INSURANCETHAI.NET
Tue 31/12/2024 0:28:24
Home » อัพเดทประกันภัย » PL LAW – กฎหมายใหม่สำหรับSME\"you

PL LAW – กฎหมายใหม่สำหรับSME

2014/01/06 4196👁️‍🗨️

ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เอสเอ็มอีทั้งหลายต้องรับทราบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายใหม่ที่ชื่อ “พี แอล ลอว์”

กฎหมายนี้กำหนดให้สินค้าต่างๆ ที่ขายให้กับผู้บริโภคแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นต่อผู้ใช้สินค้า ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้านั้นๆ จะได้รับการคุ้มครองความเสียหายตามที่กฎหมายกำหนด

ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าไม่รู้กฎหมาย แม้จะคิดว่าเราเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจเล็กๆ เท่านั้น เอสเอ็มอีทุกท่านก็ไม่มีสิทธิอ้างได้ว่า …ไม่รู้กฎหมาย

ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องที่มากเกินไปเลยที่เอสเอ็มอีควรจะต้องเตรียมตัวเองเพื่อให้เข้าใจในกฎหมายใหม่ๆ ที่อาจมีผลต่อการทำธุรกิจของตัวเอง

กฎหมายฉบับนี้ มีชื่อเต็มๆ เรียกเป็นทางการว่า “พรบ. ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551” ซึ่งเทียบได้กับกฎหมายที่บังคับใช้ในนานาอารยะประเภทที่นักธุรกิจรู้จักกันดีในนามของ Product Liability Law หรือมักเรียกกันสั้นๆ เป็นที่รู้กันว่า PL Law

และเพื่อให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยทั้งหลายมีการเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวรับกับกฎหมายฉบับนี้ จึงมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้อีก 1 ปี หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กฎหมายนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ดังนั้น จึงเริ่มมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป

เราลองมาทำความเข้าใจดูว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะมีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีโดยทั่วไปอย่างไรบ้าง

…. ธุรกิจของใครบ้างที่จะต้องเข้าข่าย หรือ ธุรกิจของใครบ้างที่ยกเว้นไม่เข้าข่าย

ผมขอเริ่มจากจุดมุ่งหมายที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ เรื่องของ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” นั้น จะหมายถึง…

“สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิต หรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้”

อย่างว่าละครับ ภาษากฎหมายก็คือภาษากฎหมาย ที่ชาวบ้านอ่านแล้วไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อ่านแล้วก็อาจจะยังงงๆ อยู่

ถอดความกฎหมายให้เป็นภาษาง่ายๆ ได้ว่า สินค้าที่ท่านเอสเอ็มอีทั้งหลายได้ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคทั่วๆ ไปนั้น จะถือว่าเป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ทันที หากว่า

1. สินค้าที่ท่านผลิตขึ้นมาจำหน่าย ทำให้เกิด “ความเสียหาย” ต่อผู้บริโภค หรือ
2. สินค้าที่ท่านผลิตขึ้นมาจำหน่าย “อาจ” ทำให้เกิด “ความเสียหาย” ต่อผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ตาม “ความเสียหาย” ที่เกิดต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าของท่านนั้น ไม่ใช่จะเป็นความเสียหายในทุกๆ เรื่อง เนื่องจากกฎหมายได้กำหนด ต่อไปว่า ความเสียหายที่ผู้บริโภคจะฟ้องร้องต่อท่านในฐานะผู้ผลิตสินค้าได้นั้น จะต้องเป็น “ความเสียหาย” ที่เกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้เท่านั้น ได้แก่

1. เกิดจากความบกพร่องของท่านในการผลิตสินค้า หรือ
2. เกิดจากความบกพร่องของท่านในการออกแบบสินค้า หรือ
3. เกิดจากการที่ท่านไม่ได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้งานสินค้า หรือ
4. เกิดจากการที่ท่านไม่ได้แจ้งหรือกำหนดวิธีเก็บรักษาสินค้า หรือ
5. เกิดจากการที่ท่านไม่ได้ให้คำเตือนเกี่ยวกับสินค้าหรือวิธีใช้ไว้ หรือ
6. ถึงแม้ว่าจะกำหนดหรือแจ้งไว้หมดแต่ข้อความหรือข้อมูลที่กำหนดไว้ไม่ชัดเจนพอหรือไม่ชัดเจนตามสมควร

วิเคราะห์ดูแล้วก็จะพบว่า เป็นเหตุที่ค่อนข้างครอบจักรวาลจริงๆ สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่จะมีโอกาสตกเป็นเป้าของการเป็นผู้ผลิต “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” สำหรับผู้บริโภค

ท่านเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและได้มีโอกาสอ่านบทความของผมนี้ ท่านจะต้องรีบกลับไปสำรวจธุรกิจและตัวสินค้าที่ท่านผลิตขึ้นมาแล้วว่า กระบวนการผลิตของท่านอาจจะทำให้เกิดความบกพร่องในตัวสินค้าอันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคหรือไม่

มีช่องโหว่ใดบ้างที่ผู้บริโภคอาจร้องเรียนว่าเกิดความเสียหายขึ้นจากความบกพร่องในการผลิตสินค้าของท่าน

รวมไปถึงการออกแบบสินค้าที่อาจทำให้เกิดการบกพร่อง

ท่านมีคู่มือการใช้งาน วิธีการเก็บรักษา คำเตือนเกี่ยวกับการใช้งาน ที่มีความชัดเจน ถูกต้อง เพียงพอที่จะไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาอ้างว่าข้อมูลที่ท่านแจ้งไปกับตัวสินค้านั้น ยังไม่ชัดเจนพอจนทำให้เขาเกิด “ความเสียหาย” ขึ้นได้

การทำธุรกิจในยุคสมัยที่เอสเอ็มอีจะต้องใส่ใจกับการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ ไปถึงมือผู้บริโภคตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่ใช่เรื่องที่เอสเอ็มอีแต่ละคนถือว่าเป็นอาสาสมัครที่ตนเองอยากทำ แต่จะกลายเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีจำเป็นจะต้องทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและป้องกันธุรกิจของตนจากการฟ้องร้องหรือร้องเรียนที่ผู้ผลิตจะต้องร่วมรับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด

มีเกร็ดเล็กๆ เล่าไว้ว่า ตามร่างเดิมของกฎหมายนี้ได้กำหนดรวมการ “บริการ” ไว้ด้วยเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากงานบริการบางประเภท เช่น บริการศัลยกรรมเพื่อความงาม ฯลฯ แต่ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถแบ่งแยกงาน “บริการ” ได้อย่างชัดเจน เช่น งานบริการเกี่ยวกับการเงินการลงทุน ซึ่งผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยงเอง ทำให้ในที่สุดจะต้องตัดเรื่องงานบริการออกจากความคุ้มครองของกฎหมาย คงเหลือบังคับใช้แต่เฉพาะสินค้าที่ผลิตขึ้นมาจำหน่ายเท่านั้น

กฎหมายฉบับที่ผมกล่าวถึงในตอนนี้นี้ คือ “พ.ร.บ. ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551”

หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ เป็นสากลทั่วโลกว่า PL Law (Product Liability Law)

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ของผมในสัปดาห์ที่ผ่านมา คงจะรับทราบแล้วว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีผลเริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา

โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ที่ใช้สินค้าที่ได้รับ “ความเสียหาย” จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยเป็นการเฉพาะ

หากผู้บริโภคผู้ใดที่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ที่มากไปกว่าสิทธิหรือประโยชน์ที่กำหนดไว้โดยกฎหมายฉบับนี้ ก็ให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามกฎหมายอื่นที่มากกว่านั้นต่อไป

SME ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าออกสู่ท้องตลาด ร้อยทั้งร้อยจะต้องเข้าข่ายรับผิดชอบตามกฎหมายฉบับนี้แน่นอน ดังนั้น หากท่านเป็นเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้าควรให้ความสนใจในรายละเอียดของกฎหมายใหม่ฉบับนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจของท่านเอง ไม่ให้ต้องเพลี่ยงพล้ำเป็นจำเลยหรือตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามนัยของกฎหมาย หากทำธุรกิจโดยไม่สนใจขอบเขตข้อบังคับทางกฎหมาย วันดีคืนดีกฎหมายอาจย้อนกลับมาทำให้ธุรกิจของท่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็เป็นได้

กฎหมายฉบับนี้ มีส่วนประกอบหรือองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ “ผู้ประกอบการ” “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” และ “ผู้บริโภค” ตามลำดับ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ “ผู้บริโภค” ได้ซื้อหาหรือบริโภค “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” จนทำให้ผู้บริโภคได้รับ “ความเสียหาย”แล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มบทบาทที่จะคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้บริโภคทันที

“ความเสียหาย” ที่กฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครอง ได้แก่ “ความเสียหาย” ที่ผู้บริโภคได้รับเนื่องจากการบริโภคหรือใช้งานสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือ ทรัพย์สิน

โดยที่ตีความต่อถึง “ความเสียหายทางจิตใจ” ว่า หมายถึง ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความวิตกกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ ความอับอาย หรือความเสียหายต่อจิตใจอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการครอบคลุม “ความเสียหาย” ที่มีขอบข่ายกว้างขวางพอสมควรเลยทีเดียว

ส่วนกลไกความคุ้มครองของกฎหมาย พี แอล ของไทย มีการทำงานดังนี้ครับ

1. “ผู้ประกอบการ” ทุกๆ คน จะต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายหากความเสียหายนั้นเกิดจากการบริโภค “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” คำว่า “ผู้ประกอบการทุกคน” ในที่นี้ หมายถึงบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” นั้นไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งอาจได้แก่…

๐ ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงผู้รับจ้างผลิต หรือ ผู้ผลิตชิ้นส่วน

๐ ผู้ว่าจ้างให้ผลิต

๐ ผู้นำเข้า

๐ ผู้ขาย (ในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถระบุผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือ ผู้นำเข้าได้)

๐ ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย ข้อความ หรือ การแสดงด้วยวิธีใดๆ อันมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า

ลองอ่านและทบทวนดูตามวรรคข้างบนอีกครั้งนะครับว่า ท่านเองอาจจะตกอยู่ในข่ายของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ทุกๆ คน หรือไม่???

ดูคร่าวๆ แล้วก็จะเห็นว่า มีหวังจะต้องโดนกันเป็นระนาวหรือโดนทั้งยวงเป็นแน่แท้

เราเองอยู่ในขั้นตอนไหนหรือวงจรไหนของการนำสินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภค ก็ต้องเตรียมศึกษาระวังตัวไม่ให้ต้องกลายเป็นผู้รับผิดตามกฎหมายนี้ให้ดีก็แล้วกัน

2. “ผู้เสียหาย” หรือ “ผู้บริโภค” ที่คิดว่าตนได้รับความเสียหาย มีหน้าที่พิสูจน์เพียงว่าตนเองได้รับความเสียหายจากสินค้านั้นๆ โดยที่มีการใช้งาน การเก็บรักษา เป็นไปตามปกติธรรมดา โดยผู้เสียหาย ไม่ต้องพิสูจน์ว่าได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการผู้ใด

ไม่จำเป็นที่จะต้องไปชี้ว่า ใครเป็นเจ้าของหรือควรเป็นผู้รับผิดชอบในการนำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยสู่มือผู้บริโภคในตลาด

3. ถึงแม้ว่าผู้เสียหายจะไม่ฟ้องคดี คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคม มูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้การรับรองตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจที่จะฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้เสียหายก็ได้

แสดงว่า หากผู้เสียหายไม่เอาเรื่อง ก็ยังจะมีหน่วยงานทางสังคมทำหน้าที่แทนได้เพื่อปกป้องสังคมหรือผู้บริโภคอื่นๆ จากการผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

4. ผู้ผลิตตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างผลิต จะหลุดพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความไม่ปลอดภัยของสินค้านั้น เกิดจากการออกแบบของผู้ว่าจ้างหรือตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง โดยที่ผู้ผลิตไม่ได้คาดเห็น หรือไม่ควรที่จะได้คาดเห็นถึงความไม่ปลอดภัยนั้น

5. ผู้ผลิตส่วนประกอบของสินค้า จะพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความไม่ปลอดภัยของสินค้า เกิดจากการออกแบบ หรือการประกอบ หรือการกำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของผู้ผลิตสินค้านั้น

ข้อ 4 และ ข้อ 5 เป็นแนวทางการต่อสู้ของ ผู้ผลิตตามคำสั่ง และ ผู้ผลิตส่วนประกอบของสินค้า ที่จะต้องพิสูจน์เพื่อให้ตนเองหลุดจากร่างแหได้

สงสัยจะต้องนำส่วนที่เหลือไปว่ากันต่อในสัปดาห์ต่อไปเสียแล้วครับ ด้วยเนื้อที่อันจำกัด
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ก็จะสามารถหาอ่านได้ในฉบับย้อนหลังจากเว็บไซต์ของ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week”

กล่าวโดยสรุป ในตอนที่ 1 ผมได้สรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำอธิบายว่า “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ตามกฎหมายมีลักษณะเป็นเช่นใด รวมไปถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนในตอนที่ 2 ก็ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกของกฎหมายและแนวทางที่เอสเอ็มอีควรระมัดระวังตัวเองไม่ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อาจได้รับการฟ้องร้องตามกฎหมาย

รายละเอียดที่ผมคิดว่ายังเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เอสเอ็มอีหรือท่านผู้อ่านควรจะได้รับทราบต่อไปก็ยังมีอีก เช่น

ช่องทางหรือข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่ “ผู้ประกอบการ” จะสามารถยกขึ้นต่อสู้ให้ตนเองพ้นจากความรับผิดไปได้ มีอยู่เพียง 3 ช่องทางเท่านั้น กล่าวคือ

1. ต่อสู้ว่า สินค้านั้น ไม่ได้เป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” เช่น ได้มีการจัดทำคู่มือระบุวิธีการใช้งานที่ชัดเจนแล้ว แต่ผู้ใช้ไม่ได้อ่านคู่มือก่อนใช้งาน เป็นต้น หรือ

2. ต่อสู้ว่า ผู้เสียหายได้รู้อยู่แล้วว่า สินค้านั้นเป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” แต่เป็นการสมัครใจเข้ารับความเสี่ยงเอง หรือ

3. ต่อสู้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ การเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ประกอบการได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องและชัดเจนตามสมควรแล้ว

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ ผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ ได้มีการทำข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคหรือผู้มีสิทธิฟ้องคดีแทน จะไม่สามารถนำมาเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นข้อจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการได้

แสดงว่าสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ไม่อาจนำมาลบล้างความผิดของผู้ประกอบการได้เพราะกฎหมายไม่ให้ถือเป็นข้อยกเว้นความผิดที่ผู้ประกอบการจงใจหรือละเลยเลินเล่อทำให้เกิดสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

ส่วนศาลที่พิจารณาคดีนี้ มีอำนาจมากกว่าคดีทั่วๆ ไป เช่น

ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อจิตใจ อันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้เสียหายได้

หากผู้เสียหายถึงแก่ความตาย สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้น มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายต่อจิตใจ

หรือถ้า “ผู้ประกอบการ” รู้อยู่แล้วว่า สินค้านั้นเป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” หรือความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ เมื่อได้รู้แล้วไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเหล่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ “ผู้ประกอบการ” จ่ายสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมทดแทนที่แท้จริง

ในส่วนของอายุความดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้คือ 3 ปี นับจากวันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัว “ผู้ประกอบการ” แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันขายสินค้าให้ผู้บริโภค หรือนับแต่วันรู้ถึงความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ความเสียหายเกิดต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จากผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายหรือต้องใช้เวลาในการแสดงอาการความเสียหาย

หากมีการเจรจาความเสียหาย การนับอายุความจะหยุดลง ไม่นับต่อ จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งบอกเลิกการเจรจา อายุความค่อยกลับมาเริ่มนับต่อ (ไม่ใช่นับใหม่) ดังนั้นการใช้วิธีเจรจาเพื่อยื้อเวลาให้หมดอายุความ จึงทำไม่ได้

ส่วนในเรื่องของโทษที่ผู้ประกอบการที่มีความผิดจะได้รับ ก็คือค่าชดเชยความเสียหายในระดับต่างๆ ได้แก่

1. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

2. ค่าเสียหายต่อจิตใจของผู้เสียหาย (หากผู้เสียหายตาย สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานมีสิทธิรับแทนได้) และ

3. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ

ในการทำธุรกิจในยุคที่เรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจต้องทำธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การรักษาคุณภาพของสินค้าและการยึดเอาความปลอดภัยและการสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น

วิธีแก้ไข ป้องกัน และการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้า ที่เป็นผลพวงติดตามมาจากกฎหมาย พี แอล ลอว์ ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดธุรกิจการประกันภัยความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะได้รับ โดยการซื้อกรมธรรม์ประกันความเสียงไว้

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการอาจซื้อความคุ้มครองเพื่อโอนรับความเสี่ยงในกรณี ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพและอนามัยของผู้เสียหาย ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจพิจารณาซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับค่าสินไหมที่ถูกศาลสั่งให้จ่าย รวมไปถึงการคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในต่างประเทศได้อีกด้วย

กรณีศึกษาที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ (ที่เข้าข่าย PL LAW)
1.กรณีศึกษา:พิษแหนมนิ้วรง.เจ๊ง-ปิดกิจการแล้ว เสี่ยครวญโดนเซเว่นเลิกสั่งซื้อทั่วภาคใต้
2.กรณีศึกษาร้อง:สสจ.เชียงใหม่ อ้างพบทากยาว2นิ้วในนม
3.กรณีศึกษา:แบตฯโน้ตบุ๊กระเบิด-ไฟลุก ผู้บริโภคจะทำอย่างไรดี?

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยสั้น ๆ ดังนี้

๑. กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและสินค้านั้นได้มีการขายแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม

๒. ผู้เสียหายหรือผู้มีสิทธิฟ้องคดีแทนเพียงแต่พิสูจน์ว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าของผู้ประกอบการและการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดาเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการแต่อย่างใด

กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้อันจะมีผลให้ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคย่อมไม่มีทางที่จะพิสูจน์ถึงความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างไร การที่ผู้บริโภคยังมีภาระการพิสูจน์อยู่แต่เพียงมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้สินค้านั้น หรือความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ตลอดจนได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นธรรม เจตนารมณ์ดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากใช้วิธีการเกี่ยวกับภาระการพิสูจน์ตามหลักวิธีพิจารณาความโดยทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคย่อมไม่มีทางอื่นที่รัฐจะสามารถให้ความคุ้มครองหรือเป็นทางออกให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น การที่กล่าวกันว่าพระราชบัญญัตินี้กำหนดเงื่อนไขการฟ้องคดีไว้ต่ำมากนั้นจะต้องพิจารณาในบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยว่า ผู้บริโภคไม่มีความสามารถที่จะนำสืบพิสูจน์ว่าสินค้ามีความไม่ปลอดภัยอย่างไร ประกอบกับสินค้าที่หมุนเวียนในตลาดนั้น รัฐก็ไม่สามารถที่จะตรวจสอบภายหลังในแต่ละชิ้นได้ตามความเป็นจริงแม้ว่าจะได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือผู้เสียหายได้รู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือความเสียหายน้นได้เกิดขึ้นจากการใช้หรือเก็บรักษาไม่ถูกต้องตามวิธีการใช้ วิธีเก็บรักษาหรือคำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ประกอบการได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

โดยลำพัง มาตรการทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่อาจที่จะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคโดยผลของกฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ได้ หากแต่จะต้องใช้มาตรการอื่นประกอบกัน ได้แก่ ระบบการประกันภัย จริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ผลิตที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

สำหรับการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ประกอบธุรกิจนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักสุจริตด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นไปเพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง กลไกทางกฎหมายได้รองรับในส่วนนี้ไว้แล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องมีการพัฒนาระบบการประกันภัย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาบ้าง หากรัฐได้มีการส่งเสริมหรือพัฒนาให้เกิดวิวัฒนาการภายใต้บริบทของประเทศไทย สภาพปัญหาดังกล่าวก็จะได้รับการพัฒนาไปตามระยะเวลา





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow