ความประมาทเลินเล่อ (negligence) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence)
ความประมาทเลินเล่อ (negligence)
การกระทำการใด ๆ โดยปราศจากความระมัดระวัง หรือละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ
ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence)
การกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับละเลย
ประมาท หมายถึง…
กิริยาที่กระทำลงโดยมิได้ตั้งใจจะให้เกิดผลเช่นนั้น แต่ได้กระทำการอย่างใดซึ่งคนธรรมดาจะไม่กระทำ หรือละเว้นกระทำการอย่างใดซึ่งคนธรรมดาจะกระทำ จนเกิดผลอันเนื่องจากการกระทำนั้น
ผู้ใดกระทำลงโดยความประมาท อาจจะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายก็ได้ ไม่อาจต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายก็ได้ เช่น …
ผู้ที่ขับรถโดยไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างธรรมดา ขับรถไปทับคนเข้า ผู้ขับจะต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าผู้ใดเดินหลับตาจะไปยังที่แห่งหนึ่ง แต่กลับเดินลงไปในคลอง ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น…
การประมาทที่จะใช้ได้ตามกฎหมายนั้น หมายถึง ผู้ใดมีหน้าที่ใช้ความระวังตามกฎหมาย ผู้นั้นไม่ใช้ความระวัง กลับกระทำผิดหน้าที่ กระทำให้ผู้อื่นต้องเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือใกล้ชิดกับเหตุ โดยที่ผู้กระทำมิได้ตั้งใจจะให้เกิดผลเช่นนั้น…”
คำว่า “ประมาทเลินเล่อ” เป็นคำที่ใช้ในทางกฎหมายแพ่ง ส่วนทางอาญาจะใช้ว่า “ประมาท” เฉยๆ
นอกจากนี้ยังมีความประมาทเลินเล่อที่แยกไปตามกฏหมายแต่ละประเภทอีกด้วย รวมถึงยังมีการพูดถึงกรณีประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ท่านได้ไว้อ่านเป็นความรู้เทียบเคียงกัน
อาจารย์ ดร.ชูชาติ อัศวโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ได้ให้ความหมายไว้อย่างเข้าใจได้ง่ายและสมบูรณ์แบบว่า
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติถึงคำประมาทเลินเล่อ มิได้บัญญัติถึงคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้ แต่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงคำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”
ดังนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกด้วยความประมาทเลินเล่อ (มิใช่กระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง) หน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น คำว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”
จึงมีความสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ ปัญหามีว่าอย่างไรเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
กรณีจะเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะต้องเป็นประมาทเลินเล่อเสียก่อนโดย
“จะเป็นส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจงใจกับประมาทเลินเล่อธรรมดา”
คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือกรมบัญชีกลางว่า…
การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดจะเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบทุกคน จนถึงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือศาล ส่วนอย่างไรเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไป
ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะมีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้หรือหากใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย ก็คงได้คาดเห็นการอาจเกิดความเสียหายนั้น เช่น…
คำพิพากษาฎีกาที่ 1788-1780/2518
กรณีโรงงานของจำเลย(กระทรวงการคลัง) เผาเศษปอ ทำให้มีควันดำปกคลุมถนนจนมองไม่เห็นทางข้างหน้าเป็นเหตุให้มีรถขับมาชนท้ายรถโจทก์ซึ่งจอดอยู่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ก็ปล่อยปละละเลยไม่เปลี่ยนวิธีการเผาเศษปอจนเป็นกรณีที่จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.10/2552
อธิบายถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ว่าหมายถึงการกระทำโดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2522
เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ไม่นำแผงมาปิดกั้นถนนในขณะที่ขบวนรถไฟจะแล่นผ่าน เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะอ้างว่าวันเกิดเหตุพนักงานรถไฟนัดหยุดงาน ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติงานให้ทันท่วงทีได้เป็นเหตุสุดวิสัยหาได้ไม่ การรถไฟฯ ต้องร่วมรับผิด
ดังนั้น ถ้าใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็ป้องกันความเสียหายได้แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวัง ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
การกระทำโดยจงใจ คือ การกระทำโดยรู้สำนึกถึงการกระทำของตนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ตาม
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายถึง การกระทำ โดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นและหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 10/2552)
วิสัย หมายถึง สภาพเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ เช่น การเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือชั้นผู้น้อย เป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา เป็นผู้ประกอบวิชาชีพหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่ง และหมายรวมถึงระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นั้นด้วย เป็นต้น
พฤติการณ์ หมายถึง เหตุภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมตัวผู้กระทำ ซึ่งอาจมีผลต่อระดับความระมัดระวังและทำให้การใช้ความระมัดระวังของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป
ในส่วนของสภาพเกี่ยวกับตัวผู้กระทำนั้น ต้องสมมติบุคคลขึ้นเปรียบเทียบ โดยบุคคลที่สมมตินั้นต้องมีสภาพร่างกายถืออย่างเดียวกับผู้กระทำ แต่สภาพทางจิตใจถือในระดับทั่วไปของบุคคลในสภาพร่างกายอย่างเดียวกัน ทั้งบุคคลที่สมมติจะต้องสมมติว่าอยู่ในพฤติการณ์ภายนอกเช่นเดียวกับผู้กระทำ ด้วย เมื่อเปรียบเทียบกัน ถ้าบุคคลที่สมมติขึ้นจะไม่กระทำโดยขาดความระมัดระวังเหมือนที่ผู้กระทำได้กระทำไปแล้ว ย่อมถือว่าผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ แต่ถ้าบุคคลที่สมมติจะกระทำเช่นเดียวกับที่ผู้กระทำได้กระทำไปแล้ว ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ
ตัวอย่างคำพิพากษาและคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
ภาวะขณะขับรถยนต์
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 10/2552
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้อย่างที่ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลเมือง) กล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีขับรถเร็วเกินกว่าที่แจ้งจริง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้แสดงให้เห็นว่า ในภาวะที่มีรถยนต์บรรทุกกระบะเร่งเครื่องแซงรถยนต์บรรทุกสิบล้อเข้ามาในช่องทางเดินรถของผู้ฟ้องคดีอย่างกะทันหันนั้น ผู้ฟ้องคดีอาจใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยอย่างไรก็อาจป้องกันมิให้รถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับเกิดความเสียหายได้ แต่ผู้ฟ้องคดีกลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย การอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีขับรถมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่แจ้งเพียงประการเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการละเมิดในครั้งนี้ เพราะข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีรถยนต์บรรทุกกระบะแซงรถยนต์บรรทุกสิบล้อเข้ามาในช่องทางเดินรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีในระยะกระชั้นชิดด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2510
จำเลยขับรถในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรน เพื่อนำคนประสบอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล การขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าว มิได้หมายความว่าจะขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิด แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น และต้องใช้ความระมัดระวังในฐานะที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นด้วย จำเลยขับรถใช้อาณัติสัญญาณไฟแดงกระพริบและเปิดไซเรนมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิด ซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบแล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควรตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่นๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่เด็กวิ่งตัดท้ายรถบรรทุกข้ามผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญ มิอาจคาดหมายได้และเกิดขึ้นโดยฉับพลัน เป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ เมื่อจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นนั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย
เมื่อมิใช่ผู้มีวิชาชีพด้านการเงิน การทุจริตที่เกิดขึ้นเหลือวิสัยที่จะดูแลเอาใจใส่
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 358 – 360/2549
หนังสือกระทรวงการคลังที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกรอกจำนวนเงินในฎีกาเบิกเงินจากคลังและในเช็ค เป็นการกำหนดวิธีการทำงานที่วางระเบียบแบบแผนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติราชการไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้บังคับทั่วไปแก่เจ้าหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งผู้มีหน้าที่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คต้องตรวจดูว่าการกรอกจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรในเช็คได้เขียนหรือพิมพ์ให้ชิดคำว่าบาทหรือไม่ และถ้ามีช่องว่างก็ให้ขีดเส้นเพื่อไม่ให้มีการเขียนเติมหรือให้วงเล็บล้อมกรอบทั้งตัวหน้าและตัวหลังก็ได้ โดยให้นำมาใช้กับเอกสารการเงินที่จะต้องปฏิบัติคล้ายคลึงหรือทำนองเดียวกัน ซึ่งใบถอนเงินถือเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิในตัวเงินเช่นเดียวกับฎีกาและเช็ค จึงต้องปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว แต่การมีผลใช้บังคับของหนังสือ ย่อมอยู่ที่ส่วนราชการนั้นได้รับแจ้งและได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทราบแล้วหรือไม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้ง อีกทั้งมิใช่ผู้มีวิชาชีพทางด้านการเงิน การจะให้ขวนขวายหรือคอยตรวจสอบระเบียบแบบแผนของทางราชการเอง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบราชการคงไม่เป็นธรรม และหนังสือดังกล่าวได้มีการแจ้งเวียนก่อนเกิดเหตุถึง 27 ปี จึงพ้นวิสัยที่วิญญูชนในฐานะเช่นผู้ฟ้องคดีจะพึงทราบและปฏิบัติได้ การลงลายมือชื่อโดยไม่ขีดเส้นหรือวงเล็บล้อมกรอบจำนวนเงินและตัวอักษร จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบแบบแผนของทางราชการที่ผู้ถูกฟ้องคดี (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ 1 กรมบัญชีกลางที่ 2 กระทรวงการคลังที่ 3) ก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย ประกอบกับก่อนที่ผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อในใบถอนเงินนั้นได้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารว่าได้จัดทำ โดยผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนโดยถูกต้องและมีสาระสำคัญตรงกับมติของที่ประชุมแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในเอกสารการเงินดั่งวิญญูชนผู้อยู่ในฐานะเช่นผู้ฟ้องคดีจะพึงปฏิบัติ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ในกิจการเฉพาะ มิใช่งานประจำดั่งเจ้าหน้าที่การเงินที่เพียงแต่เห็นวิธีการกรอกจำนวนเงินในแบบก็สามารถคาดเดาได้ว่าอาจจะเกิดการทุจริตขึ้น ฉะนั้น การลงลายมือชื่ออนุมัติโดยมิได้ท้วงติงการกรอกจำนวนเงินหรือมิได้ขีดเส้นกั้นหน้าจำนวนเงิน จึงมิใช่การกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้ฟ้องคดีจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และไม่อาจคาดเห็นหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดการทุจริต จึงไม่อาจใช้ความระมัดระวังโดยการป้องกันเช่นว่านั้นได้
ผู้บังคับบัญชาไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 72/2550 และ อ. 73/2550
สรรพากรอำเภอในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ต้องลงนามในหนังสือนำส่งเงินภาษีต่อธนาคารแห่งประเทศไทยและมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลเงินภาษีจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งตามภาวะวิสัยของบุคคลในหน้าที่เช่นนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังดูแลโดยรอบคอบในการตรวจสอบจำนวนเงินสดที่เก็บได้ว่ามีจำนวนตรงตามแคชเชียร์เช็คที่แลกซื้อจากธนาคารหรือไม่ และการตรวจสอบก็ไม่มีข้อยุ่งยากสามารถกระทำได้โดยง่ายและอยู่ในภาวะวิสัยที่กระทำได้ด้วยตนเองในแต่ละวัน ประกอบกับมิได้จัดให้มีการลงทะเบียนคุมเช็คที่จัดเก็บประจำวัน ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้ว่าในแต่ละวันมีเช็คที่ได้รับชำระภาษีอากรกี่ฉบับและเป็นของผู้ใด สมุดคุมเช็คจึงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะไม่สามารถควบคุมการทุจริตได้ทั้งหมด เมื่อสรรพากรอำเภอมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารงานของสำนักงานเขต โดยควบคุมการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีอากรและเงินผลประโยชน์ของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ แต่มิได้จัดทำสมุดทะเบียนคุมเช็คตามระเบียบกรมสรรพากร อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริตได้โดยง่าย และมิได้ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ถือได้ว่าสรรพากรอำเภอกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สำหรับหัวหน้างานบัญชีและบริการฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นก็ย่อมมีหน้าที่ตรวจสอบจำนวนเงินสดที่จะนำส่งคลังในแต่ละวันให้ตรงกับยอดที่จัดเก็บได้และตรงกับแคชเชียร์เช็คที่แลกซื้อมาจากธนาคาร ซึ่งการตรวจสอบเฉพาะยอดรวมภาษีที่จัดเก็บได้ในแต่ละวันนั้น ถือไม่ได้ว่าได้กระทำการโดยรอบคอบถูกต้องตามภาวะวิสัยของบุคคลในหน้าที่ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบจำนวนเงินสดที่จัดเก็บได้ ทั้งการตรวจสอบก็มิได้ยุ่งยากสามารถที่จะ
ทำได้ในแต่ละวัน ดังนั้น การที่หัวหน้างานบัญชีและบริการฯผู้บังคับบัญชาชั้นต้นไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความถูกต้องตามระเบียบของราชการโดยเคร่งครัด อันเป็นช่องทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอาศัยโอกาสยักยอกเอาเงินสดไป ซึ่งเป็นความเสียหายต่อเงินภาษีอากรที่จัดเก็บจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ จึงต้องรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ไม่ใส่ใจติดตามควบคุมดูแลรถยนต์
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 549/2551
แม้ผู้ฟ้องคดีมิได้ใช้หรืออนุญาตให้นาย พ. ขับรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวและการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายแก่รถยนต์จะเกิดจากนาย พ. โดยตรงก็ตาม แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขออนุญาตใช้รถยนต์คันดังกล่าวและขออนุญาตนำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนเอง ผู้ฟ้องคดีก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลการเก็บรักษารถยนต์ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ทั้งเมื่อทราบว่า นาย พ. ไม่นำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักในเวลาอันสมควร ก็มิได้ติดตามตามสมควร แม้จะอ้างว่าได้ใช้ความพยายามติดตามโดยการโทรศัพท์ฝากข้อความไปยังเพจเจอร์ของนาย พ. แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับก็ตาม ผู้ฟ้องคดีก็จะต้องใช้ความพยายามขวนขวายติดตามว่า นาย พ. นำรถยนต์ไปใช้ที่ใด โดยสอบถามจากบุคคลที่ใกล้ชิดหรือบุคคลที่นาย พ. อาศัยอยู่ด้วย หรือแม้ในระหว่างเวลานั้นมีฝนตกหนักและน้ำท่วมไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปได้ ผู้ฟ้องคดีก็สามารถใช้โทรศัพท์ในการแจ้งเหตุต่อผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบได้ แต่กลับอ้างว่ามีอาการอ่อนเพลียและรับประทานยาทำให้เกิดอาการง่วงนอนและเข้านอนพักผ่อน โดยมิได้เอาใจใส่ในการติดตามรถยนต์กลับคืนมา ให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมดูแลรถยนต์จะพึงกระทำ และมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จนเป็นเหตุให้นาย พ. นำรถยนต์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจนประสบอุบัติเหตุ ถือได้ว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ฟ้องคดีในการควบคุมดูแลรถยนต์ของทางราชการ