ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอา ประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษา พยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก การรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
กรมธรรม์มีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร
การประกันภัยอุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 3 กรมธรรม์ ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้นใช้สำหรับการประกันภัยเฉพาะบุคคล คนเดียวเท่านั้น ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มใช้สำหรับกลุ่มบุคคล ที่มีการรวมตัวกันไว้ก่อนแล้ว เช่น กลุ่มพนักงานของบริษัท DOI จำกัด กลุ่มข้าราชการของกรมการประกันภัย เป็นต้น มิใช่กลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อทำการประกันภัยเท่านั้น และกรมธรรม์ประกันภัยแบบนักเรียน นิสิต นักศึกษานั้นจะเป็นการทำประกันภัยกลุ่มโดยที่สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดทำให้ แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัด
การประกันอุบัติเหตุมีแบบความคุ้มครองให้เลือกอย่างไร
ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และอุบัติเหตุกลุ่มนั้น จะมีแบบให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2 ซึ่งแบบ อบ. 1 จะให้ความคุ้มครองน้อยกว่าแบบ อบ. 2 กล่าวคือ
แบบ อบ. 1 จะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง ได้แก่
1. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
2. การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
3. การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และ
4. การรักษาพยาบาล
ส่วนแบบ อบ. 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 คือ การสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน
สำหรับในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ. 1 เท่านั้น
การประกันอุบัติเหตุ โดยปกติแล้วจะให้ความคุ้มครองรวมถึงการถูกฆ่า หรือ ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตามหากผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ตนไม่มีความเสี่ยงภัยในการถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายร่างกาย ก็สามารถที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ได้ โดยผู้เอา
ประกันภัยก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยไป
ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์
การประกันภัยอุบัติเหตุ จะมุ่งให้ความคุ้มครองที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไปเท่านั้น
ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่จะไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่าง อาทิเช่น
1. การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด
2. การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง
3. การแท้งลูก
4. สงคราม การปฏิบัติ การกบฎ
5. การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
6. การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์
7. การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกี การแข่งรถ แข่งเรือ แข่งสเก็ต เป็นต้น
8. ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
9. ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์
10. ขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม
11. ขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัคร
ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
หากผู้เอาประกันภัยต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในข้อ ยกเว้นก็สามารถที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัย เพิ่มเติมเพื่อขอขยายความคุ้มครองได้ แต่ทั้งนี้การขอขยายความคุ้มครองนั้นสามารถทำได้เพียง 5 กรณีเท่านั้น ได้แก่
1. การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
2. การจลาจล การนัดหยุดงาน
3. การสงคราม
4. การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์
5. การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย
ค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
1. กลุ่มคน
การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งต่ำลง เช่น จำนวนคน 20 – 49 คน จะได้ลดเบี้ยประกันภัย 10 % จำนวนคน
200 – 999 คน ได้ลดเบี้ยประกันภัย 25 % เป็นต้น
สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษานั้นเบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปแต่ทั้งนี้เบี้ยประกัน ภัย จะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาด้วย โดยการศึกษาระดับอนุบาลและประถม เบี้ยประกันภัยจะต่ำสุด สูงขึ้นมาคือระดับมัธยม ต่อมาคือระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพจะมีเบี้ยประกันภัยสูงสุดสำหรับในการประกันภัยกลุ่มนักเรียน
2. อาชีพ
การแบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่
อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน
อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา
อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ
อาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน
ในการแบ่งชั้นอาชีพดังที่กล่าวมาแล้ว อาชีพชั้น 1 จะเป็นชั้นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพชั้นอื่น ๆ ในขณะที่อาชีพชั้น 4 เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูงที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ดังนั้น อาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ เช่น คนทำงานในสำนักงาน เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูง เช่น วิศวกร คนขับรถ คนส่งเอกสาร
3. อายุ
คนที่อายุเกินกว่า 60 ปี เบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี
4. ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ
ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่น ต้องการเพียงการเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ โดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเบี้ยประกันภัยก็จะแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการ
5. ความคุ้มครองเพิ่มเติม
หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยได้แก่ การ ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การโดยสารเฮลิคอปเตอร์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงคราม ด้วยแล้วเบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มสูงขึ้น
6. จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนด
เบี้ยประกันภัยจะผันแปรตามจำนวนเงินเอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ในกรณีการซื้อผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้เหมาะสม หากซื้อไว้มากเกินความจำเป็นก็จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยไม่จำเป็น
7. การกำหนดจำนวนความรับผิดส่วนแรก
หากผู้เอาประกันภัยยินยอมรับความเสียหายส่วนแรกเองบางส่วนในกรณีของค่ารักษาพยาบาลเบี้ย ประกัน ภัยก็จะต่ำลง หากผู้เอาประกันภัยยินยอมให้บริษัทงดจ่ายผลประโยชน์ กรณีการทุพพลภาพชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของแต่ละบริษัทเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่มีหลักการในการพิจารณาเลือกซื้ออย่างไร
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกบริษัท แต่ทั้งนี้ อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้มีความแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อประกันภัย ต้องพิจารณาในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. พิจารณาแบบความคุ้มครองระหว่าง แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดย แบบ อบ. 2 จะมีความคุ้มครองที่กว้างกว่า และน่าจะมีความเหมาะสมกับผู้ทำงานด้านช่าง หรืองานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้นิ้ว
2. พิจารณาความต้องการของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเงินที่จะเอาประกันภัย ต้องเหมาะสมกับรายได้ (ประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี)
3. พิจารณาเบี้ยประกันภัยระหว่างบริษัทประกันภัยต่าง ๆ และเปรียบเทียบกันหลาย ๆ บริษัท
4. พิจารณาฐานะของบริษัทประกันภัย / และวิธีการดำเนินงานของบริษัท
หากเกิดภัยขึ้นตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ผู้เอาประกันภัยควรปฏิบัติเช่นไรจึงจะมีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
เมื่อผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุต้องแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบโดย ทันที และนำหลักฐานอาทิเช่น ใบเสร็จแสดงรายการค่ารักษาพยาบาล รายงานของแพทย์ ใบแจ้งความ ใบมรณะบัตร เป็นต้น ส่งมอบให้บริษัทประกันภัย