การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
การประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีหลายประเภท เช่น
1. การประกันภัยโจรกรรม (BURGLARY INSURANCE)
การประกันภัยโจรกรรม เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในสถานที่เอาประกันภัย เช่น บ้านอยู่อาศัย สำนักงาน โรงงาน ร้านค้า โกดัง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการถูกลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์
ความคุ้มครอง
1) ความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจากความคุ้มครอง แบ่งเป็น 3 แบบ
2) ความเสียหายต่อตัวอาคารซึ่งเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวอาคาร อันเกิดจากการกระทำซึ่งได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1) ดังกล่าวข้างต้น
ข้อยกเว้น
การประกันภัยในหมวดนี้ไม่คุ้มครอง
1) ความสูญเสียหรือความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามที่ระบุไว้ในหน้าตาราง
2) ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากหรือสืบเนื่องจากสงคราม (ไม่ว่าจะประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การนัดหยุดงาน การจลาจล การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏการปฏิวัติ การยึดทรัพย์โดยคำสั่งของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
3) ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย หรือระเบิด ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เว้นแต่ความสูญเสียหรือเสียหายจากระเบิด อันเป็นผลมาจากการเข้าไปในสถานที่เอาประกันภัยโดยการใช้วัตถุระเบิด และมีเจตนาเพื่อที่จะทำการลักทรัพย์ หรือชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์
4) ความเสียหายของกระจกหรือสิ่งประดับบนกระจกหรือข้อความบนกระจก
5) ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการกระทำหรือการมีส่วนร่วมโดยบุคคลใด ซึ่งอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายในสถานที่ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย หรือเกิดจากการกระทำโดยผู้เอาประกันภัยหรือหุ้นส่วนของผู้เอาประกันภัย หรือกรรมการ หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเองโดยลำพัง หรือสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่น
6) ความสูญเสียหรือความเสียหายของเงิน ทอง อัญมณี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เหรียญ ต้นฉบับเอกสาร โฉนด แบบแปลน แผนผัง ภาพเขียน รูปออกแบบ ลวดลาย แบบหรือแบบพิมพ์ หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญต่างๆ ไปรษณียากร อากรแสตมป์ เงินตรา ธนบัตร บัตรเครดิต บัตรธนาคาร เช็ค สมุดบัญชี หรือสมุดหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจใด ๆ เว้นแต่ระบุให้รวมอยู่ในการประกันภัยนี้โดยชัดแจ้ง
7) ความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สถานที่ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยถูกทอดทิ้ง โดยไม่มีผู้อาศัย หรือไม่มีผู้ดูแลรักษา เป็นเวลาเกินกว่า 7 วันติดต่อกัน
8) ความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า เจตนาข้อยกเว้นนี้ เพื่อยกเว้นภัยเนื่องจากการขาดหายของสินค้าโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยต้องจัดทำบัญชีรายละเอียดของสต๊อกสินค้าที่เอาประกันภัย เพื่อที่บริษัทสามารถตรวจสอบได้ในกรณีที่เกิดความสูญเสียหรือความเสียหาย
วิธีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และการจำกัดความรับผิดของบริษัท
2.1) ซ่อมแซมความเสียหายที่แท้จริง หรือ
2.2) จัดหาทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกันมาทดแทน
2.3) จ่ายเป็นเงินตามมูลค่าที่แท้จริง (ไม่รวมกำไร) ของทรัพย์สินนั้น ขณะที่เกิดความสูญเสียหรือความเสียหาย
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการประกันภัยโจรกรรม แยกได้เป็น 3 แบบ
1. การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยเต็มมูลค่า (Full Value) หรือกำหนดตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน บริษัทจะชดใช้ตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หักด้วยค่าเสื่อม ณ เวลาที่เกิดความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยต้องรับภาระส่วนเฉลี่ยความสูญเสียหรือความเสียหายไปตามส่วนทุก ๆ รายการ และหากมีมากกว่าหนึ่งรายการให้แยกพิจารณาเป็นแต่ละรายการ (นำหลักการเฉลี่ยค่าเสียหายมาใช้ )
2. การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าเต็ม (First Loss) เป็นการกำหนดจำนวนเงินประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น และบริษัทผู้รับประกันภัย จะจ่ายสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย กรณีนี้ผู้รับประกันภัยจะไม่นำหลักการเฉลี่ยค่าเสียหายมาใช้
3. การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยแบบกำหนดมูลค่า (Agreed Value) เป็นการกำหนดจำนวนเงินประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยตกลงล่วงหน้าว่า จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย คือ มูลค่าของทรัพย์สินทีเอาประกันภัยในกรณีที่เกิดความเสียหายสิ้นเชิง มักใช้ในกรณีทรัพย์สินบางประเภทที่ประเมินมูลค่ายาก ไม่มีสามารถกำหนดราคาที่แน่นอนได้ เช่น เพชรพลอย โบราณวัตถุ ฯลฯ
อัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยโจรกรรม (ต่อปี)
1. การประกันภัยแบบเต็มมูลค่า (Full Value Basis)
0.10% – 6.0%
2. การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าเต็ม (First Loss) เป็นการกำหนดจำนวนเงินประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น และบริษัทผู้รับประกันภัย จะจ่ายสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย กรณีนี้ผู้รับประกันภัยจะไม่นำหลักการเฉลี่ยค่าเสียหายมาใช้
ก. คำนวณจากจำนวนเงินเอาประกันภัย (First Loss Sum Insured)
0.20% – 8.0%
ข. คำนวณจากมูลค่าเต็ม(Full Value Sum Insured)
0.05% – 4.0%
2. การประกันภัยสำหรับเงิน (MONEY INSURANCE)
การประกันภัยสำหรับเงินเป็นการประกันภัยเบ็ดเตล็ดแบบหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินให้กับผู้เอาประกันภัย เป็นการประกันภัยที่ให้คุ้มครองความสูญเสียของเงินอันเกิดจากการโจรกรรม การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ หรือความพยายามกระทำการดังกล่าว ไม่ว่าเงินนั้นจะเก็บอยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัย ในตู้นิรภัย หรือในห้องนิรภัย หรือภายนอกสถานที่เอาประกันภัย ขณะอยู่ในระหว่างการขนส่งจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง
ข้อตกลงคุ้มครอง
เงินและทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเงิน แบ่งออกเป็น 5 ข้อ ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อตามความต้องการของตนเองได้ ดังนี้
1) การสูญเสียของเงิน เพื่อจ่ายค่าจ้าง และ/หรือเงินเดือน
2) ความสูญเสียของเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย
3) ความสูญเสียของเงินภายในตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย
4) ความสูญเสียของเงินภายนอกสถานที่เอาประกันภัย
5) ความเสียหายต่อตู้นิรภัย หรือห้องนิรภัย
การประกันภัยสำหรับเงิน แบ่งตามประเภทความคุ้มครองออกเป็น 3 แบบ
1. แบบ ปง.1 ให้ความคุ้มครองความสูญเสียของเงินอันเกิดจากการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมทั้งการพยายามกระทำการดังกล่าว
2. แบบ ปง.2 ให้ความคุ้มครองความสูญเสียของเงินอันเกิดจากภัยทุกชนิดที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในข้อยกเว้น รวมถึงความเสียหายจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ อัคคีภัย ภัยธรรมชาติ เป็นต้น
3. แบบ ปง.3 ให้ความคุ้มครองความสูญเสียของเงินอันเกิดจากภัยทุกชนิดที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในข้อยกเว้นเช่นเดียวกับ ปง.2 และยังขยายรวมถึงการฉ้อโกงหรือยักยอกโดยพนักงานรับส่งเงิน หรือผู้รักษาเงิน ซึ่งค้นพบภายใน 3 วันทำงานด้วย
ข้อยกเว้น
สำหรับข้อยกเว้นแบบ ปง.1 และ ปง.2 จะเหมือนกัน ส่วนข้อยกเว้นในแบบ ปง.3 จะแตกต่างออกไปเล็กน้อย เนื่องจากแบบ ปง.3 จะมีการขยายความคุ้มครองรวมถึงการฉ้อโกง และยักยอกของพนักงานรับส่งเงิน และพนักงานรักษาเงิน
ข้อยกเว้นในข้อตกลงคุ้มครองแบบ ปง.1 และ ปง.2 มีอยู่ 5 ข้อดังนี้
1. การฉ้อโกงหรือยักยอก การกระทำผิดต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาโดยผู้เอาประกันภัย กรรมการหรือหุ้นส่วนของผู้เอาประกันภัย หรือพนักงานของผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเองโดยลำพังหรือสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่น
2. การสูญหายของเอกสารต้นฉบับ สมุดบัญชี หรือรายงานตัวเลข
3. การปลอมแปลงเอกสาร การทอนเงินผิด การผิดพลาด หรือละเลยในการทำบัญชีหรือการคำนวณ
4. สงคราม (ไม่ว่าจะเป็นมีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การนัดหยุดงาน การจลาจล การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดทรัพย์ โดยคำสั่งของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
5. อาวุธนิวเคลียร์ การแผ่รังสี หรือการแพร่กัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือจากนิวเคลียร์ใดๆ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
สำหรับข้อยกเว้นแบบ ปง.3 แตกต่างกับข้อยกเว้นแบบ ปง.1 และ ปง.2 ในข้อ 1 เรื่องการกระทำของพนักงานของผู้เอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีก 1 ข้อ คือ ยกเว้นความสูญเสียที่มีการประกันความซื่อสัตย์ไว้ ส่วนข้อยกเว้นอื่นๆ เหมือนกัน ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องจัดทำและเก็บรักษารายละเอียดของเงินที่เอาประกันเพื่อที่บริษัทสามารถตรวจสอบได้ในกรณีที่เกิดการสูญเสีย
3. การประกันภัยป้ายโฆษณา
การติดตั้งป้ายโฆษณาบนอาคารสูง ป้ายโฆษณาบริเวณทางแยกที่มีขนาดใหญ่ บางป้ายโฆษณาอาจเป็นไฟนีออน เมื่อมีลมพายุป้ายอาจล้มหรือพังลงมาทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือเกิดความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอก
การประกันภัยป้ายโฆษณา เป็นการประกันภัยที่เข้ามารองรับความเสี่ยงต่อความเสียหายของตัวป้ายโฆษณา และให้ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกที่อาจได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินจากป้ายโฆษณานั้น
ความคุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันภัยป้ายโฆษณา ให้ความคุ้มครองแยกเป็น 2 หมวด คือ
หมวด 1 ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อป้ายโฆษณา
หมวด 2 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
หมวด 1 ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อป้ายโฆษณา
การประกันภัยนี้จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายใด ๆ ต่อป้ายโฆษณา หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของป้ายโฆษณาอันเกิดจาก
1) อุบัติเหตุซึ่งเกิดจากเหตุภายนอก โดยคำว่า “อุบัติเหตุ” ให้รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
2) อัคคีภัย ฟ้าผ่า ภัยระเบิด หรือลักทรัพย์
ข้อยกเว้น หมวด 1
การประกันภัยนี้จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ ถ้าความเสียหายดังกล่าวเกิดจาก
1. การละลาย การไหม้ของหลอดไฟหรือท่อ ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือการเสียหายของเครื่องยนต์กลไก หรือความบกพร่องของไฟฟ้า หรือเครื่องจักรกล
2. การซ่อมแซม การทำความสะอาด การเคลื่อนย้ายหรือการติดตั้ง ความสึกหรอ การเสื่อมสภาพ การเสื่อมราคา
3. ความเสียหายแก่หลอดไฟ เว้นแต่หลอดไฟถูกกระทบแตก
4. การใช้งานมากเกินขนาด ใช้ความร้อนสูงเกินขนาด หรือเร่งเครื่องเกินกำลัง
5. ความเสียหายเกิดจากสภาพของบรรยากาศ
หมวด 2 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
การประกันภัยนี้ จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกสำหรับจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมาย อันเนื่องมาจาก
1) ความบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตอันเกิดแก่บุคคลภายนอก (มิใช่บุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง) และเป็นผลมาจากอุบัติเหตุซึ่งเกิดจากป้ายโฆษณา
2) ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก (อันมิใช่เป็นทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย หรือผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง หรือเป็นของบุคคลซึ่งทำให้กับผู้เอาประกันภัย)
ความรับผิดในหมวดนี้ให้รวมถึงความเสียหายใดๆ จากการติดตั้ง
ข้อยกเว้น หมวด 2 การประกันภัยภายใต้หมวดนี้ ไม่คุ้มครอง
1. ความรับผิดตามสัญญา
ข้อยกเว้นทั่วไป สำหรับหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 การประกันภัยนี้ไม่รับผิดในความเสียหายดังต่อไปนี้
1. ความเสียหายต่อเนื่องไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม
2. ความสูญเสียหรือเสียหาย เกิดจากหรือสืบเนื่องมาจาก
2.1 น้ำท่วม ไต้ฝุ่น เฮอริเคน ทอร์นาโด ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงอื่น
2.2 ภัยสงคราม (ไม่ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การกระทำที่มุ่งร้ายคล้ายสงคราม
2.3 การนัดหยุดงาน การจลาจล การปฏิวัติ การกบฏ หรือการที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
3. ความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ อันเกิดจาก หรือสืบเนื่องมาจาก การแผ่กัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือจากกากนิวเคลียร์ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และจากกรรมวิธีใดๆ เป็นการแตกแยกตัวนิวเคลียร์ ซึ่งดำเนินติดต่อไปด้วยตัวเอง
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยและจำนวนเงินจำกัดความรับผิด
การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย กำหนดจากจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยสามารถจัดสร้างป้ายขึ้นมาได้ ซึ่งประกอบด้วยราคาของวัสดุที่จัดทำป้าย, ค่าแรง, ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการติดตั้ง
อัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยป้ายโฆษณา (ต่อปี)
การพิจารณากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับลักษณะของความเสี่ยงภัยของป้ายโฆษณา เช่น อัตราเบี้ยประกันภัยป้ายโฆษณาที่ติดตั้งบนอาคารสูง จะสูงกว่า ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรืออัตราเบี้ยประกันภัยป้ายโฆษณาป้ายที่ทำด้วยสังกะสีหรืออลูมิเนียม จะสูงกว่าโครงป้ายโฆษณาทำด้วยเหล็กหรือโลหะอื่นๆ ที่มั่นคง เป็นต้น
4. กรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด (ALL RISKS INSURANCE POLICY)
กรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดคืออะไร
การประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทหนึ่ง ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เป็นต้น อันเกิดจากอุบัติเหตุอันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย
ข้อตกลงคุ้มครอง
คุ้มครองความสูญเสียหรือ เสียหาย ของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย โดยเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่มิได้คาดหมายใดๆ ในขณะที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ภายในบริเวณที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งนี้บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยชำระเป็นเงิน หรือโดยซ่อมแซมหรือเปลี่ยนให้ใหม่โดยความเห็นชอบจากบริษัท
ข้อยกเว้น
การประกันภัยดังกล่าวข้างบนจะไม่รวมถึง หรือมีผลบังคับในกรณี
1. เหตุการณ์ที่เกิดจากสงคราม การรุกกราน การกระทำของศัตรูต่างประเทศ หรือการสู้รบเป็นปรปักษ์ (ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การจลาจล การปฏิบัติ การกบฎ การแข็งเมืองการใช้กำลังทหาร หรือการแย่งชิงอำนาจ
2. ภัยจากภายนอกประเทศไทย เหตุการณ์ที่เกิดจากการนัดหยุดงาน การจลาจล การลุกฮือของพลเรือน
3. การสุญเสีย หรือเสียหายซึ่งเกิดจากการหน่วงเหนี่ยว, ริบ, ทำลาย, หรือยึดเอาของศุลกากร หรือเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ๆ หรือผู้มีอำนาจ
4. ทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมใน
4.1 รถทัศนาจร หรือรถที่มีหลังคาเปิดปิดได้ ซึ่งทิ้งไว้โดยมีไม่คนอยู่
4.2 รถอื่น ๆ ที่ทิ้งไว้โดยไม่มีคนอยู่ โดยไม่มีปิดและลงกลอนหน้าต่างประตู กระโปรงหลัง หรือกูบรถ กระจกบังลม อย่างมั่นคง
5. การสูญเสีย หรือการเสียหายซึ่งเกิดจากการสึกหรอ เสื่อมสภาพ เสื่อมค่า แมลงกัดกิน ถูกสัตว์ทำลาย เกิดจากกรรมวิธีใด ๆ ของการทำความสะอาด ซักล้าง การบูรณะซ่อมแซม หรือปฏิกิริยาของแสง บรรยากาศหรือสภาพดินฟ้าอากาศ (นอกจากฟ้าผ่า)
6. การสูญเสีย หรือความเสียหายซึ่งเกิดจากการเสื่อมเสียทางเครื่องยนต์ หรือไฟฟ้า
7. การแตกหักของกระจก แก้ว หรือวัตถุที่เปราะ หรือแตกหักง่าย ซึ่งไม่ได้เกิดจากอัคคีภัย หรือโจรกรรม
ข้อจำกัดความรับผิดชอบของบริษัท ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ภายในระยะเวลาของการประกันภัยจะไม่เกิน
(1) จำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินแต่ละรายการตามที่ได้ระบุไว้ในตารางสำหรับรายการนั้น
(2) มูลค่าของชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน หรือชุดขอบทรัพย์สินเฉพาะชิ้นส่วนที่เสียหายหรือคู่ หรือชุด ของทรัพย์สินที่เสียหายเท่านั้น ในกรณีที่เกิดการเสียหายของชิ้นส่วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน หรือคู่ หรือชุดของทรัพย์สินใด ๆ แต่ไม่เกิดอัตราส่วนของจำนวนเงินเอาประกันของทั้งชุด หรือทั้งคู่
(3) จำนวนเงินเอาประกันทั้งหมด ในกรณีที่เกิดการสุญเสีย หรือเสียหายทั้งหมด
ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันของทรัพย์สินใด ๆ ในขณะที่เกิดการสูญเสีย หรือเสียหายน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น จะถือว่าผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบเองในส่วนที่แตกต่างนั้น และจะต้องรับผิดชอบตามอัตราของการสูญเสีย หรือเสียหายนั้น
5. การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks Insurance)
ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินได้กำหนดใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัท โดยได้แปลมาจากกรมธรรม์ประกันภัย Accidental Damage (property) Insurance (ABI FORM ) โดยได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขบางประเด็นที่เห็นว่าควรปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายในประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัยเพิ่มมากขึ้น กรมธรรม์ประกันภัยนี้ใช้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เห็นว่าการทำประกันอัคคีภัยซึ่งเป็นความคุ้มครองแบบระบุภัยยังไม่เพียงพอกับความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของตนได้
ความคุ้มครอง
การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ เวลาที่เกิดการสูญเสีย ความสูญเสียหรือความเสียหาย หรือตามจำนวนที่เสียหายจริง หรือทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนให้ใหม่สำหรรัยการสูญหาย หรือความเสียหายทางกายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยอุบัติภัยใด ๆ ที่มิได้ระยุยกเว้นไว้ ซึ่งเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเอาประกันภัย
จากความคุ้มครองที่กำหนดไว้ แยกการสูญหายหรือความเสียหายของทรัพย์สินออกเป็น 3 ประเด็นคือ
1. ต้องเป็นความเสียหายทางกายภาพ (Physical loss or damage)
2. ต้องเป็นอุบัติภัย (Accidental) ที่มิได้ระยะยกเว้นไว้ในข้อยกเว้น
3. ต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาประกันภัย
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ต้องระบุจำนวนเงินเอาประกันภัยแยกไว้ตามรายการแต่ละรายการ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมที่ระบุในตารางกรมธรรม์
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้แก่ อาคาร เครื่องจักร สต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
การกำหนดความรับผิดส่วนแรก (Deductible)
เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะให้ความคุ้มครองกว้าง ดังนั้น โอกาสในการเรียกร้องค่าสินไหมย่อมมีมากตามไปด้วย บริษัทประกันภัยจึงมีการกำหนด ให้มี “ความรับผิดส่วนแรก” กล่าวคือ ให้ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบในจำนวนเงินส่วนแรกของค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น และบริษัทรับผิดชอบในส่วนที่เกินจากการรับผิดส่วนแรกของผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยเพิ่มความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งการกำหนดความรับผิดส่วนแรกย่อมมีผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยลดลง
สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
เนื่องจากความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยนี้มีความคุ้มครองลักษณะกว้างดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงควรศึกษาข้อยกเว้นที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
1) ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1.1) ความผิดพลาดหรือความบกพร่องในการออกแบบ การใช้วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน
1.2) การเสื่อมสภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
1.3) การหยุดชะงักของระบบการจ่ายน้ำ ก๊าซ กระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิง ระบบการกำจัดของเสีย
1.4) การพังทลายหรือการแตกร้าวของอาคาร
1.5) การกัดกร่อนหรือการผุกร่อน สนิม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น ความแห้ง การบูดเน่าขึ้นรา หดตัว ระเหย สูญเสียน้ำหนัก มลภาวะ การปนเปื้อน การเปลี่ยนสี รส กลิ่น การกัดแทะของแมลงหรือสัตว์
1.6) การลักทรัพย์ เว้นแต่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังอย่างรุนแรงทำให้เกิดร่องรอยความเสียหายต่อตัวอาคาร
1.7) การฉ้อโกงหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้เอาประกันภัย
1.8) การสูญเสีย หรือการขาดหายโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งพบเมื่อตรวจสอบ
1.9) การร้าว แตก ยุบแฟบ ของหม้อกำเนินไอน้ำ ถังอัดความดัน
1.10) การชำรุดเสียหายหรือขัดข้องของระบบกลไกหรือระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร
1.11) การเอ่อล้น การปล่อย การรั่ว การแตกของถังเก็บน้ำ หรืออุปกรณ์ หรือท่อในขณะที่สถานที่นั้นถูกทิ้งร้างไม่ใช้งาน
1.12) การพังทลาย การเซาะของชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำลำคลอง
1.13) การยุบตัว การโก่งตัว หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน
1.14) การทรุดตัวตามปกติของสิ่งปลูกสร้าง
1.15) ลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทรายหรือฝุ่น ซึ่งทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่อยู่กลางแจ้งหรือเก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรือต่อรั้ง ประตูรั้ว
1.16) การแข็งตัวจากความเย็น หรือการแข็งตัว หรือการรั่วไหลของวัตถุหลอมละลาย
2) ความเสียหายอันมีสาเหตุมาจาก
2.1) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย
2.2) การหยุดทำงาน การล่าช้า การสูญเสียตลาด หรือความเสียหายต่อเนื่อง
3) ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้
3.1) สงคราม การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม สงครามการเมือง
3.2) การก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจ การปกครองโดยทหาร
3.3) การก่อการร้าย โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อการร้ายเพื่อผลทางการเมืองและสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชน ข้อยกเว้นนี้ ไม่ใช้บังคับกรณีความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย
3.4) การสูญเสียการครอบครองเนื่องจากการถูกยึดทรัพย์ การโอนทรัพย์สินเป็นขอรัฐ การเวนคืนการเรียกเอาโดยคำสั่งโดยชอบตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่
3.5) การสูญเสียการครอบครองอาคารจากการเข้าครอบครองที่มีชอบด้วยกฎหมาย
3.6) การทำลายทรัพย์สินโดยคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย
4) ความเสียหายอันสืบเนืองจาก
4.1) อาวุธนิวเคลียร์
4.2) ปฏิกิริยานิวเคลียร์ กัมมันตภาพรังสี การตกตัวของประจุ การแผ่รังสี
5) การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้
5.1) เงินตรา เช็ค แสตมป์ พันธบัตร บัตรเครดิต หลักทรัพย์ เพชรพลอย อัญมณี โลหะมีค่า ทอง ขนสัตว์ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุหายาก เว้นแต่ระบุไว้ให้คุ้มครอง
5.2) กระจก หรือกระจกที่ติดตั้งถาวร
5.3) เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบดินเผา หินอ่อน หรือวัตถุอื่นที่เปราะหรือแตกง่าย
5.4) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล
ข้อยกเว้น 1-4 จะไม่นำมาบังคับสำหรับความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด อากาศยาน จลาจล นัดหยุดงาน การกระทำด้วยเจตนาร้าย ภัยยานพาหนะหรือสัตว์ ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากน้ำ
5.5) ทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของผู้เอาประกันภัย
5.6) ยานพาหนะที่จดทะเบียนสำหรับใช้บนถนน
5.7) ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขนส่ง ซึ่งมิใช่เป็นการเคลื่อนย้ายภายในสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ระบุในตารางกรมธรรม์ฯ
5.8) ทรัพย์สินหือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอน การก่อสร้างหรือการติดตั้งรวมทั้งวัตถุหรือวัสดุที่เกี่ยวข้องนั้น
5.9) ที่ดิน ทางสัญจร ทางเท้า ถนน ลานบิน รางรถไฟ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ คลอง บ่อน้ำ ท่อส่ง อุโมงค์ สะพาน อู่เรือ ท่าจอดเรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในเหมือง ใต้ดิน หรืออยู่นอกชายฝั่ง
5.10) ปศุสัตว์ พืชไร่ หรือต้นไม้
5.11) ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการผลิต
5.12) เครื่องจักรในระหว่างการติดตั้ง การเคลื่อนย้าย หรือการเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้ง
5.13) ทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซ่อมแซม ทดลอง การติดตั้งซ่อมบำรุงแต่ยังคงคุ้มครองต่อความเสียหายตามมาหากความเสียหายนั้นเกิดจากภัยที่ได้รับความคุ้มครอง
5.14) ทรัพย์สินที่ได้มีการเอาประกันภัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
5.15) ทรัพย์สินที่เสียหายที่สามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ฯ ทางทะเลและขนส่ง เว้นแต่ความเสียหายส่วนเกินซึ่งไม่ได้รับจากกรมธรรม์ฯ ทางทะเลและขนส่ง
5.16) ความเสียหายของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง กังหันไอน้ำ เครื่องจักรอุปกรณ์ อันเกิดจากการระเบิด หรือแตกร้าวของตัวเอง
6. การประกันภัยกระจก
การประกันภัยกระจก เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจก อันเกิดจากสาเหตุใด ๆ ที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ความคุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองเฉพาะกระจก ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรเพื่อนำสิ่งอื่นมาปิดไว้ในระหว่างที่ยังไม่ได้นำกระจกมาใส่แทน ความรับผิดของบริษัทจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยบริษัทอาจจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือหากระจกอื่นมาทดแทน ถ้าบริษัทตกลงหากระจกอื่นมาทดแทน ผู้เอาประกันภัยต้องคัดแปลง ถอดออก หรือซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมซึ่งเครื่องประกอบหน้าต่าง ๆ ขอบหน้าต่าง สิ่งตรึงตรา กรอบหน้าต่าง กระเบื้อง และวัตถุอื่นทำนองเดียวกันซึ่งจำเป็นต้องคัดแปลงหรือถอดออกก่อนที่จะเอากระจกใหม่มาใส่ได้ ผู้เอาประกันภัยต้องออกค่าใช้จ่ายในการนี้ด้วย
ข้อยกเว้น การประกันภัยกระจกไม่คุ้มครองภัยต่อไปนี้
1. การเสียหายอันเป็นผลต่อเนื่องจากการที่กระจกแตก เช่น ตู้กระจกแตก เศษกระจกหล่นลงบนขนมเค้กที่อยู่ในตู้ ทำให้ขนมเค้กทั้งหมดเสียหาย เช่นนี้ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะตู้กระจกเท่านั้น การประกันภัยนี้ไม่จ่ายความเสียหายที่มีต่อขนมเค้ก หรือกระจกด้านหน้าของร้านค้าแตก ต้องสร้างที่กำบังชั่วคราว การค้าไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้ ร้านค้าขาดร้ายได้ การประกันภัยกระจกจ่ายเฉพาะกระจก ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและค่าสร้างที่กำบังชั่วคราว แต่ไม่คุ้มครองถึงความเสียหายต่อเนื่อง ในกรณีนี้คือการขาดรายได้
2. การแตกหักหรือการเสียหายเกิดขึ้นโดยหรือเป็นผลต่อเนื่องจาการเกิดอัคคีภัย หรือภัยอื่นใดซึ่งคุ้มครองโดยหรืออาจซื้อความคุ้มครองได้จากกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยมาตรฐาน จากข้อยกเว้นนี้ภัยต่าง ๆ ที่กรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยให้ความคุ้มครอง คือ อัคคีภัย ฟ้าผ่า การระเบิดของแก๊สหุงต้มที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน กระจกที่เสียหายจากภัยดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยกระจก รวมทั้งภัยอื่นใดที่อาจซื้อความคุ้มครองได้จากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน เช่น ลมพายุ แผ่นดินไหว ภัยจากควัน ภัยน้ำท่วม ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยทางอากาศ ภัยจลาจลและนัดหยุดงานภัยเนื่องจากป่าเถื่อนและการกระทำด้วยเจตนาร้าย เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทมีความคุ้มครองเพื่อความเสียหายเฉพาะ จะไม่มีการประกันภัยที่ซ้ำซ้อนกัน และไม่มีการประกันภัยใดที่ให้ความคุ้มครองวินาศภัยได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นความเสียหายต่อกระจกที่ให้ความคุ้มครองได้ในกรมธรรมอัคคีภัย จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยกระจก
3. การแตกหักหรือการเสียหายต่อสิ่งที่เขียนบนกระจก หรือสิ่งประดับใดซึ่งติดไว้บนกระจก เว้นแต่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์และการเสียหายนั้นต้องเป็นผลจากการแตกของกระจกตามปกติ กระจกที่การประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครอง หมายถึงกระจกแผ่นเรียบคุณภาพขัดมันปกติ ถ้าเป็นกระจกพิเศษ เช่น กระจกกันกระสุน กระจกกรองแสง กระจก one way กระจกที่มีการแกะสลัก หรือกระจกที่มีตัวอักษรหรือมีลวดลายต่าง ๆ เป็นต้นกระจกเหล่านี้ราคาสูงกว่ากระจกธรรมดาทั่วไป ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องการประกันภัยกระจกพิเศษเหล่านี้ ต้องแจ้งให้บริษัททราบและระบุทั้งราคาและลักษณะกระจกไว้ในกรมธรรม์ให้ชัดเจน มิฉะนั้นอาจเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยได้เมื่อกระจกเสียหายและผู้เอาประกันภัยได้รับกระจกแผ่นเรียบคุณภาพขัดมันปกติไปแทนกระจกพิเศษ
4. ค่าใช่จ่ายในการเคลื่อนย้ายสิ่งติดตั้งตรึงตรา หมายถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นซึ่งใช้ในการย้ายเคลื่อนสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การเปลี่ยนกระจำที่แตก เช่น ค่าใช้จ่ายในการตัดโครงเหล็กที่ปิดเพื่อให้สามารถติดตั้งกระจกแทนกระจกบานที่แตกเป็นต้น
5. การแตกหักหรือเสียหายของโครงกระจก การประกันภัยกระจก ให้ความคุ้มครองเฉพาะกระจกไม่รวมถึงโครงกระจก หากผู้ประกันภัยต้องการให้คุ้มครองโครงกระจกด้วย บริษัทประกันภัยอาจขยายความคุ้มครองส่วนนี้ให้โดยผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยเพิ่ม
6. การแตกหักหรือเสียหายเนื่องจากภัยสงคราม, ศัตรูต่างชาติ (ไม่ว่าสงครามจะประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การกบฏการปฏิวัติ ภัยสงครามฯ ข้อยกเว้นนี้เป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท เนื่องจากเป็นภัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทประกันภัย ผู้เอาประกันภัย บุคคลหรือหน่วยงานทั่วไป เป็นภัยทางการเมือง ดังนั้น กระจกที่ประกันภัยไว้เสียหายเนื่องจากภัยสงครามจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยกระจก
อัตราเบี้ยประกันภัยกระจก 3%-25% (ต่อปี)
7. การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก หรือ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน เป็นการประกันภัยที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเจ้าของกิจการหรือสถานประกอบการ เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น โดยที่ความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย ต้องเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุภายในสถานที่ประกอบการ หรือเกิดขึ้นจากสถานที่ประกอบการของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งทำงานประจำ ณ สถานประกอบการ ในขณะที่ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ประกอบการ
ข้อตกลงคุ้มครอง
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยให้แก่บุคคลภายนอกที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับ
1. จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่จะชดใช้เป็นค่าเสียหายสำหรับ
1.1 การเสียชีวิตหรือความบาดเจ็บต่อร่างกายหรือความเจ็บป่วยของบุคคลใดๆนอกจาก
1.1.1 ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ในระหว่างทางการที่จ้าง หรือบุคคลผู้ซึ่งในขณะเกิดอุบัติเหตุอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานให้ผู้เอาประกันภัยภายใต้สัญญาว่าจ้างหรือการ ฝึกงาน
1.1.2 บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกิจการของผู้เอาประกันภัยดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
1.2 ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆนอกจาก
1.2.1 ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของหรือครอบครอง หรืออยู่ในความดูแลหรือควบคุม หรือกำลังใช้ หรือกำลังปฏิบัติงานโดยผู้เอาประกันภัย
1.2.2 ทรัพย์สินที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย ดูแล ควบคุม กำลังใช้ หรือกำลังปฏิบัติงาน เพื่อผู้เอาประกันภัยในระหว่างทางการที่จ้าง
ความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ต้องเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุอันเกี่ยวกับกิจการหรือ
ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัยที่เอาประกันภัยไว้ และเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ณ อาณาเขตการคุ้มครอง ซึ่งระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า
2. จำนวนเงินอันเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ประกันภัยฉบับนี้สำหรับ
2.1 ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้ให้กับ ผู้เรียกร้อง
2.2 ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปด้วยความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร จากบริษัท
ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เอาประกันภัย ภายใต้บังคับเงื่อนไข ความคุ้มครอง ข้อยกเว้น และเอกสารแนบท้ายแห่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้ สำหรับความรับผิดซึ่งผู้เอาประกันภัยก่อไว้ แต่ผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องปฏิบัติครบถ้วนตาม และอยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาประกันภัยนี้เท่าที่จะใช้บังคับได้เสมือนว่าตนเป็นผู้เอาประกันภัย
ข้อยกเว้นการประกันภัยในหมวดนี้ไม่คุ้มครอง
1. ความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเองตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย
2. ความรับผิดใดๆที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาหรือขบวนการยุติธรรม ซึ่งมิใช่ศาลไทยหรือที่เกิดขึ้น หรือสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลไทย เพื่อบังคับคดีให้ตัดสินนอกอาณาเขตราชอาณาจักรไทย
3. ความรับผิดซึ่งเกิดจากการเป็นเจ้าของ การครอบครอง การดูแล การควบคุม การใช้ หรือการให้สัญญาหรือการชี้แนะโดยผู้เอาประกันภัย หรือในนามของผู้เอาประกันภัยสำหรับยานพาหนะทุกชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ (รวมทั้งเครื่องจักรหรือยานใดๆที่ดันหรือลากโดยเครื่องยนต์)
4. ความรับผิดใดๆซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจาก
4.1 การที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือใช้ หรือบำรุงรักษา เครื่องชักรอก ปั้นจั่น บันไดเลื่อน หม้อน้ำที่ใช้กำลังไอน้ำ หรือภาชนะอัดความดันไอน้ำ ท่าเทียบเรือ สะพานเทียบเรือ
4.2 งานก่อสร้าง งานต่อเติม หรือรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ
4.3 สินค้าหรือสิ่งของใดๆซึ่งผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ หรือดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัยหรือผู้กระทำการแทนผู้เอาประกันภัย
5. ความรับผิดใดๆอันเกิดจากหรือสืบเนื่องจากหรือเป็นผลมาจาก แผ่นดินทรุด หรือการเคลื่อนย้ายสิ่งค้ำจุนหรือทำให้สิ่งค้ำจุนอ่อนกำลังลง
6. ความรับผิดซึ่งเกิดจากสัญญาที่ผู้เอาประกันภัยทำขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาดังกล่าว ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยจะไม่ เกิดขึ้น
7. ความรับผิด ซึ่งเกิดจาก
7.1 คำแนะนำหรือบริการทางเทคนิคหรือวิชาชีพใดๆ โดยผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ทำแทนผู้เอาประกันภัย
7.2 การที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ทำแทนผู้เอาประกันภัยในการรักษา เว้นแต่การปฐมพยาบาล
8. การปรับทางแพ่ง อาญา หรือโดยสัญญา
9. ความรับผิดไม่ว่าลักษณะใดๆ อันเกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องมาจาก หรือเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อม
หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอย่างไร
การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย นั่นหมายถึง บริษัทประกันภัยสามารถที่จะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายได้โดยตรง แม้ว่าบริษัทประกันภัยจะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้เสียหายก็ตาม
2. สาเหตุที่เกิดความรับผิดซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกนั้น จะต้องเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่ได้คาดคิดมาก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเจตนา แต่เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย
3. บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย หรือบุคคลภายนอกเฉพาะจำนวนเงินที่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นความรับผิดอย่างอื่นที่ไม่มีกฎหมายรองรับ บริษัทประกันภัยก็ไม่มีความผูกพันจะต้องจ่ายา
4. บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่ใช่เป็นบุคคลใน ครอบครัว หรือบุคคลที่อยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกิจการของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ในระหว่างทางการที่จ้าง หรือบุคคลผู้ซึ่งในขณะเกิดอุบัติเหตุอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานให้ผู้เอาประกันภัยภายใต้สัญญาว่าจ้างหรือการฝึกงาน
5. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือเรียกว่า“จำนวนเงินจำกัดความรับผิด”
เบี้ยประกันภัย
อัตราเบี้ยประกันภัยเป็นช่วง ระหว่าง 0.01% – 5.0% ต่อปี ของจำนวนเงินจำกัดความรับผิด เช่น จำนวนเงินจำกัดความรับผิด 100,000 บาทจะเสียเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 10 – 5,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละภัย