออัตราค่าเช่ารถจากบริษัทรถเช่า

แต่อย่างไรก็ดีถ้าตกลงกันไม่ได้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกใช้บริการจากสำนักงาน คปภ. มาเป็นตัวกลางในการเจรจาให้

เรื่องของการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่เราเป็นฝ่ายถูกเรียกร้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเกิดจากความล่าช้าในการจัดซ่อมนับเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะลืมแบบรู้เท่าไม่ทันเหลี่ยม

จำเพียงแค่ว่าถ้ารถยนต์เรามีประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมาบริษัทประกันรับผิดชอบซ่อมรถยนต์ให้เท่านั้นเอง ทั้ง ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยยังมีสิทธิอะไรอีกมากมายที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์นั้น ๆ ที่เสียหายส่วนจะหวังว่าบริษัทประกันภัยจะช่วยรักษาสิทธิให้กับเรานั้น เลิกคิดไปได้เลย เพราะแกล้งลืมกันเป็นส่วนใหญ่

สุดท้ายนี้นอกจากสิทธิที่พึงได้ในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์แล้ว อย่าลืมว่ายังมีอีกสิทธิหนึ่งที่สามารถเรียกร้องได้ แต่คนส่วนใหญ่นึกว่าสิทธิตัวเดียวกัน นั่นก็คือสิทธิในการเรียกร้องในเรื่องของการขาดประโยชน์ในการทำมาหากิน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow