INSURANCETHAI.NET
Fri 27/12/2024 9:09:55
Home » อัพเดทประกันภัย » อายุความกรณีรถชนกัน มีอายุความกี่ปี\"you

อายุความกรณีรถชนกัน มีอายุความกี่ปี

2017/04/27 44408👁️‍🗨️

คดีความเรื่องรถชนกัน มีอายุความกี่ปี

คดีแพ่ง
หากเป็นการดำเนินคดีเรียกค่าเสียหาย อันเกิดแต่ความรับผิดทางละเมิดทางแพ่ง มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหาย รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทำละเมิด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 448

อาญา
ถ้าเป็นอายุความดำเนินคดีอาญา หากเป็นการขับรถชนกันโดยประมาท ต้องดูผลของการกระทำดังกล่าวว่าเกิดผลเสียหายแก่ผู้เสียหายประการใด
– ถ้าถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี
– ถ้ารับอันตรายสาหัส อายุความ 10 ปี
ตาม ป.อ.มาตรา 95(2) ,(3) แล้วแต่กรณี

อายุความ (prescription หรือ limitation) คือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ หากปล่อยเนิ่นนานไปจนล่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเช่นว่าจะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกมิได้ ซึ่งเรียกว่า “การขาดอายุความ” เช่น สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ คดีขาดอายุความ หนี้ขาดอายุความ เป็นต้น

เหตุผลของอายุความ
1. เพื่อดำรงความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในการอ้างสิทธิของบุคคล เป็นการห้ามปรามมิให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วมาเรียกร้องต่อกัน เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วนั้นย่อมยุ่งยากสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์แก่กัน พยานหลักฐานอาจสูญหาย เสื่อมสภาพ บกพร่อง หรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลาได้ ซึ่งจะส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อาจเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

2. เป็นโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยปละละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเสียที จนกระทั่งล่วงเลยอายุความที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้เกิดมี “สิทธิปฏิเสธ” (right of refusal) สามารถปฏิเสธการเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่เพิ่งมากระทำเมื่อล่วงเลยอายุความไปแล้วได้ อายุความจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้เจ้าหนี้ระแวดระวังในการใช้สิทธิของตนมากขึ้น

3. เป็นการช่วยปลดเปลื้องภาระของลูกหนี้ในอันที่จะต้องเก็บรักษาหลักฐานในการชำระหนี้ไว้ ไม่ต้องคอยพะวงรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้จนชั่วชีวิต เพราะเมื่อล่วงอายุความไปแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้โดยเพียงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้วเท่านั้น

อายุความสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ
(1) 20ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) 15ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) 10ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) 5ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึง หนึ่งปี
(5) 1ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือน ลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น





สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ

no related articles to display.




up arrow