INSURANCETHAI.NET
Sat 18/01/2025 17:00:15
Home » ประกันอุบัติเหตุ » ประกันอุบัติเหตุ(Personal accident)\"you

ประกันอุบัติเหตุ(Personal accident)

2012/05/21 1299👁️‍🗨️

ประกันอุบัติเหตุ(Personal accident)
อุบัติเหตุบาดเจ็บทางร่างกาย, การรักษาพยาบาล หรือ ทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะหรือชีวิต แต่ละอาชีพสามารถซื้อแผนประกันได้แตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับ ชั้นอาชีพ (ชั้นอาชีพของผู้เอาประกัน)

การประกันภัยอุบัติเหตุ ให้ความคุ้มครองและจ่ายค่าตอบแทน ต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย รวมถึงผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต

ประเภทของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ
การประกันภัยอุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 3 , ได้แก่

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
ใช้สำหรับการประกันภัยเฉพาะบุคคลคนเดียวเท่านั้น

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม
ใช้สำหรับกลุ่มบุคคล ที่มีการรวมตัวกันไว้ก่อนแล้ว เช่น กลุ่มพนักงานของบริษัท XXX จำกัด ใช่ได้รวมถึงกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อทำการประกันภัยเท่านั้นโดยเฉพาะ

กรมธรรม์ประกันภัยแบบนักเรียน นิสิต นักศึกษา
เป็นการทำประกันภัยกลุ่มที่สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดทำให้

ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และอุบัติเหตุกลุ่ม มีแบบให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2

แบบ อบ. 1 จะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง ได้แก่
1. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
2. การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
3. การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
4. การรักษาพยาบาล

แบบ อบ. 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 คือ การสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน
กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ. 1 เท่านั้น
การประกันอุบัติเหตุ จะให้ความคุ้มครองรวมถึงการถูกฆ่า หรือ ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตามหากผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ตนไม่มีความเสี่ยงภัยในการถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายร่างกาย ก็สามารถที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ได้ โดยผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยไป

ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์
การประกันภัยอุบัติเหตุให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไป และมีข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่จะไม่คุ้มครอง เช่น
1. การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด
2. การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
3. การแท้งลูก
4. สงคราม การปฏิบัติ การกบฎ
5. การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
6. การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
7. การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกี การแข่งรถ แข่งเรือ แข่งสเก็ต เป็นต้น
8. ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
9. ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์
10. ขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม
11. ขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัคร

ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
หากผู้เอาประกันภัยต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในข้อยกเว้น
สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัย เพิ่มเติมเพื่อขอขยายความคุ้มครองได้ แต่การขอขยายความคุ้มครองจะทำได้เพียง 5 กรณีเท่านั้น
1. การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
2. การจลาจล การนัดหยุดงาน
3. การสงคราม
4. การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์
5. การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย

เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุคิดจากอะไร
1. กลุ่มคน การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งต่ำลง เช่น จำนวนคน 20 – 49 คน จะได้ลดเบี้ยประกันภัย 10 % จำนวนคน 200 – 999 คน ได้ลดเบี้ยประกันภัย 25 % เป็นต้น
สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษานั้นเบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปแต่ทั้งนี้เบี้ยประกันภัย จะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาการศึกษาระดับอนุบาลและประถม เบี้ยประกันภัยจะต่ำสุด สูงขึ้นมาคือระดับมัธยม ต่อมาคือระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพจะมีเบี้ยประกันภัยสูงสุด

2. อาชีพ การแบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น
อาชีพชั้น 1 ทำงานประจำในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่
อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา
อาชีพชั้น 3 งานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ
อาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน

อาชีพชั้น 1 จะเป็นชั้นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพชั้นอื่น ๆ ในขณะที่อาชีพชั้น 4 เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูงที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ดังนั้น อาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ เช่น คนทำงานในสำนักงาน เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูง เช่น วิศวกร คนขับรถ คนส่งเอกสาร

3. อายุ คนที่อายุเกินกว่า 60 ปี เบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

4. ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่น ต้องการเพียงการเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ โดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ เบี้ยประกันภัยจะแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการ

5. ความคุ้มครองเพิ่มเติมหากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยได้แก่ การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การโดยสารเฮลิคอปเตอร์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงคราม และเบี้ยประกันภัยจะเพิ่มขึ้น

6. จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดเบี้ยประกันภัยจะผันแปรตามจำนวนเงินเอาประกันภัย ดังนั้น ในกรณีการซื้อผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้เหมาะสม หากซื้อไว้มากเกินความจำเป็นก็จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยไม่จำเป็น

7. การกำหนดจำนวนความรับผิดส่วนแรกหากผู้เอาประกันภัยยินยอมรับความเสียหายส่วนแรกเองบางส่วนในกรณีของค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง หากผู้เอาประกันภัยยินยอมให้บริษัทงดจ่ายผลประโยชน์ กรณีการทุพพลภาพชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกบริษัท ต่างกันที่อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้

ผู้ที่ต้องการซื้อต้องพิจารณาดังนี้…
1. แบบความคุ้มครองระหว่าง แบบ อบ. 1 และ 2
โดย อบ. 2 จะมีความคุ้มครองที่กว้างกว่า และเหมาะสมกับผู้ทำงานด้านช่าง หรืองานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้นิ้ว
2. ความต้องการของตน เช่น จำนวนเงินที่ต้องการจะเอาประกันภัย ต้องเหมาะสมกับรายได้ (ประมาณ10 เท่าของรายได้ต่อปี)
3. เปรียบเทียบกันหลาย ๆ บริษัท
4. ฐานะของบริษัทประกันภัย / และวิธีการดำเนินงานของบริษัท





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow