INSURANCETHAI.NET
Sun 22/12/2024 12:00:18
Home » ประกันภัย(ประกันวินาศภัย) » การประกันวิชาชีพแพทย์\"you

การประกันวิชาชีพแพทย์

2012/02/27 5492👁️‍🗨️

การประกันวิชาชีพแพทย์
ในการประกอบวิชาชีพแพทย์นั้น ในปัจจุบันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จำนวนมากที่ถูกคนไข้ซึ่งได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือเสียชีวิตฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายว่าเป็นผลมาจากการรักษาที่ผิดพลาด และมักจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้แพทย์ต้องมีภาระในการที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่หลากหลาย เมื่อก่อนเรียกว่าการประกอบโรคศิลปะ ในทางกฎหมายนั้นเพ่งเล็งไป ที่การกระทำของผู้กระทำเป็นหลัก ในการพิจารณาคดีการรักษาผู้ป่วยเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยก้าวเข้ามาในโรงพยาบาล มีการซักประวัติ ตรวจ ร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจพิเศษอื่น ๆ รักษาด้วยยาหรือผ่าตัด ตลอดจนการชันสูตร กระบวนการต่าง ๆ นั้นประกอบด้วยการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังต้องมีการตัดสินใจประกอบการกระทำอยู่ตลอดเวลาที่จะเลือกกระทำอย่างไรต่อผู้ป่วย ต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ และภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ เกิดผลต่อผู้ป่วยในแต่ละรายซึ่งมีสภาพร่างกายไม่เหมือนกันเลย โรคหรือภาวะต่าง ๆ แม้เป็นโรคเดียวกันก็แตกต่างกันทั้งในลักษณะของโรค ความรุนแรง ระยะของโรค ความสามารถของการรักษาโรคได้ของแต่ละโรคก็ไม่เหมือนกัน
แพทย์ซึ่งเป็นผู้กระทำคือการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องแบกรับภาระของผลที่เกิดจากตัวของโรคเอง แล้วยังต้องแบกรับภาระจาก ข้อจำกัดของระบบ และความผิดพลาดของระบบ ทั้งที่ตัวแพทย์เอง ก็มีความรู้และประสบการณ์ไม่เท่าเทียมกัน
การเพิ่มพูนศักยภาพของตัวแพทย์เองในสถานศึกษาหรือหลังการศึกษาให้มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม มีความเข้มแข็งในจริยธรรม มีความสามารถในการสื่อสาร ตลอดจนรอบรู้เรื่องสังคมและกฎหมาย การพัฒนาระบบคุณภาพและระบบป้องกันความเสี่ยงในสถานพยาบาลให้ดีขึ้น การให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดผลกระทบไม่ว่าจะจากแพทย์เอง จากสถานพยาบาล จากกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเจรจา ไกล่เกลี่ยแล้วยังมีบางส่วนที่ยังหลุดเข้าไปสู่การฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง อาญา วินัยข้าราชการ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การประกันวิชาชีพเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นิยมใช้ในต่างประเทศ และได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทยแล้ว
การประกันวิชาชีพด้านสุขภาพในต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นดังเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา พื้นที่สีเหลืองมีภาวะวิกฤต และพื้นที่สีแดงวิกฤตมาก จากการที่มีบริษัทประกันซึ่งเป็นฝ่ายที่ 3 มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้แทนผู้ประกอบวิชาชีพ ปรากฏผลว่าค่าชดเชยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา ที่รวดเร็วมาก
โดยเฉพาะค่าชดเชยที่ไม่อาจคิดเป็นตัวเงิน เช่น ที่เรียกว่าค่าชดเชยทางจิตใจ ซึ่งสามารถเรียกร้องได้อย่างไม่มีขีดจำกัดวงเงินนั้นก่อให้เกิดอัตราค่าชดเชยที่สูงมาก
การที่ศาลสั่งให้ชำระค่าชดเชยที่สูงมากส่งผลให้อัตราค่าเบี้ยประกันวิชาชีพสูงขึ้นด้วยเป็นอันมาก
โดยเฉพาะค่าเบี้ยประกันของสูติแพทย์สูงมากกว่าแพทย์สาขาอื่น ๆ หลายเท่าตัว
มลรัฐเท็กซัสซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดงนั้น แพทย์เลิกประกอบวิชาชีพเวชกรรมตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นจำนวนมาก ทำให้สูญเสียบุคลากรที่มีความรู้ในการรักษาพยาบาลประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
วิกฤตการณ์ส่งผลกระทบให้แพทย์หลั่งไหลออกจากรัฐเท็กซัส เป็นจำนวนมาก ทำให้อัตราส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรลดน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก จำนวน 158 เมืองไม่มีสูติแพทย์ ทำให้ประชาชนต้องไปคลอดที่เมืองอื่น ค่าเบี้ยประกันสูงมากจนแพทย์ ไม่สามารถที่จะมีรายได้คุ้มค่าเบี้ยประกันวิชาชีพ บริษัทประกันวิชาชีพแพทย์ล้มละลายเลิกกิจการเป็นจำนวนมากเหลือเพียง 4 บริษัทเท่านั้น
วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นมาก สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันวิชาชีพ การรักษาแบบป้องกันตัวเองของแพทย์ทำให้ต้องส่งตรวจพิเศษต่าง ๆ โดยมีความจำเป็นน้อย ส่วนหนึ่งของแพทย์ซึ่งขาดแคลนอยู่แล้วต้องเสียเวลากับการต้อง ไปขึ้นศาลอยู่เรื่อย ๆ พฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป มีการ ส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น เช่น ในประเทศไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชน ทั้งหลายไม่กล้าผ่าตัด

แพทย์กับความรับผิดทางการแพทย์ (Doctor V.S. Medical liability)

Medical Liability คำ ๆ นี้เป็นการสนธิคำระหว่าง “Medical” + “Liability” ซึ่งมีความหมายดังนี้
1) ความรับผิดชอบตามกฎหมาย
2) อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำทางการแพทย์ โดยโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็น(Burden of proof) ถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1) แพทย์หรือจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำ
2) แพทย์ล้มเหลวในการกระทำหน้าที่ดังกล่าว
3) ผลจากความล้มเหลวดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย

Negligence คำ ๆ นี้ตรงกับภาษาไทยว่า “การขาดความระมัดระวัง” หรือ “การประมาทเลินเล่อ”
ซึ่งตรงกับคำนิยามทางกฎหมายที่ว่า “Violation of a duty to meet an applicable standard of care” หรือ
“การฝ่าฝืนหรือการละเมิดต่อหน้าที่ในอันที่จะรักษามาตราฐานในการปฏิบัติหน้าที่แห่งวิชาชีพ” นอกจากนี้ในตำรากฎหมายังได้ให้ความหมายของคำว่า Negligence ไว้แตกต่างกัน
เช่น “failure to exercise reasonable care and skill”, “Omission to do something which a reasonable man would do, or something which a reasonable man would not do”

ในทางกฎหมายนั้นสิ่งที่ตามมาจาก Negligence คือ ความเสียหาย (Damage) อันจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องละเมิด (Tort) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกทีหนึ่ง
ส่วนในทางปฏิบัติแล้วความผิดพลาดที่สามารถจะนำไปสู่ Negligence นั้นมีได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย ขั้นตอนการรักษา รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ป่วยหรือญาติ (Information disclosure)

Negligence ที่ต้องระวังให้มากอันหนึ่งคือ negligence ที่เกี่ยวกับ การวินิจฉัยโรคและวิธีการรักษา เป็นต้นว่าโรคนี้ในอดีตที่ต้องให้การรักษาด้วยยาอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันสามารถใช้วิธีการผ่าตัด หรือ ผ่าตัดแต่มีเทคนิคใหม่ หากแพทย์ไม่ทราบข้อมูลนี้แต่ผู้ป่วยไปทราบมาเองแล้วการรักษาที่ได้ให้ไปก่อนหน้านั้นยังผลเสียแก่ผู้ป่วย แพทย์อาจมีความผิดฐาน Negligenceได้ วิธการป้องกันคือการปรับปรุงตนเองในด้านความรู้ทางวิชาการให้ทันสมัยอยู่เสมอ หากตนเองทำไม่ได้และทราบว่ามีคนทำได้ดีกว่าเราก็ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเพื่อเป็นทางเลือกของการรักษา โปรดอย่าลืมว่า “No allowance made for inexperience and age”
Malpractice คำ ๆ นี้ใช้กันมากในทางการแพทย์หรือที่เรียกกันเต็ม ๆ ว่า Medical malpractice แต่ในความเป็นจริงแล้วคำว่า malpractice นั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นการประกอบวิชาชีพเฉพาะเป็นต้นว่า อาชีพทนายความ เป็นต้น
ความหมายกลาง ๆ ของคำว่า Malpractice คือ “Failure of one rendering professional services to exercise that degree of skill and learning commonly applied under all the circumstances in the community by the average prudent reputable member of the profession with the result of injury, loss, or damage to the recipient of those services or to those entitled to rely upon them” ซึ่งพอสรุป หัวใจของคำว่า Malpractice ได้คือ
1) การกระทำการใด ๆ ที่คนหมู่มากในวิชาชีพถือว่าวิธีการดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้
2) การกระทำนั้นอาจเกิดจากการขาดความรอบคอบ (Prudent, Judicious)ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือ การขาดทักษะที่ควรจะมี (Reasonable skill) ในสถานการณ์ที่ควรจะทำได้ดีกว่านั้น

ดังนั้นคำว่า Medical malpractice จึงสามารถให้คำจำกัดความว่า “The failure of a healthcare professional to exercise such care as would a reasonably prudent healthcare professional under the same or similar circumstances” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ “เวชปฏิบัติทางการแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพหรือจรรยาบรรณ โดยพิจารณาจากวิสัยและพฤติการณ์แวดล้อม ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา”

อะไรคือ Medical malpractice
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า Malpractice คือการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ขาดทักษะในการปฏิบัติ และคนหมู่มากในวิชาชีพเดียวกันยังไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวภายใต้สถานการณ์เดียวกัน และการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้อื่น ในทางปฏิบัติคำว่า Malpractice นั้นมักใช้กันในทางการแพทย์ว่า Medical malpractice ซึ่งมักหมายถึงการกระทำโดยแพทย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เสมอไป อาจเป็นจากบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น พยาบาล นักกายภาพบำบัด ทันตแพทย์ นักจิตบำบัด เป็นต้น

การจะตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่นั้น มักใช้การตัดสินจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ท่านอื่นหลาย ๆ ท่านมาประกอบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นถูกต้องด้วยมาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่ (กระบวนการนี้สำคัญมากในชั้นพิจารณาเพราะศาลจะ
อาศัยความคิดเห็นนี้มาเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่งในการกำหนดคำพิพากษา โดยเชิญแพทย์ผู้ชำนาญการมาเป็นพยานบุคคล) หากแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานตามที่โจทก์ฟ้องร้อง แพทย์ที่ตกเป็นจำเลยก็อาจแพ้คดีและต้องมีความรับผิดในการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นตามมา (Medical liability)
องค์ประกอบสำคัญของ Medical malpractice มีดังนี้
1) โจทก์จะต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าแพทย์ท่านดังกล่าวมีหน้าที่ที่จะต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วย
2) โจทก์จะต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าแพทย์ท่านดังกล่าวล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น โดยความล้มเหลวดังกล่าวอาจเกิดเนื่องจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ (ทิ้งเวร เป็นต้น) หรือการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน(substandard) เมื่อเทียบกับแพทย์ในสาขาเดียวกันที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์เดียวกัน
3) ความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยตามมา โดยมีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุและผลของการกระทำนั้น ๆ (ในทางกฎหมาย จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ละเมิด หรือ Tort นั่นเอง)

หรืออาจกล่าวโดยสรุปคือ Duty + Breach + Causation + Damage / Harm
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าในเบื้องต้นนั้น ต้องมีการพิสูจน์ว่าแพทย์ดังกล่าวมีหน้าที่ที่จะต้อง
ให้การรักษาผู้ป่วย แพทย์ท่านดังกล่าวจึงจะมีโอกาสที่จะถูกกล่าวหาว่าละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางการแพทย์ทั่วไป การพิสูจน์ดังกล่าวอาจไม่ยากเป็นต้นว่า แพทย์คนดังกล่าวหากเดิมเป็นเจ้าของไข้อยู่แล้วตั้งแต่ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในหลายครั้งค่อนข้างสับสนว่าใครกันแน่ที่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาผู้ป่วย เป็นต้นว่า การได้รับการปรึกษาทางโทรศัพท์แล้วไม่ได้มาดูผู้ป่วย โดยให้ตามแพทย์ท่านอื่นแทน หรือ การที่พยาบาลไม่สามารถติดต่อแพทย์คนไหน ๆ ได้ แล้วใครจะเป็นแพทย์ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยกันแน่ ในประเด็นเรื่องหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัตินี้มีหลักอยู่ว่า
1) หากมีการตกลงกันว่าแพทย์จะรับดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ได้รับค่าแพทย์ตอบแทน ถือว่าแพทย์ท่านดังกล่าวมีหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว
ในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นว่ามีการ off service โดยแพทย์ เมื่อเห็นว่าปัญหาของ
ผู้ป่วยที่ตนดูแลจบลงแล้ว การกระทำดังกล่าวค่อนข้างสุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้อง เพราะหากผู้ป่วยอาการแย่ลงจากปัญหาของแพทย์ท่านดังกล่าวโดยที่แพทย์เองก็ไม่ได้รับรายงาน แพทย์ท่านนั้นอาจมีความผิดฐานละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ได้
2) การตกลงดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร อาจเป็นการตกลงโดยพฤตินัยก็ได้ โดยอาจดูจากการปฏิบัติที่ทำเป็นนิจในอดีตที่ผ่านมา
3) ในกรณีที่มีการตามทางโทรศัพท์ อาจพิจารณาจากผู้มีความรับผิดชอบในตารางเวรของแพทย์เป็นหลัก (ในทางปฏิบัติ การจัดเวรที่มีแพทย์หลายท่านดูแลเป็นลำดับ หรือที่เรียกว่า first call, second call, … กรณีนี้อาจมีผู้ต้องรับผิดมากกว่า 1 คน คือแพทย์ที่อยู่ในลำดับถัดมาด้วย)
ต่อมาคือการพิสูจน์ว่าอย่างไรเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น
ยากมากที่จะพิสจน์ว่าแพทย์คนดังกล่าวให้การรักษาที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ในทางปฏิบัตินั้นมีหลักอยู่ว่า จะต้องเปรียบเทียบการให้การรักษาภายใต้สถานการณ์และผู้ป่วยคนเดียวกัน และถึงแม้การให้การรักษาจะแตกต่างออกไปจากมาตรฐานทั่ว ๆ ไป แต่หากแพทย์สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยวิธีอื่น ความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี แพทย์ท่านดังกล่าวก็จะไม่ผิดในประเด็นนี้

รูปแบบต่าง ๆ ของ Medical malpractice
1) การวินิจฉัยที่ล่าช้าเกินควร
2) การวินิจฉัยผิดพลาด หรือ วินิจฉัยไม่ได้
3) การปรึกษาหรือส่งต่อที่ล่าช้าเกินควร
4) การประมาทในการใช้ยา (Negligent drug treatment)
5) การประมาทในการทำหัตถการรวมทั้งการผ่าตัด (Negligent performance of procedure or operation)
6) การให้การรักษาโดยปราศจากใบคำยินยอมโดยไม่มีเหตุสมควร (Failure to obtain informed consent without reasonable cause)
7) การไม่ติดตามการรักษา (Failure to follow up)
8) ผลการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน (Bad outcome)

ผลทางกฎหมายอันเนื่องมาจาก Medical malpractice
เป็นไปในสองรูปแบบ คือ
1) การละเมิด หรือ Tort ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งทางไม่ได้จงใจ (Intentional tort) หรือ ทำร้ายร่างกาย (Assault or Battery)
2) การประมาทเลินเล่อ หรือ Negligence

Legal liability in medical professional
ความรับผิดทางกฎหมายนั้นแบ่งออกได้เป็น
1) ความรับผิดทางอาญา (Criminal liability) เช่น ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เป็นต้น
2) ความรับผิดทางแพ่ง (Civil liability) เช่น ความผิดฐานละเมิด เป็นต้น
นอกจากนี้แพทย์ยังมีความรับผิดจำเพาะอีกอย่างคือ
3) ความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมีโทษจำเพาะ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตไม่เกิน 2 ปี ไปจนถึง เพิกถอนใบอนุญาต โดยแพทยสภาเป็นผู้มีอำนาจนี้และมักเป็นไปในรูปแบบของการพิจารณาเรื่องจริยธรรมของแพทย์
โดยปกติแล้วหนทางเบื้องต้นในการหลีกเลี่ยงความรับผิดทางกฎหมายคือการให้ผู้ป่วยลงลายมือชื่อแสดงความยินยอมในการรับการรักษาจากแพทย์ที่เรียกว่า Informed consent โดยแพทย์ต้องอธิบายโดยละเอียดถึงสิ่งที่จะทำ ความเสี่ยงของการกระทำ เมื่อผู้ป่วยหรือญาติผู้มีสิทธิให้ความยินยอมก็จะต้องลงลายมือชื่อเพื่อแสดงความผูกพันทางกฎหมายคล้าย ๆ กับการทำนิติกรรม เมื่อมีการลงลายมือชื่อแล้ว หากแพทย์กระทำการใด ๆ ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์และกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท แพทย์ก็จะไม่มีความรับผิดใด ๆ ทางกฎหมายต่อการกระทำนั้น ๆ (A doctor is not guilty of negligence if he has acted in accordance with a practice accepted as proper by a responsible body of medical men skilled in that particular art) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เอกสาร Informed consent นั้นจะต้องได้มาโดยถูกต้องไม่เป็นการบิดเบือนในการแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบมิฉะนั้นแล้วจะถือว่า นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมาย

จากทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน ความรับผิดทางการแพทย์ (Medical liability)
เป็นสิ่งที่แพทย์ที่ประกอบวิชาชีพในปัจจุบันต้องตระหนักให้มาก เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเปลี่ยนไปในลักษณะพ่อค้ากับลูกค้า(Provider-Client relationship) จากเดิมที่เป็นในลักษณะของแพทย์และผู้ป่วย (Doctor-Patient relationship) ยิ่งมีโรงพยาบาลเอกชนมากเท่าไร ยิ่งมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเท่าไร ยิ่งมีการฟ้องร้องตามมามากเท่านั้น ทั้งหมดนี้ทำให้แพทย์หลาย ๆ ท่านในปัจจุบันหาทางออกในลักษณะของการตั้งรับเผื่อในกรณีที่ตนเองต้องมีความรับผิดทางการแพทย์ขึ้นมาโดยหันไปทำประกันภัยสำหรับความรับผิดทางการแพทย์ (Medical professional liability insurance) โดยครอบคลุมไปถึงความประมาท ความผิดพลาด และ ความบกพร่องในการให้การรักษา ในปัจจุบันมีออกมาใน สอง รูปแบบคือ
1) การประกันภัยความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Medical Malpractice Liability Insurance (Practitioners)) เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ อันเกิดจากความผิดพลาดหรือความประมาทเลินเล่อในการประกอบวิชาชีพของแพทย์ ซึ่งทำให้คนไข้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
2) การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพสำหรับโรงพยาบาล (Medical Malpractice Liability Insurance (Hospital)) เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพของโรงพยาบาล อันเกิดจากความผิดพลาดหรือความประมาทเลินเล่อในการประกอบวิชาชีพของโรงพยาบาล ซึ่งทำให้คนไข้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการทำประกันภัยในการประกอบวิชาชีพ สิ่งที่แพทย์ผู้ทำประกันภัย
ต้องตระหนักคือ ประกันภัยไม่ได้ครอบคลุมความเสียหายทุกอย่าง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเงินที่รับผิดชอบซึ่งบริษัทจะตีกรอบในวงจำกัดต่อความเสียหายแต่ละครั้งและไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ในหนึ่งปี ยิ่งแพทย์ท่านใดมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องมาก เป็นต้นว่า แพทย์ในสาขาสูตินรีเวช ศัลยกรรมตกแต่ง วิสัญญีวิทยา หรือในระยะหลังเป็นกุมารแพทย์ ยิ่งต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงหรือหากประวัติไม่ดีอาจได้รับการปฏิเสธในการทำประกันภัยวิชาชีพ นอกจากนี้สิ่งที่ประกันภัยวิชาชีพไม่ครอบคลุมและไม่สามารถเยียวยาได้คือชื่อเสียงของแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องซึ่งไม่สามารถเรียกคืนมาได้โดยง่าย
ใครที่ควรทำประกันภัยวิชาชีพทางการแพทย์
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าในปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มทำตลาดนี้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุที่ว่าการฟ้องร้องทางการแพทย์มีแนวโน้มสูงขึ้นทุก ๆ ปีและเป็นจำนวนเงินเรียกร้องที่สูงขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด ปัญหาคือท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ควรทำประกันภัยวิชาชีพหรือไม่?
การพิจารณาว่าควรทำหรือไม่ ให้ตอบคำถามด้วยตนเองว่า “ท่านสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาทนายเพื่อแก้ต่างแทนท่านได้หรือไม่เวลามีคดีขึ้นสู่ศาล และท่านสามารถรับผิดชอบในความเสียหายที่ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ในกรณีที่ศาลตัดสินว่าท่านผิดจริง หากท่านไม่สามารถรับผิดชอบและรับภาระดังกล่าวแล้วท่านคือบุคคลที่ควรทำประกันภัยวิชาชีพแน่นอน”
นอกจากนี้การทำประกันภัยวิชาชีพยังมีข้อดีอีกคือ
1) ท่านจะมีทนายส่วนตัวที่คอยแก้ต่างให้ท่านเอง
2) ท่านสามารถหลีกเลี่ยงการมีปัญหากับญาติผู้เสียหายโดยตรง ทนายจะเป็นผู้ดำเนินการต่อรอง ประนีประนอมแทนท่านได้ในหลาย ๆ กรณี
(หลักของการเจรจาต่อรอง หรือ Negotiation ที่ดีอันหนึ่ง คือ การประสานงานผ่านตัวกลางที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองแทนคู่กรณี จนกว่าจะได้ข้อสรุป เมื่อนั้นคู่ความจึงจะมาเจอกัน หลักการนี้จะเห็นได้ในวงการธุรกิจที่ผู้บริหารระดับสูงจะไม่มาคุยกันเองในเบื้องต้น แต่จะให้ลูกน้อง หรือที่ดีกว่าคือ คนนอกที่เป็นกลางเข้ามาต่อรองกันก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุป)
3) ท่านไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ศาลอาจพิพากษาเพิ่มเติมได้ (กรณีโจทก์มีคำขอมาในคำฟ้อง)

เรื่องที่ผู้ป่วยมักใช้เป็นเหตุสนับสนุนให้มีการร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาในการรักษาพยาบาล เช่น
– แพทย์ไม่สนใจดูแลผู้ป่วย ไม่ให้เวลาในการรักษาพยาบาล การตรวจร่างกาย
– แพทย์ไม่ฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการระบายหรือเล่าอาการบางอย่าง แล้วพบว่าสิ่งที่แพทย์ละเลยนั้นมีส่วนทำให้การรักษาพยาบาลผิดพลาด
– แพทย์ไม่อธิบายผู้ป่วยให้ทราบถึงโรคและวิธีการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออธิบายแล้วแต่พูดจาไม่รู้เรื่อง
– แพทย์ไม่แสดงความเห็นใจในโรคที่ผู้ป่วยเป็น มองผู้ป่วยเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจเป็นเพราะแพทย์พบเห็นอยู่ทุกวันจนเกิดความเคยชิน
– แพทย์แสดงความไม่เป็นมืออาชีพออกมาให้เห็นระหว่างการตรวจรักษา เป็นต้นว่า พูดจาแสดงความไม่มั่นใจออกมา กิริยาหลุกหลิก หรือทำประการใดให้เห็นว่าไม่รู้จริงในการรักษาโรคที่ผู้ป่วยเป็น (Incompetent)

บทส่งท้าย
จากทั้งหมดข้างต้น จะเป็นได้ว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยเฉพาะ แพทย์ นั้นไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมาทั้งนี้เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไประหว่างแพทย์กับผู้ป่วย อีกทั้งการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายแพทย์ก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินใจแทนผู้ป่วยได้ทั้งหมดเหมือนในอดีตที่ครูแพทย์เคยทำกัน แพทย์จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยอย่างดี อีกทั้งต้องมีศิลปะในการพูดจา (Language expression) และศิลปะในการสื่อสารด้วยท่าทาง (Body language) ต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยหรือญาติเมื่อได้มีการสนทนากัน (ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการพูดจากับญาติทางโทรศัพท์โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่เคยคุยด้วยหรือในรายที่มีปัญหาในการรักษาพยาบาล) บ่อยครั้งที่ Body language จะมีส่วนทำให้แพทย์ฉุกคิดได้ว่าญาติผู้ป่วยมีความคิดอ่านในใจตรงกับที่พูดออกมาหรือไม่ ทั้งหมดนี้เห็นจะเป็นที่มาของคำว่า “ประกอบโรคศิสป์” นั่นเอง
หากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ไม่มีการประกอบโรคศิลป์ที่ดีพอ จะเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยซึ่งจะสร้างความยุ่งยากในการทำงานเป็นอย่างมาก อันเป็นผลให้เกิดการฟ้องร้องเพื่อให้แพทย์แสดงความรับผิดชอบทางกฎหมายตามมาในที่สุด





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow