ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ และ ค่าเสื่อมราคา
ในหมวดความคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก ระบุว่า…
บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบการขาดประโยชน์จากการใช้รถตามกฎหมายและความรับผิดของบริษัทตามจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
ผู้ที่ถูกละเมิดมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกินวงเงินเอาประกันภัย
ฝ่ายถูก สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย ได้3 กรณี
1. ค่าขาดประโยชน์ จาก บริษัทประกันประวิงการซ่อม หรือ ซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยไร้เหตุผลสมควร
เจ้าของรถยนต์ที่เป็นฝ่ายถูก ถูกรถคันมีประกันภัยภาคสมัครใจชน เกิดความเสียหาย เมื่อนำรถเข้าซ่อมแล้วถูกบริษัทประกันประวิงการซ่อม หรือมีการซ่อมล่าช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็นโดยไม่มีเหตุผลสมควร เช่น ระบุว่าจะซ่อมเสร็จภายในวันที่ 1มกราคม แต่ซ่อมล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร สามารถเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถได้ตั้งแต่วันที่ 2มกราคม เป็นต้นไป จนกว่าจะซ่อมเสร็จ นั่นคือ สามารถเรียกร้องได้เฉพาะส่วนที่ล่าช้าเท่านั้น หรือ เรียกร้องเฉพาะส่วนที่เกินกว่าการสั่งซ่อมจริง (เรียกร้องได้นับแต่วันทำละเมิด)
2. ค่าขาดประโยชน์ จากการใช้รถ
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม หมายถึง ค่าเสียหาย หรือ ขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถ ขณะรถกำลังซ่อมอยู่นั่นเอง
นับตั้งแต่วันที่นำรถเข้าซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ ต้องเช่ารถใช้ หรือนั่งแท็กซี่ไปทำงาน (เป็นส่วนที่มีการเรียกร้องมากที่สุด และบางรายค่าเสียหายส่วนนี้มากกว่าค่าซ่อม)
3. ค่าขาดประโยชน์ในกรณีใช้รถเพื่อการพาณิชย์
เช่น รถเช่า หรือรถรับจ้าง จะมีค่าเสียหายที่แตกต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคล ในกรณีที่มีหลักฐานการขาดประโยชน์จากการใช้รถชัดเจน รถ อาชีพของผู้เรียกร้อง สมเหตุสมผลจะไม่มีปัญหา มักตกลงกันได้
ค่าเสื่อมราคาเกิดจากรถที่เกิดอุบัติเหตุ
ค่าเสื่อมราคาเกิดจากรถที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อซ่อมแล้ว ราคาตลาดจะลดลงเมื่อเทียบกับรถรุ่นเดียวกันที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ
เสื่อมราคา ค่าเสียเวลา หรือค่าตกใจ เรียกร้องได้หรือไม่?
โดยทั่วไปแล้ว สิทธิประโยชน์เหล่านี้ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำให้เสียเวลา รวมถึงสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นสิทธิประโยชน์ที่บุคคลผู้ถูกละเมิดสามารถเรียกร้องได้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่จะสามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆด้วย เช่น ฐานะความเป็นอยู่ของคู่กรณี ดังนั้น สิทธิประโยชน์ที่สามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ ถือว่าเป็นสิทธิโดยพื้นฐานที่คนทั่วไปเรียกร้องได้อยู่แล้วตามกฏมายแม้จะไม่มีประกันภัยเข้ามาก็ตาม เพราะเป็นการโดนละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมาย จึงไม่ใช่หน้าที่ของตัวแทนประกันที่จะต้องแจ้งสิทธิ์ในส่วนนี้
สำหรับการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากคู่กรณี ทั้งเรื่องค่าเสื่อมราคา หรือสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม กรณีนี้ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดเอง เนื่องจากสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ ไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์เรียกร้องในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นหากใครอ้างว่าไม่ทราบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ก็อาจจะต้องสูญเสียสิทธิ์ไป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ทำประกันต้องรู้จากบริษัทประกัน คือ เงื่อนไขคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ว่า หากเราตกเป็นผู้เสียหาย สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยมีอะไรบ้าง และสิทธิ์เรียกร้องจากคู่กรณีได้มีอะไรบ้าง เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลาจากการใช้รถ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทประกันไม่สามารถไปดำเนินการเรียกร้องแทนผู้เสียหายได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขภายใต้กรมธรรม์ที่จะคุ้มครอง และที่สำคัญก่อนทำประกันภัย ควรพิจารณาความคุ้มครองให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้รถด้วย
สำหรับการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม สามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น จะต้องเป็นไปตามความสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยต้องไปเช่ารถวันละ 1,000 บาท ก็สามารถเรียกร้องได้ตามจำนวนนั้น หรือในกรณีที่ผู้เสียหายขับรถบรรทุก ซึ่งมีรายได้ วันละ 6,000 บาท ก็สามารถเรียกไปตามจำนวนนั้น ตามความเป็นจริง โดยคู่กรณีและประกันของคู่กรณีจะต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบทั้งหมด
ตัวแทนประกันแจ้งไม่หมด เป็นเหตุลูกค้าเสียสิทธิ์ ถือว่าผิดหรือไม่?
กรณีประสบเหตุจากรถ ผู้เสียหาย มีสิทธิ์ที่จะเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมได้ เช่น …
– ค่าเสื่อมราคา
– ค่าเสียเวลา
– รายได้ที่ขาดหายไป จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ เช่น ในระหว่างซ่อมรถ ผู้เสียหายจะต้องใช้บริการแท็กซี่ไปทำงานแทน ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ จนรถซ่อมเสร็จ ส่วนเรื่องของสภาพจิตใจ เช่น ค่าตกใจหรือค่าทำขวัญนั้น ไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากยังไม่ถูกยอมรับในชั้นศาล
การเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม จะสามารถเรียกอยู่ในวงเงินเท่าไร
ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น กรณีขับรถแท็กซี่ ซึ่งสามารถหารายได้ต่อวัน 1,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือวันละ 300 บาท เพราะฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่คนขับแท็กซี่คนนี้ จะสามารถเรียกจากคู่กรณีได้ คือ วันละ 300 บาท จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ
ประกันรถยนต์ประเภท 1 จะครอบคลุมทั้งหมดที่เกี่ยวกับภัยทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นกับรถของเรา เพราะฉะนั้น กรณีที่ตัวแทนบริษัทประกันไม่แจ้งถึงสิทธิประโยชน์เหล่านี้ให้ลูกค้าทราบทั้งหมด ทำให้ผู้เสียหายอาจเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ กรณีนี้ถือว่าบริษัทประกันมีความผิดหรือไม่?
โดยทั่วไปสิทธิตามสัญญาในประกันภัยหรือกรมธรรม์ เป็นประกันวินาศภัย ซึ่งสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์หรือค่าเสียหายได้ ตามความจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทนประกันภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายหรือแจ้งถึงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ ให้ลูกค้าทราบทั้งหมด เนื่องจากอาจถือว่า ในสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ มีข้อความอธิบายหรือระบุชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หากลูกค้าไม่ได้รับรายละเอียดในการอธิบายพันธะสัญญาตามกรมธรรม์ให้เข้าใจอย่างชัดเจน จนทำให้ลูกค้าเสียสิทธิประโยชน์ กรณีนี้ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้
เลขาธิการสภาทนายความ
อย่างไรก็ตาม สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 95 ระบุว่า บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการ หรือให้คำชี้แจงตามมาตรา 49ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท