INSURANCETHAI.NET
Mon 18/11/2024 2:33:16
Home » การประกันภัย » หลักการเฉลี่ย (Principle of Contribution)\"you

หลักการเฉลี่ย (Principle of Contribution)

2019/03/06 5466👁️‍🗨️

หลักการนี้เฉลี่ยเป็นหลักการที่สืบเนื่องมาจากหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจริง และหลักการรับช่วงสิทธิ ของสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งจะใช้กับการประกันภัยที่มีผู้รับประกันภัยมากกว่า 1 ราย ในวัตถุที่เอาประกันภัยอันเดียวกันในความเสี่ยงภัยเดียวกัน และในส่วนได้เสียอันเดียวกัน ผู้รับประกันภัยแต่ละรายก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยจากภัยที่เกิดขึ้นตามอัตราส่วน ของสัญญาประกันภัยแต่ละฉบับ ผู้รับประกันภัยรายใด ที่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของตนไปมากเกินกว่าอัตราส่วนที่จะต้องจ่ายสำหรับวินาศภัยที่มีผู้รับประกันภัยหลายรายนั้นก็สามารถ จะเรียกร้องส่วนที่ตนจ่ายเกินอัตราส่วนของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ  โดยการเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย

หากผู้เอาประกันภัยมีการทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย 2 ราย หรือมากกว่านั้น เพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน และมีจำนวนทุนประกันภัยรวมกันทั้งหมดมากเกินกว่าจำนวนมูลค่าทรัพย์สินนั้นแล้ว ตามกฎหมายระบุว่าผู้รับประโยชน์ หรือผู้เอาประกันภัย จะได้รับชำระค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอ หรือเท่ากับจำนวนที่เสียหายจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันภัยได้กำไรจากการประกันภัย และผู้รับประกันภัยแต่ละรายก็ต้องชดใช้จำนวนค่าสินไหมทดแทนแบ่งตามอัตราส่วนมากน้อย ตามจำนวนทุนประกันภัยที่แต่ละรายรับประกันไว้

สาระสำคัญหลักการเฉลี่ยความเสียหาย จะเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

1. มีกรมธรรม์ประกันวินาศภัยสองฉบับหรือมากกว่านั้น (Two or more policies)

ามหลักสากลแล้วหากมีสัญญาประกันภัยมากกว่าหนึ่งฉบับ ผู้รับประกันภัยทุกรายจะต้องเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนตามอัตราส่วนกับจำนวนทุนประกันภัยของ แต่ละรายไม่ว่าจะรับประกันภัยไว้พร้อมกันหรือไม่

ว่ากันตามกฎหมายไทย หลักการนี้จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่มีการทำสัญญาประกันภัยพร้อมกันเท่านั้น เพราะถ้ามีการทำสัญญาประกันภัยต่างวันกันแล้วผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนจนกว่าจะครบความรับผิดชอบของตน หากยังไม่ครบกับความเสียหายที่แท้จริงแล้ว ผู้รับประกันภัยรายต่อมาก็จะต้องชดใช้ค่าสินไหมจนครบความคุ้มครองของตนมีข้อสังเกตว่ากฎหมายไทยให้ใช้คำว่าสัญญาประกันภัยไม่ใช่กรมธรรม์ประกันภัย

ให้ยึดถือ วันทำสัญญาประกันภัยเป็นหลัก ไม่ใช่วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยในการตีความว่าผู้รับประกันภัยรายใดต้องรับผิดชอบเป็นรายแรก

ตัวอย่าง การประกันภัยทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าที่แท้จริง

โดยทำประกันมากกว่าหนึ่งบริษัท เช่น นำบ้านมูลค่า 600,000 บาท ไปทำประกันอัคคีภัย กับบริษัทประกันภัย 3 ราย

บริษัท A  ทุนประกันเท่ากับ   200,000 บาท
บริษัท B  ทุนประกันเท่ากับ   150,000 บาท
บริษัท C  ทุนประกันเท่ากับ   250,000 บาท

บ้านเสียหาย แต่ละรายจะต้องเฉลี่ยความรับผิดชอบตามสัดส่วนที่รับประกันไว้ดังนี้

วงเงินที่แต่ละบริษัทจะต้องร่วมเฉลี่ย
= (มูลค่าที่เอาประกัน x ความเสียหาย) / มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

บริษัท A  รับผิดชอบ = (200,000 x 600,000) / 600,000     =   200,000   บาท
บริษัท B  รับผิดชอบ = (150,000 x 600,000) / 600,000     =   150,000   บาท
บริษัท C  รับผิดชอบ = (250,000 x 600,000) / 600,000     =   250,000   บาท

ตัวอย่าง การประกันภัยทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าที่แท้จริง

โดยทำประกันมากกว่าหนึ่งบริษัทและมีการทำสัญญาประกันภัยต่างวันกัน
กฎหมายระบุว่าบริษัทแรกต้องจ่ายก่อนถ้าไม่พอค่าเสียหายจึงจะเรียกจากบริษัทลำดับถัดไปจนกว่าจะคุ้มความเสียหาย

นำบ้าน มูลค่า 600,000 บาท ไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัย 3 ราย

1/1/2019 ประกันไว้กับบริษัท A  ทุนประกัน 300,000 บาท
1/3/2019 ประกันไว้กับบริษัท B  ทุนประกัน 200,000 บาท
1/5/2019 ประกันไว้กับบริษัท C  ทุนประกัน 100,000 บาท

ต่อมาเกิดความเสียหาย บางส่วน คิดเป็นมูลค่า 550,000 บาท

บริษัท A รับผิดชอบ   300,000 บาท
บริษัท B รับผิดชอบ   200,000 บาท
บริษัท C รับผิดชอบ    50,000 บาท

2. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นต้องคุ้มครองส่วนได้เสียอันเดียวกัน (Same Interest)

หมายถึง ส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยจะต้องเป็นอันเดียวกัน เช่น เจ้าของบ้านประกันอัคคีภัยบ้านของตนหลังหนึ่งไว้กับบริษัทประกันภัย A จำนวนทุนประกัน 1,000,000 บาท ในขณะที่ผู้เช่าก็ทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังเดียวกันนั้นกับบริษัทประกันภัย B อีก จำนวนทุนประกัน 500,000 บาท เช่นกัน โดยที่ทั้งคู่ต่างก็มีส่วนได้เสียในตัวบ้านหลังเดียวกัน

3. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นต้องคุ้มครองภัยชนิดเดียวกัน (Same Peril)

หมายถึง วินาศภัยที่ระบุให้คุ้มครองในสัญญาประกันภัยทุกฉบับ จะต้องเป็นวินาศภัยเดียวกัน เช่น กรมธรรม์อัคคีภัยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ก็จะต้องเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเช่นเดียวกันนี้ทุกกรมธรรม์

4. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นคุ้มครองวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน (Same Peril)

หมายถึง วัตถุที่เอาประกันภัยต้องเป็นวัตถุอันเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการประกันภัยทรัพย์สินหรือไม่ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งมีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นความรับผิดตามกฎหมายก็อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อนี้ด้วย

5. กรมธรรม์แต่ละฉบับจะต้องมีผลบังคับอยู่ในขณะเกิดวินาศภัยขึ้น

กรมธรรม์แต่ละฉบับนั้นจะต้องมีผลความคุ้มครองหรือมีผลบังคับได้ในขณะเกิดวินาศภัยขึ้น โดยไม่หมดอายุหรือถูกบอกเลิกเป็นโมฆียะ

หลักการเฉลี่ยนี้จะไม่นำมาใช้กับสัญญาประกันภัยบางประเภท เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือการประกันชีวิต ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะประกันภัยไว้กี่รายก็ตาม สัญญาประกันภัยทุกฉบับที่ทำไว้ก็จะต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง หรือตามทุนประกันภัย

เนื่องจากชีวิต หรืออวัยวะของมนุษย์ไม่สามารถตีราคาได้ จึงไม่ถือว่าได้ส่วนเกินหรือกำไรจากสัญญาประกันภัยแต่อย่างใด




สอบถาม บริษัทประกันภัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ ตัวแทน/นายหน้า ทั่วประเทศ



คอมเม้นท์ที่เพจ 💸 สินเชื่อ




up arrow