INSURANCETHAI.NET
Sat 18/01/2025 18:08:07
Home » กฏหมายประกันภัย » ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา VS ค่าลดหย่อนเบี้ยสุขภาพ\"you

ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา VS ค่าลดหย่อนเบี้ยสุขภาพ

2018/02/23 1866👁️‍🗨️

หลักเกณฑ์หักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

1. บิดามารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ แต่ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป หรือพูดง่ายๆ สำหรับท่านที่ต้องการยื่นปีภาษี 2553 บิดามารดาของท่านต้องเกิดในปี 2493 หรือปีก่อนหน้านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ และต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาทนั่นเอง

2. ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน) และการหักลดหย่อนหักได้ตลอดปีภาษี กล่าวคือ หากบิดาหรือมารดาเกิดวันที่ 1 ธันวาคม 2493 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดาหรือมารดาได้ เต็มจำนวนคือ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาทด้วย

3. การหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท และหักลดหย่อนได้สำหรับบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้อีกคนละ 30,000 บาท หมายถึงหากบิดามารดาของเราเข้าข่ายในเรื่องของอายุและรายได้แล้ว เราสามารถหักลดหย่อนบิดาจำนวน 30,000 บาท และมารดาจำนวน 30,000 บาท รวมหักค่าลดหย่อนบิดามารดาตนเองได้ 60,000 บาท (ทั้งนี้ บิดามารดาต้องกรอกหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) ด้วยว่าให้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูกับบุตรคนใด หากให้สิทธิกับบุตรคนใดคนหนึ่งแล้วจะไม่สามารถให้สิทธิซ้ำกับบุตรคนอื่นๆ ได้ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนสิทธิให้กับบุตรได้ทุกปี) เช่น ปี 2553 นายสมชาย และนางสมศรี ให้สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูกับบุตรคนโต (นายสมศักดิ์) ทำให้นายสมศักดิ์หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้รวม 60,000 บาท (ลดหย่อนท่านละ 30,000 บาท) ส่วนนายสมใจ (บุตรคนเล็ก) ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวซ้ำได้ ทั้งนี้ ในปี 2554 นายสมชายและนางสมศรีสามารถเปลี่ยนสิทธิให้กับนายสมใจได้ หรือนายสมชายสามารถให้สิทธิบุตรคนใดคนหนึ่ง และนางสมศรีให้สิทธิกับบุตรคนที่เหลือได้เช่นกัน

กรณีนายสมศักดิ์ ได้สมรสกับนางสาวสมหมาย ในปีแรกที่สมรสนั้นให้ต่างฝ่ายต่างแยกหักค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเนื่องจากความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี
หากในปีถัดไป ความเป็นสามีภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ในกรณีที่นางสาวสมหมายมีรายได้และแยกยื่นภาษี สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้ แต่หากนางสาวสมหมายยื่นภาษีรวมกับนายสมศักดิ์ หรือในกรณีที่นางสาวสมหมายไม่มีเงินได้ ให้นายสมศักดิ์ (ผู้มีเงินได้) ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ทั้งบิดามารดาฝ่ายของตนเองและภริยา รวมใช้สิทธิได้ 120,000 บาท (ลดหย่อน 4 ท่าน ท่านละ 30,000 บาท)\
หมายเหตุ : กรณีบิดามารดาของผู้มีเงินได้หรือของคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว ผู้มีเงินได้จะนำมาหักลดหย่อนลูกกตัญญูโดยผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

1. บิดามารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาทขึ้นไป (เงื่อนไขเหมือนกับค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา แต่ไม่มีเงื่อนไขบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์)
2. ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิยกเว้นฯ) และใช้สิทธิยกเว้นฯ ได้ตลอดปีภาษี (เงื่อนไขเหมือนกับค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา)
3. ผู้มีเงินได้จ่ายค่าเบี้ยประกันให้บิดามารดาของตนเองและบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะเห็นว่าในกรณีที่นายสมศักดิ์จ่ายค่าเบี้ยประกันให้บิดาของตนเองและบิดามารดาของคู่สมรส สามารถหักค่าลดหย่อนได้ตามค่าเบี้ยที่จ่ายจริงแต่รวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท (ข้อนี้จะแตกต่างจากเงื่อนไขค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งสามารถหักลดหย่อนได้รวมสูงสุดถึง 120,000 บาท)
หากเดิมนายสมศักดิ์หักเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนอยู่แล้ว ต่อมาสมรสกับนางสาวสมหมาย ในปีแรกที่สมรสนั้นต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และในปีที่อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ทั้งกรณีภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นเสียภาษี หรือใช้สิทธิแยกยื่นแบบเสียภาษีให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตน หรือพูดง่ายๆ คือสิทธิยังคงอยู่แม้ในกรณีสมรส จะเห็นว่านายสมศักดิ์สามารถหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ในขณะที่ภรรยานางสาวสมหมายยังคงใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทด้วยเช่นกัน

ในกรณีที่นายสมศักดิ์และน้อง (นายสมใจ) ได้ร่วมกันซื้อกรมธรรม์ให้กับบิดา (นายสมชาย) รวมค่าเบี้ยประกัน 20,000 บาท ให้ใช้สิทธิยกเว้นฯได้ทั้ง 2 คนที่จ่ายเบี้ยประกันทั้งนี้ให้เฉลี่ยเบี้ยประกันตามส่วนจำนวนบุตรผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ นายสมศักดิ์สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ 7,500 บาท และนายสมใจสามารถใช้สิทธิได้ 7,500 บาท จะไม่สามารถใช้สิทธิคนละ 10,000 บาทได้ (20,000 บาทแบ่งตามสัดส่วน)
ผู้ที่หักลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยไว้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษี โดยมีข้อความอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
1. ชื่อ นามสกุลและเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
2. ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
3. ชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทประกันฯ
4. จำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้สิทธิ และ
5. ให้ระบุข้อความว่า “สามารถนำไปยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเงิน ……………….บาท”

กรมสรรพากรได้ให้สิทธิลดหย่อนซึ่งท่านสามารถดูได้จากแบบที่ใช้ยื่นภาษี (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91)
และอย่าลืมใช้สิทธิอันควรที่ท่านควรใช้เพื่อลดหย่อนภาษีประจำปีของท่าน

“ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เมื่อท่านมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์และมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท”
“ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ผู้มีเงินได้ลดหย่อนตัวเองไม่ได้ แต่สามารถซื้อและใช้สิทธิบิดามารดาได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท”





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow